สรุปหนังสือ Winning with ideas จากหนึ่ง ถึงพันล้าน เล่มนี้เขียนโดยคุณมาโนช พฤฒิสถาพร คนไทยผู้เคยมีประสบการณ์ทำงานในบริษัท Startup ระดับ Unicorn ที่อเมริกาอย่าง Credit Karma ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเนื้อหาในเล่มจะพูดถึงบริษัทสตาร์ทอัพที่คนไทยคุ้นหูและไม่คุ้นหูคละเคล้ากัน แต่รับประกันได้เลยว่าอ่านแล้วมีแต่ความมันส์ในแบบที่ถ้าอ่านฉบับที่ฝรั่งเล่าก็ไม่อาจมันส์และสนุกเท่าเล่มนี้ได้ครับ
เพราะคุณมาโนช เล่าถึงเรื่องราวที่ประสบพบเจอกับตัวเองครั้งไปสัมภาษณ์กับบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง Amazon ไปจนถึงประสบการณ์การฝึกงานกับบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง TripAdvisor จนมาถึงเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัท Credit Karma ที่คนไทยอาจไม่คุ้นแต่สำหรับคนที่โน่นนั้นปังมากครับ
หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนรวมเรื่องราวของบริษัทสตาร์ทอัพที่เล่าจากมุมมองของคนไทย ทำให้มีแง่มุมการวิเคราะห์ในบริบทของไทยใส่เข้าไปอย่างเช่นการอธิบายได้ว่าทำไม UberPool ที่แชร์ลูกค้าในคันเดียวกันถึงปังที่อเมริกามาก แต่ที่ไทยกลับไม่แจ้งเกิดเสียอย่างนั้น
หรืออีกหลายเรื่องของบริษัท Startup ที่ดูเหมือนจะมีอนาคตไกลไฟพุ่งแรงในช่วงแรก แต่กลับไม่สามารถไปรอดตลอดรอดฝั่งกลายเป็น Unicorn ได้จริงจนมูลค่าบริษัทตอนสุดท้ายนั้นหายไปมหาศาล ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงทำให้เข้าใจในอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพได้ไม่น้อยว่าแม้การระดมเงินทุนรอบแรกจะทำได้รุนแรงน่าสนใจ แต่ถ้ายังต้องระดมทุนไปเรื่อยๆ ก็ยากที่จะอยู่รอดตลอดไปได้ในโลกธุรกิจนั่นเอง
เพราะท้ายที่สุดแล้วบริษัทสตาร์ทอัพก็ต้องสามารถทำกำไรและอยู่ด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องหวังพึ่งการระดมทุนเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเหมือนหลายเคสในเล่มนี้ที่ดังมาไม่นานก็ดับไปตามกาลเวลาครับ
หนังสือเล่มนี้ยังมีการพูดถึงบริษัทสตาร์ทอัพดังๆ ที่เริ่มจากปัญหาน่าหงุดหงิดรำคาญใจเล็กๆ ของผู้ก่อตั้ง ไม่ว่าจะ Venmo ไม่ว่าจะ TaskRabbit ไม่ว่าจะ Splitwise หรือ Transferwise ก็ตาม
เมื่ออ่านดูแล้วคุณจะพบว่าในโลกของสตาร์ทอัพที่คนไทยทั่วไปอย่างเรารู้จักนั้นมีน้อยมาก และก็ยังมีอีกมากที่น่าสนใจแต่เราส่วนใหญ่กลับไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อมันเท่านั้นเองครับ
และพอพูดถึงคำว่าสตาร์ทอัพหลายคนชอบนึกถึงแอปล้ำๆ หรือแพลตฟอร์มเจ๋งๆ บนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ แต่มีเรื่องราวของบริษัทสตาร์ทอัพนึงที่ผมชอบมากในเล่มนี้ ที่ไร้ซึ่งเทคโนโลยีสุดล้ำแต่เริ่มต้นและเติบโตได้ด้วยการใช้ SMS ง่ายๆ เท่านั้นเอง
Rinse สตาร์ทอัพซักผ้าที่ชนะคู่แข่งด้วยการคิดต่าง ไม่ On Demand และไม่สร้าง App
เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองจะต้องหาทางตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็วที่สุด และก็ต้องทำให้ง่ายที่สุดด้วยการมีแอปหรือเทคโนโลยีแพลตฟอร์มใดก็ตาม
แต่กับ Rinse นั้นต่างกันออกไปเป็นหนังคนละม้วน เพราะบริษัทนี้ทำรับซักรีดเสื้อผ้าโดยมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการส่งข้อความหรือ SMS เท่านั้น
ดังนั้นไม่ต้องโหลดแอปใดๆ ให้ยุ่งยาก และก็ไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟนก็สามารถเข้าถึงบริษัทนี้ได้ และที่สำคัญคือ Rinse ยังไม่มีบริการแบบทันทีทันใดตามใจลูกค้าแบบทันควัน แต่เขาเลือกที่จะกำหนดช่วงเวลาที่จะให้บริการลูกค้าตามที่ตัวเองสะดวกเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือเพื่อให้ตัวเองสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างที่ตัวเองต้องการ
Rinse คิดค่าสักแห้งเสื้อเชิ้ตตัวละ 2.5 ดอลลาร์ โดยไม่มีขั้นต่ำและค่าบริการอื่นๆ ซึ่งพวกเขาจะให้บริการแค่ระหว่างช่วงเวลา 2-4 ทุ่ม เท่านั้น และถ้าจะใช้งานก็แค่เข้าไปลงทะเบียนในเว็บ จากนั้นก็กรอกเบอร์โทรศัพท์ แล้วก็รอรับรหัสยืนยันทาง SMS ที่เหลือคือติดต่อกับ Rinse ผ่าน SMS เท่านั้นเลย มันก็จะง่ายๆ แบบนี้เลยจริงๆ ครับ
ซึ่งทางคุณมาโนช ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็บอกว่า ตัวเองชอบประสบการณ์ที่ได้รับจาก Rinse มาก เพราะแม้จะแค่การใช้ SMS แต่กลับมาประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แอปเป็นไหนๆ ถ้าต้องการเลื่อนก็แค่พิมพ์ข้อความไป แต่ถ้าต้องการให้มาส่งในวันที่แจ้งไว้ก็แค่พิมพ์ Y กลับไปเท่านั้นเอง
นี่คือตัวอย่างของหนึ่งบริษัทสตาร์ทอัพที่คิดมาจากความเข้าใจปัญหาของลูกค้า เริ่มจากการซักรีดหรือซักแห้งที่มีค่าใช้จ่ายแพงไม่น้อย และการจะทำธุรกิจซักรีดที่ว่าก็ไม่ได้มีความจุกจิกยุ่งยากแต่อย่างไร ก็แค่ทำให้สะอาดแล้วก็รีดให้เรียบกริ๊บ แล้วก็เอาไปส่งให้ได้ในเวลาที่กำหนด ซึ่งทาง Rinse ก็เป็นผู้กำหนดเวลาที่ตัวเองจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการได้อีก นั่นก็คือตอนหัวค่ำ ตอนที่รถเริ่มหายติดแล้วแต่ยังไม่ดึกจนเกินไป ดังนั้นแค่การสื่อสารผ่าน SMS ระหว่างกันก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องผลิตแอปว้าวๆ ให้วุ่นวาย เป็นอย่างไรครับกับ Rinse บริษัทสตาร์ทอัพที่คิดอย่างเข้าใจธุรกิจที่ทำจริงๆ
สุดท้ายแล้วผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกคนที่อยากออกไปรู้จักโลกกว้างมากขึ้น อยากรู้ว่าในโลกธุรกิจวันนี้เขาทำกันอย่างไร อยากรู้ว่าบริษัทสตาร์ทอัพข้างในนั้นเค้าทำงานกันแบบไหน จากมุมมองของคนไทย โดยคุณมาโนช ผู้มีประสบการณ์ในบริษัทสตาร์ทอัพหลักพันล้านดอลลาร์นั่นเองครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 26 ของปี 2020
สรุปหนังสือ Winning with ideas จากหนึ่งถึงพันล้าน
เรียนลัด 20 สตาร์ทอัพจากซิลิคอนวัลเลย์ โดยผู้ใช้งานจริง
มาโนช พฤฒิสถาพร เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
อ่านสรุปหนังสือแนวธุรกิจ Startup ต่อ > https://www.summaread.net/category/startup/
สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/3eTa3S0
20200714