สรุปหนังสือ อยู่แต่ในกล่องคุณจะไปเห็นอะไร The Anatomy of Peace

สรุปหนังสือ อยู่แต่ในกล่องคุณจะไปเห็นอะไร หรือ The Anatomy of Peace เล่มนี้เป็นหนังสือที่มีติดบ้านมาหลายปีแต่ก็เพิ่งจะได้หยิบมาอ่านสักทีก็ปีนี้นี่แหละครับ

สารภาพตรงๆ ตอนแรกที่หยิบขึ้นมาคิดว่าน่าจะเป็นหนังสือแนวการตลาด ให้ไอเดียหรือข้อคิดที่จะเอาหยิบไปใช้ในการทำงานได้ แต่กลายเป็นว่านี่คือหนังสือแนวที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคย นั่นก็คือใช้วิธีการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ออกแนววรรณกรรมเพื่อเล่าให้คนอ่านเข้าใจถึงแนวความคิดที่ต้องการจะถ่ายทอดออกมา

ถ้าให้สรุปสั้นๆ หนังสือ The Anatomy of Peace เล่มนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่าที่โลกนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งตั้งแต่ระดับเล็กๆ ในครอบครัวไปจนถึงระดับใหญ่ถึงขั้นสงครามระหว่างชาติ นั่นก็เพราะพวกเขาทั้งหลายล้วนแต่ติดอยู่ในกล่องของตัวเอง และกล่องที่ว่านั่นก็เปรียบได้กับกรอบทางความคิดของคนเราครับ

เพราะกล่องที่เราสร้างขึ้นมาจะกลายเป็นกรอบในการคิดของเราซึ่งจะส่งผลต่อการกระทำในที่สุด

หัวใจหลักของกล่องในหนังสือเล่มนี้ก็คือการบอกให้รู้ว่า เมื่อไหร่ที่เรามองคนอื่นไม่ใช่คนที่เท่าเทียมกับเรา หรือเมื่อไหร่ที่เราแปะป้ายให้คนอื่นเป็นอะไรซักอย่าง นั่นก็เท่ากับว่าเรากำลังมองเขาเป็นสิ่งของนั่นเอง

เช่น พ่อที่มองลูกติดยาว่าเป็น “ลูกไม่รักดี” หรือ “เด็กไร้อนาคต” หรือ “ตัวฉุดชื่อเสียงวงศ์ตระกูล”

หรือสามีที่มองภรรยาเวลาที่เธอบอกให้เขาลุกขึ้นจากโซฟามาช่วยล้างจานทำงานบ้านว่า “ภรรยายอมจูจี้ขี้บ่น” หรือ “ภรรยาที่ไม่เคยเข้าอกเข้าใจว่าตัวเองต้องเหนื่อยจากงานมาขนาดไหน” นั่นเองครับ

เมื่อเราใส่กล่องให้กับตัวเองว่า “เราคือผู้ที่ถูก” หรือคิดไปว่าเราเหนือกว่าคนอื่นเมื่อไหร่ นั่นก็จะยิ่งทำให้ทั้งการกระทำและความสัมพันธ์ส่งผลให้อะไรๆ แย่ยิ่งขึ้นครับ

ตัวอย่างที่ดูจะย้อนแย้งแต่ก็น่าสนใจนั่นก็คือกษัตริย์ชื่อดังในอดีตอย่าง “ซาลาดิน”

ซาลาดิน กษัตริย์อาหรับในตำนานหรือสุลต่านชาวเคิร์ดที่พิชิตกรุงเยรูซาเล็มได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ที่น่าสนใจคือแม้เขาจะทำศึกสงครามฆ่าฟันคนมากมาย แต่เขาก็ยังมีใจที่มองศัตรูด้วยใจที่เป็นมิตร หรือมองว่าศัตรูเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน

ด้วยเหตุนั้นซาลาดินจึงไม่ได้ไล่ฆ่าผู้นับถือศาสนาคริสต์ให้เกลี้ยงเมืองเหมือนเมื่อครั้งตอนชาวคริสต์ยุโรปทำมาก่อนหน้า แต่ซาลาดินเปิดโอกาสให้พวกทหารชาวคริสต์หรือชาวเมืองทั้งหลายสามารถเดินทางกลับบ้านได้ถ้าไม่คิดเล่นตุกติกหยิบอาวุธขึ้นมาสู้ครับ

นี่แหละครับคือการมองคนอื่นว่าเป็นคนเหมือนกัน และก็ปฏิบัติกับเขาเยี่ยงคนๆ หนึ่งของสุลต่านผู้พิชิตจนกลายเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ถึงทุกวันนี้ครับ

ดังนั้นเราจะเห็นว่ากล่องที่เป็นกรอบความคิดของเราจะส่งผลต่อการกระทำ และไม่ใช่แค่การกระทำของเราแต่ยังส่งผลถึงการกระทำของผู้อื่นด้วย

เพราะหนังสืออยู่แต่ในกล่องคุณจะไปเห็นอะไรบอกให้รู้ว่า คนอื่นปฏิบัติอย่างไรกับเราไม่ใช่เพราะแค่สิ่งที่เราทำกับเค้า แต่เพราะสิ่งที่เค้ารู้สึกจากสายตาที่เรามองเค้าต่างหากครับ

ที่น่าสนใจคือเมื่อเรามีกล่องในจินตนาการขึ้นมาแล้วเวลาเราทะเลาะกับใคร เราก็มักจะมองหาแนวร่วมรอบๆ เพื่อทำให้เรารู้สึกว่าถูกที่คิดหรือทำแบบนั้น เช่น เวลาเราทะเลาะกับพ่อเรามักจะชวนแม่มาเข้าพวก หรือชวนพี่มาเข้าพวก เราไม่ต้องการรู้สึกโดดเดี่ยวเพียงคนเดียว เพราะถ้าคนอื่นเข้าพวกกับเรา กล่องในความคิดเราก็จะยิ่งแข็งแรงและมั่นคงยิ่งขึ้นว่าการที่เรามองอีกฝ่ายเป็น “ศัตรู” นั้นถูกต้องจากเสียงยืนยันข้างเราแล้ว

หนังสือเล่มนี้แนะวิธีให้เรารู้ว่า ถ้าเราอยากออกจากกล่องก็ทำได้ง่ายๆ แค่ “ลงมือทำ”

ลงมือทำที่ว่าคือการลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง ไม่ใช่ลงมือทำตามเหตุผลที่คิดว่าต้องทำ เช่น ถ้าเราทะเลาะกับเพื่อนคนหนึ่งแต่เราบังเอิญเห็นว่าเงินของเพื่อนคนนั้นหล่นอยู่เมื่อลุกไป สิ่งที่เราควรทำคือเราควรบอกเพื่อนว่าเงินหล่น ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนเดินไปโดยตัวเองไม่บอก หรือบางคนอาจหาข้ออ้างการมองคนอื่นเป็นสิ่งของด้วยการตัวเองก็เดินลุกไปและไม่หันกลับมามองเงินที่หล่นนั้นด้วย

นั่นก็เพราะการทำแบบนั้นทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขาเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเท่าไหร่ เพราะเค้าก็เดินหนีจากเงินนั้นไปเช่นกัน

อีกแนวคิดที่สำคัญจากหนังสือเล่มนี้คือเวลาคนเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงคนอื่น เรามักจะเริ่มจากการหาทางแก้ไขคนๆ นั้นให้ถูกต้อง เช่น ถ้าลูกน้องเรามาสายเราก็มักจะใช้วิธีสร้างกฏต่างๆ ขึ้นมาเพื่อบังคับให้ลูกน้องต้องมาเช้าให้ได้

แต่หนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่าวิธีนี้นอกจากจะไม่ค่อยได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดการต่อต้านและมองกันเป็นศัตรูไปมาต่างหากครับ

หนังสือเล่มนี้ให้แนวทางที่น่าสนใจว่า การจะเปลี่ยนคนอื่นต้องเริ่มที่ตัวคุณเองไม่ใช่เริ่มที่ตัวเค้า นั่นก็เหมือนกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับที่เขาคนนั้นจะเปลี่ยน และต้องเริ่มตั้งแต่รากฐานที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวเค้า

ค่อยๆ ดึงมิตรของเค้ามาเป็นมิตรของเรา จากนั้นเค้าก็จะรู้สึกวางใจเรามากขึ้น

ขั้นที่สองคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าตัว คุณจะเปลี่ยนเค้าได้คุณก็ต้องมีความเข้าอกเข้าใจเค้าก่อน

ข้อนี้ทำให้ผมคิดถึงการทำ Design Thinking ในขั้นแรกที่เรียกว่า Empathy นั่นคือคุณต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในที่ๆ เค้าอยู่ให้ได้ก่อนครับ

ถ้าอยากรู้ว่าทำไมลูกน้องมาสาย คุณเคยลองไปใช้ชีวิตแบบลูกน้องคนนั้นมั้ย เพราะการจะแก้ปลายเหตุที่ถูกต้องๆ เริ่มที่ต้นเหตุ

และเมื่อคุณเริ่มสนิทกับเค้าแล้ว เข้าอกเข้าใจเค้าแล้ว ขั้นถัดมาคือการรับฟังและเรียนรู้

การฟังที่ถูกไม่ได้ใช้แค่หู แต่ต้องใช้ใจในการฟังด้วยครับ

เพราะหลายคนสักแต่ว่าฟัง ฟังๆๆ แล้วไม่ได้เรียนรู้อะไร ไม่ได้เข้าใจเลยว่าเค้ารู้สึกอย่างไรจากสิ่งที่พูด

ดังนั้นคุณต้องฟังและเรียนรู้ในสิ่งที่เค้าพูดตามไปด้วย การแก้ปัญหาจึงจะยั่งยืนและถาวรครับ

ลำดับถัดมาคือการสอนและการสื่อสาร ขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับการทำการตลาดตรงที่ว่าถ้าเรารู้จักและเข้าใจลูกค้าได้มากพอแล้วว่าเค้าคิด ทำ รู้สึก และใช้ชีวิตเป็นอยู่อย่างไร เราก็จะสามารถสื่อสารออกไปได้ตรงใจ หรือสามารถสอนให้เค้าทำในสิ่งที่เราต้องการได้ไม่ยากครับ

ขั้นสุดท้ายสูงสุดของยอดพีระมิดก็คือการแก้ไขให้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้คุณสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเค้าได้อย่างที่คุณต้องการไม่ยาก เพราะในเมื่อคุณรู้แล้วว่า insight เค้าคืออะไร แรงจูงใจที่กระตุ้นให้เค้าทำสิ่งที่คุณไม่ชอบหรือต้องการเปลี่ยนมาจากไหน คุณก็สามารถทำให้เค้าอยากแก้ไขตัวเองไปทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่คุณต้องการได้ไม่ยากเลยครับ

นั่นไงนึกว่าจะไม่มีแง่มุมที่จะเอามาปรับใช้กับเรื่องการตลาดได้ แต่ในที่สุดผมก็สามารถหาทางเอาจนได้ ก็แหม มันอดไม่ได้ที่จะต้องเอาไปประยุกต์เก็บไว้ใช้กับเรื่องงาน ผมว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใครซักคนนั้นมีขั้นตอนอะไรบ้าง

ดังนั้นถ้าคุณอยากรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนใกล้ตัวที่ไม่ถูกใจอย่างไร ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้

หรือถ้าคุณเป็นนักการตลดา ผมก็อยากให้คุณโฟกัสในส่วนของพีระมิดช่วงท้ายเล่มให้มากๆ เพราะคุณจะสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้มากมายครับ

สรุปหนังสือ อยู่แต่ในกล่องคุณจะไปเห็นอะไร The Anatomy of Peace

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 1 ของปี 2020

สรุปหนังสือ อยู่แต่ในกล่องคุณจะไปเห็นอะไร
The Anatomy of Peace, New York Times Bestseller
มองหาต้นตอของปัญหาให้ถูกที่ แล้วจะมองเห็นทางออกที่เฝ้ารอมานาน
อย่าปล่อยให้ความมืดบอด ทำให้คุณพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิต

The Arbinger Institute เขียน
ตวงทอง สรประเสริฐ แปล
สำนักพิมพ์ WE LEARN

20200102

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่ > http://bit.ly/35ywxTP

อ่านสรุปหนังสือแนวจิตวิทยาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อ > https://www.summaread.net/category/psychology/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/