บ้านไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่ก็สามารถทำให้เราอยู่แล้วรู้สึกสบาย นี่แหละคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “บ้าน”

บ้าน คือเป้าหมายในชีวิตคนใครหลายคนที่มักจะภาพของบ้านในฝันไว้ ไม่ว่าจะบ้านน้อยแต่พองาม หรือบ้านหลังงามอลังการ แต่ใช่ว่าการที่เราไม่ได้มีบ้านเป็นของตัวเองจะหมายความว่าเราจะเป็นคนไม่มีบ้าน เพราะเราทุกคนล้วนมีบ้านของเราในนิยามของเรา ไม่ว่าบ้านนั้นจะซื้อหรือเช่า บ้านนั้นจะเป็นคอนโดหรือทาวน์เฮ้าสท์ บ้านนั้นจะต้องแชร์พื้นที่อยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ พื้นที่มากน้อยขนาดไหน หรูหราอลังการหรือแสนจะเรียบง่าย แต่นั่นก็คือ “บ้านของเรา”

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักออกแบบภายใน ที่ออกแบบพื้นที่การใช้ชีวิตในบ้านให้กับคนมากมาย ที่เอาประสบการณ์เป็นสิบปีมาถ่ายทอดให้ฟังว่าแท้จริงแล้วแม้บ้านจะเล็กก็สามารถรู้สึกว่าอยู่สบายกว่าบ้านหลังใหญ่ได้

หัวใจสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่ไม่ได้อยู่ที่การออกแบบ แต่อยู่ที่คนในบ้าน เพราะถ้าตีเป็น 100 คะแนนแล้ว การออกแบบทำให้บ้านน่าอยู่ได้แค่ 60 คะแนนเท่านั้น แต่พอเราเข้าไปอยู่คะแนนความน่าอยู่ของบ้านหลังนั้นจะเป็น 99 เต็ม 100 หรือ 40 เต็ม 100 ก็ขึ้นอยู่ที่เรา

นักออกแบบสร้างสิ่งก่อสร้างนั่นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของการเป็นบ้าน คนที่อาศัยอยู่ในนั้นต่างหากที่จะสร้างสรรค์ “บ้าน” ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า ถ้ามีบ้านที่ใหญ่ขึ้นก็คงจะดี มีพื้นที่กว้างขวางขึ้น แต่รู้มั้ยว่าหลายคนแม้จะมีบ้านที่ใหญ่ขึ้นแต่ก็มักจะบ่นว่าไม่รู้ทำไมบ้านยังรกเหมือนเดิม หรือบางทีอาจจะรกยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ

บ้านจะเล็กหรือใหญ่ รกหรือไม่รก น่าอยู่หรือไม่น่าอยู่ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ตัวบ้านเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความฉลาดในการอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นเป็นหัวใจสำคัญเลยล่ะ

และทางแก้ให้บ้านเล็กนั้นใหญ่ก็คือพื้นที่เก็บของ เวลาเราซื้อบ้านมาเราจะได้พื้นที่เป็น ตรม. ไม่ว่าจะคอนโดห้องสตูดิโอ 32 ตารางเมตร ทาวน์เฮ้าส์ย่อมๆขนาด 113 ตารางเมตร หรือบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ขนาด 220 ตารางเมตร ถ้าเราเปลี่ยนตารางเมตรให้กลายเป็นลูกบากศ์เมตร เพิ่มพื้นที่แนวตั้งขึ้นมาอีกแค่หนึ่งมิติ ก็ทำให้บ้านใหญ่ขึ้นอีกเยอะจนคิดไม่ถึงเลยแหละ

เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่มีข้าวของมากมาย และของหลายอย่างก็สามารถหาซื้อได้ง่ายแถมยังราคาถูก ดังนั้นบ้านจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “คน” แต่เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คน” กับ “สิ่งของ”

“คน” และ “สิ่งของ” ต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ถ้าเราไม่สามารถจัดการ “สิ่งของ” และ “คน” ให้อยู่ร่วมกันได้ ที่อยู่อาศัยของคนก็จะกลายเป็นโกดังเก็บของ นี่คงไม่ใช่จุดประสงค์ของเราใช่ไหม?

เพื่อแก้ปัญหานี้เราจะต้องเรียนรู้ที่จะ “จัดระเบียบการเก็บของ” ครับ

ที่เรามีของเยอะก็เพราะเราเอาแต่ “ซื้อ ซื้อ ซื้อ”

ถามตัวเองซิว่าคุณมีรองเท้ากี่คู่ แล้วใส่จริงกี่คู่ หรือคุณมีเสื้อผ้ากี่ชุด แล้วใส่จริงกี่ตัว หรือคุณมีหนังสือกี่เล่ม แล้วอ่านจริงกี่เล่ม (อุ๊ย อันนี้เข้าตัว ข้ามๆ)

ที่เราซื้อได้มากมายขนาดนี้ก็เพราะเศรษฐกิจโลกดีขึ้น โฆษณาขายสินค้าก็มีอยู่ทุกหนแห่ง เราทุกคนก็เลยจับจ่ายเงินซื้อสินค้ามากขึ้น แทบไม่มีวันไหนที่เราจะไม่ซื้ออะไรซักอย่างเลยจริงมั้ยครับ

ทั้งหมดนี้ก็เลยทำให้บ้านหลังเล็กๆ แต่กลับอ้วนขึ้นเรื่อยๆด้วยสิ่งของๆเรา

สิ่งสำคัญนอกจากการจัดเก็บคือการ “ทิ้ง” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากต่อใจของใครหลายคน ผมคนนึงก็ยอมรับว่าเป็นครับ ผู้เขียนเลยบอกว่างั้นเอาอย่างนี้ ลองมาคิดในมุมใหม่ที่จะทำให้เราทิ้งข้าวของง่ายขึ้น

ด้วยการคิดว่าถ้าเราคิดว่าของที่เราซื้อว่าแพงแล้ว ลองคิดย้อนกลับไปตอนซื้อบ้านว่าจริงๆแล้วบ้านเรามีราคาตกตารางเมตรละกี่บาท สมมติว่าตารางเมตรและแสนก็แล้วกัน ทีนี้ให้ลองเอาราคาข้าวของที่ทิ้งไม่ลงที่ต้องรกอยู่ทั่วบ้าน เอาของเหล่านั้นมาคำนวนดูว่าถ้าจับรวมกันในพื้นที่หนึ่งตารางเมตรของบ้านนั้น ราคาข้าวของเรามันจะแพงกว่าราคาพื้นที่บ้านมั้ย

เป็นหลักการคิดที่น่าสนใจมากครับ ทำให้ทิ้งได้ง่ายลงเยอะเลยพออ่านถึงตรงนี้ เพราะน้อยอย่างที่จะมีราคาแพงกว่าพื้นที่บ้านจริงๆ และถ้าเป็นแบบนั้นเราจะใช้เงินที่ลงไปกับพื้นที่บ้านแพงๆได้คุ้มค่าหรอ?

และข้อดีของการมีพื้นที่เก็บของเป็นแนวตั้งคือ สมมติว่าเรามีพื้นที่เก็บของแนวตั้งไม่ว่าจะจากตู้ติดผนังหรือบิ๊วอิน แค่พื้นที่ 10 ลูกบากศ์เมตร สามารถเทียบได้กับกระเป๋าเดินทาง 300 ใบเลยทีเดียว

แต่ผู้เขียนก็แนะนำว่า ไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อตู้อะไรมาก็ได้ เพราะมันจะทำให้ใช้พื้นที่บ้านไม่คุ้ม ทางทีดีควรซื้อตู้ชนิดเดียวกัน ประเภทเดียวกัน หรือที่สามารถต่อขึ้นไปเรื่อยๆจนสูงติดเพดานได้ถึงจะดี เพราะถ้าตู้ต่างแบบสูงบ้างเตี้ยบ้าง ก็เป็นการใช้พื้นที่แนวตั้งในบ้านได้ไม่คุ้ม ดีไม่ดีบ้านจะรกกว่าเดิมอีก

และ 2 กฏสำคัญในการจัดบ้านให้ไม่รกและใหญ่ขึ้นคือ

1 ของที่ใช้บ่อยต้องเก็บเอาไว้ใกล้มือ อย่าทำให้หยิบยากใช้งานยาก เพราะไม่อย่างนั้นบ้านก็จะกลับมารกและเล็กอยู่ดี 

และ 2 จำนวนเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เก็บของในบ้าน = พื้นที่เก็บของ/ขนาดของบ้าน ไม่ควรน้อยกว่า 12% นั่นหมายความว่าถ้าบ้านเรามีพื้นที่ 30 ตารางเมตร เราก็ควรมีพื้นที่เก็บของอย่างน้อยซัก 3.6 ตารางเมตรในแปลนบ้านครับ

สุดท้ายแล้วถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใครบ้าง ผมว่าเหมาะกับคนที่คิดว่าบ้านตัวเองเล็กและรก หรือคนที่คิดว่าอยากได้บ้านใหม่ที่หลังใหญ่ขึ้น

หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเข้าใจการใช้บ้านให้คุ้มค่ามากขึ้น เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกับสิ่งของที่เยอะขึ้นทุกวันได้อย่างไร เข้าใจว่าควรจะทิ้งอะไรเมื่อไหร่ และที่สำคัญคือเข้าใจศิลปะในการจัดเก็บของว่าแบบไหนควรเก็บยังไงให้ไม่กลับมารกอีกครั้ง

บ้านจะเป็นบ้านไม่ได้อยู่ที่ไหนหรือใคร แต่อยู่ที่เราที่เป็นคนอยู่ในบ้านหลังนั้นนี่แหละครับ อ่านจบแล้วทำบ้านให้กลายเป็นบ้านกันเถอะครับ

ว่าแล้วก็อยากไปเดิน IKEA เลย

อ่านแล้วเล่า บ้านเล็กจัดให้ใหญ่

บ้านไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่ก็สามารถทำให้เราอยู่แล้วรู้สึกสบาย นี่แหละคือความหมายที่แท้จริงของ คำว่า “บ้าน”

ลู่เหวย เขียน
วันวิสา ศักดิ์สัมพันธ์กุล แปล
สำนักพิมพ์วารา

เล่มที่ 134 ของปี 2018
20181228

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/