อ่านเล่มนี้จบทำให้คิดได้ว่าใครที่สามารถทำให้ตัวเอง “อารมณ์ดี” ได้มากกว่า และบ่อยครั้งกว่าคนอื่น ถือว่าคนนั้นเป็นคนมีบุญหนักหนา

เพราะในในแต่ละวันเป็นที่รู้กันดีว่าเราอารมณ์ของเราไม่ได้ดีเหมือนหน้าตาตลอดทั้งวัน มีดี มีเสีย มีดี มีร้าย มีสุข มีเศร้า มีหัวเราะ มีโกรธ แต่ทุกอารมณ์ของเราก็ล้วนแล้วแต่มาจากมุมในการมองโลกของเราทั้งนั้น

ไม่แปลกที่เราจะอารมณ์ไม่ดี เวลาที่ชีวิตมีปัญหา แต่กับคนที่น่าอิจฉาหรือเกิดมาโชคดีบางคน ที่สามารถมองปัญหาให้เป็นโอกาส และอารมณ์ดีไปกับมันได้ คนแบบนี้ซิ คือคนที่จะไปได้ไกลกว่าคนทั่วๆไปมาก

อาจจะมีเพื่อนเราบางคนที่เป็นคนอารมณ์เสียกับอะไรได้ง่ายๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ยังพาลทำให้อารมณ์เสียได้ทั้งวัน แม้จะมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่กลับมีคุณภาพเวลาของความสุขที่ไม่เท่ากันกับคนที่สามารถมองโลกในแง่ดีได้บ่อยๆ แม้แต่กับปัญหาก็กลับมองเป็นเกมส์ปริศนาที่น่าท้าทาย

คำถามสำคัญคือ เราจะเป็นคนที่โชคดีแบบนั้นได้อย่างไร
เราจะกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ดีให้กับหลายๆเรื่องในชีวิตได้มากกว่าคนอื่นซักนิดได้ยังไง

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่มที่ 5 นี้มีคำตอบให้ ผ่านเรื่องราวของหลายคนเก่ง คนดัง คนสำคัญที่หนุ่มเมืองจันท์รวมมาให้ เช่น 

นายแพทย์ปิโยรส ยอมสละทิ้งรายเดือนหลักครึ่งล้านต่อเดือน มาเหลือหลักหมื่นต่อเดือน เพื่อเอาเวลาที่หาเงินน้อยลงไปเป็นหมออาสา ผ่าตัดช่วยเหลือชาวบ้านเด็กเล็กในเคสต่างๆมากมาย

รับน้อยลง แต่ให้มากขึ้น แต่ก็มีความสุขจากการให้ที่มากขึ้น

หรือ พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่เอาปัญหาไกล้ตัวของตัวเองและมนุษย์บนโลกอย่าง เวลามีคนคุ้นหน้ามาทัก ตัวเองจำหน้าได้ แต่จำชื่อไม่ได้ ต้องพยายามนึกชื่อที่คุ้นตาให้ออกเพื่อไม่อยากให้คนที่ทักเสียความรู้สึก ให้กลายเป็นเกมส์ทศกัณฑ์ที่เคยโด่งดังในบ้านเรามาแล้ว

จากปัญหาใกล้ตัวที่ใครๆก็เป็น แต่กลับไม่มีใครเคยมองปัญหานี้อย่างอารมณ์ดีให้กลายเป็นโอกาสของเกมส์โชว์เงินล้าน ที่น่าจะสร้างรายรับหลายสิบหลายร้อยล้านให้เวิร์คพอยท์ในตอนนั้น

แล้วที่ ไอน์สไตน์ เคยพูดวลีสุดคลาาสสิคไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” โดยความหมายที่แท้จริงของไอน์สไตน์คือ “ความรู้” ที่เราได้รับนั้นคือของเก่าที่ถ่ายทอดกันมา แต่ “จินตนาการ” นั้นคือของใหม่ที่จุดประกายให้เกิด “ความรู้” ใหม่ขึ้นมา

ความรู้ และ จินตนาการที่มีนั้นสำคัญกับการใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง

ปัญหาในชีวิตจริงที่โรงเรียนไม่เคยสอน ไม่เคยให้แนวทางวิธีคิด เพราะการเรียนนั้น “คำถาม” มักจะถูกกำหนดให้มี “คำตอบ” ที่ถูกเพียงคำตอบเดียว แต่ในชีวิตจริงนั้นคำถามเดียวกลับมีได้หลายคำตอบที่ถูก แถมคำตอบที่ถูกของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกันด้วย

“โสเครติส” ปราชญ์ชื่อดังยั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ผู้เป็นอาจารย์ให้กับปราชญ์ดังๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะ “เพลโต” หรือ “อริสโตเติล” นั้นสอนศิษย์ด้วยการ “ตั้งคำถาม” ไปเรื่อยๆ ยิ่งอะไรที่ศิษย์แน่ใจในความรู้นั้นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด โสเครติสก็ยิ่งตั้งคำถามต่อไปจนศิษย์เกิดไม่แน่ใจจนต้องหาคำตอบใหม่ให้กับอาจารย์ไปเรื่อยๆ

ที่โสเครติสทำแบบนี้เพราะรู้ว่า คนเราจะหยุดเรียนรู้เมื่อคิดว่าตัวเองนั้นรู้เรื่องนั้นแล้ว แต่การที่เรารู้ว่าตัวเองไม่รู้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ

และผมก็พบหนึ่งคำถามสำคัญในหนังสือเล่มนี้ที่เหมาะกับคนทำธุรกิจทั้งหลายมมากๆว่า “เราอยู่ในธุรกิจอะไร” หรือคุณอยู่ในธุรกิจอะไร

คำถามนี้ทำให้เจ้าของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ปรับโครงสร้างธุรกิจตัวเองใหม่ เพราะมั่นใจว่าไม่ได้อยู่ในธุรกิจก่อสร้าง เพราะเค้าถามกับตัวเองว่าถ้าทำธุรกิจก่อสร้าง จะสามารถใหญ่สู้อิตาเลียนไทย หรือ ฤทธา บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ได้มั้ย?

พอรู้ตัวว่าไม่ได้ก็เลยถอยออกมา มองย้อนกลับมาว่าจริงๆแล้วตัวเองอยู่ในธุรกิจอะไร จนทำให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์ยิ่งใหญ่มาได้ถึงทุกวันนี้

ถ้าอย่างนั้นคำถามเดียวกันนี้เอามาใช้ถามกับคนที่ทำโฆษณาล่ะ ในฐานะที่ผมก็ยังเป็นหนึ่งคนที่ยังเป็นแรงงานในธุรกิจนี้ ว่าจริงๆแล้วบริษัทโฆษณาหรือเอเจนซี่ทั้งหลายนั้นอยู่ในธุรกิจอะไรกันแน่

ผลิตหนังโฆษณา? ถ้าอย่างนั้นเราแข่งกับเฮ้าส์ไหวมั้ย?
การสื่อสาร? ถ้าอย่างนั้นเราสู้กับสื่อใหญ่ๆไหวมั้ย?
หรือเราอยู่ในธุรกิจที่เป็น business solution กันแน่?

เพราะแต่เดิมนั้นโฆษณามีหน้าที่เพื่อช่วยยอดขาย หรือช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้กับลูกค้าโดยผ่านช่องทางการสื่อสารที่มีไม่กี่ทาง เช่น ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์

แต่ในวันที่ช่องทางการสื่อสารมหาศาลในยุคดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ ช่องทางการสื่อสารเดิมกลับไม่ช่วยยอดขาย หรือไม่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้แบรนด์ได้เหมือนเดิม

ความสนใจของคนกระจัดกระจายไปสิบไปร้อยช่องทาง วิธีการเดิมๆอย่างการสื่อสารเพรียวๆอาจไม่ตอบโจทย์ของลูกค้านักการตลาด หรือเจ้าของแบรนด์ต่างๆอีกต่อไป

ถ้ามองปัญหาอย่างอารมณ์ดี ก็จะเห็นทางออกใหม่ๆที่น่าสนุก

แต่ถ้ามองเรื่องนี้อย่างอารมณ์เสีย ก็คงจะยื้อยุดให้เวลาหยุดเดิน หวังว่าโลกจะหยุดหมุน แล้วก็ทำในสิ่งที่เคยๆเหมือนเดิมต่อไป

หวังว่าคนที่อ่านจะเป็นคนอารมณ์ดีกับชีวิตเพิ่มอีกนิดกันนะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 45 ของปี 2018

อารมณ์ดีกับชีวิต
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจเล่ม 5
หนุ่มเมืองจันท์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180424

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/