สรุปหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น เกตุวดี Marumura

ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น เล่มนี้ทำให้ผมคิดถึงคำสั้นๆ ที่เรียกว่า Strategy หรือ กลยุทธ์ เพราะระหว่างอ่านหนังสือริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี เล่มนี้ก็ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่อยู่ยืนยาวได้ถึงร้อยปี หรือบางธุรกิจในญี่ปุ่นอยู่มานานกว่าพันปีแล้วนั้นสามารถฟันฝ่าวิกฤตทั้งหมดได้ก็ด้วยคำว่า กลยุทธ์ หรือ Strategy นั่นเองครับ

เพราะธุรกิจเหล่านี้ชัดเจนกับการเลือกของตัวเองว่าตัวเองทำธุรกิจไปเพื่ออะไร และด้วยความชัดเจนนั้นเองก็เป็นเสมือนเข็มทิศนำทางทุกการตัดสินใจว่าเราจะพาธุรกิจไปทางไหนถึงจะตอบกลยุทธ์เรานั่นเอง

หนังสือเล่มนี้แบ่งบริษัทส่วนใหญ่ในโลกออกเป็นสองประเภทคือ ต้นไผ่ กับ ต้นสน

ชื่อเรียกอาจฟังดูไม่ต้องเพราะต่างก็เป็นต้นไม้เหมือนกัน แต่พอได้อ่านต่ออีกหน่อยจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ธุรกิจแบบต้นไผ่คือธุรกิจที่เน้นการเติบโตระยะสั้น เอาเป็นว่าได้ประมาณสัก 10-15 ปี รีบกอบโกยออกไปให้เร็วที่สุด ดังที่เราจะเห็นได้จากธุรกิจรอบตัวล้วนเป็นแบบนี้ เน้นการเติบโตแล้วค่อยมาคิดหาทางต่อว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ตายไปจากตลาด

ส่วนธุรกิจแบบต้นสนนั้นต่างกันมาก เพราะธุรกิจแบบนี้จะค่อยๆ โตอย่างช้าๆ แต่กลับเป็นการที่โตอย่างแข็งแรงยั่งยืนจนสามารถอยู่ได้ถึงร้อยปีแบบไม่ยาก แถมที่สำคัญธุรกิจเหล่านี้ก็ใช้งบการตลาดน้อยกว่าคู่แข่งอย่างมากทีเดียวครับ

ตัวอย่างธุรกิจแบบต้นสนที่น่าสนใจในหนังสือริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี เล่มนี้ก็อย่างเช่นบริษัทแท็กซี่ชูโอ

บริษัทแท็กซี่ชูโอเลือกที่จะปฏิเสธงานช่วงมหกรรมกีฬาครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นเต็มไปด้วยกองทัพนักข่าวและนักกีฬามากมายที่ต้องการรถแท็กซี่ให้บริการในช่วงนั้นเพื่อรายงานข่าว ทำให้บริษัทแท็กซี่ต่างๆ ในเมืองนั้นล้วนตอบรับคำจองล่วงหน้าหมดเกลี้ยงแถมยังได้เงินดีกว่าการรับชาวบ้านปกติมากมาย

แต่บริษัทชูโอนั้นกลับตัดสินใจที่ต่างอย่างสุดขั้ว นั่นก็คือพวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธงานใหญ่กำไรดีไปอย่างน่าเสียดายสำหรับคนนอกที่มองเข้ามา แต่ลึกๆ แล้วพวกเขากำลังตัดสินใจโดยมี Strategy ที่ดีกว่าในระยะยาวคือการยึดครองใจลูกค้าในเมืองให้ได้มากที่สุดนั่นเองครับ

เพราะคุณลองคิดดูซิว่าเมื่อแท็กซี่ทุกคันในเมืองล้วนให้การตอบรับนักข่าวต่างชาติทั้งหมดในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน ทำให้ผู้คนในเมืองนั้นต้องหันมาใช้บริษัทแท็กซี่ชูโอเพียงแค่เจ้าเดียว และจุดนั้นเองที่ทำให้แท็กซี่ชูโอได้ใจของลูกค้าที่อยู่ในเมืองนั้นไปมากมายเพราะไม่มีใครมารับพวกเขาเลย และนั่นก็ทำให้บริษัทแท็กซี่ชูโอกลายเป็นบริษัทแท็กซี่อันดับหนึ่งขวัญใจชาวเมืองชูโอไปได้อย่างไม่ต้องคิดมากเลยครับ

แน่นอนว่าในระยะสั้นรายได้ของบริษัทแท็กซี่ชูโอจะโดนคู่แข่งแซงหน้าไปอย่างมากมาย แต่พอมหกรรมกีฬาผ่านพ้นไปกลับทำให้บริษัทแท็กซี่ชูโอขึ้นมานำได้อย่างสบายๆ เลยทีเดียว

และนี่ก็คือวิธีการทำธุรกิจของบริษัทแบบต้นสน ที่เลือกอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมกลืนยาขมในระยะสั้น เพื่อจะได้ชื่นชมความหวานในระยะยาว

อีกเรื่องที่น่าสนใจในหนังสือริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปีเล่มนี้ก็คือ ผมเพิ่งรู้ว่าหลายร้านอาหารในญี่ปุ่นเลือกที่จะปฏิเสธการรับดาวจากมิชลินที่ร้านอาหารไหนๆ ในโลกก็อยากได้ ที่พวกเขาปฏิเสธเพราะกลัวว่าเมื่อร้านตัวเองดังแล้วจะให้บริการลูกค้าเก่าได้ไม่ดีเท่าแต่ก่อน เพราะเมื่อดังแล้วก็จะเต็มไปด้วยขาจรมากมาย

เรื่องนี้เลยสอนให้รู้ว่า การให้ความสำคัญกับลูกค้ามากกว่าชื่อเสียงเป็นอะไรที่น่าชื่นชมและนับถือมากจริงๆ ครับ

บริษัทแบบต้นสนคือบริษัทที่เน้นลูกน้องมากกว่าลูกค้า เพราะเขารู้ว่าถ้าลูกน้องหรือพนักงานมีความสุข พวกเขาก็จะให้บริการลูกค้าได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกัน มีธุรกิจต้นสนบางบริษัทเลือกที่จะปฏิเสธคำสั่งซื้อจำนวนมากระยะสั้น เพราะเจ้าของธุรกิจกลัวว่าจะเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับพนักงานโดยไม่คุ้มค่าในระยะยาว

พอลูกน้องรู้แบบนี้รีบรวมตัวบอกเจ้าของให้รับงานเถอะ พวกเขายินดีจะเพิ่มกะทำงานเพื่อให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดย้อนถึงตัวเองว่าที่ผ่านมาเราเคยเจอเจ้าของบริษัทไหนที่มีความคิดแบบนี้บ้างมั้ยนะ บอกตรงๆ ว่าน้อยมากจนนับนิ้วด้วยมือข้างเดียวได้ และแนวคิดแบบนี้ก็คือแนวทางที่ผมกำลังใช้กับทีมผมอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะล่าสุดเพราะปฏเสธงานใหญ่ๆ ที่ดูจะสร้างรายได้ดีให้เรามากมาย แต่เราก็ชั่งใจแล้วว่าถ้าเรารับงานแบบนี้มาก็จะไม่มีความสุขที่จะทำอยู่ดี สุดท้ายผมให้ลูกน้องตัดสินใจว่าอยากจะรับลูกค้ารายนี้มั้ย โชคดีที่ลูกน้องกับผมใจตรงกันครับ 🙂

หรือแม้แต่เรื่องการลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้าก็เป็นสิ่งที่บริษัทแบบต้นสนจะไม่ทำ เพราะพวกเขารู้ว่าการทำแบบนี้สุดท้ายก็จะไปลดต้นทุนจนทำให้คุณภาพลดลง และนั่นก็จะส่งผลต่อทั้งคนทำงานและวัตถุดิบที่ต้องใช้ แล้วสุดท้ายก็จะไม่มีฝ่ายไหนมีความสุข ลูกค้าได้ของที่ไม่ต้องการ ฝั่งผู้รับจ้างก็ไม่ได้กำไรอย่างที่ต้องการครับ

เพราะการลดราคานั้นไม่ต้องใช้ความสามารถใดๆ แต่การยืนยันในราคาเดิมให้คนอยากซื้อให้ได้นั้นต้องใช้สมองและความสามารถมากกว่าเยอะครับ

การทำธุรกิจแบบต้นสนคือต้องมี 3 ฝ่ายที่ได้ ผู้ขายได้ ผู้ซื้อได้ และสังคมก็ต้องได้เช่นกัน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าวินกันทุกฝ่ายและเข้าเส้นชัยไปด้วยกันครับ

เพราะหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแบบริเน็น ที่จะยั่งยืนได้เป็นร้อยปีคือการไม่ได้เริ่มต้นหรือมีเป้าหมายที่กำไร แต่ธุรกิจที่ยืนยาวได้เป็นร้อยปีจะมีแนวคิดเดียวกันนั่นก็คือทำให้ดีที่สุดจนลูกค้ามีความสุขที่จะเลือกเรา

เพราะเมื่อกำไรไม่ใช่เป้าหมายแล้วกลายเป็นแค่ผลพลอยได้ หรือการทำงานจนให้รายได้เป็นแค่ผลพลอยได้นั้นคือการสร้างแบรนด์ที่ดีกว่าทุ่มงบโฆษณาหลายล้านเท่า

เพราถ้างบการตลาดคุณน้อย คุณต้องทำทุกอย่างให้เป็นการตลาด ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ ตั้งแต่พนักงานที่ทักทายลูกค้า ตั้งแต่ตัวสินค้า ตั้งแต่การบริการหลังการขาย หรือทุกอย่างที่คุณจะสามารถคิดออกได้ ทำให้มันออกมาดีที่สุดจนลูกค้าต้องเอาไปบอกเล่าต่อด้วยตัวเองครับ

เพราะลึกๆ แล้วธุรกิจแบบต้นสนก็คือการสร้าง Branding ชั้นดี ดีจนถึงขนาดว่าต่อให้ไฟไหม้ร้านค้าโรงงานเราจนไม่เหลืออะไร เหลือแค่ป้ายแผ่นเดียวหรือเขียนชื่อธุรกิจขึ้นมาใหม่ก็ยังมีคนมากมายมาต่อคิวซื้อเราอยู่ดีครับ

คุณทำธุรกิจได้แบบนี้แล้วหรือยัง? หรือทุกวันนี้ลูกค้าเดินเข้ามาหาเพียงเพราะคุณราคาถูกกว่าอีกรายนิดหน่อยเท่านั้น

อีกปัญหาที่มักเจอว่าคนทำงานสมัยนี้อยู่กับบริษัทไหนได้ไม่นาน หรือถ้ามีที่ไหนให้เงินมากกว่านิดหน่อยพวกเขาก็มักจะตัดสินใจไปได้ไม่ยากในทันที แต่ก่อนจะโทษพคนสมัยนี้ผมอยากให้เจ้าของธุรกิจทั้งหลายถามตัวเองว่าจิตวิญญาณของบริษัทเราต่างจากคู่แข่งบ้างมั้ย เพราะถ้าคุณยังทำธุรกิจโดยเน้นแค่ผลกำไรไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรที่ดึงดูดคน ก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าเค้าจะไปเพียงเพราะได้เงินเพิ่มขึ้น 30% ครับ

สุดท้ายนี้ผมเพิ่งรู้ว่า MUJI เองจุดเริ่มต้นแบรนด์ไม่ได้อยากจะ Minimal แต่อย่างไร แต่เพียงเขาเพียงต้องการที่จะลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อช่วยลูกค้าประหยัดมากที่สุด แต่นั่นก็ทำให้ MUJI ต้องมินิมอลไปโดยปริยาย แล้วก็เป็นที่ถูกอกถูกใจใครๆ มากมายในวันนี้ครับ

ดังนั้นจะเป็นว่าด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของบริษัท กลายเป็นเข็มทิศแนวทางให้รู้ว่าคนในองค์กรจะต้องตัดสินใจแบบไหน เพราะถ้า MUJI ไม่ได้ตั้งใจจะลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อช่วยลูกค้าประหยัด พวกเขาก็คงไม่ได้เป็นมินิมัลแบรนด์ที่ชัดเจนในระดับโลกอย่างทุกวันนี้ได้เลยครับ

สรุปหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น เกตุวดี Marumura

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 9 ของปี 2020

สรุปหนังสือ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น
ปรัชญาการบริการธุรกิจแบบญี่ปุ่นที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยืนหยัดฝ่าทุกมรสุมได้ยาวนาน
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura) เขียน
สำนักพิมพ์ We Learn

20200222

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/japan/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > http://bit.ly/3cEsMAM

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/