สรุปหนังสือ On People ว่าด้วยประชาชน

สรุปหนังสือ On People ว่าด้วยประชาชน ที่เขียนโดยอาจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา เล่มนี้ ต้องสารภาพตรงๆว่าเป็นหนังสือที่เขียนสรุปไม่ลงจริงๆ

เพราะอะไรน่ะหรือครับ? ก็เพราะหนังสือเล่มนี้แม้จะแค่ร้อยกว่าหน้าแต่ก็ยากที่จะเข้าใจทั้งหมดได้

ความพยายามอ่านในครั้งแรกคือเมื่อต้นปีที่แล้ว พอเปิดอ่านได้ไม่กี่หน้าก็ต้องปิดเก็บไปก่อน เพราะยอมรับตรงๆว่ายังไม่สามารถจะเข้าใจได้ จนเมื่อวานได้มีโอกาสหยิบมาอ่านอีกครั้งก็พบว่าครั้งนี้เราอ่านได้ง่ายขึ้น และเข้าใจได้มากขึ้น

แม้จะไม่เข้าใจทั้งหมดทุกหน้า 100% แต่ก็คิดว่าตัวเองพอเข้าใจแนวคิด แก่นสำคัญ รวมถึงเข้าใจความหมายของคำว่า “ประชาชน” มากขึ้น

คำว่า “ประชาชน” หลายคนคงสงสัยเหมือนผมว่ามันจะต้องตั้งคำถามไปทำไม ในเมื่อเราก็เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ผ่านหนังสือเรียนมากมาย ข้อสอบก็หลายข้อ ไหนจะคำปราศัยโฆษณาหาเสียงของบรรดานักการเมืองทุกคน ที่ต่างก็ตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทำเพื่อประชาชน”

ฟังดูนักการเมืองตอนหาเสียงเป็นผู้ประเสริฐทุกคน ผิดกับตอนที่ได้เลือกเข้าไปทำงานแล้วกลับเป็นคนละคนสิ้นเชิงกันทั้งนั้น แต่คนดีๆก็มีนะครับ นักการเมืองที่คงเส้นคงวา โกงคงเส้นคงว่าเนี่ยได้ข่าวบ่อย

กลับมาที่หนังสือต่อดีกว่า “ประชาชน” ในสิ่งที่อาจารย์ “ธเนศ วงศ์ยานนาวา” เล่าผ่านเล่มนี้คือเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “อะไรคือประชาชน”

รากศัพท์ภาษาละตินของคำว่า “Populus” (ที่กลายมาเป็นคำว่า People หรือ “ประชาชน” ในปัจจุบัน) นั้นไม่ได้มีความหมายที่ศักดิ์สิทธิ์หรือน่ายกย่องแต่อย่างใด ตรงกันข้าม คำนี้กลับแสดงให้เห็นถึงความต่ำทราม

นั่นแหละครับ คือสิ่งที่บรรดาชนชั้นสูง หรือกลุ่มผู้ปกครองทั้งหลายไม่ได้คิดว่า “ประชาชน” มีประโยชน์หรือสำคัญอะไรกับตน เพราะ “ประชาชน” ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนโง่ หรือไร้ความสามารถ รวมถึงไร้สิทธิทางการเมืองรวมตัวกันในพื้นที่หนึ่งเท่านั้นเอง

แต่ถึงผู้ปกครองทั้งหลายจะคิดกับประชาชนในแบบนั้น แต่ในทุกระบบการปกครองตั้งแต่เสรีนิยมประชาธิปไตย ไปจนถึงสังคมนิยม หรือจอมเผด็จการ แม้กระทั่งพรรคนาซีที่ฆ่าล้างชาวยิวจนเกือบหมดโลก ต่างก็อ้างว่าตัวเองนั้นกำลัง “ทำเพื่อประชาชน” อยู่ด้วยกันทั้งนั้น

เพิ่งเข้าใจว่าการฆ่าคนเป็นล้านๆ หรือการทำให้คนในชาติต้องอดตายนั้นก็เป็นการ “ทำเพื่อประชาชน” ในความคิดของท่านผู้นำจริงๆ ช่างหวังดีต่อประชาชนจริงๆ

จากการตั้งคำถาม ก็สู่บทที่ 2 ที่พูดถึง Provocatio สู่ Civitas

Provocatio หมายถึง การคุ้มครอง ส่วนในภาษาละตินหมายถึง “การท้าทาย” กับอำนาจรัฐหรือผู้ปกครอง การที่ประชาชนรวมตัวกันเพื่อตอบโต้การกระทำที่ประชาชนไม่ยอมรับของรัฐ เช่น ประชาชนร่วมกันยืนล้อมตำรวจที่รีดไถเงิน จนตำรวจต้องยอมถอยหนีไป

นี่ก็ถือเป็นสิทธิของประชาชนด้วยเหมือนกันที่จะปฏิเสธการกระทำของรัฐ หรือผู้ปกครอง

แต่จาก Provocatio นั้นก็อาจก่อให้เกิด “เผด็จการ” (Dictator) เพื่อใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการยึดสิทธิของประชาชนคืน โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องประชาชน

สารภาพตามตรงว่าเหตุผลโคตรย้อนแย้งครับ หรือถ้าจะเปรียบเทียบว่าถ้าเรากำลังจะเห็นคนซดยาพิษฆ่าตัวตาย รัฐก็จะริบอำนาจการตัดสินใจของเราในการฆ่าตัวตายนั้น แล้วอาจใช้การกระทุ้งท้องให้เราอ้วกออกมา เพื่อปกป้องเรา (นี่โคตรจะมองโลกในแง่ดีเลยนะ ในหนังสือไม่มีแบบนี้นะพูดเลย)

โรมันจะใช้คำว่า “เผด็จการ” ขณะที่กรีกโบราณจะใช้คำว่า “ทรราช” แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ต่างก็สร้างความหวาดกลัวให้ชนชั้นต่ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากอำนาจการปกครองของ “เผด็จการ” นั้นตรวจสอบและถ่วงดุลไม่ได้

คุณสมบัติของพลเมืองก็ใช่ว่าจะตกอยู่กับคนทุกคน ความเป็นพลเมืองถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับคนที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น

ฉะนั้นก็บอกได้ว่าในสมัยก่อนนั้นประชาชนเป็นได้เพียงแค่ “ผู้ถูกปกครอง” ไม่ใช่ผู้ที่สามารถเลือกการปกครองตัวเองได้

แต่แม้ว่าผู้ปกครองจะฉลาด แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนต้องเชื่อฟังผู้ปกครองเสมอไป

เพราะความฉลาดและภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่มีอยู่มากใน “ชุมชน” หรือคนหลายคน แทนที่จะอยู่กับใครเพียงแค่คนเดียว เพียงแต่การปกครองโดยชุมชนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นจึงได้ยกอำนาจในการปกครองให้ผู้ปกครอง

ก็เหมือนกับว่าในการตัดสินใจกฏหมายข้อนึงเราคงไม่สามารถรวมตัวให้คนทั้งชาติช่วยกันตัดสินใจได้ เราจึงใช้วิธีการเลือกตัวแทนของเราเข้าไปทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเรา แต่ตัวแทนเหล่านี้กลับไม่ได้ตัดสินใจเพื่อเราซักเท่าไหร่นักซิ

บทที่ 3 เป็นเรื่องของความเลวร้ายของประชาชน

มาจากความคิดของกลุ่มนักคิด ผู้นำ หรือชนชั้นปกครองตั้งแต่อดีตที่คิดว่า “ประชาชน” นั้นไม่เคยทำประโยชน์อะไรเลย มีแต่เรื่องเลวร้ายที่ประชาชนนั้นทำ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ลักขโมย ความขี้เกียจ จนถึงขั้นมีนักคิดนักเขียนเคยเขียนไว้ว่า ถ้าให้พูดถึงความเลวร้ายของประชาชนก็คงพูดกันไม่จบแน่ๆ

เลยทำให้ประชาชนต้องมีการจัดระเบียบทางการเมือง การจะเป็นประชาชนได้ก็ต้องการรัฐ ประชาชนจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐ นั่นหมายความว่าถ้าประชาชนหรือเราไม่ถูกปกครอง เราก็จะไม่ใช่ประชาชน

เหมือนบอกว่าถ้าเราเป็นลูก นั่นหมายความว่าเราก็ต้องมีพ่อแม่อยู่ที่ไหนซักที่ ถ้าเราไม่มีพ่อแม่ เราก็ไม่สามารถถูกนับเป็นลูกหรือแม้แต่ถือกำเนิดขึ้นมาได้

บทที่ 4 เอ็มมานูเอล โจเซฟ ซีเยส กับการสร้างประชาชน

พูดถึงเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศษที่มักเรียกกันว่า “การปฏิวัติกระฎุมพี” นั้นอาจไม่จริงอีกต่อไป เพราะบรรดานักปฏิวัติทั้งหลายในตอนนั้น ก็เป็นชนชั้นสูงที่ไม่ต่างจากบรรดาขุนนางที่หากินกับความยากจนของประชาชนเหมือนกัน

เห็นมั้ยว่าใครๆต่างก็ชอบอ้างว่า “ทำเพื่อประชาชน” กันจนเคยตัว แต่ไม่เคยระบุชัดเจนว่าประชาชนที่ตัวเองกำลังอ้างว่า “ทำเพื่อ…” อยู่นั้นเป็นประชาชนคนกลุ่มไหนกันแน่

และที่สำคัญการปฏิวัติฝรั่งเศษในตอนนั้นไม่ได้เป็นการปฏิวัติเพื่อความเสมอภาคของชนชั้น แต่เป็นการปฏิวัติเพื่อเศรษฐกิจการผลิตต่างหาก เพราะหลังการปฏิวัตินั้นมีแนวคิดว่า ถ้าใครไม่ทำงานหรือไม่มีผลผลิตก็จะไม่ถูกนับว่าเป็นพลเมือง หรือประชาชนที่มีสิทธิทางการเมือง เหมือนกับพวกชนชั้นสูงที่ถูกปฏิวัติเพราะวันๆไม่ทำงานอะไร เอาแต่ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยไปวันๆ และอาศัยศักดินาที่มีให้ตัวเองสุขสบาย

อำนาจรัฐเป็นอำนาจที่ใช้ในนามประชาชน ซึ่งประชาชนจะยิ่งใหญ่ได้ ก็ต้องมีอำนาจรัฐ และรัฐจะมีความสัมบูรณ์ได้ ก็ต้องมีอำนาจประชาชน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มา ตำราการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบบใดต่างก็มีเป้าหมายสำคัญคือ “ประชาชน” โดยประชาชนก็ต้องยึดอำนาจรัฐ และในทางกลับกันรัฐก็ต้องยึดอำนาจประชาชน

บทที่ 5 บทส่งท้ายของ “รัฐ/ประชาชน” กับความเปราะบางของมนุษย์

บทนี้เปรียบเทียบให้รู้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราไม่ได้กำเนิดขึ้นมาเป็นตัวของตัวเอง แต่เราถูกสร้างขึ้นมาจากคนอื่นอีกที

เริ่มจากเกิดมาเราก็ถูกตั้งชื่อให้ก่อนโดยที่เราจะตัดสินใจเองได้ แม้แต่ภาษาแม่ที่ถูกสอนให้พูดเราก็ไม่มีโอกาสที่จะเลือกใช้ภาษาแม่ได้ถ้าว่าด้วยเรื่องของเจตจำนงค์เสรี มนุษย์เราต่างเป็นผู้ถูกกระทำจากภายนอกทั้งนั้น

รัฐมักจะเรียกร้องให้เราเสียสละเพื่อรัฐ ทำเพื่อรัฐ แม้กระทั่งตายเพื่อรัฐ แต่การทำอะไรเพื่อตนเองของประชาชนนั้นกลับถือเป็นความผิดบาป เป็นเรื่องน่าละอาย การจะใช้ชีวิตเพื่อตัวเองกลับผิดในมุมมองของรัฐ ช่างเป็น “ประชาชน” ที่ถูกไม่สามารถอะไรทั้งนั้น

เป็นหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่มที่ภูมิใจกับการอ่านได้จบ โดยยังมีความเข้าใจและอินกับตัวหนังสือไปพร้อมกันครับ

อ่านแล้วเล่า

สรุปหนังสือ On People ว่าด้วยประชาชน
ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขียน
สำนักพิมพ์ สมมติ

อ่านสรุปหนังอื่นของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ต่อ https://www.summaread.net/tag/%e0%b8%98%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%a8-%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%a8%e0%b9%8c%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b2/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ https://thailand.kinokuniya.com/bw/9786167196534

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/