ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในโลกที่เราคุ้นตากันวันนี้ ไม่ว่าจะ Facebook แพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก Uber บริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Airbnb ผู้ให้บริการห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ Samsung บริษัทที่มีสัดส่วนยอดขายโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในโลก ครั้งนึงเมื่อเริ่มก่อตั้ง บริษัทเหล่านี้ล้วนเริ่มจากอะไรที่เล็กๆไม่เกินแรงคนๆนึงจะทำได้ทั้งนั้น

Samsung เริ่มจากขายปลาตากแห้ง Facebook เริ่มจากเว็บเล็กๆสำหรับเด็กมหาลัยนึงเท่านั้น Airbnb เกิดจากการอยากแบ่งเตียงให้คนที่มาเทศกาลงานออกแบบนอน เพื่อหาเงินเล็กน้อยเข้ากระเป๋า

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งๆไม่ว่าใครก็เริ่มทำได้เหมือนกัน

หนังสือเล่มนี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวประมาณที่ว่าแหละครับ ผมขอหยิบบางช่วงบางตอนในเล่มที่เห็นว่าน่าสนใจมาเล่าสรุปให้ฟังก็แล้วกัน

เราเลิกเล่นเฟซบุ๊กไม่ได้ เพราะเราอดที่จะพูดไม่ได้

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ยังคงเสพย์ติดเฟซบุ๊กถึงทุกวันนี้ เพราะทุกครั้งที่เราโพสแสดงความเห็นอะไรออกไป มันทำให้เรามีความสุขทุกครั้ง ไม่ใช่แค่การคิดไปเอง ไม่ใช่แค่จิตวิทยา แต่เป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านสมองที่พบว่า ทุกครั้งที่เราได้แสดงความคิดเห็นนั้น เสมองเราจะส่งสัญญาณคลื่นสมองว่ามีความสุขประหนึ่งได้กินช็อคโกแลตเลย

งั้นต่อไปนี้ถ้าใครอยากกินช็อคโกแลตแต่ไม่อยากอ้วน ให้โพสเยอะๆแทนนะครับ

ฟินแลนด์ ประเทศที่การศึกษาดีที่สุดในโลก ทั้งที่ก็ไม่ได้มีอะไรต่างจากประเทศอื่น

เพราะอำนาจที่ครูได้ในการทำงาน คือสิ่งที่ทำให้การศึกษาฟินแลนด์แตกต่างไม่เหมือนใคร ครูที่ฟินแลนด์มีอิสระที่จะสอนอะไรกับเด็กก็ได้ ไม่ต้องทำตามกฏระเบียบมากมายจากส่วนกลาง

และจากการให้อิสระทางความคิดนั้นเอง ที่เป็นพลังอำนาจให้ครูทำผลงานได้ดีตามมา

อิสรภาพทางความคิด นั้นทรงพลังมากกว่าที่เราๆคิด เหมือนองค์กรมากมายที่บอกว่าอยากได้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และแตกต่างเข้ามาในองค์กรของตัวเอง แต่พอได้เค้ามาแล้วก็กลับไม่ให้อิสระเค้าคิดและทำ เอาจับมาใส่ในกรอบเดิมๆ เอาเข้ามาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ

รู้ไว้นะครับว่าสิ่งที่คนทำงานต้องการที่สุดไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ชื่อเสียง ไมใช่ตำแหน่ง แต่เป็นอิสระครับ

Alex Mittal นักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ดังระดับโลก บอกว่าวิธีจะคัดสตาร์ทอัพเกิดใหม่ที่น่าลงทุนคือ “คำถาม”

แต่คำถามที่นักลงทุนทั่วไปมักถามคือ “จะทำอย่างไรให้สิ่งนี้สำเร็จ หรือไม่ล้มเหลว” แต่เค้าเลือกถามในมุมกลับคือ “ถ้าสิ่งนี้สำเร็จมันจะเปลี่ยนโลกขนาดไหน”

เพราะสตาร์ทอัพนั้นคือความเสี่ยง เสี่ยงที่จะล้มแล้วล้มอีก ต้องล้มและลุกต่อไปเรื่อยๆ นี่คือธรรมชาติของสตาร์ทอัพ

กว่า Instagram จะกลายเป็นแอพถ่ายรูปยอดฮิตของโลก ก็ผ่านการล้มและลุกเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญคือถ้ามันสำเร็จต่างหาก โลกจะเปลี่ยนไปยังไง เหมือนที่ Airbnb ทำให้ธุรกิจโรงแรมดังระดับโลกทั้งหลายกลายเป็นกระจอกไปเลย

ดังนั้นคำถามที่ให้ไป จะได้จินตนาการถึงขั้นสุดของการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ทีนี้ก็ดูว่ามันจะเปลี่ยนโลกได้มั้ย ถ้ามันเปลี่ยนได้ก็คุ้มที่จะเสี่ยง

เพราะการลงทุนคือความเสี่ยง ถ้างั้นก็ควรจะเสี่ยงให้ได้แจ็คพอตคุ้มๆอยู่แล้วใช่มั้ยครับ

เบียร์ Budweiser ใช้ Trigger Effect มุขเล็กๆสะกิดคนจนเพิ่มยอดขายได้ ด้วยงานโฆษณาที่ใช้คำว่า Hey What’s Up? ย้ำๆเพื่อผูกคำนี้เข้ากับเบียร์ของตัวเอง

ผลก็คือทุกครั้งที่คนอเมริกันทักกันด้วยคำนี้ ซึ่งก็เป็นทุกครั้งแหละครับ ทำให้คนนึกถึงโฆษณาเบียร์ Budweiser และยอดขายก็ตามมาเป็นกอบเป็นกำ

แค่ผูกกับอะไรที่ไม่มีความหมาย ก็กลายเป็นมีค่าทางยอดขายมหาศาล ลองเอาไปคิดต่อดูนะครับ

Airbnb อาศัยเว็บดังให้ตัวเองโต

ในยุคแรกเริ่มคนรู้จัก Airbnb น้อยมาก แต่ในตอนนั้นเวลาคนอเมริกันจะซื้อขายแลกเช่าอะไรก็ทำผ่านเวปดังอย่าง Craigslist เสมอมา อารมณ์ก็คล้ายๆเวปพันทิปบ้านเราแหละครับ Airbnb เลยหาทางว่าทำยังไงที่จะให้คนใน Craigslist รู้จัก Airbnb และเข้ามาที่เวปนี้แทน

Airbnb เลยสร้างปุ่มพิเศษขึ้นมาหนึ่งปุ่มในเวป ให้กับเจ้าของที่พักสามารถแชร์ออกไปที่ Craigslist ได้ง่ายๆ

ผลที่ตามมาก็คือคนจาก Craigslist ที่กำลังมองหาที่พักราคาถูก ก็ได้พบกับ Airbnb มากขึ้น จนกลายเป็นเว็บที่เข้ามาใช้งานเองเรื่อยๆหลังจากครั้งแรกที่เข้าผ่าน Craigslist

เป็นกลยุทธ์ที่น่าทึ่งมากครับ

อัจฉริยะ หรือ อุตสาหะ กันแน่

บรรดาอัจฉริยะของโลกที่พูดชื่อไปใครก็คุ้นอย่าง ไอน์สไตน์ ปิกัสโซ่ โมสาร์ต บีโธเฟ่น หรือ เช็กสเปียร์ส ไม่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะเพราะเก่งแต่กำเนิด หรือไร้ที่ติ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเหล่านี้แหละที่เป็นคนล้มเหลวมากที่สุด

ปิกัสโซ่ มีผลงานที่สร้างทิ้งไว้เป็นหมื่นๆชิ้น แต่ที่ดังจริงๆกลับมีไม่กี่สิบชิ้น หรือ โมสาร์ต และ บีโธเฟ่น เองต่างก็แต่งเพลงเอาไว้เป็นร้อยๆพันๆเพลง แต่ที่ดังจริงก็มีไม่กี่บทเพลง

ดังนั้นสิ่งที่ทำให้คนเป็นอัจฉริยะไม่ใช่ผลงานที่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นความพยายามที่ไม่เคยล้มเลิกแม้จะล้มเหลวอยู่ตลอดเวลาต่างหากล่ะ ที่ทำให้เค้าเป็นอัจฉริยะ

UX เสมือนหัวใจของคน

ต้องบอกว่าคนที่ทำงานสายดิจิทัล น่าจะคุ้นกับคำว่า ux ที่ย่อมาจาก user experience บ้าง แต่จะมีซักกี่คนที่บอกได้ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร?

ผมคนนึงก็เป็นคนที่ทำงานในสายงานดิจิทัลอยู่มาพักนึง ก็ไม่เคยเข้าใจแบบชัดแจ้งซักทีว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร จนได้มาอ่านตอนนึงในหนังสือเล่มนี้ที่อธิบายได้ชัดเจนในหนึ่งประโยคจริงๆ

คุณอิง อดีต Lead User Experience ของ Amazon เวปขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกบอกไว้ว่า “UX ก็เหมือนหัวใจของคน” ตัวตนของคนๆนั้นในรูปแบบเวป ว่าเป็นคนที่คุยด้วยง่ายมั้ย เข้าใจเราดีมั้ย บริการเราถูกใจมั้ย

เมื่อหัวใจที่เป็น ux ดี ก็ค่อยมาเป็นการแต่งหน้าทำผม สวมชุดเสื้อผ้าว่าจะให้ออกมาสวยหล่อยังไงด้วย ui

ดังนั้นการออกแบบอะไรต้องเริ่มจาก ux ที่ดีก่อน เริ่มจากหัวใจที่ดี ตัวตนที่ดี แล้วค่อยไปส่วนอื่นอย่ารีบข้ามขั้นไปครับ เพราะจะกลายเป็น สวยแต่รูปจูบไม่หอม

เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เนื้อหาน่าสนใจ แถมยังเป็นเรื่องรอบตัวที่ใครๆก็อ่านได้

ผมอ่านวันเดียวยังจบ และเชื่อว่าคุณก็อ่านจบได้เหมือนผมในวันเดียวเหมือนกันครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 61 ของปี 2018

คิดใหญ่เริ่มให้เล็ก
ธุรกิจพอดีคำ ฉบับที่ 2
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20180514

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/