the art of the idea and how it can change your life เขียนโดย John Hunt, Creative Chairman แห่ง TBWA/Worldwide

ศิลปะการคิดใหม่คืออะไร?

ถ้าจะบอกว่าเป็นผู้เขียนแบ่งปันแนวทางวิธีคิดที่กลั่นกรองผ่านประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำในวงการโฆษณาระดับโลกในสายงานนักคิดผู้สร้างสรรค์ จนผู้เขียน John Hunt ได้กลายเป็นประธานฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก เชื่อได้เลยว่าเนื้อหาในเล่มเต็มไปด้วยพลังงานบางอย่างที่บอกไม่ถูก แต่พลังงานนั้นคือพลังงานในแง่บวก ข้อความหรือตัวหนังสือนั้นแทบจะเรียกได้ว่าน้อยถึงน้อยมาก แต่กลับกระตุ้นให้ต้องใช้ความคิด ความเข้าใจ มากกว่าหนังสือไหนๆที่เคยอ่านมา

การคิดใหม่ถือเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างนึงที่เราทุกคนสามารถฝึกฝนที่จะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ 100% จากการทำงานด้านนี้มาประมาณนึงผมได้ค้นพบว่าเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ ถ้าเราไม่หยุดคิดยอมแพ้คนอื่นไปเสียก่อน

ความคิดก็เหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องฝึกฝนอย่างการวิ่ง ถ้าเราวิ่งบ่อยๆเป็นประจำ เราก็จะสามารถวิ่งได้นานขึ้น ไกลขึ้น สมองก็เหมือนกันถ้าเราฝึกคิดบ่อยๆเป็นประจำ เราก็จะสามารถเดินทางไปสู่ความคิดแปลกใหม่ ที่น่าสนใจและยังไม่เคยมีใครค้นพบได้เช่นกัน

เริ่มจากคุณไม่ยอมแพ้ที่จะคิด คุณจะได้สามารถค้นพบความคิดที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบได้ เสมือนโคลัมบัสที่สามารถค้นพบทวีปอเมริกาได้ เพราะเลือกที่จะออกเดินทางไปยังเส้นทางใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครไปมาก่อน(แม้จะเป็นความเข้าใจผิดในตอนแรกว่าเป็นทวีปอินเดียหน่อยๆก็เถอะ)

ในเล่มเหมือน John Hunt บอกถึงปัญหาจากประสบการณ์ในการสร้างความคิดให้กลายเป็นความจริง และอุปสรรคทั้งหลายในชีวิตจริงที่คอยขัดความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ

เช่น ความคุ้นเคยขององค์กรขนาดใหญ่ ที่จะมีรูปแบบปฏิบัติจากแนวความคิดเดิมที่ยึดถือมานานจนแตะต้องแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะผู้ก่อตั้งและพนักงานส่วนใหญ่คิดเหมือนกันว่า เราอยู่มาได้อย่างยิ่งใหญ่ทุกวันนี้ ก็ด้วยแนวคิดนี้แหละ

แต่ความคิดแบบยึดติดแบบนี้แหละที่จะเป็นตัวฆ่าความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในองค์กร จนแนวคิดนั้นแก่ตัวไปเหมือนคนตามเวลา และองค์กรก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน สุดท้ายองค์กรนั้นก็ตายไป

คิดง่ายๆคิดถึง Kodak และ Compaq ดูก็ได้ครับ ครั้งนึงเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนสององค์กรนี้ยังคงเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก แต่ด้วยการยึดติดไม่เปลี่ยนแปลงก็ทำให้องค์กรทั้งสองต้องตายไปตามเวลา ไม่ใช่ว่าองค์กรไม่มีเงินทุน หรือไม่มีคนเก่งๆ แต่เพราะองค์กรมัวแต่ยึดติดกับวันวานต่างหาก

หรือแม้แต่เรื่องการประชุมที่อ้างว่าทำเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ หรือที่เรียกติดปากว่า “Brain Strom” นั้นกลับไม่ได้มีการระดมความคิดสร้างสรรค์อะไรกันซักเท่าไหร่ในความจริง เพราะในความจริงนั้นกลับกลายเป็นการประชุมที่รวมตัวกันเพื่อฆ่าความคิดสร้างสรรค์มากกว่า

เพราะเมื่อไหร่ที่แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาของใครคนนึงนั้น ไม่ไปตรงกับความคิดของผู้อาวุโสในห้องหรือคนส่วนใหญ่ แนวคิดนั้นก็มักจะถูกระดมยิ่งด้วยฝาห่าอาวุธจากถ้อยคำจนทำให้มันตายไป เช่น ยังไม่เคยมีใครทำสิ่งนั้นมาก่อน หรือ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราทำเป็นประจำ

ปั๊ดโถ่! ก็เพราะแนวคิดมันใหม่ และเราประชุมกันก็เพื่อต้องการไอเดียใหม่ๆไม่ใช่หรอ

John Hunt บอกว่าเราควรจะต้องให้โอกาสและเวลาแก่ความคิดใหม่ๆเพื่อให้มันได้มีโอกาสโตขึ้น ช่วยกันส่งเสริมดูว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหนก่อนถึงจะค่อยวิจารณ์มัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่มีความคิดใหม่ๆกล้าออกมาในห้องประชุม และการประชุมก็จะกลายเป็นการประณีประณอมกันของทุกฝ่าย ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้ไอเดียที่ดีที่สุด แต่เป็นการทำเพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจตรงกันมากที่สุด

ถ้าคุณทำงานในวงการโฆษณา หรือต้องเจอกับการประชุมที่เรียกว่า “Brain Strom” บ่อยๆ ผมแนะนำว่าให้อ่าน เพื่อเรียนรู้ว่าจะรับมือหรือควรปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้าง เพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆได้ออกมาลืมตาดูโลกแล้วกลายเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้องค์กรไปต่อได้

ปล. หนังสือเล่มนี้ซื้อมาร่วม 5 ปีที่แล้ว เมื่อตอนหยิบมาอ่านครั้งแรกสารภาพเลยว่าไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้เลย เปิดอ่านไปได้ไม่ถึงยี่สิบหน้าก็ต้องปิดไป มาวันนี้สามารถอ่านได้จนจบ และรู้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่มีตัวหนังสือน้อยมาก แต่กลับต้องใช้ความคิดเยอะมากที่จะเข้าใจ หนังสือเล่มนี้เหมือนดัมเบลหนักๆดีๆสำหรับฝึกกล้ามเนื้อความคิดยังไงยังงั้น

อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/