เป็นวรรณกรรมน้อยเล่มที่ผมอ่าน ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมเพราะคิดว่าตัวเองคงไม่ค่อยอินเท่าไหร่ แต่กับ 1984 เล่มนี้ที่เคยได้ยินคนพูดถึง และประจวบกับช่วงนี้ไล่อ่านหนังสือแนวการเมืองการปกครองหลายเล่ม จนทำให้ถึงคราวที่ต้องหยิบ 1984 ขึ้นมาลองอ่านดูบ้าง

.

1984 ถ้าให้สรุปสั้นๆก็คงบอกได้ว่าเป็นหนังสือแนวการเมืองการปกครองในจินตนาการของผู้เขียนที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงช่วงสงครามเย็น ที่ระบบการปกครองแบ่งออกเป็นสองฝ่ายที่แข็งขันกัน ระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยม

.

ในหนังสือว่าด้วยผู้นำสูงสุดหรือที่เรียกว่า Big Brother หรือ “พี่เบิ้ม” ในชื่อไทย ที่คอยจับตาดูประชาชนทุกผู้คน โดยเฉพาะสมาชิกในพรรคชั้นนอกไม่ให้หลุดจากแนวคิดของพรรคหรือผู้นำ ผ่านโทรภาพที่เหมือนทีวีรุ่นพิเศษที่สามารถเฝ้ามองและฟังเสียงเรากลับได้ด้วย

.

ถ้าเปรียบโทรภาพใน 1984 ผมว่าก็เหมือนกับ “อินเทอร์เน็ต” สมัยนี้ ที่รัฐบาลแทบทุกประเทศในโลกพยายามเฝ้าตรวจสอบประชาชนทุกคนอยู่เสมอ ว่าแต่ละคนกำลังเสริชหาอะไร หรือโพสอะไร หรือแม้แต่ใช้งานอยู่ที่ไหน และติดต่อกับใครบ้าง ถ้าใครได้ดูภาพยนต์สารคดีอย่าง Citizen Four หรือภาพยนต์ชื่อ Snowden ที่สร้างมาจากส่วนหนึ่งของนาย Edward Snowden ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานให้ CIA กับ NSA ในการสร้างระบบดวงตาพญามารในการตรวจสอบประชาชนทุกคนในสหรัฐผ่านอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงสอดส่องไปยังทุกคนบนโลก

.

ในภาพยนต์ที่บอกเล่าให้เห็นภาพว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่สามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เราทำบนอินเทอร์เน็ตได้ จนสามารถคาดเดาได้ว่าเรากำลังจะทำอะไรต่อไป เพื่อประเมินว่าเรากำลังคิดที่จะเป็นภัยต่อรัฐหรือการปกครองมั้ย

.

หนังสือเล่มนี้เล่าได้อย่างน่าสนใจว่า ระบบชนชั้นที่มีมียาวนานทั้ง 3 ชั้น อย่างชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ ชนชั้นกลางที่เป็นคนส่วนน้อย และชนชั้นนำที่เป็นคนส่วนเฉพาะมากๆ จะยังคงรูปแบบนี้ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ เพราะความเท่าเทียมที่แท้จริงนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง หรือถ้าจะเกิดขึ้นจริงได้ก็จะถูกขัดขวางจนชนชั้นอภิสิทธิ์อันน้อยนิดเพื่อคงสถานะพิเศษตัวเองไว้

.

เพราะถ้าผู้คนมีความเท่าเทียมกัน นั่นหมายถึงทุกคนมีกินมีใช้เท่ากัน สะดวกสบายไม่ต่างกัน ทำให้ทุกผู้คนมีเวลาว่างที่จะสามารถที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ พอทุกคนฉลาดเท่ากันก็ทำให้ทุกคนรู้ว่าพวกชนชั้นอภิสิทธิ์ไม่มีความจำเป็นต่อสังคมแต่อย่างไร

.

การจะคงชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคมเอาไว้ได้นั้น ต้องทำให้เกิดการเต็มใจที่จะมอบอำนาจให้กับคนกลุ่มน้อยที่มีไม่ถึง 2% เหล่านั้น และหนึ่งในแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ก็คือ “สงคราม”

.

สงครามทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีชนชั้นอภิสิทธิ์คงอยู่ และสงครามเองทำให้เทคโนโลยีความสะดวกสบายที่จะคอยช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ว่างมากขึ้นนั้นไม่เกิดขึ้น

.

เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อปากท้อง ก็จะมีเวลาศึกษาและมีเวลาคิดมากขึ้น เมื่อคิดได้มากขึ้นก็จะรู้ว่าชนชั้นนำหรืออภิสิทธิ์ชนชั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป

.

แต่ด้วยสงครามนี้ที่ทำให้ส่วนผลิตมากเกินจากเทคโนโลยีที่ควรจะมอบให้กับประชาชนเท่าๆกันถูกกำจัดทิ้งไปอย่างมีเหตุผล

.

ในหนังสือ 1984 นี้เลยบอกว่าอภิรัฐต่างๆของโลกสร้างสงครามหลอกๆขึ้นมา เพื่อกำจัดส่วนเกินการผลิตจากเทคโนโลยีทิ้งไป เพื่อไม่ให้ประชาชนสะดวกสบายเกินไป และทั้งหมดเพื่อคงความพิเศษของคนกลุ่มเล็กๆไว้ และรักษาอำนาจให้อยู่กับคนกลุ่มนั้นต่อไป

.

1984 พูดถึงอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ นั่นคือ #NewSpeak หรือการกำจัดคำศัพท์ที่ใช้พูดออกไปเรื่อยๆ

.

เพราะถ้าความคิดไม่สามารถถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นได้ด้วยการพูดหรือเขียน ก็ทำให้ความคิดที่จะล้มล้างการปกครองหรือที่เป็นอยู่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

.

ทั้งนี้เพราะไม่มีคำที่สามารถใช้ถ่ายทอดความคิดนั้นออกมาได้ ความคิดทั้งหลายก็เลยไม่เป็นอันตรายต่อรัฐ

.

บอกตรงๆว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่ากลัวมากครับ การห้ามให้คนไม่คิดด้วยการทำให้คนไม่มีคำพูดที่ใช้สื่อสารความคิดออกมา ช่างเป็นแนวคิดที่อัจฉริยะในทางการเมืองจริงๆ

.

และแนวคิดการแก้ไขอดีตเพื่อควบคุมอำนาจของกระทรวงความจริงของอภิรัฐในเล่มนี้ก็น่าสนใจ เป็นแนวคิดที่ว่าคณะผู้ปกครองสามารถแก้ไขเนื้อหาในอดีตได้ทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ชอบธรรม และความอภินิหารของคณะผู้ปกครอง จนทำให้ประชาชนทุกคนเกิดความเลื่อมใส และยอมรับในความถูกต้องในการคิดและตัดสินใจของรัฐตลอดเวลา

.

เพราะถ้าประชาชนไม่สามารถตรวจสอบอดีตได้ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรที่ผู้ปกครองทำผิดพลาดมาแล้วบ้าง เมื่อประชาชนคิดว่าผู้นำถูกเสมอ และถูกมาตลอด แล้วจะมีเหตุผลอะไรให้ต้องคัดค้านอีกล่ะ

.

แนวคิดนี้ทำให้คิดถึงเรื่องที่ว่าถ้าอยู่ดีๆข้อมูลที่สำคัญบนอินเทอร์เน็ต ที่ถูกเก็บไว้ที่ server ที่ใดที่หนึ่ง ถูกลบล้างให้แก้ไขทั้งหมดให้เป็นไปตามที่บางคนต้องการ เมื่อนั้นเราจะเหลือหลักฐานอะไรไว้ให้โต้แย้ง

.

หรือสิ่งที่จะมาแก้ไขปัญหาการรวมศูนย์ข้อมูลไว้ที่เดียวคือเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ที่กระจายข้อมูลไม่ให้รวมศูนย์เพื่อมีใครควบคุมอำนาจเหนือข้อมูลนั้น

.

แต่จุดอ่อนของ Blockchain ก็ยังมีเหมือนกัน นั่นคือถ้าเสียงส่วนมากในระบบเกิน 50% ถูกควบคุมโดยใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อนั้นระบบเพื่อความเท่าเทียมก็จะพ่ายแพ้ต่อเสียงส่วนมากไป

.

หรือจะเรียกว่า Blockchain แท้จริงแล้วไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่คือระบบที่จำลองความเป็นประชานิยมขั้นสูงสุดไว้นั่นเอง

.

สุดท้ายนี้ผมคิดว่า อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ว่าจะด้วยเผด็จการหรือกลุ่มคณาธิปไตยนั้น ไม่สำคัญว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำซักเท่าไหร่นัก แต่หัวใจสำคัญคือการสามารถจำกัดการรับรู้ของผู้คนให้ได้ เพราะถ้าเราไม่รู้ และไม่มีทางรู้ ความจริงก็หาใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ความจริงคือสิ่งที่เราเชื่อในความคิดเรา

.

George Orwell เขียน

รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพันธ์เผ่าพงศ์ แปล

สำนักพิมพ์สมมติ

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ทางออนไลน์ > https://click.accesstrade.in.th/go/4KaxRgLI

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/