สรุปหนังสือ Osho พลิกมุมใหม่เข้าใจชีวิต

สรุปหนังสือ Osho พลิกมุมใหม่เข้าใจชีวิต The Book of Understanding

ไม่ได้อ่าน Osho มาพักใหญ่ เล่มล่าสุดที่อ่านก็คือ ZEN ในมุมมองของ Osho ที่ทำให้เราได้เข้าใจความเป็น ZEN ขึ้นมาอีกเล็กน้อย จากที่เคยคิดว่าเซนคืออะไรที่น้อยๆแต่ความเข้าใจใหม่ที่เพิ่มขึ้นคือ ปัจจุบันขณะ

ถ้าถามว่าหลักของเซนหมายถึงอะไรก็คงเปรียบได้กับ “เดี๊ยวนี้” “ที่นี่” และ “ตอนนี้” เท่านั้น

ความจริงแล้วเซนไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแต่อย่างใด แต่หลักการสำคัญนั้นกลับคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพระพุทธเจ้าก็พยายามเน้นย้ำเรื่องการอยู่ในปัจจุบันขณะเช่นเดียวกับเซน

แล้ว Osho เล่มนี้พลิกมุมใหม่อย่างไร และพออ่านจบแล้วเข้าใจชีวิตมากขึ้นยังไงบ้าง..

ก็ต้องบอกว่าในความเข้าใจของผม ซึ่ง Osho เองก็เป็นคนที่ปล่อยให้เราตีความไปเองได้โดยไม่ยึดติดจำกัดหรือตายตัวกับอะไรทั้งนั้น

และจากความเข้าใจผมๆว่าแก่นของ Osho ก็ยังเหมือนเดิมนั่นก็คือ ปัจจุบันขณะ ตอนนี้ ที่นี่ เดี๊ยวนี้

ละทิ้งอดีตทั้งหมดไว้ข้างหลัง
เลิกฝันถึงอนาคตข้างหน้า
เรามีแค่ปัจจุบันขณะในตอนนี้เท่านั้น
เสี้ยววินาทีที่ผ่านไปเมื่อกี๊ก็ถือเป็นอดีต

Osho บอกให้เรารู้จักตอบสนองไม่ใช่ตอบโต้ แล้วการตอบโต้กับตอนสนองต่างกันยังไง?

การตอบโต้ก็เหมือนกับการคิดก่อนจะทำอะไรบางอย่างออกไป

ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูด หรือการกระทำ

การตอบโต้นั้นมาจากการคิด

การคิดนั้นมาจากประสบการณ์ในอดีต แล้วเราก็พยายามคาดเดากลั่นกรองออกมาใช้กับปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้

แต่ Osho นั้นบอกว่าจงอย่าคิด อย่าใช้ความรู้จากอดีตเพราะอดีตนั้นเหมือนของที่ตายไปแล้ว มันไม่มีความสดใหม่ อดีตนั้นไม่อาจใช้ได้กับปัจจุบัน สิ่งที่เคยผิดกลายเป็นถูกได้ ยาพิษนั้นอาจกลายเป็นยาวิเศษได้

จงอย่าตอบโต้ด้วยความคิดหรืออดีต แต่จงรู้จักตอบสนอง การตอบสนองคือความสดใหม่ ออกมาจากความเข้าใจในปัจจุบันขณะที่กำลังเกิดขั้นนั้น

การตอบสนองมีหลายระดับตั้งแต่ดิ่งลึกจนถึงสูงส่ง ผิดกับการตอบโต้จะเป็นแบบแนวระนาบ จาก 1 ไป 2 หรือจาก 2 ไป 3 

ถ้ามองเป็นกราฟก็เป็นกราฟแนวนอน แล้วชีวิตเราก็จะเหมือนไม่มีชีวิต เพราะเราได้ใช้ชีวิตตามความคิดหรือรูปแบบจากอดีตไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีชีวิตอีกต่อไป

Osho ให้เราสงสัยอยู่เสมอ จงอย่าเชื่อไม่ว่าสิ่งนั้นจะออกมาจากปากผู้ที่น่านับถือและสูงส่งแค่ไหน จงอย่างเชื่อในพระเจ้าที่บอกว่าสิ่งดีถูกผิด สิ่งใดควรหรือไม่ควร แต่ Osho บอกให้เราจงรู้ด้วยตัวเอง

เราต้องมีประสบการณ์ด้วยตัวเองเราถึงจะรู้ได้ การเชื่อคือการยอมรับแบบทาสไร้ชีวิต แต่การรู้คือการเอาทั้งชีวิตเข้าไปเสี่ยงเพื่อให้รู้ แล้วออกมาเป็นสิ่งใหม่ให้กับเราเสมอ เสมือนว่าเราเองก็จะมีชีวิตเกิดใหม่เสมอจากการรู้ ไม่ใช่จากการเชื่อ

แม้จะเป็นเรื่องเดิมที่เราคิดว่าเรารู้ แต่ทุกครั้งการรู้นั้นก็จะไม่เหมือนเดิม เสมือนไม่มีห้วงเวลาเดิมซ้ำสองวนกลับมา เสมือนเราไม่อาจลงไปเหยียบในแม่น้ำสายเดิมได้สองครั้ง เพราะทุกครั้งนั้นเป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอ ถ้าเราสามารถรู้ได้

ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเอง ทุกวันนี้เรารู้จักสิ่งภายนอกมากมาย เรารู้จักโลกที่กว้างไกล รู้จักจักรวาลไปหลายหมื่นปีแสง เรารู้ในวิทยาการแขนงต่างๆมากมายเต็มไปหมด เรารู้จักหนังสือเป็นพัน นักปราชญ์เป็นร้อย แต่สิ่งนึงที่เราไม่เคยรู้เลยก็คือข้างในตัวเรา

เราไม่เคยรู้เลยว่าเราเป็นใครในแกนกลางของเรา เราเอาแต่ค้นหามองออกไปข้างนอกจนไม่เคยมองเข้าไปข้างในตัวเอง เราให้ค่ากับภายนอกจนละทิ้งค่าภายในตัวเรา เรามักอยากจะเป็นคนที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นใครๆก็โดดเด่นเหมือนๆกัน

เราพยายามหลีกหนีความปกติธรรมดาของเราไปเพราะเรากลัวว่ามันจะเชยและไม่น่าสนใจ แต่ Osho บอกว่าความจริงแล้วความธรรมดาที่สุดของเรานั่นแหละคือความโดดเด่นที่สุด 

เราแค่เป็นตัวเราอย่างธรรมดาและธรรมชาติ แค่นี้เราก็เป็นเราที่โดดเด่นที่สุดในจักรวาล เพราะธรรมชาติไม่เคยสร้างอะไรสองสิ่งที่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง แม้แต่หินสองก้อนก็ยังไม่สามารถเหมือนกันได้อย่างสิ้นเชิง

แค่เรารู้จักตัวเองจากข้างใน ยอมรับในธรรมชาติของตัวเรา แค่นี้เราก็เป็นอะไรที่โดดเด่นที่สุดแล้ว

พอได้อ่าน Osho อีกครั้งก็ทำให้ผมได้คิด..คิดว่าจริงอีกแล้ว อีกแล้วที่ผมหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไป ทั้งในการยอมรับ การเฝ้ามอง การไม่ตัดสิน การมองในทุกสิ่งโดยไม่เอาความคิดของเราไปครอบมัน เช่น

บางครั้งเราเห็นสิ่งนึงเราก็เอาความคิดไปยัดใส่มันแล้วว่ามันดีหรือไม่ดี Osho แนะให้ผมมอง มองด้วยความเข้าใจ มองโดยไร้คำพูดการตัดสินใดๆให้กับมัน แค่มองให้ทะลุเข้าไปในทุกสิ่ง เป็นอย่างที่ธรรมชาติให้เป็น อะไรที่ฝืนธรรมชาติมักออกมาไม่ดี

ขนาดนักวิทยาศาสตร์ยังพยายามประดิษฐ์สิ่งต่างๆเลียนแบบธรรมชาติมากมายเลย เช่น ผิวท้องเรือที่เลียนแบบมาจากเกล็ดปลาฉลามเพื่อลดแรงเสียดทานและการเกิดคราบเกาะติด แล้วเราเป็นใครกันถึงพยายามฝืนธรรมชาติที่ควรจะเป็นไปได้

คงต้องหยิบ Osho อีกสองสามเล่มที่ยังเหลือค้างอยู่มาอ่านให้หมด พักนี้ไม่ค่อยได้อ่านปรัชญาเท่าไหร่ ต้องหาปรัชญาดีๆมาเติมปัญญาเพื่อเข้าใจปัญหามากๆครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ Osho พลิกมุมใหม่เข้าใจชีวิต The Book of Understanding

สร้างสรรค์วิถีทางสู่อิสระภาพด้วยตัวของท่านเอง
นารา พันทวิโรจน์ แปล
ภัทริณี เจริญจินดา เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ Freemind

อ่านสรุปหนังสือ Osho เล่มอื่นเพิ่มเติม https://www.summaread.net/category/osho/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2xz8g17

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/