หมายความว่าไงชีวิตพังซ่อมได้?

พออ่านจบผมคิดว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่รู้กฏหมาย พอไม่รู้กฏหมายก็ถูกคนที่มีสี มีเส้น มีสาย เอากฏหมายมาทำข่มขู่หรือจนถึงขั้นทำให้ชีวิตพังได้ เพราะพอพูดถึงเรื่องกฏหมาย หรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คนส่วนใหญ่ก็มักจะกลัวความยุ่งยาก วุ่นวาย ไหนจะต้องเสียเงินเสียทอง ที่สำคัญที่สุดคือมาจากการไม่รู้กฏหมาย แม้จะเป็นกฏหมายง่ายๆ กฏหมายเบื้องต้น กฏหมายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันก็กลับมีความรู้น้อยมาก จนทำให้คนที่ไม่รู้ต้องเสียเปรียบ ตกเป็นเบี้ยล่าง ยอมจำนนให้กับผู้ที่ผิดแต่รู้กฏหมายมากกว่าไปเป็นประจำ 

ดังนั้นผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับทุกคน เพราะทุกคนล้วนอยู่ภายใต้กฏหมายเหมือนกันหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น…จริงๆนะเพราะตัวกฏหมายก็บัญญัติไว้แบบนั้น

แล้วกฏหมายเกี่ยวพันกับชีวิตแต่ละวันเรามากแค่ไหน

ก็เอาว่าตั้งแต่เกิดแต่ยังไม่คลอดจากท้อง ก็มีกฏหมายคุ้มครองเด็กในท้องแล้วว่าห้ามทำแท้ง พอเกิดออกมาก็มีสิทธิ์รับมรดกตามกฏหมายได้ทันที ตอนเป็นเด็กก็มีกฏหมายคุ้มครองว่าห้ามใช้แรงงานเด็ก หรือผู้ปกครองพ่อแม่ก็ต้องเลี้ยงดูให้ดีตามฐานะที่พึงมี

พอเริ่มใช้เงินเป็นก็เข้าสู่กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค พอเริ่มขับรถใช้ถนนเป็นก็เข้าสู่กฏหมายบนท้องถนนให้ทำตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด พอเริ่มทำงานก็เข้าสู่กฏหมายแรงงานที่ให้ความเป็นธรรมทั้งลูกจ้างและนายจ้าง แม้แต่กระทั่งตายไปกฏหมายก็ยังไม่หยุดเกี่ยวกับชีวิตเรา

เพราะมีกฏหมายที่ดูแลเรื่องมรดกว่าจะต้องแบ่งให้ใครเท่าไหร่ถ้าไม่ทำพินัยกรรมไว้ หรือกฏหมายลิขสิทธิ์ที่ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาว่าผลงานที่เราคิดค้นสร้างสรรค์มาจะยังคงเป็นของลูกหลานไปอีก 50 ปีนับจากวันที่เราตายไปเช่นกัน

เห็นมั้ยครับว่าตั้งแต่ยังอยู่ในท้องจนตายไปแล้ว เราก็ยังอยู่ภายใต้กฏหมายที่ว่านี้ ดังนั้นการไม่รู้กฏหมายย่อมเป็นการเสียเปรียบในการใช้ชีวิตอย่างมาก

แล้วเราควรรู้กฏหมายแค่ไหนล่ะ

ก็ไม่ต้องมากมายหรอกครับ เพราะผู้เขียน ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ สรุปปัญหากฏหมายหลักๆในชีวิตประจำวันจากประสบการณ์ทำงานตรงที่คลีนิคกฏหมายกับชาวบ้านที่มากมายหลากหลายมารวมอยู่ในเล่มนี้ให้เราได้อ่านกัน จะเรียกว่าเป็นหนังสือคู่มือกฏหมายชาวบ้าน 101 ก็ไม่ผิดนัก

อย่างเรื่องบัตรทอง การรักษาที่กฏหมายบังคับให้โรงพยาบาลต้องดูแลชีวิตเราคนไทยทุกคน หรือเมาแล้วขับ หรือฟิตเนสฉาวที่ปิดบริการหนีไปควรจะต้องทำยังไงต่อ หรือเรื่องกรณีค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ที่บิลมาแพงหูฉี่ทั้งๆที่เราไม่ได้ใช้ควรจจะต้องตามเรื่องยังไง หรือการขับรถไปห้างแล้วรถหาย รู้มั้ยว่าห้างต้องรับผิดชอบเต็มๆ ประโยคที่บอกที่บัตรว่า “ไม่รับผิดชอบในกรณีใดๆ” นั้นไม่มีผลทางกฏหมาย หรือเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนไม่งั้นไม่ดำเนินการให้ต้องจัดการยังไง หรือบัตรเครดิตถูกแอบเอาไปใช้ต้องทำไง ใครต้องช่วยเราตามเรื่องบ้าง หรือแม้แต่เรื่องการถูกข่มขืนทั้งชายทั้งหญิง หรือการที่ธนาคารบัตรเครดิตแอบตัดค่าใช้จ่ายโดยที่เราไม่ยินยอมจะไปเรียกร้องได้ที่ไหน หรือพินัยกรรมลมปากจะต้องจัดการยังไง

และเรื่องด่าตรวจที่รู้มั้ยว่าตำรวจเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิยึดใบขับขี่บัตรประชาชนเราทันที ต้องดำเนินการไปที่ศาลเพื่อยึดเท่านั้น เห็นมั้ยครับว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวกฏหมายที่เกี่ยวกับชีวิตเราๆส่วนใหญ่ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องยากใหญ่โตอย่างคดีจำนำข้าว หรือนาฬิกาเรือนละ 3 ล้า 7 ล้านอย่างไรเลย (อุ๊บ!จะผิดกฏหมายมั้ยเนี่ย)

ว่าแต่จะอ่านเข้าใจหรอ เรื่องกฏหมายมันเต็มไปด้วยศัพท์แสงยากๆเฉพาะทางทั้งนั้นนิ
แต่ไม่ใช่กับหนังสือเล่มนี้ครับ

เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนด้วยภาษาแบบง่ายๆแบบชาวบ้านๆ เสมือนว่านั่งฟังเรื่องราวปัญหาชีวิตจากคนจริงๆที่หลากหลายมากกว่า ส่วนข้อสรุปว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับกฏหมายอะไรบ้าง และต้องไปติดต่อกับใครหรือฝ่ายไหนบ้าง ก็สรุปออกมาให้เข้าใจง่ายมากเหมือนกัน เปลี่ยนความคิดผมไปเลยว่ากฏหมายนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด

แต่ที่มันดูยากๆอาจเพราะว่าพวกนักกฏหมายพยายามทำให้ตัวเองดูศักดิ์สิทธิ์อยู่ก็เป็นได้ เป็นหนังสือที่เขียนได้ดีจนแอบนึกว่าคนเขียนเป็น copywriter หรือเปล่าด้วยซ้ำ เพราะเลือกใช้คำได้ง่าย เข้าใจเคลียร์ อ่านแล้วลื่นตลอดไม่มีสะดุดใดๆเลย

สุดท้ายนี้ระหว่างอ่านจนจบทำให้ผมปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า กฏหมายนั้นเขียนมาเพื่อทุกคน แต่กลับไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจกฏหมายเลย

ถ้ามีใครซักคนหรือซักกลุ่ม ลุกขึ้นมาทำ startup เกี่ยวกับบริการด้านกฏหมายให้เป็นที่เข้าถึงได้ง่ายของทุกคนจริงๆ ไม่ต้องบอกต่อเลยครับว่าโอกาสจะตามมาอีกขนาดไหน เหมือนในประเทศอังกฤษที่มี ai ช่วยเหลือด้านกฏหมายจราจรกับผู้ขับรถ ในการลดการเสียใบสั่งที่เป็นไม่ธรรมได้ปีละหลายล้านปอนด์ แล้วบ้านเราล่ะ…

โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/