สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ

สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ ทุกข์ได้ แต่ใจต้องไม่กระเทือน เล่มนี้เขียนโดย ดร.ณัชร สยามวาลา

เป็นหนังสือที่เพื่อนสายธรรมะคนหนึ่งให้ผมมานานร่วมปีแล้ว ดูภายนอกเธอเป็นสาวมั่นจนอาจทำให้บางคนหมั่นใส้ได้ถ้าไม่รู้จักเธอ แถมยังเป็นสาวออฟฟิศที่ดูดีจนไม่น่าเชื่อว่าเธอจะไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่เป็นประจำ

ตอนนั้นเราคุยกันว่าจะแลกหนังสือกันคนละเล่ม ผมให้หนังสือท่าน OSHO ไปหนึ่งเล่ม จำไม่ได้เหมือนกันว่าเป็นเล่มไหนใน 10 เล่มชุด Insight for a New Way of Living และเธอก็ให้หนังสือเล่มนี้กับผมมา เพราะในตอนนั้นผมคงหัวรั้นกว่าตอนนี้ ที่เชื่อว่าตัวเองไม่เชื่อในศาสนาเท่าไหร่นัก ไม่ว่าเธอจะพูดเรื่องไหนขึ้นมา ผมจะหาเหตุผลจากศาสตร์ต่างๆมาตอบเธอได้ทันควัน

จนเวลาผ่านไปใจเริ่มเย็นลงด้วยอายุที่มากขึ้น และก็เพิ่งได้หยิบหนังสือของท่าน OSHO กลับมาอ่านใหม่อีกครั้งทำให้ใจเรียกหาหนังสือแนวปรัชญาความเชื่อมาเติมเชื้ออีกหน่อย

พอกวาดสายตาไปมายังชั้นหนังสือกลับพบว่าไม่เหลือปรัชญาหรือแนวความคิดให้อ่านอีกเลยนอกจากเล่มนี้ จากใจที่เคยมีอคติเล็กๆในตอนนั้น มาตอนนี้กลับพร้อมเปิดใจรับแบบพยายามทิ้งอคติไว้ให้มากที่สุด

เพราะการที่เราคิดว่าเรารู้ จะเป็นการปิดกั้นความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา จนเมื่ออ่านจบก็พบว่า หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน สุขง่ายๆ สุขสร้างได้ และ สุขอุดมคติ

แม้เนื้อหาในส่วนที่ 3 จะออกไปทางพุทธจ๋า หนักไปทางปฏิบัติธรรมและความเชื่อ ที่ผมขอข้ามไม่พูดถึงเพราะยังไม่อินเท่าไหร่

แต่ในส่วนที่หนึ่งที่เป็น สุขง่ายๆ นี้น่าสนใจ ที่ผู้เขียนสามารถหยิบเอาเรื่องการล้างจานให้กลายเป็นการทำสมาธิภาวนาและเป็นการทำทานไปได้!

เพราะเศษอาหารคราบน้ำมันที่เราทิ้ง เราสามารถคิดว่าเป็นการทำทานให้กับบรรดาแบคทีเรียหรือเชื้อราทั้งหลาย ที่อยู่ตามท่อระบายน้ำที่ต้องการอาหารจากเศษที่เรากินเหลือ

โอ้โห เป็นการตีความที่ทำให้การล้างจานที่น่าเบื่อกลายเป็นการทำบุญที่แทบไม่อยากแบ่งให้ใครล้างเลย

หรือแม้แต่การล้างจานนั้นก็แนะนำให้ควรรู้ตัวทุกขณะ ตั้งแต่หยิบฟองน้ำ กวาดเศษอาหาร ล้างน้ำ กดน้ำยาล้างจาน ถูฟองน้ำกับจาน ล้างคราบมัน ไปกระทั่งเช็ดแล้วเก็บจาน

ไม่น่าเชื่อกับแค่การล้างจานแสนจะธรรมดาก็กลายเป็นการทำสมาธิภาวนาขึ้นมาได้!

หรือในบางบทที่มีการพูดถึงเรื่องความคิดที่เกี่ยวกับสมอง ที่บอกว่าคนเราชอบจำสิ่งต่างๆในแง่ลบ สมมติวันนี้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับเราสองอย่าง แต่เรากลับเลือกที่จะจดจำสองอย่างไว้ทั้งวันจนลืมเรื่องดีๆสิบแปดอย่างที่เกิดขึ้นไปหมด

ยอมรับว่าผมก็เป็น และนี่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยา ดังนั้นบางบทในเล่มนี้ก็เลยบอกว่าให้พยายาม “คิดดี” เข้าไว้ เพราะมันจะเป็นเสมือนเข็มทิศให้เราเห็นในสิ่งที่เราหา ถ้าเรายิ่งคิดดี เราก็จะยิ่งเห็นแต่เรื่องดี แล้วเราก็จะมีความสุขมากกว่าทุกข์

แต่ถ้าเราคิดลบหรือทุกข์ตั้งแต่เช้า ทั้งวันเราก็จะเป็นวันที่ไม่ดีตามที่เราคิด

เพราะเราไม่ได้เห็นโลกอย่างที่มันเป็น แต่โลกนั้นเป็นอย่างที่เราเห็น

และสิ่งสำคัญในเล่มที่เป็น “แก่นพุทธ” ในความคิดผม (ขอย้ำว่าแค่ความคิดผมซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้) นั่นก็คือการ “อยู่กับปัจจุบันขณะ”

เพราะ “ขณะ” ที่เราทำอะไรบางอย่างๆ “การเดิน” แต่ใจเรานั้นกลับ “ไม่ได้เดินอยู่กับเรา” เรามักจะใจลอยหรือคิดถึงสิ่งอื่นขณะที่กำลังทำอะไรบางอย่างอยู่เสมอ

เรามักใช้เวลาความคิดไปกับ “อดีต” ไม่ก็ “อนาคต” จนไม่ค่อยจะใส่ใจกับ “ปัจจุบันขณะ” เท่าไหร่นัก หรืออาจไม่มีเลยก็ได้

เราทำงานวันนี้ เพราะเฝ้าหวังอนาคตที่เราจะได้เลื่อนขั้น หรือเรากินอาหารคำนี้ แล้วคาดหวังถึงของหวานในจานถัดไป

นี่แหละครับการไม่อยู่กับปัจจุบันขณะของเรา เราไม่เคยใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันจริงๆเลย

ขอบคุณเพื่อนปุ้ย(เพื่อนผมคนนี้ชื่อปุ้ยครับ)ที่ให้หนังสือเล่มนี้ผมมา ทำให้ผมได้เห็นมุมมองของคนที่เป็นพุทธกว่าคนทั่วไปมากขึ้น

เป็นหนังสือพุทธๆ ที่อ่านไม่ยากและไม่พุทธจ๋าจนเกินไป มีมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย

สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 98 ของปี 2018

สรุปหนังสือ ออกกำลังใจ
สารพัดวิธีสร้างสุขให้ชีวิตด้วยการคิดบวก
ดร. ณัชร สยามวาลา เขียน
สำนักพิมพ์ Amarin Dramma

20180802

อ่านสรุปหนังสือแนวปรัญชาต่อ https://www.summaread.net/category/philosophy/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2HCGkz5

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/