สรุปหนังสือ GLOBAL CHANGE 6 วรากร สามโกเศศ BookScape

สรุปหนังสือ GLOBAL CHANGE เล่มที่ 6 ในฐานะที่ผมเป็นแฟนตัวยงของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ดังนั้นจึงไม่พลาดที่จะตามหนังสืออาจารย์ทุกเล่มเท่าที่หาอ่านได้แน่นอน หนังสือ GLOBAL CHANGE เล่มที่ 6 นี้ทำให้คุณได้รู้เท่าทันโลก ทันกระแส ทันเทรนด์ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ไม่ควรพลาด ในวันที่เต็มไปด้วยข่าวสารมากมายล้นหน้าจอการได้อ่านหนังสือ GLOBAL CHANGE เล่มนี้สำหรับผมก็เพียงพอที่จะเห็นภาพกว้าง เข้าใจภาพรวม พอจะเห็นทิศทางการเป็นไปของโลกในวันข้างหน้า

บอกตรงๆ ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอะไรที่สรุปยากมาก เพราะลำพังเนื้อหาในเล่มก็เหมือนสรุปแต่ประเด็นสำคัญๆ มาหมดแล้ว ดังนั้นผมขอเลือกหยิบบางส่วนในเล่มมาเล่าเพื่อเรียกน้ำย่อยให้คนที่ไม่เคยได้อ่านหนังสือชุด GLOBAL CHANGE ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ได้อ่านกัน เพื่อที่คุณจะได้ไปหามาเป็นของตัวเองสักเล่ม จนในที่สุดก็ต้องตามหาจนครบทุกเล่มเหมือนผมครับ

บทนึงที่ผมชอบมากจนต้องพับเก็บไว้มาอ่านย้อนหลังก็คือบทที่ 5 ว่าด้วยเรื่อง โซเชียลมีเดียกับช่องว่างระหว่างวัย

อาจารย์วรากรณ์ ก็เปรียบให้ฟังว่าการที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ต่างไม่เข้าใจว่าทำไมวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ถึงเอาแต่ก้มหน้าหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์มือถือหน้าจอเล็กๆ ได้ทั้งวัน นั่นก็เพราะลึกๆ เราพวกเขารวมถึงตัวเราอยากได้รับการยอมรับในสังคมต่างหากครับ

สิ่งที่คนเราติดไม่ใช่โทรศัพท์มือถือหรือเฟซบุ๊คหรอก แต่เป็นการได้รับรู้ว่าเราเป็นที่ยอมรับผ่านการกดไลก์ แชร์ และคอมเมนท์ เหมือนยิ่งเรารู้ว่ามีคนเห็นด้วยกับความคิดเรามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกใจพองโตมากเท่านั้น

ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในแง่ประวัติศาสตร์สังคมเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะแต่ไหนแต่ไรมนุษย์เราล้วนอยากได้รับการยอมรับมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว

ถ้ามองย้อนกลับไปไม่ไกลมากลองถามพ่อแม่เราซิว่า สมัยวัยรุ่นพวกท่านเคยทำอะไรห่ามๆ ที่เป็นการขัดใจปู่ย่าตายายเรามั้ย เชื่อได้เลยว่าต้องมีไม่น้อยแน่นอนครับ

เมื่อวิเคราะห์ไปอีกหน่อยนั่นก็เป็นเพราะกรอบความคิดและโลกทัศน์ความคุ้นเคยที่แตกต่างกัน ตอนเราเป็นวัยรุ่นเราชื่นชมพฤติกรรมแบบนึง อาจจะเป็นการเล่นสเก็ตบอร์ด ใส่กางเกงสามส่วน หรือแต่งตัวแบบฮิปปี้ แต่พอเวลาผ่านไปกระแสมันไม่ได้นิยมทนทาน เมื่อมีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาบวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ล้วนนำพาให้วัฒนธรรมตามสมัยนิยมเปลี่ยนไปตามกาลเวลาครับ

แต่ก่อนเราก็ชอบสื่อสารกับคนในกลุ่มสังคมที่เราต้องการจะได้รับการยอมรับและมีตัวตน เพียงแต่สื่อกลางมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี คนรุ่นปู่ย่าอาจเป็นใช้วัดเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์กัน คนรุ่นพ่อแม่อาจจะเป็นร้านอาหารหรือคลับสโมสรต่างๆ คนรุ่นวัยเลขสามกลางๆ แบบผมก็อาจจะเป็นโทรศัพท์ที่เราติดกันทั้งวันทั้งคืน ส่วนพอมาคนรุ่นใหม่สมัยนี้ก็เลยกลายเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆ ที่จะคุยพร้อมกันสิบคนร้อยคนก็ยังได้

เห็นมั้ยครับว่าเมื่อวิเคราะห์ดีๆ แล้วการที่คนรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดียนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก พวกเขาแค่ต้องการที่จะเป็นที่รู้จัก ที่ยอมรับ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมนั่นเองครับ

ผมขอยกข้อความส่วนหนึ่งที่ไฮไลท์ไว้มาดังนี้ครับ

“ทั้งนี้ไม่ว่าหญิงหรือชาย สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการคือ

  1. การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น
  2. ความมีตัวตนในสังคม
  3. การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ทั้งหมดนี้ผ่านการสานสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งสิ้น”

และนี่ก็เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งเสี้ยวเดียวของเนื้อหาดีๆ ในหนังสือเล่มนี้ที่ยังมีให้อ่านเสริมสมองอีก 33 บท ผมกล้ารับประกันได้เลยว่าหนังสือเล่มนี้คุณจะไม่ผิดหวังถ้าหยิบขึ้นมาอ่าน ถ้าใครยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้รอบหน้าผ่านร้านหนังสือผมขอแนะนำให้คุณลองหยิบมาอ่านดูสักบทนะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 18 ของปี 2020

สรุปหนังสือ GLOBAL CHANGE 6
ข้อเขียนอ่านสนุกว่าด้วยเรื่องราวและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่
วรากรณ์ สามโกเศศ เขียน
สำนักพิมพ์ BOOKSCAPE

202000430

สรุปหนังสือ GLOBAL CHANGE 6 วรากร สามโกเศศ BookScape

สนใจสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ > https://bit.ly/GlobalChange6

อ่านสรุปหนังสือเล่มอื่นของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ต่อ

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/