หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่าจากนโยบาย Thailand 4.0 ที่เป็นกระแสในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้วตอนนี้ธุรกิจหรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในบ้านเราอยู่ตรงไหน แล้วมีใครในธุรกิจไหนบ้างที่พูดได้ว่าไปถึง 4.0 แล้วในวันนี้ กับสุดท้ายแล้วอะไรบ้างที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วนเพื่อที่จะทำให้ Thailand เป็น 4.0 ได้จริงๆ เขียนโดยเหล่าคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการสำรวจในมุมกว้าง และเสาะหาในมุมลึกครับ

ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ไกล้ถึง 4.0 แล้วหรือยัง

ถ้าแบ่งเป็น 1 ถึง 4 จากการสำรวจในภาพรวมตอนนี้เราเลย 2 มาหน่อยแล้วครับ อยู่ที่ราวๆ 2.5 แม้ยังไม่ไกล้ 4 นักแต่ก็ไม่ไกลเกินไป

ตัวเลขนี้มาจากการสำรวจ 3 ธุรกิจหลักๆที่สำคัญของไทยในตอนนี้อย่าง เกษตร สุขภาพ และบริการ (ธุรกิจสุขภาพเห็นแบบนี้ทำเงินได้ถึง 1.1ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเลยนะครับ เพราะวันนี้สุขภาพมันครอบคลุมไปถึงความงามด้วย) ว่าแต่ 4.0 3.0 2.0 หรือ 2.5 ที่เรากำลังเป็นอยู่ในตอนนี้นั้นมันหมายถึงอะไรล่ะครับ

4.0 คือตัวเลขรูปแบบของการแข่งขัน

หรือจะเรียกว่า competitive platform แพลตฟอร์มของการแข่งขันก็ได้ ที่เริ่มจาก 1.0 คือยุคของการแข่งขันด้วยต้นทุน หรือราคาขาย

จากนั้น 2.0 ก็คือยุคของการแข่งขันกันที่มูลค่า ถูกแพงไม่สำคัญขอให้คุ้มค่าที่จะจ่าย ซึ่งธุรกิจไทยส่วนใหญ่อยู่ตรงนี้ครับ ผ่านพ้นการเน้นการผลิตราคาถูกมาแล้ว

แล้วก็เป็นยุค 3.0 แข่งขันกันที่แบรนด์ เพราะคุณสมบัติสินค้าที่ผลิตออกมานั้นไม่ค่อยต่างกันแล้ว เลยต้องหันมาใช้การตลาดในการสร้างแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ให้คนจำ และจ่ายเพื่อภาพลักษณ์ที่แบรนด์สะท้อนถึง เช่น คนใส่ลีวาย ก็เป็นคนละสไตล์กับคนใส่แมคยีนส์ หรือดีเซล และสุดท้ายเป้าหมายของไทยเรา ยุค 4.0

4.0 แข่งขันกันที่ดีไซน์และนวัตกรรม

ในวันที่แบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์ใหม่ไม่สำคัญเท่าวันวาน ขอแค่ตอบโจทย์หรือโดนใจผู้บริโภคสุดๆเท่านั้นพอ ไม่ว่าจะเป็น Uber ที่โดนใจคนที่เบื่อการง้อแท็กซี่ หรือ Airbnb ที่อยากจะหาประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ หรือแม้แต่ Air Asia ที่ทำให้ใครๆก็บินได้ จากเมื่อก่อนการไปญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก ทุกวันนี้เจอคนไทยทุกสี่แยกไฟแดงในญี่ปุ่นก็ว่าได้แล้ว

ดังนั้นที่บอกว่าไทยอยู่ในช่วง 2.5 นั้น เพราะธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเก่งเรื่องการสร้างคุณค่าแล้ว สามารถทำของดีในราคาที่คุ้มค่าขายได้ และก็กำลังพัฒนาไปสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองที่จะเริ่มเห็นขึ้นมากมาย ยังไม่นับถึงหลายแบรนด์ในบ้านเราที่เริ่มมีชื่อเสียงในตลาดโลกด้วย

คำถามสำคัญต่อไปคือ ใครในบ้านเราที่เป็น 4.0 แล้วบ้าง

ในหนังสือเล่มนี้มีหลายเคสตัวอย่าง หลายอุตสาหกรรมธุรกิจที่กำลังจะเป็น 4.0 หรือเป็น 4.0 ไปก่อนหน้ารัฐบาลจะประกาศนโยบาย Thailand 4.0 อีก

ธุรกิจเกษตร

ไม่ว่าจะ CP หรือกลุ่มธุรกิจ มิตรผล นั้นล้วนพาองค์กรไปไกลก่อนที่รัฐบาล คสช จะประกาศนโยบายที่ว่ามาอีก ที่ไปไกลไปเองโดยไม่ได้รอภาครัฐนั้นเพราะการแข่งขันกับต่างชาติในระดับโลกนั้นทำให้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด

CP เองมีโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ไม่มีมนุษย์อยู่ในโรงงานเลยด้วยซ้ำ หรือ มิตรผลที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆที่ไม่ใช่แค่น้ำตาล แต่ยังมีธุรกิจพลังงานด้วย

หรือบริษัท V Food ผู้ผลิตน้ำนมข้าวโพด หรือข้าวโพดฝักสำเร็จรูปพร้อมกินใน 7Eleven ที่เราเห็นเป็นประจำนั้น ก็มาจากการ “พึ่งพาตัวเอง” หาใช่รอนโยบายรัฐบาล หรือหน่วยงานข้าราชการใดๆไม่ แถมยังมีทีม Stratup ที่ทำเกี่ยวกับ FarmTech ของไทยที่สร้างเครื่องมือวัดคุณภาพดินและน้ำแบบ Real-time เพื่อบอกให้ชาวนา ชาวไร่ หรือผู้เลี้ยงสัตว์น้ำรู้ว่าควรเพิ่มเติมสารอาหารอะไรลงในน้ำในดิน

ธุรกิจสุขภาพ

ก็ก่อนท่าพลเอกประยุทธ์จะประกาศนโยบายดังกล่าวออกมาอีก แถมที่สำคัญยังทำเพื่อหวังเป้าในระดับโลกด้วย ไม่ว่าอย่างธุรกิจ MEiD ที่ทำสายรัดข้อมูลเชื่อมโยงกับข้อมูลสุขภาพ ประวัติทางการแพทย์ เพื่อในตอนที่ฉุกเฉินผู้ป่วยหรือญาติไม่มีสติที่จะตอบคำถามต่างๆของแพทย์ได้ ไม่ว่าจะแพ้ยาอะไร เลือดกรุ๊ปอะไร หรือเคยมีอาการอะไร ก็สามารถเอาข้อมูลประวัติทางการแพทย์ทั้งหมดยัดเข้าไปในสายข้อมือ MEiD นี้ได้

ธุรกิจบริการ

เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ไม่ว่าจะการท่องเที่ยวหรือบริการในด้านอื่นๆ ในกลุ่มที่อยู่ใน 4.0 นั้นล้วนเกิดจากตัวเองมาก่อนนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะธุรกิจ TakeMeTour ที่เห็นปัญหาจากตัวเองว่าเวลาไปเที่ยวก็อยากให้เพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่นพาไป

เพื่อได้ประสบการณ์์จริงๆแบบคนท้องถิ่นจริงๆ เป็นอะไรที่ไกด์ทัวร์ทั่วไปให้ไม่ได้ เลยเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพื่อจับคู่ไกด์บ้านๆกับนักท่องเที่ยวที่อยากได้ประสบการณ์แบบบ้านๆจริงๆ จนค่อยๆเติบโตและขยายออกไปยังเพื่อนบ้านต่างประเทศ

ทุกเคสเรื่องราวบอกให้รู้เหมือนกันว่าพวกเค้าทั้งหลายไม่ได้ “รอ” ความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือรอการประกาศนโยบายใดๆ ล้วนแต่เกิดจากการปรับตัวเพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในโลกที่อะไรๆก็เปลี่ยนได้ยังไม่ทันข้ามวัน

ดังนั้นสิ่งสำคัญถัดมาคือรัฐบาลควรต้องทำอะไรบ้างนอกจากแค่ PR ประกาศนโยบายให้เสียงดังเพื่อให้ธุรกิจไทยอัพเกรดไป 4.0 ได้จริงๆ

กฏหมาย 4.0

ผู้ประกอบการ ผู้บริหารธุรกิจหลายคนพูดเหมือนๆกันว่ากฏหมายหรือกฏระเบียบข้อบังคับในบ้านเราเนี่ยแหละ ที่เป็นตัวขัดขวางการเริ่มต้นธุรกิจหรือ Startup ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้
หลายข้อของกฏหมายไม่ตอบรับแนวทางธุรกิจการแข่งขันในปัจจุบัน แถมยังขัดขวางหรือบั่นทอนกำลังใจก็มี

ไม่ว่าจะในเรื่อง “ภาษาของกฏหมาย” ที่เขียนออกมาให้ยาก ต้องอาศัยการตีความอีก ผิดกับกฏหมายในประเทศสิงค์โปรที่เป็นภาษาอังกฤษ อ่านเข้าใจง่าย ไม่ต้องจ้างใครมาอ่านให้ ทำให้หลายธุรกิจเกิดใหม่เลือกไปจดทะเบียนบริษัทที่สิงค์โปรกันครับ

ภาษี 4.0

การทำธุรกิจหรือบริษัทในบ้านเรานั้นต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ต้องเสียภาษีรายรับของบริษัท แล้วก็ต้องมาเสียเงินได้ส่วนบุคคลอีกต่อ ทั้งๆที่เป็นเงินก้อนเดียวกันแต่ไหนต้องมาเสียภาษีสองเด้ง

ทุกคนเข้าใจว่ารัฐต้องการเก็บภาษีให้ได้มากที่สุด แต่พวกเขาก็มีมุมมองว่าทำไมไม่กระจายการเก็บภาษีออกไปในวงกว้างอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่มากระจุกเก็บกับพวกเค้าแบบนี้

การศึกษา 4.0

ตลาดการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน ขาดแคลนแรงงานมีฝือคุณภาพจากสายอาชีวะมาก แต่กลับมีแรงงานในภาคปริญญาตรีที่ไม่มีคุณภาพล้นเหลือขึ้นทุกวัน

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่บอกเหมือนกันคือ ระบบการศึกษาทุกวันนี้ล้าหลังมาก สอนให้คนออกมาเป็นลูกเจี๊ยบคอยรับคำสั่ง เริ่มต้นอะไรเองไม่เป็น

ราชการ 4.0

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พบว่าระบบราชการในปัจจุบันนั้นยุ่งยาก ชักช้า และซับซ้อนมากเกินไป มีหลายหน่วยงานในหลายองค์กรมากที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน และยังไม่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้การขอทำอะไรซักอย่างนั้นต้องวิ่งเทียวไปเทียวมาเพื่อพูดเรื่องเดิมหลายครั้ง เสียทั้งเวลา เสียทั้งแรงใจ

ควรจะมีหน่วยงานกลางให้ให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพื่อทำให้ตัวเองสบายเช้าชามเย็นชามไปทุกวัน

และที่สำคัญผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐบาลหรือข้าราชการต้องเห็นประชาชนเป็นลูกค้า ไม่ใช่ผู้ใต้ปกครอง ต้องทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้สะดวก ไม่ใช่เอาแต่คอยขัดขวางหรือทำให้ยุ่งยาก จนทำให้ปัญหาการติดสนบนคอรัปชั่นเพิ่มไม่ลดแบบนี้

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเร่งด่วนก่อนอื่นเพื่อทำให้นโยบาย Thailand 4.0 เป็นจริงในเร็ววันผมว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการ ธุรกิจ องค์กร หรือชาวบ้านที่อยากจะเริ่มต้นทำอะไรเองหรอกครับ แต่เป็นรัฐบาล ข้าราชการ คนที่กินเงินภาษีทั้งหลายของเราๆทุกคนนี่แหละ ที่ควรจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และแก้ไขที่ตัวเองก่อนใครเพื่อนเลย

อ่านจบแล้วรู้สึกเห็นใจเหล่าผู้ประกอบการในบ้านเรา ที่ต้องฟันฝ่าสู้ตั้งต้นขึ้นมาด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ด้วยคติประจำใจว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เพราะที่บ้านมารัฐบาลหรือข้าราชการบ้านเราแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ก่อนจะไปถึง Thailand 4.0 ขอ Government 4.0 ก่อนเลยครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 40 ของปี 2018

ปรากฏการณ์ 4.0 ธุรกิจบนเส้นทางใหม่
รศ.ดร.พิภพ อุดร, รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล, ผศ.ดร.นิติ รัตนปรีชาเวช, ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว, รศ.ดร.พภดล ร่มโพธิ์, ผศ.ดร.ธนวัต ลิมป์พาณิชย์กุล เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180413

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/