สมมติถ้าเราตั้งโจทย์ให้กับชีวิตว่า “ทำอย่างไรถึงจะวิ่งจนผอมน้ำหนักลงสิบกิโลได้” กับถ้าเราตั้งอีกโจทย์ว่า “ทำอย่างไรเราถึงจะวิ่งมากขึ้นกว่าเมื่อวานได้อีก 1%”

ถ้าเมื่อวานวิ่งได้ 1 กิโล วันนี้ก็วิ่งเพิ่มอีกแค่ 10 เมตร เป็น 1010 เมตร ถ้าวันนี้วิ่งได้ 1100 เมตร พรุ่งนี้ก็แค่วิ่งให้ได้ 1111 เมตร ตัวเลขดูน้อยแต่เชื่อมั้ยว่าถ้าผ่านไป 1 ปี เราจะวิ่งได้เยอะขึ้นจากวันแรกถึง 36เท่าโดยประมาณ

แค่เปลี่ยนการตั้งโจทย์การวิ่ง ชีวิตก็ง่าย และมีโอกาสเป็นไปได้ขึ้นอีกเยอะ

ถ้าเปลี่ยนเป็นเรื่องการทำงาน

ถ้าเราตั้งโจทย์ให้กับตัวเองว่า “ทำอย่างไรถึงจะทำผลงานได้ดีที่สุด” ก็คงจะยากที่จะทำได้ และบอกได้ว่าผลงานครั้งนี้ “ดีที่สุด” แล้วจริงๆ

แต่ถ้าเราลองตั้งโจทย์ใหม่ว่า “ทำทุกงานให้ดีกว่าครั้งก่อน” แค่นี้ทุกครั้งก็จะได้งานที่ดีที่สุดแล้ว

เพราะภูเขามีหลายลูก ไม่ต้องหาเทือกเขาที่สูงที่สุดเพื่อพิชิตหรอก ค่อยๆพิชิตเขาตรงหน้าไปทีละลูกก็ได้ บางทีเขาที่สูงที่สุด เราอาจพิชิตมันไปเมื่อวันก่อนแล้วก็ได้ใครจะรู้

ถ้าเราใช้ชีวิตเหมือนเล่นกีฬาได้ก็คงดี ดีตรงที่ตอนเล่นกีฬาเราต่างเล่นกันเต็มที่ แถมพอผลออกมาก็ต่างยอมรับกันอย่างเต็มใจ

ชนะก็ดีไป แพ้ก็เล่นใหม่ ไม่ก็ไปทำอย่างอื่นเท่านั้นเอง

แต่กับการใช้ชีวิตเรากลับตั้งโจทย์ยากๆ และยึดติดกับผลลัพธ์มากเกินไป จนเหมือนว่าทั้งชีวิตนั้นไม่เหลืออะไรให้ทำอีกแล้ว

เหมือนที่ผมเคยอ่านเจอว่า “ไม่ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่มีอะไรทำ”

แต่คงต้องขอเติมต่ออีกนิดว่า “แค่ทำทุกวันให้ดีก็พอ”

ถ้าบางครั้ง “ปัญหา” เข้ามาหาชีวิต ก็ให้มองเป็น “โอกาส” ให้ได้ขบคิดลับสมองแก้ปัญหานั้น เพราะปัญหาใหม่ๆ ก็จะนำมาสู่ทางออกใหม่ๆ บทเรียนใหม่ๆ รวมถึงโอกาสใหม่ๆด้วยเหมือนกัน

อย่างครั้งนึง ตัน โออิชิ เคยเอาชาเขียวโออิชิเข้าไปบุกประเทศเพื่อนบ้าน ที่ลาว โออิชิได้เสียงตอบรับดีมาก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแทบไม่พอขาย แต่ที่กัมพูชากลับต่างไปอย่างสิ้นเชิง ขายไม่ได้แทบซักขวด

พอคุณตันมานั่งวิเคราะห์แบบย้อนกลับก็พอว่า ที่ขายดีที่ลาวนั้นเป็นเพราะคนลาวดูทีวีไทย เข้าใจภาษาไทย และอินกับสินค้าไทย ดังนั้นพอชาเขียวโออิชิมาวางขาย เค้าก็มีต้นทุนการรู้จักที่ดีรออยู่แล้ว

แต่กับกัมพูชานั้นไม่ สัญญาณทีวีไทยไปไม่ถึงกัมพูชา ไหนจะกำแพงเรื่องภาษาที่ต่างกันสิ้นเชิง ทำให้คนกัมพูชาไม่มีต้นทุนที่รู้จักชาเขียวโออิชิเป็นทุนเหมือนประเทศลาว

แต่คุณตันก็พบว่า พอเอาสินค้าอย่างตุ๊กตาโออิชิในตอนนั้นมาจัดโปรโมชั่นซื้อสองขวดชาเขียวแล้วแถมตุ๊กตาฟรี ผลคือเริ่มขายได้ แต่ขายได้เพราะเด็กเล็กที่มากับพ่อแม่นั้นอยากได้ตุ๊กตาตาเลยรบเร้าให้ซื้อ

ตัน โออิชิ เลยจัดโปรโมชั่นใหม่ ซื้อตุ๊กตาแถมชาเขียวสองขวด ผลคือกลุ่มครอบครัวต่อแถวกันซื้อจนของหมด

ตันมองว่าตุ๊กตาเป็นการลงทุนเพื่อให้คนได้ลองกิน พอคนกินแล้วชอบในรสชาติชาเขียวคราวนี้พ่อแม่ก็จะกลับมาซื้อเองโดยไม่ต้องใช้ตุ๊กตาล่อ

แค่นั้นยังไม่พอ ตัน โออิชิ ยังเพิ่มยอดขายด้วยข้าวโพดคั่ว หรือ ป็อปคอร์น กับคุ้กกี้ข้าวโอ๊ต ผลที่ตามมาคือคนคอแห้งจนต้องหาชาเขียวมากินเพิ่มขึ้น

ถ้า ตัน โออิชิตั้งโจทย์ยากในตอนนั้นว่า ทำอย่างไรให้คนกัมพูชาซื้อชาเขียวโออิชิกิน ป่านนี้คงขายได้ไม่เท่าไหร่

แต่ ตัน โออิชิ กลับตั้งโจทย์ให้ง่ายขึ้นว่า “ทำอย่างไรให้คนได้ลองชิม” เพื่อคนชอบแล้วจะได้มาซื้อเอง

ตุ๊กตาก็เลยเป็นคำตอบ

แถมยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจในเล่มไม่แพ้เรื่องนี้

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า แค่ตั้งโจทย์ให้ง่าย หาโจทย์ให้ถูก ชีวิตก็จะง่ายขึ้นเยอะในทุกๆเรื่องเลยครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 46 ของปี 2018

ชีวิตไม่ยากถ้าตั้งโจทย์ง่าย
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 6
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180425

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/