สรุปหนังสือ Smarter Faster Better ความลับของ Productivity ที่นักวิทยาศาสตร์อยากบอกคุณ สำนักพิมพ์ We Learn สรุปโดยอ่านแล้วเล่า

สรุปหนังสือ Smarter Faster Better เล่มนี้เขียนโดย Charles Duhigg คนที่เขียน The Power of Habbit ที่โด่งดังสำหรับบรรดานักการตลาด นักโฆษณา และนักธุรกิจ ซึ่งความจริงผมมีหนังสือเล่มนี้คาชั้นหนังสือที่บ้านมานานแล้ว แต่ด้วยความไม่รู้ว่าเป็นผู้เขียนคนเดียวกันกับ The Power of Habbit เลยไม่เคยสนใจที่จะหยิบมาอ่าน แต่ระหว่างที่กำลังทำรีเสริชค้นคว้าหาข้อมูลเรื่อง Data ก็พบว่าคนเขียน The Power of Habbit ก็เขียนเล่มนี้ด้วย และด้วยความที่ผมชอบ The Power of Habbit มากจนเป็นหนังสืออีกเล่มที่กำลังจะหยิบมาอ่านซ้ำเป็นครั้งที่สอง ก็เลยเอาไปลงเปิดโหวตบนเพจอ่านแล้วเล่าว่าอ่านเล่มไหนก่อนดี แล้วเสียงส่วนใหญ่ก็โหวตให้อ่าน Smarter Faster Better เล่มนี้นั่นเองครับ

ดังนั้นถ้าให้สรุปหนังสือเล่มนี้สั้นๆ ก็คือว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนทำงานทุกคน โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานเป็นทีม เป็นกลุ่ม เป็นองค์กร หรือเป็นแผนก ถ้าคุณอยากให้ทีมคุณทำงานได้ดีขึ้น อยากให้พนักงานทุกคนทำงานได้ดีขึ้น อยากรู้ว่าควรจะมีแนวคิดหรือแนวทางนการตัดสินใจอย่างไรดี เราควรกำหนดเป้าหมายในการทำงานแบบไหน เราจะบริหารจัดการคนเก่งและคนไม่เก่งในทีมเราหรือที่ทำงานเราอย่างไร เราจะตัดสินใจให้ได้ขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร เราจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้อย่างไร ทั้งหมดนี้มีคำตอบพร้อมกับแนวทางบวกกับเคสตัวอย่างอยู่ในหนังสือ Smarter Faster Better เล่มนี้เรียบร้อยครับ

ซึ่งใจความสำคัญจริงๆ ของหนังสือเล่มนี้คือเขาบอกให้รู้ว่า ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้เกี่ยวกับปริมาณงานที่ทำ การนั่งทำงาน 8 ชั่วโมงไม่ได้รับประกันว่าจะได้ผลงานดีกว่าคนที่นั่งทำงานแค่ 2 ชั่วโมง ดังนั้นหัวใจสำคัญของการทำงานให้มีประสิทธิภาพหรือ Productivity ก็คือการ “เลือกตัดสินใจ” กับสิ่งต่างๆ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี รู้ว่าอะไรต้องทำ รู้ว่าอะไรไม่ต้องทำ รู้ว่าควรต้องใช้สมองและแรงกายกับอะไร เพื่อจะได้เอาไปทุ่มเทให้กับสิ่งที่ทำให้เกิด Productivity จริงๆ นั่นเองครับ

เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 8 บทหลัก ซึ่งผมจะขอเริ่มสรุปแบบไล่ไปทีละหัวข้อเพื่อให้คุณพอเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงอะไรบ้าง แล้วแต่ละบทได้ข้อสรุปออกมาเป็นแบบไหน ถ้าพร้อมแล้วเชิญอ่านต่อได้เลยครับ

1. แรงจูงใจที่ดีที่สุด คือการปล่อยให้ได้ตัดสินใจ

เราเคยเชื่อกันว่า “รางวัล”หรือ “ผลตอบแทน” คือแรงจูงใจที่ดีที่อยากให้คนทุ่มเททำงาน หลายบริษัทอาจเลือกการใช้รางวัลเป็นเงินโบนัสหรือสิ่งของต่างๆ แต่รู้มั้ยครับว่าจริงๆ แล้วแรงจูงใจที่ดีที่สุดของมนุษย์เราก็คือ “การให้อำนาจในการตัดสินใจ” ครับ

เพราะตั้งแต่เด็กเมื่อเราเริ่มกินอาหารเองได้เราก็มักไม่ชอบให้ใครมาป้อนหรือบังคับให้เรากิน แม้เด็กจะกินอาหารได้น้อยกว่าการถูกป้อน แต่พวกเขาก็ยังชอบที่จะได้หยิบหรือเลือกตัดสินใจกินเองว่าจะกินมากน้อยในแต่ละคำต่างกันไป เรียกได้ว่าความอยากที่จะได้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจควบคุมนั้นอยู่ใน DNA ของเราทุกคนตั้งแต่เกิดก็ว่าได้

หรือแม้แต่กับคนสูงวัยในบ้านพักคนชราเหล่านักวิจัยก็พบว่า คนชรากลุ่มไหนที่พวกเขาสามารถเลือกสภาพแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้ด้วยตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะผ่านการตัดห้อง ผ่านการเลือกว่าจะกินอะไรไม่กินอะไร ไม่ใช่รอให้พยาบาลหรือผู้ดูแลมาตัดสินใจและทำทุกอย่างให้ คนกลุ่มที่ได้ดื้อทำอะไรตามใจตัวเองมีแนวโน้มว่าสมองจะมีการแอคทีฟกว่าคนที่ได้เราให้คนอื่นตัดสนใจให้ครับ

ดังนั้นแรงจูงใจที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้คนได้รู้สึกว่าพวกเขามีโอกาสได้ควบคุมชะตาชีวิตตัวบาง ดังนั้นการควบคุมพนักงานที่ดีที่สุดคือการปล่อยอให้พวกเขาได้คิดและตัดสินใจตามเป้าหมายที่คุณกำหนดไว้ คุณอาจตั้งเปลี่ยนการตั้งโจทย์ใหม่จากเดิมเคยถามว่า 5+5 = ? ให้กลายเป็น ? + ? = 10 ครับ

เพียงเท่านี้พวกเขาก็รู้สึกแล้วว่าตัวเองมีทางเลือกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองมากขึ้น แม้ในความเป็นจริงแล้วคุณเป็นฝ่ายเลือกที่จะควบคุมพวกเขาผ่านการปล่อยให้พวกเขาได้ตัดสินใจในกรอบที่คุณกำหนดขึ้นก็ตาม

2. ทีมเวิร์คที่ Productivity ไม่จำเป็นต้องรักกัน

คำว่าทีม หรือ ทีมเวิร์ค เดิมทีเรามักเชื่อกันว่าทีมเวิร์คที่ดีคือการไม่ใช้ Ego ลดความเป็นตัวเองลงแล้วรวมแรงรวมใจกันให้เป็นหนึ่ง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน พูดจาดีต่อกัน ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ทำลายความคิดใคร

แต่หนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่าทีมที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุดอาจไม่ใช่อย่างที่เราเคยเชื่อกันมาสักเท่าไหร่ เพราะพวกเขาพบว่าทีมเวิร์คที่ดีคือทีมที่สุดคนแสดงเห็นของตัวเองได้เต็มที่ พูดถึงแต่ความคิดตัวเองเท่าไหร่ก็ได้ จะทะเลาะเบาะแว้งหรือไม่ชอบขี้หน้ากันบ้างก็ได้ ไม่ต้องปาร์ตี้สังสรรค์ด้วยกันก็ได้ แต่หัวใจสำคัญอันดับที่ 1 คือทุกคนต้อองมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่เท่าๆ กัน

หรือถ้าจับเวลาในการพูดของทุกคนในทีมแล้ว แม้ว่ามีตติ้งนี้คนนี้จะพูดเยอะหน่อย แต่พอมีตติ้งบ่ายอีกคนก็จะได้กลับมาพูดมากกว่า แล้วเมื่อเอาจำนวนเวลาในการพูดของแต่ละคนมาสรุปดูในแต่ละวันก็จะพบว่าทีมที่มี Productivity มากกว่าคือทีมที่ทุกคนได้มีโอกาสใช้เวลาในการพูดความเห็นของตัวเองออกมาเท่าๆ กันครับ

ดังนั้นทีมที่จะเวิร์คได้อย่างมี Productivity ก็จะสำคัญมากที่คนเป็นหัวหน้า หัวหน้าคนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งกว่าคนอื่นหรือทุกคนในทีม แต่ต้องเป็นคนที่สามารถทำให้ทุกคนในทีมสามารถแสดงผลงานอย่างเต็มที่ได้เหมือนกัน

หัวหน้าทีมต้องแสดงออกว่าทุกคนในทีมพร้อมจะรับฟังทุกไอเดีย และต้องทำให้ทุกคนในทีมสบายใจที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดใดๆ

ส่วนข้อ 2 ที่สำคัญมากของทีมที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าทีมทั่วไป นั่นก็คือทุกคนในทีมต้องมีความไวต่อการจับความรู้สึกของคนในทีมได้ เพราะถ้าทุกคนไวต่อความรู้สึกของคนในทีมนั่นหมายความว่าพอมีคนหนึ่งเริ่มแสดงออกว่าไม่สบายใจกับอะไรบางอย่าง ก็จะมีคนเข้าไปใส่ใจความรู้สึกเค้า แล้วพอเค้าคนนั้นได้แสดงออก ความไม่สบายใจดังกล่าวก็จะหมดไป

คำถามสำคัญของข้อนี้คือ ทีมของคุณในวันนี้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นด้วยการใช้เวลาเท่าๆ กันมั้ย หรือมีใครคนใดคนหนึ่งที่แสดงออกเยอะกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ และทุกคนในทีมกล้าที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดของคนอื่นมั้ย กับคนในทีมของคุณจับความเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของกันและกันได้ไวแค่ไหนนั่นเองครับ

3. การจดจ่อ เลือกโฟกัสกับแค่สิ่งสำคัญ และคิดถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้า

การจดจ่อหรือจะเรียกอีกอย่างว่าการ Focus ที่ดีจะส่งผลให้เกิด Productivity ที่ดีกว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าพนักงานที่เลือกรับงานน้อยกว่า ก่อให้เกิดผลงานที่ส่งผลต่อบริษัทที่ชัดเจนกว่าพนักงานที่ทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน

จากตัวเลขพบว่าพนักงานที่เลือกทำงานแค่ครั้งละประมาณ 5 โปรเจคก่อให้เกิด Productivity ที่มากกว่าพนักงานที่เลือกทำงานพร้อมกันทีละ 10-12 โปรเจคอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นก่อนคุณจะรับงานเข้ามาทำเพิ่มขึ้น หรือก่อนที่คุณจะป้อนงานให้ลูกน้องเพิ่มเข้าไปอีก ต้องแน่ใจก่อนนะครับว่างานที่ใส่เข้าไปจะไม่ได้ทำให้ทุกอย่างแย่ลง

และเมื่อทำการสำรวจลึกลงไปอีกว่าพนักงานเก่งๆ ที่เลือกทำโปรเจคพร้อมกันครั้งละน้อยกว่า พวกเขาก็ไม่ได้เลือกทำแค่ในงานที่ตัวเองถนัดอย่างที่เราเคยเชื่อกันว่าการฝึกฝนซ้ำๆ ทำให้คนหนึ่งเก่งและก้าวหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้วพนักงานที่มี Productivity เหล่านี้จะเลือกทำในโปรเจคที่ทำให้ได้พบเจอคนใหม่ๆ ทำในโปรเจคที่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อีกทั้งพวกเขามักจะเลือกทำในโปรเจคตั้งไข่หรือเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งต่างจากคนส่วนใหญ่มักจะเลือกทำในโปรเจคที่เริ่มมั่นคงหรือผ่านมาในระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อสำรวจลึกลงไปอีกก็พบว่าเพราะพนักงานที่ Productivity เหล่านี้มองว่าการเลือกทำในโปรเจคตั้งไข่ถ้าประสบความสำเร็จก็จะเคลมได้ว่าตัวเองเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเหล่านั้นขึ้นมา แถมการเลือกทำโปรเจคตั้งไข่ก็ทำให้พวกเขาได้รับรู้ข้อมูลที่มากกว่าคนที่มาที่หลัง ทั้งหมดนี้เลยทำให้พวกเขาทำงานก้าวหน้าได้เร็วกว่าคนทั่วไป การเลือกทำงานแค่โปรเจคสำคัญๆ ที่จะส่งผลสำคัญต่อทั้งองค์กรและตัวเองคือหัวใจสำคัญขอการทำงานแบบมี Productivity นั่นเองครับ

และอีกประเด็นที่น่าสนใจในบทนี้คือ คนเก่งจะเลือกจดจ่อกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นปัญหาตรงหน้าได้ดี พวกเขามักมีการคิดล่วงหน้ามาแล้วว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นจะต้องจัดการอย่างไร หรือพวกเขามักจะมีภาพอยู่ในหัวอยู่แล้วว่าสิ่งที่ควรจะเป็นนั้นต้องเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้ามีอะไรผิดแปลกไปจากภาพในหัวของสิ่งที่ควรจะเป็น พวกเขาก็จะรับรู้ได้เร็วกว่าและลงมือแก้ไขได้ดีกว่าคนทั่วไปมากครับ

ส่วนการจำลองภาพในหัวถึงสถานการณ์ล่วงหน้าก็ยังช่วงให้เรามองเป็นปัญหาไม่ใหญ่เกินไป เพราะถ้าเราคิดมาแล้วว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้จะจัดการอย่างไร ที่เลือกก็คือการลงมือทำไปตามขั้นตอนที่เคยคิดไว้เพื่อแก้ปัญหา นั่นก็คือการเลือกโฟกัสแค่กับสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและจดจ่อกับมันเพื่อให้เกิด Productivity สูงสุด

4. การกำหนดเป้าหมาย ไม่เลือกเอื้อมง่าย ไม่เลือกเกินเอื้อม แต่เลือกที่ไกลสุดเอื้อมถึงจะ Productivity ที่สุด

ปัญหาของการกำหนดเป้าหมายส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิด Productivity คือ เรามักจะกำหนดเป้าหมายแบบง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องพยายามอะไรมากมาย แค่ทำงานหนักขึ้นอีกนิด หรือเพิ่มนั่นอีกหน่อย เท่านี้ก็สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานได้เรื่อยๆ แล้ว

แต่การทำหนดเป้าหมายให้เกิด Productivity คือการกำหนดเป้าหมายให้สุดเอื้อม ที่ต้องใช้ความพยามอย่างมากถึงจะทำให้สำเร็จได้ และในขณะเดียวกันเป้าหมายแบบนี้ก็ยังทำให้ต้องรื้อวิธีการทำงานหรือวิธีการคิดใหม่หมด เพราะถ้ายังทำงานแบบเดิมก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้แน่นอน

เช่น ถ้าแผนก QC กำหนดเป้าหมายว่าปีนี้จะลดอัตราการเสียหายของสินค้าลง 10% จากปีที่แล้ว สิ่งที่ถ้าแผนก QC ทำคืออาจเพิ่มคนทำงานเข้าไปอีกหน่อย แล้วก็ทำงานแบบเดิมก็จะได้ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้แล้ว

ดังนั้นจะเห็นว่าการกำหนดเป้าหมายแบบนี้ไม่ก่อให้เกิด Productivity เลย ดังนั้นถ้าอยากให้การกำหนดเป้าหมายนั้นเกิด Productivity ขึ้นจริงๆ ก็ต้องกำหนดไปเลยว่าจาก 10% เป็น 70% หรือ 100% เพราะนั่นจะทำให้คุณต้องรื้อคิดกระบวนการทำงานใหม่ ไม่สามารถทำงานแบบเดิมได้ แล้วคุณจะพบวิธีการใหม่ๆ ที่พอจะทำให้เป้าหมายนี้เป็นไปได้ขึ้นมาครับ

แน่นอนว่าการพูดนั้นง่าย แต่ในการทำจริงในช่วงแรกนั้นยากมาก เพราะมันคือการทำลายสภาพความเคยชินแบบเดิมๆ แต่พอเมื่อเริ่มทำไปแล้วก็จะเห็นแนวทางใหม่ๆ จนกลายมาเป็นนวัตกรรมภายในองค์กรในที่สุด ซึ่งผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วหัวข้อการกำหนดเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้เหมือนกับการทำ OKR คือกำหนดเป้าหมายที่ยากจะทำได้ อารมณ์ว่าต่อให้ไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่ก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาวนั่นเองครับ

5. การบริหารจัดการคน ยกอำนาจให้คนหน้างานตัดสินใจ

เป็นเรื่องของการเอาอำนาจในการบริหารจัดการงานมามอบให้กับพนักงานแถวหน้าในการทำงาน เหมือนอย่างที่ Toyota นำเอาหลักการ Lean มาใช้ ที่มอบอำนาจให้พนักงานในสายพานการผลิตสามารถหยุดการทำงานของระบบได้เมื่อเห็นปัญหาตรงหน้า จากนั้นก็หาทางแก้ไขปัญหานั้นให้เรียบร้อย ส่วนหัวหน้าก็จะเปลี่ยนไปมีหน้าที่ช่วยให้ลูกน้องทำงานได้สะดวกขึ้น หาวิธีให้คนทำงานสามารถทำงานได้มี Productivity มากขึ้น และนั่นเองก็ทำให้แนวคิด Lean แบบ Toyota นั้นก้าวหน้ามากจนหลายบริษัทรถยนต์จากอเมริกาต่างต้องมาขอเรียนรู้

จะเห็นว่าแนวคิดไม่ได้ยากหรือซับซ้อนเลย แค่เป็นการยกอำนาจให้คนงาน เพียงแต่มันยากตรงจะสลัดอำนาจที่เคยมีอยู่ในมืออย่างไรให้ไปสู่คนที่ต้องใช้อำนาจนั้นจริงๆ ต่างหากครับ

6. การตัดสินใจ ต้องเปิดใจรับข้อมูลใหม่ๆ และทำใจให้สบายๆ

ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงการตัดสินใจผ่านนักแข่งขันโป๊กเกอร์ระดับแชมป์โลก เขาบอกว่าการพนันไม่ใช่การเอาชนะ แต่คือการเอาชิปในมือไปแลกกับข้อมูลของคู่แข่งเพิ่มขึ้น

เช่นกันกับการตัดสินใจที่ดีคือการต้องพยายามหาข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาใส่ จากนั้นก็ปรับปรุงโมเดลการตัดสินใจเราให้ทันสมัยตามข้อมูล อย่ายึดติดกับวิธีการตัดสินใจแบบเดิมๆ โดยไม่ยอมใส่ข้อมูลใหม่ๆ เข้าไป

อีกข้อเปรียบเทียบที่ดีคือเค้าบอกว่า การตัดสินใจที่ดีของการแต่งงานไม่ใช่ตัดสินใจจากว่าวันนี้เรารักกันมากแค่ไหน แต่ให้ตัดสินใจจากว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้จริงๆ มั้ยเมื่อแต่งงานไปแล้ว

หลายคนรักกันมากแต่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ที่ดีอย่างที่ควรจะเป็นได้

อีกหนึ่งข้อคิดที่น่าสนใจคือการตัดสินใจที่ดีจะมาจากตอนที่คุณกำลังอยู่ในอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่กดดัน ทำให้คุณสามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมดและตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เข้ามาร่วมด้วยน้อยที่สุดนั่นเองครับ

สรุปได้ว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อย Productivity จะมาจากการยึดติดกับข้อมูลชุดเดิมๆ มากเกินไป ดังนั้นต้องเปิดใจรับข้อมูลใหม่ๆ มาช่วยในการตัดสินใจใหม่ๆ ทุกครั้งไปนะครับ

7. การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แบบ Productivity

แท้จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอย่างที่เราเคยเชื่อ และส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่การประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ทั้งนั้น แต่คนที่เป็นนักสร้างสรรค์ที่ดีคือคนที่สามารถหยิบเอาแนวคิดเดิมที่มีอยู่แล้วจากอุตสาหกรรมความรู้อื่นมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมของตัวเอง

เหมือนที่ IDEO บริษัทนักออกแบบระดับโลกเอาจุดป้องกันการหกของแชมพูสระผมมาใช้กับขวดน้ำดื่มเพื่อให้สามารถเดินไปดื่มไปได้อย่างไม่เลอะเทอะ

ดังนั้นจะเห็นว่าคนที่เป็นนักสร้างสรรค์หรือครีเอทีฟนั้นคือคนที่สามารถมองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ในเรื่องเดิมที่ใครๆ ก็เห็นจนชินตา แล้วก็สามารถเอามาบิดใช้ในแบบของตัวเองในแบบที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนนั่นเองครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจในบทนี้คือการสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีการทำลายสิ่งเก่าบางอย่างลงไป

ก็เหมือนกับทุกครั้งที่มีค้นไม้ใหญ่ในป่าใหญ่ล้มลงไป ในบริษัทเวณนั้นก็จะเกิดพืชพรรณ์ที่หลากหลายปรากฏขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าต้นไม้ใหญ่ต้องตายทั้งป่าถึงจะเกิดสิ่งใหม่หมด เพราะถ้าแบบนั้นจะกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะมีอะไรฟื้นคืนขึ้นมาได้

สรุปได้ว่าการมองเรื่องเดิมด้วยมุมใหม่ๆ นั่นแหละคือความ Creativity ที่ Productivity ที่แท้จริงครับ

8. การซึมซับข้อมูล ที่ Productivity คือการเปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นความรู้

ปัญหาในยุค Data ไม่ใช่การมี Data น้อยไป แต่เป็นการมี Data มากเกินไปจนไม่รู้ว่าควรต้องโฟกัสกับอะไรต่างหาก ดังนั้นจากการทดลองก็ทำให้พบว่าเมื่อคนได้รับข้อมูลมากเกินไปพวกเขาก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ตัดสินใจอะไรเลยจากข้อมูลที่มี

สิ่งนี้เรียกว่า Information Blindness หรือภาวะการตาบอดจากข้อมูลที่ล้นเกิน และนั่นก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมโฆษณาส่วนใหญ่มักไม่ได้ผล ก็เพราะโฆษณาเหล่านั้นไม่เคยให้ข้อมูลอะไรที่สำคัญกับคนดูสักเท่าไหร่เลย

ทีนี้ถ้าคุณอยากให้คนของคุณหรือตัวคุณใช้ Data ได้อย่าง Productivity คือคุณต้องทำให้พวกเขารู้ว่า Data เหล่านั้นสามารถช่วยชีวิตและการทำงานเขาได้อย่างไร ไม่ได้เข้ามาเพื่อทำให้งานพวกเขาต้องยุ่งยากมาขึ้น

แล้วจากนั้นคุณก็ต้องรู้จักเอาข้อมูลที่มีไปทดสอบเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นความรู้เฉพาะตัวของคุณ เหมือนที่ทีมโทรทวงหนี้บริษัทหนึ่งค่อยๆ ช่วยกันทดสอบการโทรทวงหนี้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะโทรหาลูกค้ากลุ่มนี้ในช่วงเช้าแล้วก็เอาข้อมูลมาแชร์กับว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีขึ้นหรือแย่ลง จนพวกเขาค้นพบข้อมูลสำคัญว่า ถ้าลูกหนี้คนไหนเป็นผู้ชายและมีครอบครัวแล้ว ให้โทรทวงหนี้ตอนแล้วเช้าภรรยาเค้าจะรับ จากนั้นก็จะมีโอกาสจ่ายหนี้สูงกว่า

ส่วนถ้าใครโสดก็ให้โทรหาช่วงมื้อเย็น เพราะคนกลุ่มนี้จะเอาแต่นั่งดูทีวีไม่ทำอะไร นั่นทำให้พวกเขายินดีจะรับสายคุณและก็คุยกับคุณมากขึ้น จนไปเพิ่มโอกาสได้เงินคืนในที่สุด

อีกข้อค้นพบที่น่าสนใจคือถ้าเราทำให้คนต้องพยายามในการจดจำข้อมูลขึ้นนิดหน่อย พวกเขาจะจำข้อมูลนั้นได้ดีขึ้นมาก จากการทดลองคือเมื่อแบ่งกลุ่มนักศึกษาที่จดข้อมูลในห้องเรียนด้วยการเขียนลงบนสมุด กับอีกกลุ่มที่จดผ่านการพิมพ์ลงบนคอมพิวเตอร์ ผลคือกลุ่มคนที่เขียนด้วยมือทำคะแนนได้ดีกว่า มีอัตราการจำที่ดีกว่ากลุ่มที่พิมพ์ลงไป

นั่นก็เพราะความสะดวกสบายทำให้เราเรียนรู้อะไรๆ ได้น้อยลง เรียกได้ว่าถ้าอยากเก่งต้องหัดลำบากวันละนิดไปเรื่อยๆ ก็ว่าได้ครับ

สรุปได้ว่าการเปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นความรู้นั่นคือการใช้ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความ Productivity สูงที่สุด และจะสูงขึ้นกว่านั้นอีกถ้าทำให้การเรียนรู้ข้อมูลนั้นต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นกว่าปกติหน่อย แต่ก็ต้องระวังกับข้อมูลที่มากเกินไปเพราะนั่นจะทำให้คนมองข้ามข้อมูลนั้นไปอัตโนมัติ

สรุป Smarter Faster Better การใช้ทำงานและใช้ชีวิตให้ Productivity คือการเลือก Strategy ให้ดีแล้ว Focus ให้เป็น

ทั้งหมด 8 บท ของหนังสือเล่มนี้ประเด็นหลักคือการเลือกที่จะให้ความสำคัญกับอะไร ข้อมูลแบบไหนที่เราต้องใส่ใจ เราจะเอาสองสิ่งที่ดูไม่เข้ากันมาผสมรวมกันให้กลายเป็นสิ่งใหม่ได้ก็ด้วยการมองข้อมูลที่ซ่อนอยู่ให้ออก กำหนดเป้าหมายให้ฉลาด บริการจัดการคนให้เป็น มอบอำนาจให้คนตัดสินใจ จดจ่อกับแค่สิ่งสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาเพื่อปรับปรุงวิธีการตัดสินใจอยู่เสมอ และสุดท้ายคือทีมเวิร์คจะทำให้องค์กรคุณเกิด Productivity ที่เหนือกว่าการรวมตัวคนเก่งแต่ไม่เวิร์คด้วยกัน แต่หัวใจสำคัญของทีมเวิร์คไม่ใช่ทุกคนรักกัน แต่ทุกคนต้องรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนเท่าเทียมกันเมื่อทำงานกับทีมนี้

และทั้งหมดนี้ก็คือสรุปหนังสือ Smarter Faster Better ความลับของ Productivity ที่นักวิทยาศาสตร์อยากบอกคุณ แล้วถ้าคุณอยากเอาไปบอกใครก็แชร์ลิงก์นี้ออกไปให้เค้ารู้แล้วกัน หรือจะซื้อหนังสือเล่มนี้ให้เค้าเป็นของขวัญวันเกิดก็น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ดีครับ

สรุปหนังสือ Smarter Faster Better ความลับของ Productivity ที่นักวิทยาศาสตร์อยากบอกคุณ สำนักพิมพ์ We Learn สรุปโดยอ่านแล้วเล่า

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 13 ของปี 2020

สรุปหนังสือ Smarter Faster Better
ความลับของ Productivity ที่นักวิทยาศาสตร์อยากบอกคุณ
Charles Duhigg เขียน
สำนักพิมพ์ We Learn

อ่านหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/we-learn/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > https://bit.ly/2ywTqMc

20200413

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/