การศึกษาเพื่อสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กทุกคน เขียนโดย James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

เมื่อพูดถึงโลกแห่งความเท่าเทียม ผมว่าที่ไกล้เคียงที่สุดคงเป็นวรณกรรมเรื่อง Utopia จะว่าเป็นวรรณกรรมได้มั้ยในเมื่อผู้เขียนนั้นเขียนบันทึกจากการบอกเล่าของชายคนหนึ่งที่อ้างว่าได้ไปพบกับดินแดนดังกล่าวเมื่อกว่า 500 ปีก่อน โดย Sir Thomas More

ดินแดนที่ว่าด้วยความเท่าเทียมอย่างที่สุด ทุกคนมีกินมีใช้เท่ากัน ไม่มีใครพิเศษไปกว่าใคร สิ่งเดียวที่ดินแดนแห่งนี้แตกต่างกันคือความสนใจใคร่หาความรู้ แต่ก็นั่นแหละครับ Utopia ถ้าว่าไปแล้วก็สังคมนิยมดีๆนี่เอง

ทุกคนทำงานเหมือนกัน ได้รับผลตอบแทนเท่ากัน ไม่มีการสะสมทุน ไม่มีความทะเยอะทะยาน ไม่มีชนชั้นวรรณะ แต่ก็ไม่นะ ใน Utopia ก็ยังมีผู้คุมที่เหมือนคนทีกระจายความเท่าเทียมให้กับทุกคนเท่าๆกันอยู่ดี ทุกคนมีเสื้อผ้าเหมือนกัน บ้านเหมือนกัน ไม่รู้ว่าหน้าตาจะเหมือนกันมั้ย..

นั่นแหละครับ ความเท่าเทียมจากประโยคบอกเล่าที่ไม่มีใครมีหลักฐานที่แท้จริงใดๆ

แล้วความไม่เท่าเทียมของเราทุกวันนี้โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาล่ะ?

ในสหัฐอเมริกานั้นกลับมีปัญหาเรื่องนี้ยิ่งกว่า ด้วยนิยามแห่งความเสมอภาคนั้นกลับไม่จริงในชีวิตจริงเท่าไหร่นัก คนชนชั้นล่างที่เป็นชาวอเมริกาเชื้อสายแอฟริกานั้นคือคนที่อยู่ในขั้นรากฐานสุดของสังคม รองมาคือกลุ่มคนผิวขาว Hispanic คือกลุ่มลาตินที่พูดสเปนได้นี่เอง กลับเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมในการกระจายทรัพยากรเท่ากับคนชนชั้นกลางผิวขาวอเมริกันแท้ๆเท่าไหร่นัก

โรงเรียนของคนกลุ่มที่ว่าไปนี้กลับได้รับงบประมาณที่ต่างกันถึง 3 เท่า แถบที่อยู่อาศัยที่เต็มไปด้วยอันตรายไม่รู้ว่าการไปเรียนหนังสือกลับมาบ้านแต่ละทีจะได้กลับถึงบ้านหรือเปล่า หรือจะถูกแก็งค์อันธพาลรีดไถหรือแม้กระทั่งถูกซ้อมหรือยิงตายก็ตาม

ความรู้ทำให้คนมีโอกาส และโอกาสนั้นก็จะพาไปสู่ความเท่าเทียม

ผู้เขียนเสนอว่าควรมีการพัฒนาตั้งแต่ปฐมวัยไม่ใช่มาเน้นเอาตอนวัยรุ่นอย่างนโยบายหลายๆโครงการในปัจจุบันของอเมริกา เพราะการให้ความรู้ ความเข้าใจ และความรักตั้งแต่ปฐมวัยนั้นก็เหมือนการสร้างรากฐานของบ้านที่ดี

ที่พอโตขึ้นจะต่อยอดอะไรก็ทำได้ง่าย ไม่ใช่ปัจจุบันที่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้นเมื่อโตแล้วของผู้ใหญ่อเมริกันหลายคนที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ หรือกลายเป็นแรงงานไร้ความสามารถที่กำลังถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ระบบอัจฉริยะขึ้นทุกวัน

สิ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนค้นพบคือความสามารถด้านทักษะทางปัญญา(cognitive skill)เพียงด้านเดียวนั้นไม่สามารถพาให้คนๆนั้นไปสู่ความสำเร็จของชีวิตได้(คิดง่ายๆแค่มีบ้าน มีงานทำ และไม่เป็นภาระพึ่งพาสวัสดิการรัฐมากเกินไปก็พอ) แต่ยังต้องพึ่งพาคุณลักษณะทางพฤติกรรม(non-cognitive characteristic)ด้วย ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านกว่านี้คือแค่ IQ นั้นอยู่ไม่ได้แล้วต้องมี EQ ที่ดีด้วย (คงเคยเห็นคนเก่งๆหลายคนกลับคุยกับคนด้วยกันไม่รู้เรื่อง)

จากหลักฐานที่ผู้เขียนพบผ่านโครงการ Perry Preschool Project กับ Abecedarian Project ที่ทำการทดสอบทดลองและติดตามผลกว่า 30-40 ปีพบว่า การดูแลเอาใจใส่เด็กด้วยโอกาสตั้งแต่ขั้นปฐมวัยหรือต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปต่อเนื่อง 5 ปี จะสามารถเปลี่ยนให้ชีวิตของคนเหล่านั้นดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการทดสอบ

แม้ว่าผลทางด้าน IQ จะลดลงเมื่อจบโครงการแต่พอติดตามผลในระยะยาวกว่า 30 ปีเมื่อกลุ่มเด็กเหล่านั้นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวกลับพบว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม

เพราะเด็กกลุ่มนี้ที่ถูกเอาใจใส่ตั้งแต่เด็กผ่านโครงการทั้งสองจะมีลักษณะทางพฤติกรรมที่ดีกว่า มีความอดทนมากกว่า มีความเข้ากับสังคมได้ดีกว่า ทำให้คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่แต่เด็ก ผู้เขียนเลยพบว่าควรเพิ่มโครงการที่ปูพื้นฐานที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก ดีกว่าเอาเงินไปแก้ปัญหาเมื่อโตแล้ว

ความเก่งอาจเริ่มต้นได้ดี แต่ความอึดทนต่อปัญหาอุปสรรคนั้นทำให้เราไปได้ไกลกว่า เด็กที่ถูกเอาใจแต่ในการเลี้ยงดูจะมีความอดทนทางใจที่ดีกว่าเด็กที่ขาดตรงนี้ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็ช่วยสนับสนุนกันไม่ใช่ว่ามีอย่างเดียวก็อยู่ได้นะครับ

หนังสือเล่มเล็กแค่ 133 หน้าแต่กลับทำให้คิดได้อย่างนึงว่าเค้าก็พยายามหาทางปรับปรุงการศึกษาเพื่อประเทศเค้า ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เกี่ยวข้องบ้านเรากำลังพยายามทำเพื่อความเท่าเทียมโดยเฉพาะด้านการศึกษาไปถึงไหนแล้ว

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/