สรุปหนังสือ Japonisme อิคิไก การอาบป่า วะบิซะบิ และอื่นๆ Erin Niimi Longhurst เขียน ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล แปล สำนักพิมพ์ broccoli

สรุปหนังสือ Japonisme อิคิไก การอาบป่า วะบิซะบิ และอื่นๆ หนังสือที่เขียนโดย Erin Niimi Longhurst ลูกครึ่งญี่ปุ่น อังกฤษ ที่เล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆ ผ่านมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหลัก

แม้เนื้อหาไม่หวือหวาเร้าใจ แต่มีความอุ่นๆ อิ่มๆ อร่อยแบบบอกไม่ถูก ใครอยากเข้าใจว่าคนญี่ปุ่นเค้ามีวิถีชีวิตยังไง ใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปแบบไหน หนังสือเล่มนี้ช่วยเพิ่มและขยายมุมมองได้ครับ

หนังสือ Japonisme แบ่งเป็นสามส่วนหลัก

  1. Kokoro ความคิดและจิตใจ
  2. Karada ร่างกาย
  3. Shukanka การสร้างนิสัย

นามบัตร = รูปธรรม

Photo: https://blog.gaijinpot.com/exchanging-business-cards-japan/

เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจเรื่องนามบัตรแบบญี่ปุ่นลึกซึ้งขึ้น

ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการให้นามบัตรที่ไม่เหมือนชาติอื่น ที่นี่ต้องยื่นให้สองมือ ต้องรับและอ่านอย่างตั้งใจ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมพอรู้ แต่ที่ผมไม่เคยรู้และคิดไม่ถึงคือ การให้นามบัตรมีข้อดีตรงที่กระดาษแผ่นนี้เป็นรูปธรรม

หมายความว่าปกติแล้วเวลาเราได้นัดเจอคุยงานกับใคร เรามักจะแลกอีเมลกัน จดอีเมลลงโทรศัพท์ หรือใส่คอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ได้จดจำซึ่งกันและกัน

แต่พอเป็นนามบัตรมันเป็นรูปธรรม มีตัวตน จับต้องได้ ทำให้เมื่อกลับมาเห็นอีกครั้งก็พอนึกบริบทการพบปะวันนั้นออก นี่เองข้อดีของการให้นามบัตรในวันนี้ ในวันที่อะไรๆ ก็ดิจิทัลไปหมดแล้ว

โอสึคะเระซะมะ ซาบซึ้งกับการทำงานของผู้อื่น

ที่ญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมคำพูดต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การขอเข้าบ้าน ก่อนกินข้าว ไปจนถึงการพูดขอบคุณกันและกันเมื่อจบวันทำงาน หรือวันสุดท้ายของการทำงานสัปดาห์นั้น

โอสึคะเระซะมะ คือการแสดงความขอบคุณและชื่นชมที่อุตส่าห์เหนื่อยทำงานมาตลอดวัน หรือตลอดสัปดาห์อย่างทุ่มเท ผมว่ามันทำให้การทำงานในออฟฟิศมีบรรยากาศที่ดี ที่ต่างฝ่ายต่างขอบคุณกัน

แม้ในด้านหนึ่งจะพูดเป็นแค่มรรยาทตาธรรมเนียม แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เราได้พูดบอกอีกฝ่ายที่เป็นเพื่อนร่วมงานกัน

ส่วนตัวผมคิดว่าหัวหน้าควรบอกลูกน้องให้มากครับ

ผู้เขียนยังบอกอีกว่า ส่วนตัวเขาจะมีธรรมเนียมการมอง “ปิ๊ง” ให้กัน

ปิ๊ง คือการพูดถึงชัยชยะเล็กๆ น้อยๆ ของทีมงานที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ก่อน มันทำให้คนทำดีหัวใจพองฟู และทำให้คนในทีมรู้ว่าทำแบบไหนจะได้รับคำชมเชยชื่นชมจากเพื่อนร่วมงานบริษัทนี้

Kintsugi คินสึงิ การค้นพบความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ

Photo: https://lifehoney.com/products/new-you-kit

ตอนผมไปญี่ปุ่น ผมไปเดินห้าง Tokyu Hands ผมได้เห็นแก้วชามีรอยเชื่อมต่อด้วยสีทองแบบในรูป ผมแค่พอรู้ว่ามันคือการซ่อมแซมถ้วยชามด้วยทองอะไรสักอย่าง ให้กลับมาใช้งานได้ ก็ดูน่าสนใจดี

แต่พอได้อ่านหนังสือ Japonisme เล่มนี้ จึงได้เข้าใจว่า การกระทำแบบนี้มันมีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ คนชาติอื่นอาจเน้นการทิ้งแล้วซื้อใหม่มากกว่าซ่อมแซม แต่คนญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมมากกว่าซื้อใหม่

และถึงขนาดมองว่าสิ่งที่เกิดรอยบิ่น รอยแตก รอยแผลต่างๆ คือความสวยงามจากการใช้งานหรือกาลเวลา ความไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งนั้น ย่อมมีเรื่องราวที่สวยงามซ่อนอยู่

เปรียบได้กับรอยแผลเป็นของคนเรา แม้จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่รอยแผลเป็นนั้นยังคงอยู่ให้เราได้ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นเสมอ

ส่วนใหญ่มักเป็นรอยแผลจากความซนวัยเด็ก บางคนอาจได้มาจากเหตุการณ์ครั้งสำคัญเปลี่ยนชีวิต เช่น อุบัติเหตุ ก็ดูจะตรงกับแนวคิด Kintsugi ความสวยงามในความไม่สมบูรณ์แบบ เบื้องหลังรอยแผลล้วนมีเรื่องราวเตือนใจที่ทำให้เราเติบโตขึ้นเสมอครับ

การกินราเมงแบบคนท้องถิ่น

ภาพราเมงร้านดังย่าน Ueno – Ramen Kamo to Negi

ผมเองเพิ่งไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกรอบตอนช่วงเข้าปีใหม่ 2023 มีโอกาสได้กินราเมงร้านดังก็หลายร้าน สิ่งหนึ่งที่เพิ่งสังเกตเห็นคือ เราสามารถแยกคนญี่ปุ่นหรือคนที่กินราเมงเป็น กับคนที่เป็นนักท่องเที่ยวแบบผมได้ไม่ยาก

อย่างแรกคือคนญี่ปุ่นจะจับตะเกียบมือขวา และถือช้อนมือซ้าย โดยไม่มีการสลับตำแหน่งของช้อนไปมา เค้าถือและกินแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ผิดกับนักท่องเที่ยวคนไทยอย่างผมที่ชินกับการใช้มือขวาทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะคีบตะเกียบหรือจับช้อนซดน้ำซุปก็ตามครับ

ครั้นจะลองทำตามบ้างก็ไม่ถนัดเอาเสียเลย น่าจะเป็นทักษะที่ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก ถือเป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้จากทริปญี่ปุ่นครั้งนี้เลย

แต่ที่น่าสนใจคือหนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่า ราเมงเป็นอาหารที่ควรกินโดยรวดเร็วและทันที เพราะราเมงไม่เหมาะกับการละเลียดกินเป็นเวลานาน ไม่งั้นเส้นจะอืดหรือเละได้

รู้แบบนี้ ต่อไปนี้เวลาผมไปกินราเมงที่ไหน จะรีบซู้ดๆๆ แล้วไปให้ไว เพื่อให้ได้รสชาติราเมงที่ดีที่สุดครับ

สรุปหนังสือ Japonisme

เอาจริงๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้สรุปมากครับหนังสือเล่มนี้ เพราะอย่างที่บอกตอนต้นว่า อารมณ์เหมือนนั่งดูคนญี่ปุ่นใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ เหมือนการได้กินซุปใสอร่อยๆ แม้ไม่อิ่มท้องแต่ก็รู้สึกสดชื่น

ใครอยากรู้จักวิถีชิวิตญี่ปุ่นอีกแง่มุมหนึ่ง ส่วนตัวแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 1 ของปี 2023

สรุปหนังสือ Japonisme
อิคิไก การอาบป่า วะบิซะบิ และอื่นๆ
Erin Niimi Longhurst เขียน
ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล แปล
Ryo Takemasa ภาพประกอบ
สำนักพิมพ์ broccoli

อ่านสรุปหนังสือแนวญี่ปุ่นในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/japan/

สั่งซื้อออนไลน์ > https://www.b2s.co.th/5379059.html

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/