คุณคิดว่าคุณรู้จัก “อารมณ์” ดีแค่ไหน?

น่าแปลกทั้งๆที่ในแต่ละวันเราทุกคนมีอารมณ์เกิดขึ้นในความคิดจิตใจเป็นร้อยๆครั้ง โกรธ ดีใจ เศร้า มีความสุข หัวเราะ ร้องให้ ทุกข์ เครียด หรือมีความสุข แต่เราส่วนใหญ่กลับรู้จัก “อารมณ์” นี้น้อยถึงน้อยมาก หรือจะเรียกว่าแทบไม่รู้จักเจ้า “อารมณ์” นี้เลยก็ว่าได้

ผมยอมรับว่าผมเป็นคนนึงที่แทบไม่รู้จักหรือเข้าใจเจ้า “อารมณ์” ที่เกิดขึ้นในตัวผมทุกวันเลยแม้กระทั่งตอนนี้ จนได้มาเจอหนังสือเล่มนี้ “สปาอารมณ์” หรือ Emotional Wellness ของท่าน Osho เล่มนี้

ความจริงก็ซื้อมานานแล้วล่ะครับ นานเป็นปีๆจนเพิ่งจะได้ฤกษ์งามยามดีหยิบมาอ่าน ก่อนหน้านี้ผมมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับหนังสือที่ให้ความรู้ “ภายนอก” อยู่พักใหญ่ จนลืมสนใจกับความรู้ “ภายใน” ไปเลย

คนเรานี่ก็แปลกนะครับ ยิ่งรู้จักโลกภายนอกมากเท่าไหร่ กลับยิ่งรู้จักโลกภายในของตัวเองน้อยลงเท่านั้น ก็เหมือนกับยิ่งเราร่ำรวยทรัพย์สมบัติภายนอกมากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งรู้สึกยากจนในลงมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าไม่เชื่อลองถามตัวเองกันดูก็ได้ครับว่าทุกวันนี้คุณคิดว่าตัวเองมีความสุขมากกว่าตอนที่คุณยังเป็นเด็กที่เอาแต่วิ่งเล่นหัวเราะมั้ย

ถ้าไม่ ช่วยบอกทีว่าทำไม ทั้งๆที่เราต่างก็ร่ำรวยภายนอกมากขึ้นกว่าตอนเด็กๆไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า เรามีข้าวของมากมาย เรามีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆทั้งๆที่ในวัยเด็กเรากลับต้องแชร์ทีวีดูกับพ่อแม่ด้วยซ้ำ เรามีเสื้อผ้าเต็มตู้ ทั้งๆที่ในตอนวัยรุ่นเราได้แต่ใส่เสื้อผ้าตัวเดิมๆ เรามีบัตรเครดิตไว้รูดได้เท่าที่เราสามารถ ทั้งๆที่เมื่อ 10 ปีก่อน การจะใช้เงินซักพันต้องคิดแล้วคิดอีก ดังนั้นคำถามสำคัญคือ “ทำไมเราถึงรู้สึกจนลงทั้งๆที่เรามีมากขึ้น?” ทำไมเราไม่ค่อยมีความสุขทั้งๆที่เราควรจะมีความสุขได้แล้ว?

เราขาดความรู้ความเข้าใจในตัวเองโดยเฉพาะเรื่อง “อารมณ์” เราต่างกักเก็บอารมณ์ต่างๆไว้มากมาย กดทับมันไว้ไม่ให้แสดงออกถึงอารมณ์ที่ไม่ดี และเราพยายามกอบโกยอารมณ์หรือความรู้สึกดีๆไว้กับตัวให้มากที่สุด ทั้งๆที่สองสิ่งนี้กลับเป็นสิ่งเดียวกันที่อยู่แค่คนละด้าน เหมือนคนละด้านของเหรียญเดียวกัน ดังนั้นยิ่งเราพยายามปิดรับอารมณ์ที่ไม่ดีมากเท่าไหร่ ก็ทำให้เราพลาดเรื่องดีๆที่ควรจะได้รับมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าสังเกตุจะพบว่าคำว่าอารมณ์ Emotion คล้ายกับคำว่า Motion ที่หมายความถึงการ “เคลื่อนไหว” อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะอารมณ์นั้นก็เหมือนกับสายลมที่เคลื่อนไหวพัดผ่านไปโดยที่ไม่มีตัวตน

อารมณ์เหมือนกับก้อนเมฆบนท้องฟ้าที่เราเห็นได้ชัดเมื่ออยู่ไกล จนรู้สึกเหมือนเมฆก้อนนั้นจับต้องได้ แต่พอเมื่อเราตกอยู่ในอารมณ์นั้นกลับทำให้เราเหมือนตาบอด หน้ามืดตามัว เหมือนกับเรากำลังอยู่ในเมฆก้อนนั้นที่เวลาเราอยู่กลางทะเลหมอกนั้นแม้แต่ของไกล้ตัวแค่เอื้อมมือเราก็ไม่สามารถมองเห็นมันแล้ว

อารมณ์นั้นเปรียบเสมือนเมฆหมอกที่บังตาเราเมื่อเราตกอยู่ในอารมณ์ แต่ถ้าเราวางตัวเองให้ห่างออกมาจากอารมณ์นั้นเราจะเข้าใจภาพรวมทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นชัดเจน

นี่คือสิ่งที่หนังสือสปาอารมณ์เล่มนี้ชี้ให้เราเห็น ชี้ให้เรามองอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มองด้วยใจไม่ใช่ด้วยตาหรือความคิด มองโดยไม่ตัดสิน ไม่เอาความคิดไปครอบงำว่าอารมณ์ไหนถูก อารมณ์ไหนผิด แค่มองอย่างที่มันเป็นจริงๆเท่านั้น เราก็จะรู้เท่าทันทุกอารมณ์ที่ผ่านเข้ามามากขึ้น เมื่อทุกข์หายไปเพราะเราเข้าใจ ความสงบอย่างมีสติก็จะเข้ามาแทนที่ไปพร้อมกัน

เวลาที่มีใครมาทำให้เราโมโห หรือโกรธ เราอย่าไปโทษเค้าเพราะความจริงแล้วเค้าไม่ได้มาทำให้เราโกรธ เรามีความโกรธอยู่ในตัวเราเองเป็นทุน เค้าแค่มากระทุ้งให้อารมณ์ของเราเกิดขึ้น

นึกถึงภาพว่าถ้าเข้าตักน้ำออกจากบ่อ ถ้าบ่อนั้นไม่มีน้ำอยู่ แล้วมันจะมีอะไรให้ออกมาเล่า ความโกรธ ความโมโห หรืออารมณ์ในแง่ลบก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีไม่กักเก็บสะสมมันไว้ในจิตใจเรา เราก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น

สิ่งสำคัญคือการไม่พยายามกักเก็บหรือกดทับอารมณ์ต่างๆเอาไว้ เราต้องรู้จักปล่อยมันไปและรู้เท่าทันมัน

อย่างที่บอกว่าอารมณ์เขียนคล้ายกับคำว่าเคลื่อนไหว อารมณ์ก็เหมือนกับสายลมที่พัดพากลิ่นต่างๆเข้ามา ไม่ว่าจะกลิ่นที่ดีที่เป็นความสุข หรือกลิ่นที่ไม่ดีที่เป็นความทุกข์ เราก็ต้องปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่พยายาม เหมือนกับห้องในจิตใจเราถ้าเราเอาแต่ปิดประตูหน้าต่างไม่เปิดรับความทุกข์หรือกลิ่นที่ไม่ดี เราก็จะพลาดกลิ่นหอมๆที่เป็นความสุขไปด้วย และในห้องของจิตใจเราก็จะเต็มไปด้วยอากาศอับๆที่ทำให้เราไม่มีความสุขยิ่งขึ้น ไม่ว่าอารมณ์ที่เคยกักเก็บไว้จะเป็นอย่างไรมันก็จะไม่มีวันสดใหม่เหมือนเดิม

ลองทำตัวเป็นผู้เฝ้ามอง ผู้สังเกตการณ์ตัวเองดู แล้วเราจะเห็นด้านใหม่ของชีวิต

อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/