เรื่องเดียวกัน ของชิ้นเดียวกัน ปัญหาเดียวกัน พอเราได้พลิกมองอีกมุม เราก็เห็นอะไรที่เปลี่ยนไป จากปัญหาที่เป็นปัญหา พอมองอีกคนมองจากอีกมุม กลายเป็นโอกาสซะงั้น

เหมือนตอนเรียนเรื่อง “มุม” สมัยประถม ที่บอกว่า “มุม” เกิดจากเส้นตรงสองเส้นที่ปลายชนกัน มองด้านนึงเห็นมุมแหลม แต่มองอีกทีก็มีมุมป้าน โชคดีว่าโจทย์ชีวิตไม่เหมือนโจทย์คณิตศาสตร์ ที่บังคับให้วัดมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น

เหมือนผู้ก่อตั้ง แดวู บริษัทเกาหลีชื่อดัง ที่มองคนละมุมกับนักลงทุนส่วนใหญ่กับประเทศซูดาน

คิม วู ซอง คนนี้มีคติว่า “ทุกครั้งที่คนอื่นเริ่มคิดถึงความเป็นไปไม่ได้ ผมจะเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้” เลยเลือกลงทุนสร้างโรงงานยางรถยนต์แห่งแรกในซูดาน ทั้งที่ใครๆก็บอกเหมือนกันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรอด

คิม วู ซอง คนนี้มองเห็นโอกาสว่า ประเทศซูดานเพิ่งพบบ่อน้ำมัน เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น ซูดานมีเมืองแต่ละเมืองที่อยู่ห่างกันไกล การใช้รถจะกลายเป็นเรื่องจำเป็น ซูดานอากาศร้อน นั่นหมายความว่ายางรถยนต์จะเสื่อมง่าย ต้องเปลี่ยนยางใหม่เร็วขึ้น

นี่คือการพลิกมุมคิด มองมุมใหม่ ที่ไม่เหมือนใครเลยจริงๆ

หรือกับเรื่องของ ธนา อดีตหัวเรือใหญ่ DTAC

ในช่วงบุกเบิกจาก TAC เป็น DTAC นั้น ธนาเห็นว่าพนักงานขายหน่วยรถไม่ค่อยดูแลรถยนต์ให้ดูดี แทนที่ ธนา จะตำหนิ หรือออกกฏระเบียบให้ยุ่งยาก แต่ ธนา เลือกใช้วิธีการจัดการแบบที่ MBA ที่ไหนๆก็ไม่มีสอน นั่นคือใช้หลัก MBP หรือคำเต็มๆว่า Management by Pretty

ด้วยการให้พริตตี้ติดรถไปกับพนักงานขายคนขับรถด้วยเสมอ พนักงานขายส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย พอมีสาวงามมาขึ้นรถ ก็ต้องจัดล้างให้สภาพรถดูดีไม่อายสาว ที่สำคัญกระทั่งแผ่นซีดีเพลงในรถก็ยังจัดใหม่ เลือกแต่เพลงที่ดูดี เปิดให้สาวฟังไม่อายหู

ผลที่ได้เพิ่มนอกจากรถดูดีแล้ว พนักงานขายยังทำงานไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย จากที่เคยเลิกงานตรงเวลาก็เปลี่ยนไป อยากทำงานยันดึกดื่นมืดค่ำกับน้องทุกวัน

พลิกมุมคิดแบบ ธนา ครับ

เทียน โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ เคยหาข้อมูลจากว่าขนมอะไรขายดีที่โรงหนัง ด้วยการลงทุนคุ้ยถังขยะ เพื่อดูซากซองที่คนกินจริงๆ แทนการนั่งรอตัวเลขข้อมูลจากลูกน้อง

พลิกมุมคิด เปลี่ยน ขยะ ให้กลายเป็น ข้อมูล ครับ

อยากเล่าอีกเคสสุดท้าย ของเรดบลู เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ต้องคารวะสามครั้งจริงๆ

เรดบลู หรือ กระทิงแดง พยายามโฆษณาและทำการตลาดมากมายเพื่อหวังให้นักเที่ยวผับหันมากิน แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จซักที จนได้กลยุทธ์ที่พลิกมุมคิดขึ้นมาใหม่ว่า ถ้าอยากให้ขายดีก็ต้องทำให้คนอยากกินตามคนอื่น อะไรที่เราเห็นคนส่วนมากกินเยอะๆ เราก็อยากกินตาม

แม้เราจะจ้างให้ทุกคนในผับกินฟรีเพื่อสร้างภาพไม่ได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ แต่เราสามารถสร้างภาพว่าเรดบลูฮิตด้วยถังขยะได้

เรดบลู เอากระป๋องเปล่าของตัวเองไปเทแบบถมตามถังขยะตามผับ ให้คนมาเที่ยวคิดว่าใครๆก็กินเรดบลูกัน จนเกิดการลองสั่งกินตามเค้าบ้างจนขายดี

พลิกมุมคิดอีกครั้ง จากถังขยะ กลายเป็นสื่อชวนชิม

จริงๆยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการตลาดและธุรกิจที่น่าสนใจ ให้เอาไปคิดต่อแล้วจะเจอมุมใหม่ๆในธุรกิจของคุณ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 50 ปี 2018

พลิกมุมคิด ชีวิตเปลี่ยน, ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 8
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180429

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/