ตาย…เรื่องใกล้ตัวที่ไม่อยากมีใครเข้าใกล้ ส่วนถ้าถามว่าใกล้แค่ไหนก็ต้องบอกว่า จากสถิติการตายส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในบ้าน มากกว่าการตายนอกบ้านอย่างบนท้องถนนทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ
สาเหตุส่วนใหญ่คือการ ลื่นล้ม บันได จมอ่างอาบน้ำ(ในประเทศญี่ปุ่น) และอาหารติดหลอดลมตาย
ส่วนนอกบ้านที่ตายกันเยอะไม่แพ้อุบัติเหตุตามท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นคนขับ เป็นคนนั่ง เป็นคนข้าม หรือเป็นคนเดิน ก็เห็นจะเป็นที่โรงพยาบาลที่คนสมัยนี้ชอบไปตายที่นั่นกัน
ส่วนสาเหตุ 3 โรคหลักที่ทำให้ตายเยอะๆก็ มะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือดในสมอง

แต่ใช่ว่าทุกวัยจะตายคล้ายๆกัน เด็กส่วนใหญ่ตายก็ด้วยอุบัติเหตุ โตมาหน่อยก็ตายเพราะฆ่าตัวตายหนีความเครียด แก่ไปอีกนิดก็เริ่มเพราะโรคสะสมจากการใช้ชีวิตวัยหนุ่มสาว รวมถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายตามวัยชรา
ส่วนตายแล้วยังไงต่อ ถ้าบ้านเราก็คุ้นกันว่าต้องเผา แต่ในหลายประเทศก็มีวิวัฒนาการในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ เช่น สวีเดนตายแล้วไปเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้
ทิเบต ตายแล้วหั่นเป็นชิ้นๆให้แร้งกิน เพราะเชื่อว่าแร้งจะพาดวงวิญญาณบินไปสวรรค์
ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เอาเถ้ากระดูกไปทำเป็นเพชรสังเคราะห์ หรือเครื่องประดับได้
อเมริกามีพาศพไปเที่ยวอวกาศแล้วค่อยให้ตกลงมาสู่โลกกลายเป็นดาวตกในอีก 250 ปีข้างหน้า ตัดเข้าสู่โฆษณาแหวนเพชร (ถ้าใครเกิดทันโฆษณาดังของ De Beer)
หรือมีบริษัทที่รับแช่แข็งศพคุณไว้ในอนาคตอันไกล เผื่อว่าวันนึงมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยคุณได้ในตอนนั้น ว่าแต่จะใช้สกุลเงินอะไรจ่ายกันในเวลานั้น
แล้วยังมีเกร็ดความรู้เรื่องความตายที่น่าสนใจ อย่าง ฮิตเลอร์ตอนเด็กเคยฝันอยากเป็นจิตกร แต่เพราะเรียนไม่ผ่านเลยกลายมาเป็นผู้นำพรรคนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แทน
แม้แต่ในเรื่องวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์ก็ยังเกี่ยวกับความตายของแต่ละชาติ
ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าภาพยนตร์ของประเทศที่ไม่ค่อยมีคนตายมากอย่างอเมริกา หรือญี่ปุ่นนั้น จะมีการตายของตัวละครในเรื่องอยู่บ้าง แต่กับประเทศที่มีอัตราการตายสูงกว่า จะไม่ค่อยมีการตายให้เห็นในหนังเลย เช่น อินเดีย
แม้เรื่องความตายจะเป็นเรื่องซีเรียส น่ากลัว สำหรับเราๆ แต่ผู้เขียนนั้นกลับเล่าผ่านภาพประกอบที่น่ารัก แต่ยังคงซึ่งสาระใจความไว้ได้ดี
คนเราไม่ค่อยยอมรับว่าวันนึงเราจะต้องตาย และไม่ค่อยทำความรู้จักกับความตายเอาไว้ทั้งๆที่ยังไงก็ต้องตายเหมือนกันทุกคน
ทำให้ส่วนใหญ่เมื่อความตายมาถึงแบบปุปปับ หรือถึงเวลาที่ต้องตายแล้วจริงๆ ก็มักจะไม่พร้อมที่จะลาโลก ลาชีวิตไปสู่ความตาย
สุดท้ายนี้สำหรับคำถามสุดคลาสสิคที่ถามว่า “ตายแล้วไปไหน?” บอกตรงๆผมก็ยังไม่รู้ และก็ไม่เคยมีใครให้คำตอบจริงๆกลับมาได้ เพราะไม่เคยเห็นใครซักคนที่ตายจริงๆแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง
แต่ที่แน่ๆเราทุกคนล้วนกำลังเดินหน้าไปสู่ความตายเหมือนกัน ดังนั้นจงใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และรู้จักความตายไว้ก็ไม่เสียหายครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 49 ของปี 2018
สูตรสุขติ The Catalogue of Death
Bunpei Yorifuji เขียน
Nutthapong Chaiwanitphon แปล
สำนักพิมพ์ Salmon Books
20180428