สรุปหนังสือ อ่านการเมืองไทย 3 การเมืองของเสื้อแดง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน เรื่องราวการเมืองไทยที่ 14 ปีผ่านไปยังคงย่ำอยู่กับที่

สรุปหนังสือชุดอ่านการเมืองไทย เล่มที่ 3 การเมืองของเสื้อแดง เขียนโดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน ณ ปี 2553 มาถึงวันนี้ 14 ปีผ่านไป ดูเหมือนว่าการเมืองไทยไม่ค่อยขยับไปข้างหน้าสักเท่าไหร่ และหลายเรื่องที่เคยคลุมเครือสงสัยก็คลี่คลายกระจ่างเรียบร้อยแล้ว

ผมเลยขอหยิบบางประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ว่าในหนังสือเล่มนี้มีอะไรบ้าง

ชนชั้นนำชอบคิดเองเออเองว่า การเลือกตั้งมักถูกแทรกแซงด้วยการซื้อเสียง เงินไม่กี่หมื่นหรือแสนล้าน ก็สามารถกุมอำนาจผ่านระบบประชาธิปไตยได้แล้ว ถ้างั้นยึดอำนาจไว้กับตัวเหมือนเดิมดีกว่า

แง่มุมนี้น่าสนใจซึ่งมีมานานมาก และก็ดูเหมือนว่าจะยังคงถ่ายทอดใช้กับรัฐประหารครั้งก่อน แต่คงจะยากที่จะถูกนำมาใช้กับรัฐประหารครั้งถัดไป

เพราะรัฐประหารครั้งก่อนมักใช้เรื่องการซื้อเสียงจนทำให้ได้คะแนนเสียงทั้งแผ่นดินแบบพลิกกระดาน แต่ดูเหมือนจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาพรรคที่ชนะอันดับ 1 นั้นเป็นพรรคที่ไร้ซึ่งนายทุนเงินหนา ไม่มีนามสกุลใหญ่โตร่วมพรรคเหมือนพรรคการเมืองยุคก่อนแต่อย่างไร

น่ารอติดตามว่าถ้าจะมีการรัฐประหารครั้งถัดไป คราวนี้จะใช้ข้ออ้างว่าอะไร และที่สำคัญคือพรรคฝ่ายเสื้อเหลืองเดิมก็แทบจะสูญพันธุ์หมดแล้ว เหลือแค่พรรคแดงเก่าและส้มใหม่ น่าติดตามการเมืองไทยผ่านการเลือกตั้งครั้งถัดไปจริงๆ ครับ

กลยุทธ์ลุอำนาจกองทัพ ป้ายให้อีกฝ่ายคือพวงชังชาติ

น่าสนใจที่หนังสือเล่มนี้เขียนไว้ตั้งแต่ 14 ปีถึงกลยุทธ์ของฝ่ายกองทัพหรือทหารว่า เวลาพวกเขาต้องการจะกำจัดสิ่งใดที่ดูเป็นศัตรูกับวัฒนธรรมชนชั้นนำเดิม ก็ต้องอาศัยหลักทางจิตวิทยาที่เรียกว่าการติดป้ายให้กับอีกฝ่าย เพื่อให้ตัวเองเกิดความชอบธรรมในการใช้กำลังหรือทำลายคนที่เห็นต่างให้สิ้นซาก

ตั้งแต่การติดป้ายบอกว่าอีกฝ่ายที่เห็นไมตรงกับตัวเองนั้นเป็นพวก “ชังชาติ” บ้าง “ล้มเจ้า” บ้าง ทำให้บรรดาทหารหรือเจ้าหน้าที่อย่าง คฝ มีความชอบธรรมที่จะใช้กำลังอาวุธประหัตประหารประชาชนคนไทยด้วยกันอย่างเต็มที่

มันคือการเปลี่ยนคนไทยด้วยกันให้กลายเป็น “ข้าศึก” ของประเทศ ต่อไปนี้คงต้องหมั่นสังเกตว่าใครเริ่มใช้คำว่า “ชังชาติ” กับอีกฝ่ายขึ้นมาก่อน ดูเหมือนฝ่ายนั้นกำลังจะหาความชอบธรรมในการทำลายคนอีกกลุ่มแล้ว

การเมืองไทยจะไม่ก้าวหน้าถ้าเราไม่เริ่มกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจเอง

การเมืองไทยแต่ไหนแต่ไรมาล้วนเป็นการเลือกตั้งเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อให้คนในศูนย์กลางที่กระจุกอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพคิดตัดสินใจแทนคนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นว่าควรบริหารจัดการอย่างไร

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วควรกระจายอำนาจการตัดสินใจออกยังท้องถิ่นให้มากที่สุด ปล่อยให้คนในพื้นที่ได้คิดและตัดสินใจเองว่าจะพัฒนาพื้นที่ที่ตัวเองอยู่อาศัยได้อย่างไร

ซึ่งเหตุผลที่ส่วนกลางมักชอบใช้อ้างในการรวบอำนาจก็คือเพื่อป้องกันการทุจริต ทั้งที่ถ้าออกมาจากส่วนกลางก็มีทุจริตให้เห็นไม่น้อย

ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการให้อำนาจคนหน้างาน คนในพื้นที่ได้บริหารจัดการงบประมาณของตัวเอง ส่วนกลางมีหน้าที่ในการวางนโยบายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมทั้งประเทศ หรือทั้งภูมิภาคไป ส่วนการจะพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดไหนก็ควรปล่อยให้คนข้างในได้คิดและลองทำ

ยิ่งถ้าให้คนข้างในได้บริหารจัดการงบประมาณเอง ทั้งในด้านเก็บรายได้จากภาษีต่างๆ เพื่อเอาไปพัฒนาพื้นที่ตัวเองก็น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างตรงจุดไม่มากก็น้อย

แน่นอนปัญหาการทุจริตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ควรทำได้คือการออกแบบกรอบกติกาเพื่อป้องกัน พร้อมกับมีบทลงโทษที่หนักหน่วง ถ้ากลัวคนทำผิดจนป้องกันไม่ให้คนได้ทำอะไร ประเทศก็จะไม่เดินหน้าไปไหนเหมือนที่ประเทศไทยยังคงติดหล่มประเทศกำลังพัฒนามาจะ 50 ปีแล้ว

พื้นที่ประท้วงอย่างมีเสรีภาพ เพื่อไม่ไปกระทบเสรีภาพของผู้อื่น

ประเด็นนี้พูดถึงการประท้วงในบ้านเราที่มักเกิดขึ้นบนถนนเป็นประจำ แน่นอนว่าย่อมไปกระทบเสรีภาพของผู้อื่น คนเดินทางสัญจรทั่วไปที่อาจไม่ได้อยากไปร่วมประท้วงด้วย แล้วเราจะทำอย่างไร หาทางออกแบบไหนหละ

ในต่างประเทศการประท้วงแบบนี้สามารถทำได้บนพื้นที่สาธารณะทั่วไป อย่างการประท้วงที่ไม่อยากให้คนซื้อของแบรนด์นี้ ห้างร้านนั้น ก็สามารถยืนประท้วงบนฟุตบาทได้ แต่จะไม่มีการห้ามคนไม่ให้เข้าไปซื้อของหรือปิดห้างร้านเลยแบบบ้านเรา

นั่นก็เพราะทางการเขาถือว่าพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่สำหรับการแสดงออกโดยชอบธรรม ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่กับบ้านเรานั้นไม่มี อาจมีการบอกว่าประท้วงได้แต่ต้องขออนุญาต มีสักกี่ครั้งที่การขออนุญาตนั้นได้รับการอนุมัติ ไม่ต้องพูดถึงฟุตบาทที่แแคบและใช้งานจริงก็แทบจะไม่ได้อยู่แล้ว ไม่นับรวมถึงการไม่เคยใส่ใจฟังเสียงของประชาชนคนตัวเล็กผู้เดือดร้อนจากผู้มีอำนาจในบ้านเราแต่อย่างไร

ทำให้การประท้วงมักต้องไหลลงบนถนนจนไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ต้องการสัญจร แต่ช่วงหลังก็เห็นดีขึ้นคือไม่ได้ปิดถนนทั้งหมด ยังคงมีเปิดเลนให้รถยนต์สามารถผ่านได้ ผิดกับสมัยก่อนที่ปิดหมดทั้งเส้น ปิดหมดทั้งแยก ยึดมันทั้งเมืองแบบไม่มีกำหนดจบสิ้น

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสนใจเสียงของทุกคนจริงๆ แล้วติดป้ายบอกกับคนอื่นว่านี่คือพวกชังชาติ หรือจริงๆ แล้วบรรดาคนที่อ้างว่าเป็นชาตินั่นแหละที่กำลังชังพวกเขาอยู่

ความเหลื่อมล้ำที่ลามไปถึงชนชั้นกลาง

เดิมที 14 ปีก่อนชนชั้นกลางอาจเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองเป็นหลัก คนที่พอจะมีทุนรอนได้เปรียบกว่าคนส่วนใหญ่ทางสังคมอยู่บ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่าความได้เปรียบนั้นลดน้อยลงไปทุกทีจนทำให้พวกเขารู้สึกกลายเป็นชนชั้นล่างในสังคม ทั้งที่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่

เมื่อผู้คนรู้สึกเหลื่อมล้ำมากขึ้นก็ย่อมทำให้แสดงออกถึงความไม่พอใจนั้นเพิ่มขึ้น อาจตั้งแต่เป็นการร่วมกลุ่มกันบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการนัดแนะกันออกมาประท้วงบนท้องถนน

ผิดกับชนชั้นล่างที่เดิมทีเป็นคนจน คนยาก เป็นชาวบ้านต่างจังหวัด อาจรู้สึกว่าฐานะตัวเองดีขึ้นเล็กน้อย ได้เข้าถึงโน่นนี่นั่นเพิ่มขึ้นบ้างในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ในความเป็นจริงแล้วจะยังต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น

และบวกกับปัจจัยของนายทุนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประกาศผลกำไรกันทีหลายพันหลายหมื่นล้าน แต่คนชนชั้นกลางมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าทำไมตัวเองไม่ได้รับส่วนแบ่งจากกำไรนั้นอย่างที่ควรเป็นไร ทำงานแทบตายเงินเดือนแทบไม่ขยับ ทำไมเจ้าสัวนายทุนรวยเอาๆ แล้วพวกเราหละ ลำพังจะเป็นเจ้าของบ้านดีๆ สักหลังนั้นยากเย็นจนแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว

ดูเหมือนมิติความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะถลำลึกลงไปในทุกชนชั้น ชนชั้นกลางเริ่มหายกลายเป็นชนชั้นล่าง ส่วนชนชั้นบนก็กระจุกตัวรวยกันยิ่งกว่าเดิม ประเด็นทางสังคมและการเมืองเรื่องนี้ดูจะเป็นโจทย์ที่ยากกว่าเมื่อ 14 ปีก่อนที่หนังสือเล่มนี้เขียนถึงหลายเท่าครับ

ไม่ใช่คนรวยกว่าหรอกที่ทำให้เรารู้สึกแย่ แต่เป็นคนแย่กว่าเราต่างหากที่ขยับเข้ามาใกล้เรามากขึ้น

หนังสือเล่มนี้เขียนประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ บอกว่าชนชั้นกลางไม่ได้รู้สึกเหลื่อมล้ำมากเมื่อเทียบตัวเองกับบรรดาคุณหญิงคุณนายเดิม แต่เป็นรู้สึกแย่เมื่อคนชนชั้นล่างกว่ากำลังขยับเข้ามาใกล้ฐานะตัวเองมากขึ้น

นั่นเลยอาจเป็นเหตุผลของม็อบเสื้อเหลืองกับแดงในเวลานั้น คนจนรู้สึกตัวเองได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้น คนชนชั้นกลางในเมืองเดิมรู้สึกพื้นที่ตัวเองโดนลุกล้ำ ชนชั้นสูงในวันนั้นยังคงลอยตัวอยู่

แต่ดูเหมือนบริบทเรื่องนี้ในวันนี้นั้นเปลี่ยนไป เมื่อชนชั้นสูงกลายเป็นเป้าร่วมของคนทุกชั้น จะเหลือก็แต่พวกกลางบนที่ยังคงพยายามรักษาพื้นที่ของตัวเองไว้ น่าสนใจว่าบ้านเมืองจะไปในทิศทางไหนหลังจากนี้

ชนชั้นกลางไม่ได้หมายถึงแค่มนุษย์เงินเดือน

ประเด็นสุดท้ายที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและเปิดโลกความเข้าใจการเมืองไทยผมพอสมควรคือ ชนชั้นกลางของไทยอาจไม่ได้หมายถึงมนุษย์เงินเดือนโดยส่วนใหญ่เหมือนประเทศอื่น หรือชาวญี่ปุ่น แต่หมายถึงกลุ่มคนที่พอมีทุนทรัพย์ของตัวเองให้ชีวิตไม่ลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือเกษตรกรที่มีฐานะดี

ไม่แปลกใจทำไมวันนี้เราจึงพบว่ามนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ลำบากในสังคมมาก ทั้งที่ตัวเลขรายได้ก็ถือว่าสูงกว่าคนจำนวนมากในประเทศไม่น้อย แต่ด้วยค่าครองชีพและภาษีสังคมที่สูงขึ้นทุกวัน ส่วนผู้ประกอบการเดิมเองก็เจอกับการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่เก่งขึ้นทุกที ดูเหมือนโครงสร้างทางสังคมไทยจะเปลี่ยนไปมากจาก 14 ปีก่อน

สรุปหนังสือ อ่านการเมืองไทย 3 การเมืองของเสื้อแดง

สรุปหนังสือ อ่านการเมืองไทย 3 การเมืองของเสื้อแดง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน เรื่องราวการเมืองไทยที่ 14 ปีผ่านไปยังคงย่ำอยู่กับที่

แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 14 ปี นับจากวันที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 2553 และผมได้อ่านครั้งแรกก็ตอนปี 2567 แต่หลายเรื่องบทยังคงสะท้อนถึงการเมืองและสังคมไทยได้เป็นอย่างดี บางเรื่องอาจได้รับคำตอบกระจ่างชัด บางเรื่องยังคงรอคำตอบอยู่ไม่มีท่าทีว่าจะเฉลย บางเรื่องยังคงดึงรั้งแต่เปลี่ยนตัวละครไป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องการเมืองไทย ที่ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นกว่านี้เมื่อไหร่เหมือนกันครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 12 ของปี 2024

สรุปหนังสือ อ่านการเมืองไทย 3 การเมืองของเสื้อแดง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน
สำนักพิมพ์ openbooks

อ่านสรุปหนังสือแนวการเมืองในอ่านแล้วเล่าต่อ https://www.summaread.net/politics/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/