why we post how the world changed social media

Why We Post เล่มนี้แปลมาจากหนังสือ How the World Changed Social Media จากนักมานุษยวิทยาทั้ง 9 คนที่ลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของผู้คนจริงๆทั่วโลก และการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของพวกเขาทั้ง 9 ก็ไม่ได้ไปแค่วันสองวัน หรือสัปดาห์สองสัปดาห์ แต่เป็นการลงไปขลุกอยู่กับผู้คนจริงๆ ชาวบ้านจริงๆ เป็นเวลานานกว่า 15 เดือนทีเดียวครับ

ดังนั้นข้อมูลที่ได้มาเลยเป็นข้อมูลเชิงลึก ลึกขนาดว่าแลกโทรศัพท์กันดูเป็นประจำ ลึกถึงขั้นที่ว่าไปกินอยู่หลับนอนกับเขา ไปเข้าวัดไปงานแต่งงานของชาวบ้าน เรียกได้ว่าเข้าไปเป็นอีกหนึ่งคนในสังคมนั้น ที่ต้องทำขนาดนี้ก็เพราะการที่นักมานุษยวิทยาจะได้ข้อมูลจริงๆมาก็คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกลุ่มคนที่เขาต้องการสังเกตจริงๆครับ

ถ้าให้สรุปสั้นๆผมก็สรุปได้ว่า Social Media เหมือนกันแต่ใช้ไม่เหมือนกัน ต่าง Generation ก็ต่างพฤติกรรมในการใช้ หรือการต่างท้องถิ่นในประเทศลักษณะการใช้ Social Media ก็ต่างกันมากโขเลยครับ

แต่ถ้าจะให้สรุปแบบลงลึกนี่ก็จะมีรายละเอียดเยอะนิดหน่อย ถ้าถามว่าเยอะขนาดไหนเอาเป็นว่าแค่ผมลิสหัวข้อที่น่าสนใจจากในเล่มลงสมุดก่อนจะเริ่มเขียนสรุปลงในเว็บอ่านแล้วเล่านี้ ก็กินเวลาไปร่วม 3 ชั่วโมงแล้วครับ

แต่ไม่ต้องกลัวว่าคุณจะต้องใช้เวลาในการอ่านสรุปหนังสือ Why We Post เล่มนี้นานถึง 3 ชั่วโมง เพราะผมคงไม่ขยันขนาดนั้น เอาเป็นว่ามันก็มีหลายข้อที่สามารถรวบประเด็นเข้ามารวมกันได้ เล่มต้นสรุปกันจริงๆตั้งแต่บรรทัดถัดไปเลยแล้วกันครับ

จากการสำรวจพบว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เล่น Social media แค่แพลตฟอร์มเดียว แต่ส่วนใหญ่เล่น 5-6 แพลตฟอร์มไปพร้อมกัน โดยแต่ละแพลตฟอร์มที่เล่นพวกเขาก็จัดลำดับตามความเป็นส่วนตัวต่างกันไป

อย่าง Instagram จะเป็นอะไรที่เปิดเผย Public มากที่สุด ถัดมาคือ Facebook เอาไว้คุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ถัดมาเป็น Twitter ที่จะเอาไว้คุยกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน พอเริ่มเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมากขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมห้อง หรือเพื่อนร่วมชั้น ก็จะเป็นการรวมกลุ่มคุยกันใน Whatapps สุดท้ายที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุดก็คือ Snapchat ที่เอาไว้คุยกันแค่กับเพื่อนสนิทจริงๆเท่านั้นครับ

ดังนั้นการใช้แต่ละแพลตฟอร์มจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามันถูกสร้างมาแบบไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละกลุ่มคนในแต่ละวัยเลือกที่จะใช้แต่ละแพลตฟอร์มกันแบบไหนมากกว่าครับ

เพราะถ้าจะบอกว่าแพลตฟอร์มอย่าง Twitter เป็นพื้นที่คุยเล่นกันก็ไม่ถูก เพราะสมัยก่อน BB ก็เคยเป็นพื้นที่ไว้คุยเล่นกันของคนอีกลุ่มหนึ่งครับ

ในหนังสือนี้ยังให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า การเหยียดกันของคนที่อาวุโสกว่าว่าคนรุ่นใหม่ที่เด็กกว่านั้นจะสมาธิสั้นบ้าง ฉลาดน้อยลงบ้าง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น อย่างวันนี้ก็คงหนีไม่พ้น Social media หรือ Internet ครับ

แต่เชื่อมั้ยครับว่าเรื่องเดียวกันนี้สามารถสืบสาวย้อนหลังไปได้ถึงสมัยกรีกโบราณ ในวันที่โสเครตีสดูถูกว่าคนรุ่นหลังอย่างเพลโตที่เป็นลูกศิษย์ในวันนั้น จะโง่เขลาเบาปัญญาด้วยเทคโนโลยีอย่างการเขียนจดเก็บไว้ในกระดาษ เห็นมั้ยครับว่าไม่ต่างอะไรกับผู้ใหญ่ในวันนี้ที่เอาแต่ดูถูกเด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือเลยจริงๆ

สมัยก่อนคนเล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อคุยกับคนแปลกหน้า แต่วันนี้กลับกันเป็นเหรียญคนละด้าน เพราะเราเล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อคุยกับคนที่เรารู้จักกันอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ หรือหลายครั้งเรามักหาข้อมูลของอีกคนจากอินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีเรื่องมาคุยกันในโลกออฟไลน์ครับ

และผู้หญิงก็ชอบโซเชียลมีเดียที่เน้นรูปภาพมากกว่าผู้ชาย เรื่องนี้ก็คงคล้ายๆที่ Instagram เป็นพื้นที่ของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่จริงๆครับ

เรื่องวัฒนธรรมของคนในแต่ละพื้นที่ก็มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ Social Media เช่นที่จีนเองคนไม่นิยมโพสเรื่องการเมือง ไม่ใช่เพราะกว่ากลัวรัฐจะมาจับ แต่เป็นเพราะแต่ไหนแต่ไร Social Media ถูกใช้เป็นพื้นที่ๆเอาแต่พูดกันแต่เรื่องดีๆที่เป็นมงคลมา ทำให้ใครที่โพสเรื่องการเมืองชวนเครียดจะถือว่าใช้ Social Media ไม่ถูกกาละเทศะ และก็จะถูกเพื่อนๆบล็อคไปในที่สุดครับ

เพราะที่จีนจะถูกคุมเข้มแค่เรื่องเดียวจากทางการ นั่นคือการโพสเพื่อหวังรวมตัวกันชุมนุม แต่ถ้าเป็นการวิจารณ์นักการเมืองหรือข้าราชการเป็นรายบุคคล เรื่องพวกนั้นเค้าไม่สนกันหรอกครับ

หรือหลายพื้นที่ๆไปทำการสำรวจก็พบว่า คนสมัยนี้นิยมหาคู่เดทใหม่ๆบทโซเชียลมีเดียกันอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่การหาแบบสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนในสมัยก่อน แต่จะเลือกดูจากคนที่เป็นเพื่อนของเพื่อน และมีการโพสที่ดูน่าสนใจ อารมณ์ก็คล้ายๆคนรุ่นก่อนที่มักได้คู่มาจากการที่เพื่อนแนะนำกัน แต่อันนี้เป็นโซเชียลมีเดียแนะนำให้ว่าใครเป็นเพื่อนใครบ้างตั้งแต่แรกอย่างไรล่ะครับ

เรื่องพฤติกรรมการเล่นเกมบนโซเชียลมีเดียก็น่าสนใจ นักมานุษยวิทยาพบว่าชาวจีนที่เป็นกลุ่มชนชั้นแรงงานตามเมืองอุตสาหกรรมติดเกมมากเพราะพวกเขาไม่สามารถออกไปหาความบันเทิงอื่นๆในชีวิตจริงได้ ด้วยค่าแรงที่ต่ำเกินไป ทำให้เกมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพักผ่อนของพวกเขา

แถมเกมเหล่านี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อให้เสียเงินซื้อไอเท็มในเกมแล้วจะเก่ง แล้วจะเมพ แต่ทั้งหมดนี้ก็มาจากการที่กลุ่มคนทำงานค่าแรงน้อยเหล่านี้ไม่มีความภูมิใจหรือได้รับการยอมรับนับถือในชีวิตจริงเท่าไหร่ ทำให้พวกเขาอยากจะเป็นคนสำคัญที่ใครๆก็ยอมรับ แม้จะเป็นแค่ในเกมที่ต้องใช้เงินเล็กน้อยซื้อไอเท็มก็ยังดีครับ

แล้วคนทั่วโลกส่วนใหญ่มักบอกรหัสตัวเองกับแฟน เพื่อให้แฟนเข้ามาตรวจสอบว่าตัวเองไม่ได้มีคนอื่นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันชาวจีนเป็นชาติเดียวที่ต่างออกไป พวกเขาไม่ได้ให้พาสเวิร์ดตัวเองกับแฟน แต่ให้พ่อแม่และพี่น้องเข้ารู้มากกว่าครับ

และอีกหนึ่งความแปลกของการใช้โซเชียลมีเดียของคนจีนคือ พวกเขาต้องการให้คนอื่นโพสรูปของเขาลงบนโซเชียลมีเดีย เพราะพวกเขารู้สึกว่าการที่คนอื่นโพสรูปเรานั้นแสดงว่าเค้าต้องให้ความสำคัญกับเรา ผิดกับคนส่วนใหญ่ในพื้นที่อื่นของโลก ที่ไม่ต้องการให้คนอื่นโพสรูปตัวเองออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตครับ

อีกหนึ่งความแปลกของการใช้โซเชียลมีเดียของคนจีนคือ คนจีนชอบแชร์อะไรต่างๆออกไปเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ไม่ได้แชร์เพราะอยากให้คนอื่นรับรู้ว่าตัวเขาเป็นอย่างไร แต่เขาอยากแชร์เพื่อเก็บเอาไว้กลับมาอ่านเองในภายหลัง เรียกได้ว่าใช้ Social media เป็นสมุดไดอารีอย่างไงอย่างงั้นครับ

อีกหนึ่งข้อที่น่าสนใจคือพฤติกรรมการยอมรับ Social media ที่แตกต่างกันระหว่างครอบครัวคนรวยกับครอบครัวคนจน

คนที่ไม่รวยหรือออกไปทางจนจะค่อนข้างสนับสนุนให้ลูกตัวเองใช้ Social media เพื่อเข้าถึงความรู้หรือโอกาสต่างๆในชีวิต ผิดกับครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะจะพยายามกันลูกๆตัวเองให้ออกห่างจาก Social media ให้มากที่สุดครับ เพราะพวกเขารู้สึกว่า Social media จะเข้ามารบกวนสมาธิและขัดจังหวะการเรียนของลูกเขาครับ

ต้องบอกว่าตั้งแต่ Smartphone ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย กำแพงที่เคยกั้นระหว่างเวลาทำงาน กับเวลาส่วนตัวก็หายไปหมดสิ้น ทุกวันนี้เรายังโดนตามงานผ่านไลน์ตอน 4-5 ทุ่มเป็นประจำกันใช่มั้ยครับ

สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัวของ data บน social media ก็น่าสนใจ พวกเขารู้สึกว่ากลัวพ่อแม่หรือแฟนจะมาเห็นข้อมูลตัวเองบนโซเชียลมีเดียมากกว่าพวกบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ จะมีก็แต่คนอังกฤษที่รู้สึกกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียมากขึ้นเมื่อได้เจอกับโฆษณาที่แม่นยำยิ่งขึ้น

ดังนั้นถ้าอยากทำให้คนรู้สึกว่าข้อมูลตัวเองปลอดภัย ต้องอย่ายิงโฆษณาที่แม่นยำเกินไปๆหาลูกค้านะครับ เรื่องนี้ก็คล้ายๆห้าง Target ที่รู้ว่าลูกค้าคนไหนกำลังตั้งท้อง แล้วพอส่งคูปองสำหรับคุณแม่มือใหม่ออกไปก็ถูกฟ้องจากพ่อผู้หญิงคนนั้นว่าหมิ่นประมาทดูถูกว่าลูกสาวเค้าท้องตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน แต่ท้ายที่สุดแล้วลูกสาวเค้าก็ท้องจริงๆ

หลังจากนั้นห้างต่างๆเลยรู้วิธีที่จะคละคูปองที่ส่งออกไป เอาที่แม่นยำครึ่งหนึ่ง ผสมกับคูปองมั่วๆครึ่งหนึ่ง เพื่อให้คนรับรู้สึกว่า โอ้ว้าว นี่ชั้นโชคดีจังเลยที่ได้คูปองของชิ้นนี้ ชั้นกำลังอยากได้มันอยู่พอดี!

Social Commerce ก็เริ่มต้นที่จีน ที่มาจากพฤติกรรมของวัฒนธรรมจีนที่ไม่เหมือนคนชาติอื่น เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง eBay และ Amazon ต่างก็เคยพยายามเข้ามาทำตลาดที่จีน แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จทั้งที่มีเงินทุนเยอะกว่า เพราะคนจีนต้องการที่จะคุยกับคนขายเพื่อต่อรองราคาและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนจะซื้อออนไลน์

แต่แพลตฟอร์มจากอเมริกาอย่าง eBay และ Amazon ไม่ได้เปิดให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้คุยกัน และด้วยความไม่เข้าใจ insight คนจีนในจุดนี้ก็เลยต้องทำให้ถอยทัพกลับบ้านไปในที่สุดครับ

ส่วน e-commerce ที่อินเดียก็โตวันโตคืนเพราะระบบชนชั้นวรรณะ เพราะคนที่วรรณะต่ำรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องเข้าห้างไปซื้อสินค้า และหลายครั้งพนักงานในร้านก็มักจะเป็นวรรณะที่สูงกว่า ทำให้เกิดการกังวลว่าจะได้รับบริการที่แตกต่างกับลูกค้าทั่วไป

คนวรรณะล่างในอินเดียที่มีเงินเลยซื้อสินค้าต่างๆผ่าน e-commerce อย่างมากมายด้วยเหตุผลนี้ ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าอุปสรรคเก่าแก่จะกลายเป็นโอกาสด้วยดิจิทัลครับ

โลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์ในวันนี้เลยเหมือนสลับขั้วกันตรงที่ สมัยก่อนออนไลน์คือความเป็นส่วนตัว แต่ในวันนี้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สาณารณะ ที่เราเลือกเองว่าอยากเปิดเผยอะไรบ้างให้คนอื่นรู้ แต่ในขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ก็หวังความเป็นส่วนตัวบนโลกออฟไลน์มากขึ้นทุกที เช่น อย่าถ่ายติดหน้าชั้นนะ หรืออย่ามายุ่งกับชั้นนะ เป็นต้น

และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ Social media เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวไว้เมื่อต้องอยู่ห่างกันไกลต่างแดน เพราะ Social media นี่เองที่ทำให้เราได้อัพเดทชีวิตกับพ่อแม่ญาติพี่น้องกันได้ทุกวัน ผิดกับสมัยก่อนที่กว่าจะได้คุยกันหรือเห็นหน้ากันแต่ละทีนั้นลำบากยากเย็นเหลือเกิน

หรือผลกระทบของ Social media กับครอบครัวยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ นั่นคือคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าบรรดาปู่ย่าตายายพวกเขาน่ารักขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่คนแก่ส่ง Emoji หาหลานๆ ทำให้หลานๆรู้สึกไม่กดดันเหมือนเวลาอยู่ต่อหน้าคนแก่ในครอบครัวที่เคร่งครัดครับ

และหลายคนก็บอกว่า พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะได้คุยกับคนแปลกหน้ามากกว่า เพราะรู้สึกสะดวกใจมากกว่าว่าเล่าอะไรไปก็ไม่รั่วไหล เพราะด้วยความไม่รู้จักกันทำให้พวกเขาเลือกที่จะเปิดใจคุยกับคนแปลกหน้าทาง Social media มากขึ้น

รวมถึงหลายคนบอกว่าความสัมพันธ์แบบนี้มันบริสุทธิ์ใจดี ตรงที่ไม่คิดว่าอีกฝ่ายจะคุยดีกับเราเพราะคาดหวังผลตอบแทนอะไรในอนาคต เพราะยังไงก็ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวแต่แรกอยู่แล้ว

กลายเป็นว่ายิ่งแปลกหน้ามากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกสนิทและวางใจมากเท่านั้นครับ

หรือกับคนที่ต้องเปลี่ยนย้ายที่ทำงานบ่อยๆมองว่าชีวิตบนโซเชียลมีเดียนั้นจริงยิ่งกว่าชีวิตจริงเสียอีก ฟังดูเป็นความจริงที่น่าเศร้าอย่างไรก็ไม่รู้นะครับข้อนี้

หรือในบางพื้นที่ก็มีพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียที่น่าสนใจ ตรงที่เค้าเอาทุกเรื่องซีเรียสมาล้อให้เป็นเรื่องตลก โดยเฉพาะการเมือง เหตุผลก็เพราะใครๆก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อขำขันกัน ดังนั้นต่อให้เป็นเรื่องการเมืองพวกเขาก็จะไม่เอามาโพสให้เครียด แต่จะเอามาโพสเอาฮากันเท่านั้น

สำหรับการโพสแบบสวัสดีวันจันทร์ของผู้ใหญ่คนแก่ในบ้านเราอย่าคิดว่ามีเฉพาะคนไทย แต่ที่อินเดียก็เป็นเหมือนกัน และเป็นไม่นานไม่น้อยไปกว่าเราด้วยครับ

ที่น่าสนใจอีกอย่างของคนอินเดียคือเวลาจะกินข้าวรวมหมู่กันพวกเขาจะไม่ถ่ายรูปหมู่ที่มีคน แต่จะถ่ายรูปอาหารชุดรวมหมู่แทน เพื่อให้รู้ว่ามื้อนี้มีคนมามาก เพื่อป้องกันการเกี่ยงงอนกันสำหรับคนที่ไม่ได้รับเชิญให้มาร่วมงานนี้ครับ เลยป้องกันแต่แรกด้วยการไม่ให้รู้เลยแล้วกันว่ามีใครมาบ้างครับ

เป็น India Insight ที่น่าสนใจจริงๆเห็นมั้ยครับ

เคยมีช่วงนึงที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมคนบางคนต้องโพสอะไรมากมายบนออนไลน์ จากการสำรวจของหนังสือเล่มนี้บอกว่า พวกที่วิจารณ์ส่วนใหญ่คือคนรวย และชีวิตก็ดีอยู่แล้ว พอเจอคนจนที่ชอบโพสอวดชีวิตดีๆบ้าง กลับรู้สึกเหยียดว่าเป็นพวกชอบเปิดเผยเกินไป ทำไมไม่ใช้ชีวิตเงียบๆแบบเค้าบ้าง

เป็นอย่างไรครับ คนนึงโลกจริงมีทุกอย่างให้เหลือเฟือ ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ขาดถึงต้องการเติมเต็มบนโซเขียลมีเดีย

และข้อสุดท้ายที่จะหยิบมาเล่าก็คือ เรามักเคยได้ยินบ่อยๆว่าโซเชียลมีเดียทำให้คนมีความสุขน้อยลง และเศร้ามากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโซเชียลมีเดียอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวกับโพสที่คุณเห็น ถ้าคุณเลือกที่จะรับแต่โพสแบบเศร้าๆ หรือทำให้คุณคิดว่าชีวิตตัวเองแย่ด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่นที่อวดชีวิตอย่างน่าหมั่นใส้ สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่ Unfollow คนพวกนั้นไป มันก็ง่ายๆเท่านี้เองครับ แล้วชีวิตจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ

Social media ในวันนี้ไม่ใช่แค่ช่องทางสื่อสาร แต่เป็นพื้นที่ที่เราใช้เข้าสังคมระหว่างคนจริงๆด้วยกัน อีกหน่อยคงมีวิชามรรยาทการใช้โซเชียลมีเดียแน่ๆเลยครับ เพราะจากเดิมเราเคยเชื่อกันว่าชีวิตบนโซเชียลเป็นเหมือนโลกอีกใบ แต่ในวันนี้โลกโซเชียลกลายเป็นโลกใบเดียวกันชีวิตจริงเราอย่างแยกไม่ออกแล้วครับ

You are what you post จริงๆ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 56 ของปี 2019

สรุปหนังสือ WHY WE POST
ส่องวัฒนธรมโซเชียลมีเดียผ่านมานุษยวิทยาดิจิทัล
How the World Changed Social Media
Daniel Miller และคณะเขียน
ฐณฐ จินดานนท์ แปล
สำนักพิมพ์ Bookscape

20190913

อ่านสรุปหนังสือของสำนักพิมพ์ Bookscape นี้ต่อ https://www.summaread.net/category/bookscape/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ https://readery.co/9786168221136

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/