“อยากเก่งขึ้น” ความคิดแรกที่ทำให้หยิบเล่มนี้จากชั้นหนังสือที่บ้านมาอ่าน เพราะรู้สึกว่าตัวเองอยากเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้น
ถ้าถามว่าทุกวันนี้ผมอยู่ในเลเวลไหน ก็ต้องบอกว่าระดับเดียวกับสาวบาร์เบียร์ตามถิ่นที่เที่ยวของฝรั่งนี่แหละครับ ไม่ซิ ดีไม่ดีผมว่าผมเลเวลในความรู้ทั้งพูด ฟัง อ่าน เขียน น้อยกว่าอีกด้วยซ้ำ
พอเห็นหน้าปกและเคยอ่านจากไหนผ่านๆจำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่า หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณคล่องทุกภาษาที่คุณต้องการมากขึ้น ไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือทำแบบทดสอบใดๆ แต่เป็นการแนะวิธีหลักแนวคิดในการเข้าใจที่จะเรียนรู้ภาษาที่สอง สาม สี่ และต่อไปเรื่อยๆเท่าที่คุณต้องการ เพราะผู้เขียนบอกว่าตัวเองสามารถพูดได้หลายภาษาและพูดได้แทบจะเหมือน “ภาษาแม่” หรือภาษาที่พูดได้แต่กำเนิดเลยด้วยซ้ำ ทั้งหมดแล้วด้วยหลักแนวคิดที่ผู้เขียนเอามาถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้
พออ่านดูก็พบว่าจริงครับ เพราะแทบไม่ได้สอนอะไรเรื่องภาษา คำศัพท์ หรือประโยคใดๆเลย แต่สิ่งที่ผู้เขียนค้นพบและเอาเคล็ดลับมาบอกก็สรุปประเด็นสำคัญในการเรียนรู้ภาษาได้ว่า
ให้แปลคำเป็น “ภาพ” แต่แปลจากคำเป็น “คำ” เช่น เราส่วนใหญ่เวลาเห็นคำว่า cat ก็มักจะคิดถึงคำว่า “แมว” ในภาษาไทยก่อน แต่ให้เราลองลำดับใหม่ให้เราแปลเป็น “ภาพ” แทน เช่น เวลาเราเห็นคำว่า “cat” คำเดิม แต่ทีนี้ให้เราคิดถึง “ภาพ” ของแมวแทน ทีนี้สมองเราจะทำงานเร็วขึ้น และจำคำศัพท์นั้นได้ง่ายขึ้น เหมือนกับคำที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพัน”
ใส่ “ความหมาย” ให้คำจะช่วยให้เราจดจำเข้าฝังหัวได้ดีกว่าจำแค่เป็นคำแปลเฉยๆ เช่น จากตัวอย่างเรื่อง cat แล้วนึกถึงภาพแมวเมื่อกี๊ ให้เราสร้างความหมายให้คำว่า cat ที่เกี่ยวกับชีวิตเรา เช่น แมวของเราตอนเด็กชื่ออะไร สีอะไร น่ารักแค่ไหน ทีนี้คำว่า cat คำเดียวก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่คำอื่นๆได้อีกมากมาย
ผมว่านี่คือสองใจความหลักใหม่ที่ทำให้ผมได้มุมมองในการเรียนรู้ภาษาที่น่าสนใจขึ้น จะลองเอาไปทำดูครับ
จากนั้นก็พบว่า จริงๆแล้วในการเรียนรู้ภาษาใหม่นั้น แค่เรารู้คำศัพท์แค่ราวๆ 1,000 คำ เราก็สามารถอ่านเข้าใจทุกอย่างที่เราเห็นได้ถึง 80% แล้ว และสามารถฟังเข้าใจที่คนพูดได้ถึง 75% แล้ว และถ้าเราเข้าใจเพิ่มไปอีกราวๆ 1,000 คำ เราก็จะสามารถอ่านเข้าใจได้ถึง 85% และฟังเข้าใจได้ถึง 80% ของทั้งหมด สิ่งนี้เรียกว่า “Frequency list”
Frequency list คือคำศัพท์หลักๆที่เราใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่การฟัง พูด อ่าน และเขียน คำพวกนี้มาจากการวิเคราะห์จากหนังสือในภาษานั้นหลายล้านเล่ม จนออกมาได้กลุ่มคำที่ใช้ซ้ำกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแม้คำศัพท์จะเยอะเป็นหมื่นๆคำ แต่ถ้าคุณเข้าใจแค่ 1,000–2,000 ก็เพียงพอแล้ว เพราะที่เหลือนั้นจะเป็นคำศัพท์เฉพาะทาง หรือเฉพาะกลุ่มอาชีพ
ข้อดีของการรู้สองภาษาขึ้นไปคือ คุณจะพบตัวตนหรือบุคลิคใหม่ของคุณโดยไม่รู้ตัว
ผู้เขียนเล่าว่า เค้าเคยเจอผู้หญิงคนนึงที่พอพูดภาษาฝรั่งเศษแล้วดูเป็นสาวชนชั้นสูงที่เต็มไปด้วยสเน่ห์แพรวพราว แต่พอกลับมาพูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ก็กลายมาเป็นสาวเปรี้ยวลุยๆอีกลุคเลย
ดังนั้นภาษาที่ต่างกันก็ทำให้เราแสดงออกต่างกันไปโดยไม่รู้ตัว
และข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าคุณรู้สองภาษาขึ้นไป สมองคุณจะมีการทำงานที่ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และยังมีผลว่าลดโอกาสเสี่ยงด้านสมองเสื่อม หรือชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ออกไปถึง 5 ปี
ข้อดีของการเรียนรู้ภาษาที่สองอย่างคล่องแคล่วนั้นมีมากมาย หนังสือเล่มนี้ก็บอกเคล็ดลับ แนวทาง และตัวช่วยมากมายที่จะทำให้เราใช้ภาษาที่สองได้เหมือนภาษาแม่ของเรา แต่สิ่งสำคัญคือ “ความพยายาม” ของคุณเองที่จะอยากเรียนรู้มัน คุณต้องสนุกไปกับมัน ต้องให้เวลากับมัน เพราะไม่อย่างนั้นหนังสือสอนที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถทำให้คุณเก่งขึ้นได้ ถ้าคุณไม่ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอด้วยตัวคุณเองครับ
ถ้าสนใจอยากรู้จักคนเขียนเพิ่ม ลองเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของเค้าก็ได้ครับ เค้ามีเครื่องมือและตัวช่วยมากมายเตรียมไว้ให้เราระดับนึงที่ใช้ได้ฟรี และเห็นว่าตอนนี้เค้ากำลังทำแอพเพื่อสอนภาษาที่เราอยากรู้อยู่ ปลายๆปีคงพร้อมให้ดาวน์โหลดกัน
ขอให้มีสนุกกับการเรียนรู้ภาษาที่สอง สาม และสี่ ของคุณครับ

อ่านแล้วเล่า พูดคล่องไม่ต้องคิด, Fluent Forever
Gabriel Wyner เขียน
วรรธนา วงษ์ฉัตร แปล
สำนักพิมพ์ MAXINCUBE
เล่มที่ 16 ของปี 2018
20180212