The Life of Nicola Tesla นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย

สรุปหนังสือ The Life of Nicola Tesla นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย เรื่องราวชีวิตของยอดนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนโลก แต่กลับไร้ชื่อเสียง ลาภยศ และความรัก
ผมได้ยินคำว่า “Tesla” ครั้งแรกสมัยเล่นเกมส์ Red Alert ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีอาวุธป้องกันฐานที่ชื่อว่า Tesla Coil ที่สามารถยิงสายฟ้าป้องกันฐานเวลาฝั่งตรงข้ามส่งทหารเข้ามาบุก และถ้าสร้างติดๆกันสามารถรวมพลังสายฟ้าให้แรงขึ้นและยิงได้ไกลขึ้นอีก และถ้าเป็น Red Alert 2 ก็จะมีตัวทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชื่อว่า Tesla Soldier ที่จะได้เปรียบกับรถถังมากแต่จะแพ้ทหารราบธรรมดาเวลาใช้ และเหมือนเดิมถ้าเรามี Tesla Soldier หลายตัวจะสามารถรวมพลังสายฟ้าให้แรงขึ้นได้อีกหลายขุม
นั่นแหละครับจุดเริ่มต้นความทรงจำที่รู้จักกับชื่อของ Tesla
จนกระทั่งเวลาผ่านมาหลายปีก็ได้ยินชื่อ Tesla อีกครั้งบ่อยๆกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อหลายปีก่อนตอนเปิดตัวด้วยระบบที่สามารถขับเคลื่อนเองได้
จนกระทั่งได้มีโอกาสดูสารคดีทางช่อง History ที่เล่าถึงประวัติของ Tesla และ Edison ที่แข่งขันกันในเรื่องระบบไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับก็พอเข้าใจในระดับนึง
และจนมาเจอหนังสือเล่มนี้ที่เล่าถึงประวัติชีวิตของนิโคลา เทสลา ทั้งเล่ม..ถ้าถามว่า เทสลา นั้นเกี่ยวกับชีวิตเรายังไงบอกได้เลยว่าที่เรามีไฟฟ้าใช้สะดวกสบายโดยไม่ต้องมีโรงงานไฟฟ้าอยู่ไกล้ๆให้รำคาญใจก็มาจากผลงานการคิดค้นระบบไฟฟ้ากระแสสลับแบบหลายเฟสของเทสลาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วครับ
ต้องเล่าย้อนกลับไปนิดนึงครับว่าสมัยก่อนนั้นเราใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรงที่เป็นสิทธิบัตรของเอดิสัน ผู้ผลิตหลอดไฟฟ้าที่ใช้งานได้ยาวนานเป็นคนแรกของโลกแหละครับ
ระบบไฟฟ้ากระแสตรงนั้นมีข้อดีคือไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ก็คือโดนช็อตแล้วไม่ถึงตาย แต่ข้อเสียก็คือผู้ใช้ไฟต้องอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไม่เกิน 1 ไมล์ นั่นหมายความว่าสมัยนั้นโรงไฟฟ้าควันดำเต็มบ้านเมืองไปหมด เราไม่สามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนหรือป่าเขาเข้ามายังตัวเมืองที่ห่างไปหลายสิบหลายร้อยกิโลเมตรได้อย่างทุกวันนี้
ถ้าทุกวันนี้เรายังใช้ไฟฟ้ากระแสตรงอยู่นั่นหมายความว่าเราคงมีโรงไฟฟ้าผุดขึ้นเต็มเมืองไม่แพ้เซเว่น โลตัส แน่นอนครับ เมืองก็คงไม่น่าอยู่แบบทุกวันนี้
แต่เทสลาเองก็ไม่ได้กอบโกยเงินจากสมอง หรือสิทธิบัตรของเค้าเลย เพราะตอนนั้นบริษัท Westinghouse ที่เทสลาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่การใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับหลายเฟสให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในยุโรป และสหรัฐนั้น เกิดวิกฤตทางการเงินจนต้องปฏิรูปบริษัท
และสิ่งนึงที่เป็นปัญหาทางการเงินก็คือจากค่าสิทธิบัตรของเทสลาที่ตกลงกันว่าจะจ่ายให้เทสลา 1 ดอลลาร์ในทุก 1 แรงม้าที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมา ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติของการเก็บค่าสิทธิบัตรเพราะตัวเอดิสันเองผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกระแสไฟฟ้ากระแสตรงก็เก็บเหมือนกัน ทางผู้บริหารบริษัทเลือกที่จะขอความเมตตาจากเทสลาว่าจะช่วยยกเลิกข้อสัญญาดังกล่าวได้มั้ย เพื่อให้บริษัทสามารถฟื้นตัวได้จากคำแนะนำของนักการเงินในตอนนั้น
ถ้าเป็นคนทั่วไปผมเชื่อว่าใครล่ะจะกล้าทิ้งขุมเงินขุมทองที่จะปั้นเงินให้ตัวเองได้นั่งกินนอนกินไปตลอดชีวิต (อย่างน้อยก็ผมคนนึงแหละ)
แต่เทสลาไม่คิดเสียดายเงินเลยครับ ความต้องการเดียวของเค้าคือขอให้บริษัทนำระบบของเค้าไปใช้ให้แพร่หลายทั่วโลกตามความตั้งใจของเทสลาก็พอ เทสลาต้องการให้ทุกที่ในโลกได้ใช้ระบบนี้ เมื่อคำตอบของเทสลาเป็นแบบนี้ทำเอาผู้บริหารนั้นถึงกับอึ้งไปเลยเพราะไม่คิดว่าใครจะยอมทิ้งขุมเงินง่ายๆ คิดเอาง่ายๆในตอนนั้นเทสลาน่าจะได้เงินราวๆ 12 ล้านเหรียญในยุคเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ถ้านับค่าเงินสมัยนี้ก็…นับไม่ถูกเลยครับ
นั่นแหละครับเทสลาผู้ทำให้เราทุกคนมีไฟฟ้าใช้อย่างสะดวกสบาย โดยที่น้อยคนนักจะรู้ว่าเราต่างเป็นหนี้บุญคุณของเค้า
นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกมากมายที่เทสลาคิดไว้ให้เรา ไม่ว่าจะเป็นระบบวิทยุหรือสื่อสารไร้สาย หรือระบบส่งไฟฟ้าแบบไร้สาย(คิดง่ายๆไกล้ตัวก็พวกมือถือรุ่นใหม่ๆหรือเคสที่ช่วยให้ชาร์ตไฟได้โดยไม่ต้องมีสายชาร์ตน่ะครับ)
หนังสือหนา 366 หน้าเล่มนี้แต่กลับไม่ทำให้รู้สึกว่าอ่านนานหรือน่าเบื่ออย่างที่คิดเลยทีแรกเลย ยิ่งอ่านกลับยิ่งสนุกและได้รู้ที่มาที่ไปของสิ่งของหรือระบบไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ทุกวันมากขึ้น และพออ่านจบยิ่งทำให้ผมคิดได้ว่าหลายสิ่งธรรมดาไกล้ตัวนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่เราจะมองข้ามมันไปอีกต่อไปครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ The Life of Nicola Tesla นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย
สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2M4ei2u
อ่านหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญเพิ่มเติม https://www.summaread.net/category/biography/