ช่างสงสัย ช่างตั้งคำถาม และก็ช่างพยายามหาคำตอบ สำหรับหนังสือเล่มนี้ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวง่ายๆไกล้ตัว ที่เราส่วนใหญ่มักจะมองข้ามมันไปทุกเมื่อเชื่อว่า ทั้งๆที่เรื่องก็สุดแสนจะธรรมดา แต่ไหงถึงพาไปสู่คำตอบที่แสนจะมหัศจรรย์ได้

เช่น

04 ขนกับความเป็นคน, ทำไมเราต้องโกนหนวด?

ผม ในฐานะผู้ชายคนนึง ที่โกนหนวดมาเป็นประจำแทบจะวันเว้นวันตั้งแต่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นปลายๆมา ก็ไม่เคยตั้งคำถามหรือสงสัยกับเรื่องที่แสนจะธรรมดาสามัญอย่างการโกนหนวดเลย

จนหนังสือเล่มนี้ได้มีคำตอบช่วงนึงที่น่าสนใจว่า 98% ของนักธุรกิจหนุ่ม 100 คนที่รวยที่สุดในโลกมีใบหน้าเกลี้ยงเกลา และจากแบบสำรวจที่พบว่าผู้หญิงประทับใจผู้ชายใบหน้าเกลี้ยงเกลามากกว่าผู้ชายหนวดเคราเฟิ้ม เพราะพวกเธอคิดว่า ชายหนุ่มที่ไว้เคราดูเป็นคนไม่ค่อยมีน้ำใจ (Less generous) ไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่ (Less caring) และดูเป็นคนซังกะตาย (Less cheerful)

พอรู้แบบนี้การโกนหนวดทุกเช้าของผม ก็กลายเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลขึ้นมาเป็นกระบุงเลยครับ

หรือ

การอุปลักษณ์

มีคนกล่าวไว้ว่า “If you want to change the world, you have to change the metaphor.” แปลเป็นไทยก็ “ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงโลก คุณก็ต้องเปลี่ยนการอุปลักษณ์เสียก่อน”

อุปลักษณ์ ไม่ใช่ อุปมา เพราะอุปมาคือการเปรียบเปรยอย่าง หน้าเธอสวยเหมือนดารา แต่ก็ไม่ใช่ดาราแค่มีความคล้ายคลึงเทียบเคียง ส่วนอุปลักษณ์นั้นคือการแทนที่สิ่งใดความหมายหนึ่งเข้าไปตรงๆ เช่น สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงศาสนา ประมาณนี้ครับ

แต่ในเรื่องหนึ่งของบทนี้ที่น่าสนใจคือ ในปี 2005 มีงานศึกษาชื่อ ความเปรียบเทียบที่เราใช้คิด บทบาทของอุปลักษณ์ของการใช้เหตุผล (Metaphors We Think With: The Rold of Metaphor in Reasoning)

โดยให้กลุ่มตัวอย่างลองอ่านบทความที่เกี่ยวกับอาชญากรรมที่มีเนื้อหาเหมือนกันแต่ใช้ความเปรียบของอาชญากรรมไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งแทนว่าเป็นสัตว์ร้าย อีกกลุ่มแทนว่าเป็นเชื้อไวรัส

ผลการทดลองคือ กลุ่มที่เปรียบอาชญากรว่าเป็นสัตว์ มีแนวโน้มจะเสนอว่าควรจัดการด้วยความรุนแรงและกักขัง ส่วนกลุ่มที่แทนที่ด้วยไวรัสเสนอแนะให้รวบรวมข้อมูลเพื่อแพร่กระจายและทำการรักษา

เห็นมั้ยครับแค่ใช้การอุปลักษณ์ที่ต่างกัน ก็ส่งผลต่อความคิดและการกระทำมากขนาดไหน

เรื่องนี้ยังมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆจากสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นาซี กระทำกับชาวยิวเพราะเห็นว่าชาวยิวนั้นเป็นของเสีย ที่ต้องถูกจำกัดและกำจัดออกจากสังคม เริ่มจากตีตราสัญลักษณ์เพื่อแยกออกจากคนทั่วไป และส่งไปกำจัดที่ค่ายกักกันทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่า คำตอบจะมีค่าก็ต่อเมื่อเราเริ่มต้นจากคำถามที่ดี

เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเฟ้นหาคำตอบต่างๆให้ชีวิต แต่เรากลับไม่ค่อยใช้เวลากับการตั้งคำถามเลยว่า คำถามที่เราต้องการคำตอบนั้น มันถูกแล้วหรือไม่

เราต้องการแต่คำตอบที่ถูก จนมองข้ามคำถามที่ถูกต้องไป

เพราะผมเชื่อว่า คำถามที่ดีก็ตอบคำถามด้วยตัวมันเองไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราตั้งคำถามผิด ต่อให้คำตอบที่ได้มานั้นดีแค่ไหน แต่ก็หาได้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตไม่ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 31 ของปี 2018

วัตถุต้องสงสัย
สงสัยไหมว่า ถ้าวัตถุพูดได้ มันจะเล่าอะไรให้เราฟัง?
วณัฐย์ พุฒนาค เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon Books

20180312

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/