Tag

การปกครอง

Browsing

ตอนแรกที่หยิบมาอ่านผมสงสัยว่าทำไมต้อง China 5.0 ทั้งที่ Thailand เพิ่งจะประกาศ 4.0 เอง แล้วไอ้เจ้า 5.0 ที่ว่านี้คืออะไร

.

พออ่านจบก็เลยเข้าใจได้ว่า 5.0 ก็คงเปรียบได้ว่าเป็นยุค AI เพราะ 4.0 ที่นิยามกันส่วนใหญ่เป็นแค่ยุค Digital

.

บางคนอาจมีคำถามต่อไปว่า แล้ว Digital ไม่ใช่ AI หรือ

.

ต้องตอบว่าไม่ใช่ครับ เพราะ digital นี้เป็นแค่การเปลี่ยนรูปแบบของข้อมูลจากที่เคยเป็น physical หรือจับต้องได้ อย่างหนังสือเป็นเล่มๆ เพลงเป็นแผ่นๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถโหลดได้ผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย และที่สำคัญคือการสามารถทำซ้ำได้ไม่รู้จบโดยไม่มีต้นทุนเพิ่ม ผิดกับหนังสือเป็นเล่มๆถ้าอยากได้เพิ่มอีกเล่มก็ต้องสั่งพิมพ์เพิ่มยังไงล่ะครับ ต้นทุนก็เลยมีทั้งกระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าแรง ค่าจัดส่งโน่นนี่นั่น แต่พอเป็นดิจิทัลปุ๊บแค่ copy & paste ก็จบแล้ว

.

เมื่อทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นดิจิทัล เมื่อมีข้อมูลดิจิทัลมากๆเข้าก็กลายเป็น Big Data จนสามารถเอาข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้มาสอนและพัฒนา AI ให้ฉลาดมากๆได้

.

ดังนั้น China 5.0 คือการที่จีนตั้งเป้าตัวเองให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ไม่ใช่แค่ผู้นำด้านการผลิตจำนวนมากๆในราคาถูกๆอย่างที่เรารับรู้กันอีกต่อไป และเทคโนโลยีที่พี่จีนตั้งใจจะเป็นผู้นำจริงๆก็คือ AI นี่แหละครับ

.

แล้วทำไมต้อง AI

.

เพราะ #AI เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครได้เปรียบใครในวันนี้ ทุกคนเริ่มต้นพร้อมกัน ดังนั้นใครเริ่มก่อนและสำเร็จก่อนก็จะกลายเป็นผู้นำในด้านนั้นไปโดยปริยาย เพราะลำพังการผลิตชิปประมวลผลของจีนในวันนี้เองก็ยังไม่สามารถสู้ทางด้านชาติตะวันตกได้ เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาจีนต้องนำเข้าชิปประมวลผลมากกว่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ตอนนี้จะมีหลายบริษัทในจีนเช่น Alibaba กำลังวิจัยและพัฒนาการผลิตชิปประมวลผลของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาที่ตามหลังชาติตะวันตกอยู่ดี

.

ดังนั้นการตั้งเป้าของชาติที่จะเป็นผู้นำด้าน AI จึงเป็นเป้าหมายที่สดใหม่และหาได้ด้อยกว่าใครของจีนครับ

.

ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้จีนน่าจะได้เปรียบการพัฒนาด้าน AI กว่าชาติตะวันตกคือ #ข้อมูล

.

จีนเองเป็นประเทศที่มีกฏหมายด้านความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยทางข้อมูลน้อยมาก และรัฐเองก็เก็บข้อมูลแทบทุกอย่างจากทุกคนรวมถึงทุกบริษัทอยู่เสมอ หัวใจสำคัญของการฝึก AI คือการต้องมีข้อมูลมาป้อนให้ AI ได้เรียนรู้มากๆและบ่อยๆ แต่กับโลกตะวันตกนั้นกฏหมายการใช้ข้อมูลนั้นค่อนค้างรัดกุมกว่าจีนมาก เรียกได้ว่ากลายเป็นปัญหาสำคัญมากขึ้นทุกวันแล้ว ดังนั้นนี่เลยกลายเป็นจุดได้เปรียบของจีนด้าน AI ตั้งแต่เริ่มเกม

.

แล้วจากข้อมูลมหาศาลหรือ #BigData ที่รัฐบาลเก็บไว้ผ่านทุกช่องทางโดยเฉพาะ Social Media หลายคนเคยเชื่อว่ารัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ทุกอย่าง ไม่ปล่อยให้มีความเห็นในแง่ลบต่อพรรคคอมมิวนิสต์หลุดรอดได้ แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่าไม่จริงครับ

.

ในความเป็นจริงรัฐบาลไม่ได้เซ็นเซอร์ทุกอย่างขนาดนั้น สิ่งเดียวที่รัฐบาลจีนจะเซ็นเซอร์เด็ดขาดโดยทันทีคือการล่ารายชื่อ หรือการนัดกันออกไปชุมนุมเท่านั้น เพื่อป้องกันการลุกลามของประชาชน ส่วนความเห็นอื่นๆที่บ่นนั่นโน่นนี่ทางรัฐบาลจีนจะปล่อยไป เพราะรัฐบาลจีนถือว่าเสียงเหล่านี้ของประชาชนคือข้อมูลที่สำคัญที่ส่วนกลางจะเอาไปทำเป็นแผนพัฒนาหรือนโยบายต่างๆกลับมาสู่ประชาชนอีกที เพื่อสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนจีนว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งและกลับรู้ในใจการทำงานด้วยซ้ำ

.

เพราะถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศเผด็จการด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่ก็อย่าลืมนะครับว่าถ้าเผด็จการไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนคนส่วนใหญ่แล้ว ก็ยากที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เราคงเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศแล้วที่เหล่าเผด็จการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ หลงลืมประชาชน จนสุดท้ายก็ถูกโค่นล้มแล้วกลายเป็นประชาธิปไตยพังๆต่อไป

.

ทางรัฐบาลจีนเองไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้นครับ ก็เลยพยายามวางแผนเศรษฐกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาวจีนอยู่เสมอ

.

และประเด็นเรื่อง Social Media เองทางการจีนก็ไม่ได้ใช้การเข้ามาแก้ต่างแต่อย่างไร หรือเข้ามาประทะทางความคิดว่าเธอถูกชั้นผิด แต่จีนเลือกที่จะใช้การ #เปลี่ยนประเด็นไปเลย เพราะการปะทะทางความคิดทำให้แต่ละฝ่ายก็ต่างปกป้องความคิดตัวเองจนลุกลาม แต่การเปลี่ยนประเด็นไปเลยนั้นทำได้ง่ายกว่าและสะดวกกว่ามาก

.

ถ้าเมื่อไหร่มีคนบ่นรัฐบาลจีน ก็จะมีพวกความเห็นที่ไม่ได้เข้ามาแย้ง แต่เข้ามาเสนอข้อมูลด้านดีๆจนเรียกได้ว่าใช้น้ำดีถมน้ำดำให้จางจนหายไป

.

กลับมาที่เรื่อง AI ใช่ว่าจะมีแต่ทางรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ด้านบริษัทเอกชนเองก็เช่นกัน ที่กำลังพัฒนา AI ไปจนแซงชาติตะวันตกไม่น้อยแล้วในหลายด้าน เช่น Alibaba เองก็พัฒนา AI ที่ชื่อว่า Aliwood ที่สามารถสร้างคลิปโฆษณาให้สินค้าต่างๆได้เอง จากการเลือกภาพและเพลงประกอบจากข้อมูลพฤติกรรมของผู้ชมที่แตกต่างกันไป เพื่อทำเป็นคลิปโฆษณาที่น่าจะโดนใจผู้ชมให้กดซื้อมากที่สุด

.

หรือจะบอกได้ว่าต่อไปนี้สินค้าแค่ชิ้นเดียวแต่สามารถมีคลิปโฆษณาเป็นล้านชิ้นที่โดนใจคนล้านคนที่มีความชอบไม่เหมือนกันได้ด้วย AI ที่ชื่อ Aliwood จาก Alibaba (ผมว่าชื่อนี้ตั้งใจตั้งให้ล้อกับ HollyWood ฝั่งตะวันตกนะครับ)

.

จีนเองกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบริษัท Start Up ระดับ #Unicorn ที่มีมูลค่าเกิน 1,000ล้านเหรียญสหรัฐ อาจจะมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะบริษัทในระดับนี้มีไม่ถึง 300 บริษัท แต่กลับเป็นของจีนไป 97 บริษัทแล้ว ถ้าถามว่าเพราะอะไรต้องบอกว่าเพราะสภาพแวดล้อมที่ทั้งทางรัฐบาลจีนและภาคเอกชนสนันสนุนให้เอื้อต่อการเกิด #StartUp

.

ตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้ามาก็ปราบปรามคอรัปชั่นไปมากมาย แม้จะไม่หมดไปจนกลายเป็นศูนย์แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าทุกวันนี้ข้าราชการจีนทำงานอย่างโปร่งใสและรวดเร็วขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการเกิดธุรกิจใหม่นั้นง่ายและเร็วกว่าที่ไหนๆในโลก เมื่อเริ่มได้เร็วก็สามารถโตได้ไว

.

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ที่จบมหาลัยในจีนส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะหางานทำเลย แต่เลือกที่จะออกมาทำสตาร์อัพหรือธุรกิจของตัวเองก่อนซัก 1-2 ปี ถ้าทำแล้วรอดก็กลายเป็นธุรกิจใหม่ แต่ถ้าทำแล้วไม่รอดก็สามารถกลับเข้าไปในระบบหางานใหม่ได้ไม่ยาก ยิ่งบริษัทสมัยใหม่ในจีนทุกวันนี้สนใจผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสตาร์ทอัพของตัวเองมากกว่าคนที่เรียนจบเกรดดีๆด้วยซ้ำไป

.

หรือต่อให้ทำงานไปซักพักแล้วมีไอเดียอยากออกไปลองทำสตาร์ทอัพของตัวเองก็ง่าย เพราะที่จีนนั้นไม่มีธรรมเนียมเรื่องรับคนตามอายุในแต่ละตำแหน่งเหมือนบ้านเรา ที่มักจำกัดอายุของผู้สมัคร ทำให้แม้จะออกไปทำแล้วไม่รอด แต่ก็รู้ว่าสามารถกลับเข้ามาหางานทำใหม่ในระบบได้ง่ายๆ

.

นี่แหละครับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ของจีนได้ตลอด ไม่ต้องเป็นแค่คนรุ่นใหม่ จะเป็นคนรุ่นไหนก็สามารถวิ่งออกนอกระบบไปทำของตัวเองแล้วกลับมาในระบบเป็นพนักงานประจำใหม่ได้ง่ายๆ

.

เรื่องระบบการจัดการเศรษฐกิจของจีนก็น่าสนใจครับ แม้ว่าจีนจะเก็บอุตสหกรรมสำคัญๆไว้เป็นของรัฐ โดยอยู่ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่จีนก็ไม่ได้ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจใดใหญ่โตจนผูกขาดเหมือนอย่างบ้านเรา เช่นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าก็มีแค่การไฟฟ้า แต่ทางการจีนเลือกที่จะแตกรัฐวิสาหกิจนั้นออกมาเป็นบริษัทย่อยๆซัก 4-5 แห่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันเองในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันการผูกขาด การใหญ่เกินขนาดจนอุ้ยอ้าย จนไม่เกิดการพัฒนาจากการแข่งขันกันเหมือนอย่างหลายๆประเทศ เช่นบ้านเรา

.

และที่สำคัญถ้ารัฐวิสาหกิจไหนบริหารไม่ดีก็ใช่ว่าจะได้รับการอุ้มชูดูแล แต่ทางการจีนเลือกที่จะปล่อยให้ล้มละลายไปก็มาก ทั้งหมดนี้เลยเป็นเหตุผลให้รัฐวิสาหกิจของจีนนั้นแข็งแรงพอจนสามารถขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้สบายๆ

.

ยุทธศาตร์ Jing-Jin-Ji ของจีนก็น่าสนใจครับ เป็นแนวคิดที่ว่าเชื่อมเมืองรองเข้ากับเมืองใหญ่ด้วยรถไฟความเร็วสูง แล้วรถไฟความเร็วสูงนั้นสำคัญอย่างไรถึงสามารถกระจายความแอดอัดและความเจริญออกไปได้ พี่จีนคิดแบบนี้ครับ

.

เค้าคิดว่าด้วยรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้คนจากเมืองหนึ่งที่ห่างไกลไปหลายร้อยกิโลเมตรจากเมืองหลัก เช่น เชื่อมคนจากนอกเมืองปักกิ่งที่ห่างไกลให้สามารถเดินทางเข้าเมืองได้ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงไม่เกินนี้

.

โดยไม่ใช่แค่เข้ามาที่ชานเมืองปักกิ่ง แต่เป็นการเข้าไปสู่ใจกลางเมืองปักกิ่งเลย ทำให้คนเก่งๆจากนอกเมืองไม่ต้องแอดอัดเข้ามาหาที่อยู่ในเมือง สามารถอยู่เมืองตัวเองแล้วนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ว่าเข้าเมืองได้ง่ายๆ

.

ทั้งหมดนี้ทำให้นิยามของเมืองเปลี่ยนไป เพราะเมืองของจีนจะไม่ใช่แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่เป็นการเชื่อมต่อหลายจังหวัดเข้าด้วยกันผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่สามารถเดินทางถึงกันเสมือนอยู่ในตัวเมืองเดียวกันนี่เอง

.

คิดง่ายๆลำพังขับรถกลับบ้านหลังเลิกงานในกรุงเทพใช้เวลากันกี่ชั่วโมงครับ บางวันเราขับเกือบสองชั่วโมง เรียกได้ว่าขับจากกรุงเทพไปพัทยายังเร็วกว่าเลย

.

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเล่าให้ฟังคือ เวลา 1 ปีของจีนนั้นไม่เหมือนกับ 1 ปีของประเทศอื่น

.

เรารู้กันดีว่าเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนจีนยังเป็นประเทศล้าหลังและด้อยพัฒนามาก บอกได้ว่าในปี 1990 ดัชนีรายได้ต่อหัวประชากรจีนนั้นต่ำกว่าไทยถึง 5 เท่า

.

ใช่ครับ 5 เท่า ในตอนปี 1990 รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวอยู่ที่ประมาณห้าพันต้นๆเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และจีนอยู่แค่หนึ่งพันนิดๆดอลลาร์สหรัฐ แต่พอปี 2015 ที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวของจีนนั้นสูงกว่าไทยถึง 50% ขึ้นไปแล้ว โดยที่ไทยขยับจากเดิมเป็นแค่ห้าพันปลายๆ

.

ดังนั้นเศรษฐกิจของจีนที่โตวันโตคืนต่อเนื่องมากทุกปี ทำให้เพียงแค่ไม่ยี่สิบห้าปีผ่านมา เศรษฐกิจจีนโตโดยรวมไม่น้อยกว่า 8 เท่า

.

ดังนั้น 1 ปีของบ้านเราผ่านไปอย่างไม่ค่อยได้อะไร แต่ของจีนนั้นได้เป็นกอบเป็นกำ ลองคิดดูซิว่าถ้า GDP ของประเทศโตปีละ 3.5% เมื่อเทียบกับประเทศที่สองที่โตปีละ 7% ฟังดูต่อปีอาจไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่พอสิบปีผ่านไปเศรษฐกิจประเทศที่สองจะโตกว่าประเทศแรกถึงหนึ่งเท่าตัว

.

และนี่ก็คือกำลังภายในของจีนที่สะสมอยู่ทุกปีๆที่หลายประเทศเคยมองข้าม แต่วันนี้ต้องมองตามจีนทั้งนั้น

.

อยากให้คุณได้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดู อาจจะยังไม่ต้องซื้อก็ได้ แค่เดินไปหยิบมาอ่านดูซักบท แล้วรับรองว่าคุณจะติดใจจนได้กลับบ้านแน่ๆ

.

เพราะสุดท้ายแล้วคุณจะรู้ว่าจีนที่เคยเป็นชาติมหาอำนาจจนทำให้ทั่วตะวันตกต่างต้องร้องขอที่จะเข้ามาค้าขายกับจีนเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน จนเกิดสงครามฝิ่นที่ทำให้จีนต้องพังไม่เป็นท่า จนจีนต้องกลายเป็นมังกรหลับเพราะต้องนอนพักรักษาบาดแผลมากมาย ทั้งแผลจากภายนอก และแผลติดเชื้อเองจากภายใน

.

และแค่สามสิบปีที่ผ่านมา จีนก็กำลังกลายเป็นมังกรผงาดขึ้นอีกครั้ง และคาดได้ว่าโลกคงต้องกลับมาหมุนรอบจีนเหมือนเมื่อสมัยใบชาอีกครั้งหนึ่ง

.

อ่านแล้วเล่า China 5.0 สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI

.

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน

สำนักพิมพ์ Bookscape

.

เล่มที่ 118 ของปี 2018

อ่านเมื่อ 2018 10 26

ถ้าถามว่า ปรัชญการเมือง ต่างกับ การเมือง ปกติอย่างไร ผมคงสรุปหลังจากอ่านจบได้ว่า การเมืองโดยทั่วไปคือผลลัพธ์หรือวิธีการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้น

.

เช่น นักการเมืองอาจมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยการทำให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา เอาง่ายๆก็คือทุกผู้ทุกคนมีงานทำนั่นเอง แต่ไม่ใช่แค่ทุกคนมีงานทำเท่านั้น เพราะนั่นอาจหมายถึงว่ามีอาชีพที่คนไม่ได้อยากทำ หรือไม่ตรงกับความรู้ความสามารถที่มี ทำให้ไม่สามารถทำงานออกมาได้เต็มที่ เช่น ถ้านักการเมืองสร้างงานในตำแหน่งเสมียน หรือพนักงานกวาดถนน (ที่เอ่ยถึงสองอาชีพนี้ไม่ได้ดูถูก แค่ยกเป็นตัวอย่างง่ายๆให้เห็นภาพเร็วๆ) ก็ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงได้

.

นี่คือ การเมือง

.

ส่วนปรัชาการเมืองหมายถึงการคิด คิดไปยังความจริงแท้ของเป้าหมายทางการเมืองนั้น เช่น อาจคิดต่อไปว่าถ้าการทำให้ทุกคนมีงานทำอย่างที่ตัวเองอยากทำ หรือมีงานทำที่ทำให้ตัวเองมีความสุขตามความรู้ความสามารถและใจรัก นักปรัชญาการเมืองอาจเสนอว่า ทำไมถึงต้องสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างกันมากมาย ทำไมรัฐถึงไม่ใช้วิธีแจกเงินให้กับทุกคนดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน และปล่อยให้ผู้คนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ

.

เป็นการต่างกันอย่างสุดโต่งจริงๆครับ

.

หนังสือเล่มนี้เปิดเรื่องและดำเนินเรื่องผ่านรูปภาพรูปหนึ่งที่เมือง Siena ประเทศ Italy ที่วาดขึ้นเมื่อปี 1337-1339 โดยศิลปินที่ชื่อ Ambrogio Lorenzetti อยู่ในสภาเมืองของผู้ปกครองในยุคนั้น เป็นภาพที่เล่าถึงการปกครองที่ดีและเลวในรูปเดียวกันแต่อยู่กันคนละฝั่งของภาพ

ภาพในส่วนของการปกครองที่ดีนั้น จะเห็นว่าประชาชนมีความสุขอยู่รวมกับเหล่าผู้ปกครองอย่างมีความสุข ส่วนในส่วนที่เป็นการปกครองที่เลวนั้นจะเห็นความแตกต่างชัดเจนว่า ประชาชนและผู้ปกครองต่างอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข ทุกคนทุกฝ่ายต่างหวาดระแวงแอบทำร้ายซึ่งกันและกัน

.

ถ้ามองเผินๆเราอาจจะคิดว่าภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทำตัวดีๆ เคารพเชื่อฟังกฏระเบียบหรือผู้ปกครอง เพื่อจะได้มีความสุขในชีวิต แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจากบริบทของภาพ ภาพนี้ถูกวาดอยู่ในสถาที่เหล่าผู้ปกครองในตอนนั้นทำงาน

วาดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดความโกลาหลจากการปกครองของหลายรัฐ และวาดขึ้นหลังจากระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐถือกำเนิดได้ไม่นาน และเมือง Siena เองก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐนี้

.

ดังนั้นเมื่อมองจากบริบททั้งหมดนี้อาจจะบอกได้ว่า ภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาเพื่อ “เตือนใจเหล่าผู้ปกครอง” ว่าถ้าไม่ดูแลผู้คนใต้ปกครองให้ดี ก็จะทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ จนตัวเองต้องกลับมาเดือดร้อนด้วย

.

นี่เป็นภาพวาดที่มีแนวคิดน่าสนใจ ปกครองให้ดีเพื่อชีวิตที่ดีของตัวเอง อยากให้มีภาพวาดแบบนี้อยู่ในสภาบ้านเราจัง นักการเมืองจะได้ไม่เหลิงไปว่าตัวเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประชาชน

.

ปรัชญาการเมืองตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยแท้จริงคืออะไร แล้วประชาธิปไตยใช่ดีที่สุดแล้วหรือ

.

ประชาธิปไตยโดยจุดกำเนิดจากกรีก เอเธนส์ ที่เปิดให้พลเมืองทุกคนเข้ามามีส่วนแสดงความคิดเห็น ถกเถียงอย่างเปิดกว้างร่วมกัน จนได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดออกมา

.

แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วพลเมืองทุกคนของเอเธนส์นั้น ไม่ใช่คนทุกคนในเมือง

.

คนที่ถูกนับว่าเป็นพลเมืองของเอเธนส์ที่สามารถมีส่วนร่วมกับระบอบประชาธิปไตยจริงๆนั้นมีน้อยมาก จนเรียกว่าเป็นชนชั้นผู้มั่งคั่งส่วนน้อยก็ว่าได้

.

และประชาธิปไตยเองต้องการให้พลเมืองทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐและส่วนรวม ส่วนพวกที่เอาแต่เรื่องของตัวเอง ไม่สนใจเรื่องบ้านเมืองในเวลานั้นเค้าเรียกว่า idiotes ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า idiot ทุกวันนี้

.

ดังนั้นอาจบอกได้ว่า ใครที่เอาแต่ใส่ใจในปัญหาชีวิตของตัวเองนั้นคือคนโง่เง่าในมุมมองของประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เราเป็นพวกหน้าโง่หรือ idiot มากน้อยขนาดไหนแล้ว

.

ประชาธิปไตยในอุดมคติแบบต้นกำเนินนั้นเป็นได้เพราะสังคมมีขนาดเล็ก เมื่อสังคมมีขนาดเล็กการจับตาตรวจสอบกันและกันก็เกิดขึ้นได้ง่าย ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะละทิ้งหน้าที่ทางการเมืองของตัวเอง

.

แล้วขอบเขตอำนาจของประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน?

.

ทุกวันนี้อาจบอกได้ว่าเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก จากหมู่บ้านกลายเป็นชาติ จากชาติกลายเป็นนานาชาติ ประชาธิปไตยเลยเปลี่ยนรูปจากที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมก็ไม่อาจทำได้ง่าย กลายเป็นการถ่ายโอนอำนาจจากคนส่วนมากเลือกคนส่วนน้อยเข้ามาปกครองดูแลตัวเอง

.

และในทางเดียวกันถ้าประชาชนเห็นว่าอำนาจที่ตัวเองมอบให้ผู้แทนคนนั้นไปแล้วไม่เวิร์ค ก็จะมีการเรียกอำนาจดังกล่าวกลับคืนมาได้ ดังนั้นถ้าจะบอกว่าประชาธิปไตยทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องของประชานิยมก็คงไม่ผิดนัก

.

แล้วเสรีภาพมีจุดกำเนิดที่มาที่ไปอย่างไร?

.

เสรีภาพมีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างคริสตจักรโรมันคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ ว่าบุคคลแต่ละคนควรมีสิทธิแสวงหาหนทางของตัวเองไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ธุระกงการอะไรที่รัฐหรือคริสตักรจะเข้ามายุ่งย่ามอีกต่อไป

.

และจากเสรีภาพทางศาสนาในจุดนั้น นานวันเข้าก็เลยขยายเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลต่อไปด้วย

.

เพราะเราจะเสรีได้ก็ต่อเมื่อเรามีทางเลือก เลือกได้ว่าจะนับถืออะไรจากเสรีภาพทางศาสนา หรือเลือกได้ว่าจะประกอบอาชีพอะไรจากเสรีภาพส่วนบุคคล แต่การมีตัวเลือกมากๆก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆนั้นจะมีเสรีภาพที่แท้จริง

.

เพราะบางทีเรามีตัวเลือกแต่เราไม่เข้าใจในตัวเลือกอย่างถ่องแท้ ก็เท่ากับว่าเลือกก็เหมือนไม่ได้เลือก อย่างเช่น เราอาจเลือกได้ว่าเราจะสอบเข้ามหาลัยในคณะอะไรหรือที่ไหน แต่ในความเป็นจริวแล้วตัวเลือกของเด็กนักเรียนคนนั้นอาจถูกกำหนดมาจากพ่อแม่ให้ตั้งแต่เค้ายังเด็ก โดยที่เค้าถูกป้อนข้อมูลแต่ในคณะที่พ่อแม่อยากให้เป็น ไม่ได้พบและรู้จักตัวเลือกที่หลากหลายจริงๆเลย

.

หรือการเลือกอย่างเสรีด้วยตัวเองนั้นอาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบของตัวเองด้วย

.

ปรัชญาการเมืองบอกว่า คนที่เลือกดื่มเหล้าเมามายทุกวันสามารถทำได้เพราะเค้ามีเสรีภาพที่จะเลือกในสิ่งที่ต้องการ แต่มันถูกต้องแล้วหรือที่รัฐจะต้องเจียดงบประมาณที่มีอย่างจำกัดไปรักษาสุขภาพของคนที่ทำลายสุขภาพขนาดไหน เมื่อเทียบกับการเอางบประมาณไปรักษาคนที่ป่วยใข้ด้วยความไม่ตั้งใจของตัวเองดีกว่ามั้ย เช่น เด็กที่บังเอิญเกิดมาลิ้นหัวใจรั่ว หรือคนที่ประสบอุบัติเหตุแข้งขาหัก

.

ความยุติธรรมเลยเป็นอีกหัวข้อที่ชวนให้ถกเถียงกันในเล่มนี้

.

ความยุติธรรมอาจไม่ใช่การจัดสรรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่ต้องดูบริบทแวดล้อมด้วยว่าความยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงแล้วหรือ

เช่น เราอาจบอกว่าความยุติธรรมคือการที่ทุกคนยอมรับว่าใครขึ้นรถเมล์ก่อน ย่อมได้เลือกที่นั่งก่อน หรืออย่างน้อยก็ได้นั่งก่อนคนที่เลือกที่หลัง

.

โอเค ฟังแบบนี้แล้วดูแฟร์ดีใช่มั้ยครับ

.

แต่เราก็ยังมีความยุติธรรมกว่าที่เรามีที่นั่งสำรองสำหรับคนท้อง คนแก่ และคนพิการด้วย นี่คือความยุติธรรมแบบสัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียม

.

และความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมนั้นอาจหมายถึงการยอมรับได้ว่าบางคนรวยกว่าเพราะทำงานหนัก หรือบางคนสะดวกสบายกว่าในการนั่งรถเมล์เดินทางเพราะยอมจ่ายมากกว่าในการนั่งรถแอร์

.

และกระบวนการสู่ความยุติธรรมนั้นก็สำคัญไม่แพ้ผลลัพธ์

.

มีคนบอกว่าถ้าผู้พิพากษาคนหนึ่งใช้วิธีโยนหัวก้อยตัดสินคดีมายาวนานเป็นพันคดีแล้ว แต่ทุกครั้งที่โยนหัวก้อยออกมาก็ตัดสินได้ถูกต้องทุกคราว แบบนี้คือกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม แม้ผลลัพธ์จะยุติธรรมแต่ผู้คนก็ไม่ยอมรับ

.

นอกจากผลลัพธ์จะดีแล้ว กระบวนการก็ต้องดีด้วยครับ

.

กลับมาที่เรื่องสิทธิอีกนิด

.

หนังสือปรัชญาการเมืองเล่มนี้พูดถึงเรื่องของสิทธิที่กำลังเป็นกระแส นั่นคือสิทธิสตรีและพหุวัฒนธรมด้วย

หนังสือเล่มนี้ให้แนวคิดที่น่าสนใจว่าอาจเกิดจากการที่ผู้คนที่เป็นผู้ชายเริ่มเรียกร้องสิทธิของตัวเองให้เท่าเทียมกันระหว่างคนจนกับคนรวย จนพอสิทธิเท่าเทียมกันแล้วผู้หญิงก็เลยขอมีเอี่ยวด้วยในยุคแรก จากนั้นคนดำก็ขอมีเอี่ยวกับคนขาวด้วย อารมณ์หนึ่งว่าถ้าเค้ามีชั้นก็ขอมีด้วย จนวันนี้เรื่องของสิทธิออกจะไปทาง LGBT หรือ ผู้อพยพที่เป็นกระแสไปทั่วโลก

.

ทุกคนต่างต้องการสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตของตัวเองทั้งนั้น เพราะเราต่างต้องการรู้สึกว่าเราควบคุมชีวิตเราเองได้

.

แต่เสรีภาพก็มีวิวัฒนาการของมันอยู่เสมอ เสรีภาพไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปก็เกิดความต้องการใหม่ๆรวมไปถึงปัญหาใหม่ๆขึ้นมา รูปร่างของเสรีภาพในวันนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก

.

เมื่อ 20 ปีก่อนคงไม่มีใครคิดว่าการถูกสอดส่องบนอินเทอร์เน็ต หรือการติดตามข้อมูลของเราบนอินเทอร์เน็ตนั้น จะกลายเป็นปัญหาด้านสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่สำคัญในทุกวันนี้

.

ดังนั้นเราก็คงยากจะจินตนาการออกว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แม้พระอาทิตย์จะขึ้นทิศเดิมทุกวัน แต่โลกและผู้คนไม่เคยเหมือนเดิมเลยซักวัน

.

สุดท้ายแล้วกับคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า “ชาติ” คืออะไร?

.

William Ralph Inge ศาสตรจารย์มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์เคยกล่าวว่า “ชาติก็คือสังคมที่สามัคคีกันเป็นปึกแผ่นด้วยความหลงผิดเกี่ยวกับบรรพชนของตน และด้วยความชิงชันเพื่อนบ้านตนร่วมกัน” เช่นสมัยหนึ่งคนบริติชก็คือการไม่เอาคนฝรั่งเศส ส่วนคนสกอต์ก็คือการปฏิเสธความเป็นคนอังกฤษ

.

สุดท้ายแล้วปรัชญาการเมืองเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมซื้อมานานมาก นานขนาดไหนก็จำไม่ได้เหมือนกัน แต่ดีใจที่ได้ซื้อเอาไว้เพราะพอได้อ่านรู้สึกว่าคุ้มทั้งเงินและเวลาที่ให้ไป

.

แม้การเมืองจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวเรา เราที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเลี้ยงปากท้องเพื่อเอาชีวิตไปแชร์บนโซเชียล แต่การรู้และศึกษาเรื่องนี้ไว้ก็ทำให้เราเข้าใจว่าสังคมนั้นมีหลายมิติ และเรื่องใกล้ตัวนั้นแท้จริงแล้วคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

.

อย่างน้อยก็อ่านเอาไว้ให้รู้เท่าทันเล่ห์นักการเมืองแล้วกันครับ

.

David Miller เขียน

เกษียร เตชะพีระ แปล

สำนักพิมพ์ Openworlds

.

เล่มที่ 115 ของปี 2018

20181013

เป็นวรรณกรรมน้อยเล่มที่ผมอ่าน ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมเพราะคิดว่าตัวเองคงไม่ค่อยอินเท่าไหร่ แต่กับ 1984 เล่มนี้ที่เคยได้ยินคนพูดถึง และประจวบกับช่วงนี้ไล่อ่านหนังสือแนวการเมืองการปกครองหลายเล่ม จนทำให้ถึงคราวที่ต้องหยิบ 1984 ขึ้นมาลองอ่านดูบ้าง

.

1984 ถ้าให้สรุปสั้นๆก็คงบอกได้ว่าเป็นหนังสือแนวการเมืองการปกครองในจินตนาการของผู้เขียนที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงช่วงสงครามเย็น ที่ระบบการปกครองแบ่งออกเป็นสองฝ่ายที่แข็งขันกัน ระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยม

.

ในหนังสือว่าด้วยผู้นำสูงสุดหรือที่เรียกว่า Big Brother หรือ “พี่เบิ้ม” ในชื่อไทย ที่คอยจับตาดูประชาชนทุกผู้คน โดยเฉพาะสมาชิกในพรรคชั้นนอกไม่ให้หลุดจากแนวคิดของพรรคหรือผู้นำ ผ่านโทรภาพที่เหมือนทีวีรุ่นพิเศษที่สามารถเฝ้ามองและฟังเสียงเรากลับได้ด้วย

.

ถ้าเปรียบโทรภาพใน 1984 ผมว่าก็เหมือนกับ “อินเทอร์เน็ต” สมัยนี้ ที่รัฐบาลแทบทุกประเทศในโลกพยายามเฝ้าตรวจสอบประชาชนทุกคนอยู่เสมอ ว่าแต่ละคนกำลังเสริชหาอะไร หรือโพสอะไร หรือแม้แต่ใช้งานอยู่ที่ไหน และติดต่อกับใครบ้าง ถ้าใครได้ดูภาพยนต์สารคดีอย่าง Citizen Four หรือภาพยนต์ชื่อ Snowden ที่สร้างมาจากส่วนหนึ่งของนาย Edward Snowden ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานให้ CIA กับ NSA ในการสร้างระบบดวงตาพญามารในการตรวจสอบประชาชนทุกคนในสหรัฐผ่านอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงสอดส่องไปยังทุกคนบนโลก

.

ในภาพยนต์ที่บอกเล่าให้เห็นภาพว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่สามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เราทำบนอินเทอร์เน็ตได้ จนสามารถคาดเดาได้ว่าเรากำลังจะทำอะไรต่อไป เพื่อประเมินว่าเรากำลังคิดที่จะเป็นภัยต่อรัฐหรือการปกครองมั้ย

.

หนังสือเล่มนี้เล่าได้อย่างน่าสนใจว่า ระบบชนชั้นที่มีมียาวนานทั้ง 3 ชั้น อย่างชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ ชนชั้นกลางที่เป็นคนส่วนน้อย และชนชั้นนำที่เป็นคนส่วนเฉพาะมากๆ จะยังคงรูปแบบนี้ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ เพราะความเท่าเทียมที่แท้จริงนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง หรือถ้าจะเกิดขึ้นจริงได้ก็จะถูกขัดขวางจนชนชั้นอภิสิทธิ์อันน้อยนิดเพื่อคงสถานะพิเศษตัวเองไว้

.

เพราะถ้าผู้คนมีความเท่าเทียมกัน นั่นหมายถึงทุกคนมีกินมีใช้เท่ากัน สะดวกสบายไม่ต่างกัน ทำให้ทุกผู้คนมีเวลาว่างที่จะสามารถที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ พอทุกคนฉลาดเท่ากันก็ทำให้ทุกคนรู้ว่าพวกชนชั้นอภิสิทธิ์ไม่มีความจำเป็นต่อสังคมแต่อย่างไร

.

การจะคงชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคมเอาไว้ได้นั้น ต้องทำให้เกิดการเต็มใจที่จะมอบอำนาจให้กับคนกลุ่มน้อยที่มีไม่ถึง 2% เหล่านั้น และหนึ่งในแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ก็คือ “สงคราม”

.

สงครามทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีชนชั้นอภิสิทธิ์คงอยู่ และสงครามเองทำให้เทคโนโลยีความสะดวกสบายที่จะคอยช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ว่างมากขึ้นนั้นไม่เกิดขึ้น

.

เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้อง ก็จะมีเวลาศึกษาและมีเวลาคิดมากขึ้น เมื่อคิดได้มากขึ้นก็จะรู้ว่าชนชั้นนำหรืออภิสิทธิ์ชนชั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป

.

แต่ด้วยสงครามนี้ที่ทำให้ส่วนผลิตมากเกินจากเทคโนโลยีที่ควรจะมอบให้กับประชาชนเท่าๆกันถูกกำจัดทิ้งไปอย่างมีเหตุผล

.

ในหนังสือ 1984 นี้เลยบอกว่าอภิรัฐต่างๆของโลกสร้างสงครามหลอกๆขึ้นมา เพื่อกำจัดส่วนเกินการผลิตจากเทคโนโลยีทิ้งไป เพื่อไม่ให้ประชาชนสะดวกสบายเกินไป และทั้งหมดเพื่อคงความพิเศษของคนกลุ่มเล็กๆไว้ และรักษาอำนาจให้อยู่กับคนกลุ่มนั้นต่อไป

.

1984 พูดถึงอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ นั่นคือ #NewSpeak หรือการกำจัดคำศัพท์ที่ใช้พูดออกไปเรื่อยๆ

.

เพราะถ้าความคิดไม่สามารถถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นได้ด้วยการพูดหรือเขียน ก็ทำให้ความคิดที่จะล้มล้างการปกครองหรือที่เป็นอยู่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

.

ทั้งนี้เพราะไม่มีคำที่สามารถใช้ถ่ายทอดความคิดนั้นออกมาได้ ความคิดทั้งหลายก็เลยไม่เป็นอันตรายต่อรัฐ

.

บอกตรงๆว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่ากลัวมากครับ การห้ามให้คนไม่คิดด้วยการทำให้คนไม่มีคำพูดที่ใช้สื่อสารความคิดออกมา ช่างเป็นแนวคิดที่อัจฉริยะในทางการเมืองจริงๆ

.

และแนวคิดการแก้ไขอดีตเพื่อควบคุมอำนาจของกระทรวงความจริงของอภิรัฐในเล่มนี้ก็น่าสนใจ เป็นแนวคิดที่ว่าคณะผู้ปกครองสามารถแก้ไขเนื้อหาในอดีตได้ทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ชอบธรรม และความอภินิหารของคณะผู้ปกครอง จนทำให้ประชาชนทุกคนเกิดความเลื่อมใส และยอมรับในความถูกต้องในการคิดและตัดสินใจของรัฐตลอดเวลา

.

เพราะถ้าประชาชนไม่สามารถตรวจสอบอดีตได้ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรที่ผู้ปกครองทำผิดพลาดมาแล้วบ้าง เมื่อประชาชนคิดว่าผู้นำถูกเสมอ และถูกมาตลอด แล้วจะมีเหตุผลอะไรให้ต้องคัดค้านอีกล่ะ

.

แนวคิดนี้ทำให้คิดถึงเรื่องที่ว่าถ้าอยู่ดีๆข้อมูลที่สำคัญบนอินเทอร์เน็ต ที่ถูกเก็บไว้ที่ server ที่ใดที่หนึ่ง ถูกลบล้างให้แก้ไขทั้งหมดให้เป็นไปตามที่บางคนต้องการ เมื่อนั้นเราจะเหลือหลักฐานอะไรไว้ให้โต้แย้ง

.

หรือสิ่งที่จะมาแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์ข้อมูลไว้ที่เดียวคือเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ที่กระจายข้อมูลไม่ให้รวมศูนย์เพื่อมีใครควบคุมอำนาจเหนือข้อมูลนั้น

.

แต่จุดอ่อนของ Blockchain ก็ยังมีเหมือนกัน นั่นคือถ้าเสียงส่วนมากในระบบเกิน 50% ถูกควบคุมโดยใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อนั้นระบบเพื่อความเท่าเทียมก็จะพ่ายแพ้ต่อเสียงส่วนมากไป

.

หรือจะเรียกว่า Blockchain แท้จริงแล้วไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่คือระบบที่จำลองความเป็นประชานิยมขั้นสูงสุดไว้นั่นเอง

.

สุดท้ายนี้ผมคิดว่า อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ว่าจะด้วยเผด็จการหรือกลุ่มคณาธิปไตยนั้น ไม่สำคัญว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำซักเท่าไหร่นัก แต่หัวใจสำคัญคือการสามารถจำกัดการรับรู้ของผู้คนให้ได้ เพราะถ้าเราไม่รู้ และไม่มีทางรู้ ความจริงก็หาใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ความจริงคือสิ่งที่เราเชื่อในความคิดเรา

.

George Orwell เขียน

รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพันธ์เผ่าพงศ์ แปล

สำนักพิมพ์สมมติ

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ทางออนไลน์ > https://click.accesstrade.in.th/go/4KaxRgLI

เป็นหนึ่งในหนังสืออีกเล่มที่ได้มาจากงานหนังสือเมื่อนานพอสมควร (จำไม่ได้ว่าหนึ่งหรือสองปีแล้ว) หลังจากช่วงนี้ได้หยิบหนังสือแนวการเมืองการปกครอง และหนังสือในชุด “ความรู้ฉบับพกพา” ของสำนักพิมพ์ Openworlds มาอ่านหลายเล่ม ก็เลยเกิดการอยากอ่านต่อเนื่องไปเรื่อยๆเพื่อเพิ่มความรู้เรื่องการเมืองการปกครองไว้ประดับสมองกับเค้าบ้าง

ภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึงอะไร สารภาพตรงๆอ่านจนจบแล้วผมก็ยังไม่มีคำสรุปนิยามที่สั้นตรงใจจนสามารถเขียนออกมาได้ แต่ในความรู้สึกผมหลังอ่านจบผมรู้สึกว่าคำนี้เหมือนกับการนิยามให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตั้งแต่แผนที่ กลุ่มชาติพันธุ์ ภาพยนต์ หรือแม้แต่ของเล่น กลายเป็นตัวแทนทางการเมืองได้

หรือแม้แต่สามารถปลูกฝังแนวคิดผ่านสิ่งเหล่านี้ได้อย่างน่าทึ่งปนน่ากลัว ถ้าถูกนำไปชักจูงใช้ในทางที่ผิด อารมณ์คล้ายๆ Propaganda อย่างไงอย่างงั้น

เช่น หลังจากเหตุการณ์การก่อการร้ายที่ตึกแฝดในนิวยอร์ก ชาวตะวันออกกลาง หรืออิสลาม ก็กลายเป็นภาพแทนของกลุ่มผู้ที่น่ากลัวของสังคม หรือเป็นเป้าหมายให้คนผิวขาวทั่วไปต้องเฝ้าจับตามอง

หรือการฉายภาพว่าประเทศแถบตะวันออกกลางเหล่านั้นคือแหล่งซ่องซุมของกองกำลังก่อการร้ายก็ว่าได้

ในอดีตช่วงสงครามเย็นระหว่างสองแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างสหรัฐกับโซเวียต ประธานาธิบดีเรแกน Ronald Reagan เรียกสหภาพโซเวียตว่าเป็น “จักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย” หรือ Evil Empire

ก็ชัดเจนว่าทำให้สหรัฐกลายเป็นพลังความดีงามของโลกไปในคราวเดียว ผู้นำโซเวียตเองถูกเปรียบให้เป็นดั่ง Darth Vader ที่ไม่มีใครในสหรัฐไม่รู้จักตัวละครนี้

ดังนั้นการสร้างภาพแทนก็เป็นส่วนหนึ่ง เหมือนกับการตีตราให้กับอะไรก็ตามเพื่อเป้าหมายทางการเมืองนั่นเอง

เหมือนคนไทยที่ถูกบางประเทศฉายภาพว่าเป็นคนขี้เกียจ ทั้งที่ความจริงแล้วในความเป็นคนไทยนั้นมีมิติที่หลากหลายกว่านั้น

กำแพงเองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทรงพลังมาแต่ไหนแต่ไร

กำแพงเองในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งแยก แยกระหว่างผู้ถูกปกป้อง และผู้ที่ควรต้องกำจัดไป อย่างที่ครั้งหนึ่งอิสราเอลเคยสร้างกำแพงในเขต West Bank โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องประชาชนชาวอิสราเอลจากชาวปาเลสไตน์ ในสายตาคนทั่วไปชาวปาเลสไตน์กลายเป็นคนผิดโดยไม่รู้ตัวไปแล้วด้วยกำแพงนี้

หรือการใช้การกล่าวอ้างเหนือเขตแดนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนก็ทำได้

ครั้งหนึ่งรัฐบาลอาร์เจนตินาใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลนี้เองที่เคยทั้งจับกุมประชาชนที่เห็นต่างอย่างโหดร้าย ยังไม่วายต้องนับที่เคยสังหารประชาชนมาแล้วมากมาย สามารถพลิกความนิยมในหมู่ประชาชนให้มาเป็นพ้องกันได้ด้วยการสร้างศัตรูร่วมของชาติ ด้วยการประกาศไม่ยอมรับสหราชอาณาจักรที่มีสิทธิเหนือดินแดนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ว่าควรเป็นดินแดนของอาร์เจนตินาไม่ใช่อังกฤษที่อยู่ห่างไปอีกหลายพันไมล์หรือค่อนโลก

การกลายเป็นชาติได้ด้วย Facebook ก็เป็นอีกบางช่วงบางตอนในเล่มที่น่าสนใจ

เรื่องเริ่มจากว่าก่อนหน้านี้ชาวโคโซโว ยังไม่ถูกยอมรับจากประเทศเซอร์เบียในการประกาศเอกราชแยกตัวเองออกมา ทำให้ชาวโคโซโวที่จะใช้ Facebook ต้องเลือกว่าตัวเองเป็นชาวเซอร์เบีย ไม่ก็ แอลเบเนีย แบบไม่เต็มใจ

แต่ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ทาง Facebook ก็ตัดสินใจลงรายชื่อประเทศ “โคโซโว” ให้เป็นตัวเลือกของผู้ใช้งานในการนิยามตัวตนของตัวเอง ผลคือมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 200,000 คนเปลี่ยนเป็นชาวโคโซโวในทันที จนเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการยอมรับเอกราชของโคโซโวในระดับนานาชาติในเวลาต่อมา

ท่อส่งก๊าซก็เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอำนาจทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อยู่ไม่น้อย อย่างท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังหลายประเทศในยุโรป ครั้งหนึ่งเคยมีการงดส่งก๊าซออกไปในช่วงหน้าหนาว จนทำเอาหลายประเทศในยุโรปต้องหนาวไปตามๆกันเพราะไม่มีก๊าซใช้ทำความร้อนในหน้าหนาวปีนั้น

ท่อส่งก๊าซเลยกลายเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอำนาจด้านพลังงานของรัสเซีย

เช่นกันกับ “ของเล่น” ที่เราอาจมองเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วของเล่นนี่แหละที่เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีที่สุด

อย่างของเล่นเด็กในช่วงยุคหนึ่งก็ปลูกฝังให้ฝ่ายถูกคือทหารสัมพันธมิตร หรือสหรัฐ และฝ่ายผิดคือกองกำลังนาซีเยอรมัน หรือกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์

ของเล่นที่เคยคิดว่าช่วยสร้างจินตนาการ เลยกลายเป็นของเล่นเพื่อปูพื้นฐานการเมืองการปกครองตั้งแต่เด็กไปโดยไม่รู้ตัว

ภาพยนต์เองก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการเมืองชั้นดี หลังจากช่วงการก่อการร้าย 9/11 ทางประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มีการเรียกประชุมกับเหล่าสตูดิโอผู้สร้างภาพยนต์และผู้กำกับมากมาย เพื่อขอความเห็นและความร่วมมือในการทำให้ประชาชนรับรู้ถึงภัยของการก่อการร้าย และขอแรงร่วมมือจากประชาชนในการสนับสนุนสงครามก่อการร้ายไปพร้อมกัน

เราจะเห็นว่าช่วงหนึ่งหนังเกี่ยวกับการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายมีมากเหลือเกิน ดังนั้นเลยรู้ว่ามันไม่ใช่แค่กระแสของผู้สร้างที่คิดตรงกันเท่านั้น แต่มีการร่วมกันคิดให้ออกมาเป็นในทิศทางที่ตรงกันต่างหาก

แผนที่เองก็เป็นเครื่องมือสำคัญมาโดยตลอด แต่เชื่อมั้ยว่าแค่กลับด้านที่ฉายภาพให้คนเห็น ก็ทำให้ประชาชนเกิดการตระหนักกลัวและสนับสนุนเป้าหมายทางการเมืองของรัฐอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ครั้งหนึ่งสหรัฐเคยผลักดันยุคอวกาศการบินสมัยใหม่ ด้วยการฉายภาพให้เห็นผ่านแผนที่ว่าสหรัฐกับสหภาพโซเวียตนั้นใกล้กันนิดเดียว

จากเดิมที่ภาพแผนที่โลกทั่วไปมีสหรัฐอยู่ริมซ้ายสุด และสหภาพโซเวียตอยู่ริมขวาสุด ในความรู้สึกประชาชนเมื่อมองโลกจากมุมมองนี้รู้สึกว่าภัยของคอมมิวนิสต์โซเวียตนั้นไกลตัวเหลือเกิน

แต่ทางรัฐบาลสหรัฐได้ทำภาพแผนที่ขึ้นมาใหม่ โดยนำภาพแผ่นน้ำแข็งอาร์กติกมาเป็นศูนย์กลาง และเห็นภาพว่าด้านบนของสหรัฐกับด้านบนของสหภาพโซเวียตนั้นใกล้กันแค่แผ่นน้ำแข็งกั้นกลางเท่านั้นเอง

โลกใบเดิม แค่เปลี่ยนมุมมอง ก็ทำให้ประชาชนสหรัฐส่วนใหญ่ตระหนักถึงภัยของสหภาพโซเวียต จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดยุคพัฒนาการบินและอวกาศเพื่อให้แข่งขันกับสหภาพโซเวียตได้มากมาย

จีนเองก็เคยทำแผนที่ขึ้นมาใหม่โดยไม่ถามเสียงชาวโลก หรือกลุ่มประเทศทางทะเลจีนใต้เหมือนกัน โดยแผนที่ใหม่ของจีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้มากมายจนไปลุกล้ำสิทธิ์ของหลายประเทศ ไม่ว่าจะฟิลิปปินส์ เวียดนาม ใต้หวัน และญี่ปุ่น จนกลายเป็นข้อพิพาทที่หลายประเทศเรียกร้องให้จีนยกเลิกการใช้แผนที่นั้นซะ

ธงชาติเองก็เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลังมาช้านาน ครั้งหนึ่งตอนที่สหรัฐส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลก เราจำได้ว่านักบินอวกาศคนนั้นได้ปักธงชาติสหรัฐไว้บนดวงจันทร์ เป็นภาพที่คนส่วนใหญ่บนโลกจำได้เมื่อพูดถึงเหตุการณ์นี้

แต่รู้มั้ยว่ามีการวิเคราะห์มาว่าการปักธงชาติสหรัฐบนดวงจันทร์นั้นบ่งบอกทางการเมืองได้สองอย่าง หนึ่ง สหรัฐเป็นชาติแรกในโลกที่ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ กับอย่างที่สองคือ สหรัฐอาจอ้างสิทธิ์บนดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรกในโลกอีกด้วย

เห็นมั้ยครับว่าภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นหัวข้อที่กว้างขวางมากจนยากจะสรุปให้ได้ในไม่กี่ประโยค ไม่เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นๆที่พออ่านจบผมก็สามารถสรุปแบบง่ายๆให้คุณได้เลย

แต่แม้จะยาก แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งน่าหลงไหล ถึงแนวคิดการใช้การครอบงำทางความคิดผ่านสิ่งต่างๆรอบตัว ที่เราอาจโดนชี้นำอยู่ตลอดโดยไม่รู้ตัว

Geopolitics A Very Short Introduction
ภูมิรัฐศาสตร์ ความรู้ฉบับพกพา
Klaus Doods เขียน
จิตติภัทร พูนขำ แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds

เล่มที่ 113 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 2018 10 05

ประชาธิปไตย…คำที่คุ้นเคยแต่ใครเอยจะรู้ว่า แท้จริงแล้วประชาธิปไตยที่เข้าใจกันมานั้นมีที่มาอย่างไร

Democracy แรกเริ่มเดิมทีจากรากคำภาษากรีกโบราณ มาจากสองคำผสมกันระหว่างคำว่า Demos ที่หมายถึงประชาชน กับ Krator ที่หมายถึงการปกครอง เมื่อรวมกันแล้วก็หมายความว่า “การปกครองโดยประชาชน”

ในยุคกรีกโบราณที่ประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นนั้น อริสโตเติล ปราชญ์นักคิดชื่อดังผู้สนับสนุนประชาธิปไตยคนแรกๆกลับไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยที่มี “การเลือกตั้ง” ในแบบที่เป็นอยู่

ในสมัยนั้นอริสโตเติลสนับสนุนให้ใช้การ “จับฉลาก” เลือกผู้ที่จะเข้ามาทำงานหรือตัดสินใจ เพราะอริสโตเติลรู้ว่าคนเรานั้นโลภและเขลาเกินกว่าที่คิด ทำให้ไม่มั่นใจว่าถ้าต้องโหวตกันก็จะมวลหมู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อปัญญา

เหมือนที่มีคนกล่าวว่า “ความเขลาจะมีชัยเหนือปัญญา และปริมาณจะสำคัญกว่าความรู้”

ว่าไปก็คือแนวคิดว่า “ประชานิยม” ในทุกวันนี้ ที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นตัวการพาประชาธิปไตยไปสู่ความเสียหาย เพราะประชานิยมคือการที่พรรคต่างๆแข่งขันกันเอาใจประชาชนหมู่มาก ด้วยนโยบายต่างๆเพื่อกระตุ้นให้คนส่วนมากเลือกตัวเอง จนไม่มีใครกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ดีต่อประชาชนหมู่มากจริงๆ

ถ้าจะเปรียบก็คงเหมือนพ่อแม่ตามใจลูกเพราะกลัวว่าลูกจะไม่รักกระมัง

ประชาธิปไตยแบบประชานิยมคือการเมืองของการกระตุ้นเร้า มากกว่าการเมืองเหตุผล แต่เหนือไปกว่านั้นมันคือการเมืองที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้คน ไปจากประเด็นสำคัญที่ต้องการความใส่ใจอย่างจริงจัง

กลับไปที่กรีกโบราณต้นกำเนิดของประชาธิปไตยอีกครั้ง ในสมัยนั้นประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของทุกคน แต่เป็นแค่เรื่องของชนชั้นสูงที่ร่ำรวยพอไม่ต้องทำมาหากิน จนมีเวลามาถกเถียงเรื่องความคิดและการปกครอง

ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินจนไม่ต้องทำกิน ก็มีสัดส่วนเพียงน้อยนิดที่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

กรีกเองก็ไม่เคยมีความคิดที่จะแบ่งปัน “ประชาธิปไตย” ให้กับชาติอื่นแต่อย่างไรในตอนนั้น ประชาธิปไตยเลยเป็นเสมือนเครื่องเชิดชูสถานะของตนให้เหนือกว่าในความคิดของชาวกรีก

จากกรีกสู่โรมัน ประชาธิปไตยก็ปรับเปลี่ยนไปในชื่อใหม่ที่เรียกว่า “สาธารณรัฐนิยม” จนเข้าสู่ยุคเผด็จการอย่างไม่มีวันหวนกลับเมื่อซีซาร์เข้ามาปกครอง จากสาธารณรัฐก็เลยกลายเป็นจักรวรรดิโรมันจนท้ายที่สุด

พอพูดถึงประชาธิปไตยทุกวันนี้เรามักนึกถึงเรื่องของ “สิทธิ” มากกว่า “หน้าที่” แต่อยากจะบอกว่าแต่เดิมของประชาธิปไตยจนถึงยุคเรเนซองส์นั้น ไม่เคยมีแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิ” แบบทุกวันนี้

สิทธิแต่กำเนิดในประชาธิปไตยทุกวันนี้คือแนวคิดแบบสมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่เดิมกรีกผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยมีแนวคิดว่า คนจะมีสิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อทำตัวเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ใช่แบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ผู้คนนั่งๆนอนๆเรียกร้องสิทธิของตัวเองเป็นประจำ

ดังนั้นแต่เดิมประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยประชาชน หมายถึงหน้าที่ที่รัฐเรียกร้องจากประชาชน ไม่ใช่สิทธิ์

อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยทุกวันนี้เป็นลูกผสมระหว่าง “สาธารณรัฐนิยม” กับ “เสรีนิยม” ก็ว่าได้

และก็มีการแบ่งที่ค่อนข้างเห็นชัดเจนเป็นสองฝ่าย เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญของฝั่งอเมริกา กับยุโรปที่แตกต่างกันชัดเจน

รัฐธรรมนูญอเมริกานั้นเน้นไปทางจารีตปัจเจกชนนิยมที่เข้มแข็ง ผิดกับฝั่งยุโรปที่รัฐธรรมนูญนั้นเน้นไปทางจารีตประชานิยมที่แข้มแข็งกว่า

ทั้งนี้เพราะตอนรากฐานของรัฐธรรมนูญทั้งสองทวีปต่างกัน อเมริกาถือกำเนิดมาจากชนชั้นพ่อค้า หรือผู้ที่มีที่ดินทรัพย์สินของตัวเอง เลยต้องการความเป็นปัจเจกชนมาก เมื่อเทียบกับทางยุโรปที่เริ่มจากชนชั้นชาวนา หรือผู้ที่อยู่ใต้กรรมสิทธิ์ของพวกอภิชน หรือขุนนางท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ เลยเป็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ์ของตนให้มากขึ้นเพื่อเท่าเทียม

พูดถึงเรื่องสิทธิ หรือความเสมอภาค แต่ไหนแต่ไรไม่ได้หมายถึงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความเสมอภาคของความเป็นพลเมือง

การเกณฑ์ทหารแต่เดิมนั้นคือการทำลายระบบอภิสิทธิ์ชน เพราะให้ประชาชนคนธรรมดาสามารถเลื่อนขั้นทางสังคมได้ด้วยตัวเอง ในสมัยนโปเลียนปกครอง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าแปลกของประชาธิปไตยทุกวันนี้คือ แม้แต่อัตตาธิปไตยหรือเผด็จการทุกวันนี้ ยังต้องการการยอมรับและยินยอมจากประชาชนทั้งนั้น ไม่มีเผด็จการใดที่ไม่ต้องการการยอมรับจากประชาชนอีกต่อไป

แม้ประชาชนโดยรวมไม่อาจปกครองตัวเองได้ แต่พวกเขาทำลายรัฐบาลได้ นี่คือพลังของประชาชน

ส่วนพวกประชาธิปไตยสุดโต่งอาจกล่าวได้ว่า การคุกคามประชาธิปไตยนับว่าเป็นสิทธิทางประชาธิปไตยเหมือนกัน

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือ ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพาเล่มนี้ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ผมแนะนำให้หามาอ่าน

หลายครั้งที่เราคิดว่าเรารู้จักและเข้าใจสิ่งที่เราคุ้นเคยมานานแล้ว แต่บางครั้งเราก็เพิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วที่เรารู้นั้นเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวของทั้งหมดเลยจริงๆ

#อ่านแล้วเล่า Democracy ประชาธิปไตย ความรู้ฉบับพกพา

Benard Crick เขียน
อธิป จิตตฤกษ์ แปล
สำนักพิมพ์ Openworlds

เล่มที่ 110 ของปี 2018
20180921