นิตยสารรายเดือนฉบับนี้จาก TCDC รวมแง่คิดเรื่อง AI ที่น่าสนใจไว้มากมาย อย่างประเด็นที่มนุษยชาติวันนี้เริ่มวิตกกังวลว่าวันนึงพรุ่งนี้ AI จะทัดเทียมเลียนแบบมนุษย์ได้ แต่ความกังวลนี้ก็ถูกขจัดไปด้วยประโยคจากบทบรรณาธิการที่บอกว่า

“ตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นภัยต่อมนุษย์ด้วยกันเอง การสร้าง AI ที่สามารถเลียนแบบมนุษย์ได้แทบทุกอย่างจะมีค่าอะไร ถ้าเราไม่พัฒนาเผ่าพันธุ์ของเราเองให้ดีเสียก่อน”

ได้ยินแบบนี้แล้วจุกเลยครับ หรือสรุปได้ว่า ไม่ต้องกลัวว่า AI หรือใครจะมาเลียนแบบเราหรอก ถ้าเราไม่ได้มีดีอะไรที่น่าเลียนแบบขนาดนั้น

ทำให้ผมนึกถึงภาพยนต์เรื่อง Her ที่ AI ไม่ใช่แค่คิด แต่ยังสามารถ “รู้สึก” ได้เสมือนมนุษย์ สามารถมีความรักได้ และที่สำคัญสามารถบรรลุจนลบตัวเองทิ้งจากระบบได้

เมื่อนั้นแหละครับคือจุดสูงสุดของ AI

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็บอกว่า ถ้าอยากให้ AI เทียบเคียงมนุษย์จริงๆ แค่ความฉลาดรอบรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ AI ต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านจริยธรรม และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ให้ได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

แต่ประเด็นนี้ก็มีข้อถกเถียงต่อว่า เครื่องจักรหรือ AI จะสามารถเรียนรู้กระบวนการทางศีลธรรมและจริยธรรมได้มากน้อยขนาดไหน ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องคิดพิจารณาต่อไป เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่เครื่องจักรยังเรียนรู้ได้ไม่ครบถ้วน แต่อยู่ที่มนุษย์เราเองนี่แหละยังไม่สามารถอธิบายแนวคิดทางจริยศาสตร์ให้อยู่ในโครงสร้างที่ AI สามารถเรียนรู้ได้ต่างหาก

หนึ่งสถานการณ์ยังสามารถถูกตีความได้หลากมุมมองจากหลายคนที่คิดเห็นต่างกัน บางเรื่องคนนั้นว่าผิด แต่กับบางคนอาจว่าถูก นี่คือปัญหาทางจริยธรรมที่ AI จะยังไม่มีทางตามทันมนุษย์ได้ในเร็ววัน

และการเรียนรู้ของ AI ก็ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Big Data แต่ก็ใช่ว่าทุกข้อมูลที่มีในโลกจะพร้อมให้ AI เรียนรู้ได้ทันที มนุษย์ยังจำเป็นในแง่ที่ต้องคอยบอกคอยสอน AI ให้รู้จักข้อมูลเพื่อเรียนรู้อยู่ดี

Deep Learning ที่เพิ่งหวือหวาเป็นกระแสกันเมื่อไม่กี่ปีก่อน จากการที่ Alpha Go สามารถเอาชนะแชมป์หมากล้อมโลกได้ขาดลอย 4-1 กระดาน แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นแนวคิดที่มีมากว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่เมื่อ 20 ปีก่อนนั้นเป็นได้แค่ในทางทฤษฎีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในตอนนั้น เพราะขาดเครื่องไม้เครื่องมือ ทั้งหน่วยการประมวลผลที่รวดเร็วพอ กับข้อมูลที่มีมากพอจะให้ประมวลผล แต่เมื่อเครื่องมือในวันนี้พร้อมทุกอย่างก็เลยเป็นจริงแล้ว

ในการฝึกฝน AI ตัวหนึ่งต้องใช้ข้อมูลในการฝึกฝนมหาศาล อย่างเช่นระบบ Speech Recognition ของ Google นั้น ต้องใช้ข้อมูลเสียงจากมนุษย์เป็นจำนวน 12,500 ชั่วโมง และจะต้องใช้คนจริงๆ ถอดความเป็นตัวอักษรทั้งหมด 12,500 ชั่วโมง เพื่อจะฝึก AI ให้เข้าที่เข้าทาง

ดังนั้นคำถามที่หลายคนกังวลว่า “AI จะเข้ามาครองโลกเร็วๆนี้หรือเปล่า” ตอบได้เลยว่า “ไม่”

เพราะ AI หนึ่งตัวก็มีแค่ความสามารถหนึ่งอย่าง แต่มนุษย์หนึ่งคนมีความสามารถมากมายหลายอย่างกว่าที่เราคิดไว้ ดังนั้นกว่า AI จะสามารถกลายมาเป็นหุ่นยนต์ผู้รู้ใช้ข้างกายเราได้จริงๆยังไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้นี้

แต่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เองยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นไปได้อีกมาก ดังนั้นก็อย่าชะล่าใจ

เพราะตอนนี้มีบริษัทพัฒนาระบบผู้ช่วยทนายความ โดยจ้างผู้ช่ายทนายความจบใหม่มาฝึก AI หน้าที่ของเจาคือ แค่คลิกคำตอบว่าสำนวนนี้เกี่ยวข้อง หรือ ไม่เกี่ยวข้อง กับคดี

เมื่อระบบมีข้อมูลมากพอก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนอีกแล้ว เพราะมันพอรู้แล้วว่าสำนวนแบบไหนที่เกี่ยวกับคดีที่กำลังทำอยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องใช้การตัดสินใจจากคนที่เป็นทนายระดับหัวหน้า ทำให้งานที่ใช้ประสบการณ์น้อยๆอาจยิ่งหาได้ยากขึ้นในวันข้างหน้านี้

สุดท้ายนี้ประโยคหน้าปกที่ถามว่า “มนุษย์กับ AI ใครวิ่งนำ ใครตาม” คงไม่ใช่สำคัญเท่าใครจะหยุดวิ่งก่อน เพราะถ้าเผลอหยุดวิ่งแล้วก็ยากที่จะไล่ตามได้ทันอีกครั้ง

สรุปนิตยสารรายเดือน คิด Creative Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2018

อ่านเมื่อ 2018 10 21

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/

Related Post