เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการ “ยอมรับ” แต่ “ไม่ยอมแพ้” ทั้งในแง่ชีวิต และธุรกิจ เพื่อให้เติบโตต่อไปได้

ไม่ยอมแพ้ จากความพ่ายแพ้ในวันนี้ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อโอกาสใหม่ๆที่จะมาถึง ว่ากันว่าคนที่โชคดีจนประสบความสำเร็จ คือคนที่ต่อสู้เพื่อรอวันที่โอกาสมาถึง

ถ้าไม่เตรียมพร้อมรอรับโชคดี ก็ไม่สามารถคว้าโชคดีนั้นไว้ได้ทัน เหมือนเรื่องของจาพนม นักแสดงไทยชื่อดังโกอินเตอร์ ได้แสดงร่วมกับนักแสดงดังระดับโลก ในหนังระดับโลกมาแล้วหลายเรื่อง ทั้ง Fast and Furious หรือ xXx ภาคล่าสุด

จาพนมบอกว่า เค้าโชคดีที่เกิดมาจน เพราะความจนทำให้เค้าต้องอดทนมากกว่าใครๆ อดทนจนมีโอกาสทำหนังของตัวเอง อดทนจนได้รับโอกาสมากมาย

จาพนมบอกว่า กลับกันถ้าเค้าเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะแทนที่จะยากจน จนพนมคนนี้ก็คงไม่อดทนจนมีอย่างทุกวันนี้ได้ ฉะนั้น ข้อดีของวิกฤติ คือการบังคับให้เราต้องคิดหาทางออกในสิ่งใหม่ๆ ทำอะไรนอกกรอบ เกินความสามารถของตัวเองออกไปได้

พูดถึงเรื่อง “กรอบ” ใครจะรู้ว่าเราๆนั้น “คิดติดกรอบ” กันมากแค่ไหน ถ้าอยากรู้ต้องลองดูเรื่องนี้

พาเครื่องบินกระดาษไปให้ถึงหลังห้อง

ครั้งนึง อาจารย์คนหนึ่งแจกกระดาษให้นักเรียนคนละหนึ่งแผ่น แล้วบอกกับลูกศิษย์หัวกระทิห้องคิงว่า “ทำยังไงก็ได้ให้จรวดกระดาษไปถึงหลังห้องให้ได้”

พอลูกศิษย์ได้ยินแบบนั้น ก็พยายามพับจรวดในรูปแบบต่างๆที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด น่าจะต้านอากาศน้อยที่สุด หรือแม้แต่ออกแบบปีกให้เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ตามหลักพลศาสตร์

พอพับเสร็จอาจารย์ก็ให้ทุกคนยืนติดกำแพงด้านหน้าห้อง แล้วแต่ละคนก็ปาจรวดไปด้วยความแรงต่างๆที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด บางคนปาสุดแรงเกิดจนหัวไหล่แทบหลุด บางคนปาเบาๆกะให้ไปไกลๆ แต่กลับไม่จรวดของใครไปถึงหลังห้องเลยซักคน

ไม่มีใครได้คะแนนในคลาสวันนี้ เด็กทุกคนไม่พอใจ อาจารย์เลยสาธิตให้ทุกคนดูเพื่อความสงบเสียงโวยวายที่กำลังจะก่อตัว

อาจารย์คนนั้นหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่นเท่ากับเด็กนักเรียน แล้วก็ขยำกระดาษเป็นลูกกลมๆ แล้วก็ปากระดาษออกไปให้กลิ้งตามพื้นจนไปหยุดที่บัวสุดขอบหลังห้อง เด็กทุกคนอึ้ง เพราะไม่คิดว่าจะมี “จรวด” แบบนี้อยู่ด้วย

คนส่วนมากติดกับ “กรอบความคิด” ตั้งแต่ได้ยินคำว่า “จรวด” เป็นครั้งแรก เราลืมวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายหลัก เพราะติดกรอบความคิด หรือวิธีการเดิมๆเป็นประจำ

จนทำให้หลายครั้งในชีวิต เวลามีปัญหาเข้ามา เราก็รีบตัดสินจากกรอบความคิด หรือประสบการณ์เดิมๆไปเรียบร้อยแล้ว

ในองค์กรใหญ่ๆอย่าง SCG เมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนจะเปลี่ยนองค์กรจากการผลิต ให้กลายเป็นแบรนด์นวัตกรรมที่ดูล้ำทันสมัยแบบวันนี้ ตอนนั้น ผู้บริหารทั้งหมดของ SCG ต้องเข้าฝึกอบรมที่ไม่ได้เน้นเรื่อง “การคิด” แต่เน้นเรื่อง “การฟัง”

ฟังลูกน้องให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ

ฟังอย่างไม่ด่วนตัดสินฆ่าไอเดียใหม่ๆ จากกรอบความคิดเก่าๆ

ฟังอย่างอดทนให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกน้องกล้าเล่าให้เราฟังมากขึ้น เพราะถ้าหัวหน้าไม่อยากฟัง ลูกน้องก็ไม่อยากเล่า

ลาร์ลี่ คิง เคยพูดไว้ว่า “คนเราฉลาดขึ้นจากการฟัง ไม่ใช่การพูด” และ SCG ก็พัฒนาจนเป็นแบรนด์ที่มีนวัตกรรม และดูทันสมัยขึ้นจากแนวคิดนี้

สำหรับนักการตลาด หรือนักธุรกิจ ลองค้นหา “ทฤษฎีช่องว่างระหว่างวงกลม” ที่เป็นแนวคิดจาก มอริตะ ผู้นำเสนอ sony walkman ในช่องว่างระหว่างการฟังเพลงที่หยุดนิ่ง กับการเคลื่อนที่ของชีวิตเมืองที่เร่งรีบ

แนวคิดนี้บอกให้รู้ว่า ยังไงก็มีโอกาสให้เสมอ ยิ่งวงกลมเดิมใหญ่เท่าไหร่ ที่ว่างระหว่างวงกลมที่จะเกิดวงกลมใหม่ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเท่านั้น ขอแค่ไม่ยอมแพ้ แม้จะแพ้ก็ตาม

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 52 ของปี 2018

แพ้ได้แต่ไม่ยอม
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 9
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180501

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/