“ผัวเดียวเมียเดียว” คงไม่มีใครว่าแปลกในทุกวันนี้ แต่ถ้าย้อนหลังกลับไปไม่ถึงร้อยปีเชื่อหรือไม่ว่าเป็นเรื่องแปลกที่ไม่มีใครยอมรับ และก็ไม่มีกฏหมายรองรับด้วย

แต่เดิมทีสังคมไทยเป็นสังคมแบบ “ผัวเดียวหลายเมีย” มาแต่ครั้งโบราณกาล จนเพิ่งมาเปลี่ยนแนวคิด แนวปฏิบัติ จนออกมาเป็นกฏหมายรองรับ “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็ในช่วงทศวรรษ 2480 เมื่อ 70กว่าปีก่อนเท่านั้นเอง

แล้วทำไมต้องกลายมาเป็นผัวเดียวเมียเดียวด้วยล่ะ?

ก็เพราะว่า “สยาม” หรือชาติไทยในยุคล่าอาณานิคมนั้น ที่เพื่อนบ้านล้วนตกเป็นของชาติตะวันตกทั้งนั้น ไม่ว่าจะพม่า มลายู กลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หรือลาว กัมพูชา เวียดนาม กลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พี่ไทยก็เลยเหลือตัวลีบๆแบบๆที่แม้จะบอกว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ในความเป็นจริงแล้วเราตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “กึ่งอาณานิคม” ก็ว่าได้

เพราะตั้งแต่เราเริ่มทำสัญญากับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 สยามก็ไม่มีเสรีภาพเต็มที่ในดินแดนของเราเองอีกต่อไป เพราะเราต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับอังกฤษ ที่ทำให้คนในปกครองของอังกฤษไม่ต้องขึ้นศาลหรืออยู่ภายใต้กฏหมายไทย แม้จะทำการผิดกฏหมายของไทยในพื้นที่ของไทยก็ตาม

และยังรวมถึงการต้องยกเลิกท้องพระคลังที่เคยควบคุมสินค้าเข้าออกได้ตามใจสยาม ให้กลายเป็นเปิดเสรีการค้า หรืออย่างน้อยก็ค้าขายได้ตามอำเภอใจของชาติตะวันตก เรื่องภาษีก็ไม่สามารถกำหนดเองได้แม้จะค้าขายในประเทศตัวเอง ก็ถูกอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส หรือชาติตะวันตกอื่นๆเป็นผู้กำหนดระดับภาษีเอง เห็นมั้ยว่าแม้จะไม่เป็นเมืองขึ้นของชาติไหน แต่เราก็ตกอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคมอย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

โดยการจะบอกเลิกสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรมนี้ บรรดาชาติตะวันตกอาณานิคมบอกว่า สยามต้องพัฒนากฏหมายให้เท่าเทียมกับตนเสียก่อน ถึงจะยอมรับในความ “ศิวิไลซ์” หรือความเจริญที่ทัดเทียมกัน

ในตอนนั้นบรรดาชนชั้นนำของสยามก็พากันประชุมร่วมกันตีความว่า อะไรบ้างของชาติตะวันตกที่คือความ “ศิวิไลซ์” เพื่อจะปรับปรุงให้ตัวเองทัดเทียมกับเขา และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ตามความคิดแบบคริสต์จักร

เพราะอย่างที่บอกว่าแต่ไหนแต่ไรมาสยามหรือชาติไทยนั้นยึดถือหลักการ “ผัวเดียวหลายเมีย” มายาวนาน และเป็นที่ยอมรับว่าไม่ได้ขัดกับหลักพุทธศาสนาที่เป็นหลักของสยามแต่อย่างไร

หนังสือเล่มนี้ให้ข้อสังเกตุว่า ถ้าลองย้อนกลับไปดูบรรดาภาพวาดของกษัตริย์ไทยแต่โบราณจนถึงเมื่อไม่นานมานี้จะพบว่า ไม่เคยมีภาพคู่กับราชินีหรือพระมเหสีองค์เดียวเลย เพราะแต่เดิมกษัตริย์นั้นต้องมีมเหสีหรือพระสนมให้มาก เรียกว่าหลักสิบยังน้อย เป็นหลักร้อยกำลังดี

เพราะพระสนมก็คือนารีรัตนะ หรือนางแก้ว เป็น 1 ในรัตนะ 7 ประการที่บอกว่ากษัตริย์พระองค์ไหนมีบุญญาธิการถึงที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชได้ เช่นเดียวกับพวกขุนนางก็มักมีเมียน้อยประดับบารมี

นิโกลาส์ แซรแวส บันทึกถึงขุนนางในสมัยอยุธยาว่าใครที่ไม่มีเมียน้อยจะถูกมองว่า “มีสถานะย่ำแย่” แม้แต่ตัวออกพระวิสุทธสุนทร หรือ โกษาปาน ที่เป็นหนึ่งตัวละครสำคัญในเรื่องออเจ้า บุพเพสันนิวาส ก็มีเมียมากถึง 22 คน และบอกด้วยว่า “ใครยิ่งมีมาก เขายิ่งนับว่าเป็นคนมีบุญวาสนา”

แหม ถ้าเทียบกับสมัยนี้แล้วก็คงมีแต่คนสิ้นบุญทั้งนั้นสินาท่านโกษาปาน

แต่ต้องอธิบายเพิ่มเติมนิดนึงกว่า การที่สยามหรือคนไทยแต่เดิมนั้นยึดถือเรื่อง “ผัวเดียวหลายเมีย” ไม่ใช่เพราะแค่เรื่องกามารมณ์ หรือความสุขทางเพศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรับลูกสาวของชาวบ้านที่มาฝากให้ช่วยเลี้ยงดู ไม่ใช่การมีเมียมากแบบ “ฮาเร็ม” ของชาติตะวันออกอื่น แต่เป็นไปเพื่อการดูแลให้ทั่วถึงซะมากกว่า ส่วนจะเป็นเมียมากเมียน้อย เมียปีละกี่วันนั้นก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะในหนังสือไม่ได้บอกไว้ขนาดนั้น

หมอบรัดเลย์(ที่เป็นชื่อตึกอยู่ในโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน)เคยเขียนจดหมายเหตุตำหนิ ร.4 ที่ออกเมื่อเดือน 9 พ.ศ.2409 ในทำนองว่าอยากให้มีเมียน้อยคนหรือมีเมียแค่คนเดียวตามธรรมเนียมของฝรั่งตะวันตกในตอนนั้น เพราะตอนนั้นน่าจะมีพระสนมเป็นหลักร้อย แถมยังเปรียบอีกด้วยว่าการมีพระสนมมากนั้นก็เปรียบเสมือนเลี้ยงแวมไพร์ ที่คอยดูดเลือดดูดเนื้อให้อ่อนกำลังลงด้วย

แล้ว ร.4 เคยขอให้เซอร์จอห์น เบาว์ริง ในตอนนั้นช่วงชี้แจงแทนตัวเองกับหมอบรัดเลย์ และคนอื่นที่ต่อว่าเรื่องการมีเมียมากว่า การมีนางในจำนวนมากของพระองค์นั้นเป็นเรื่องถูกต้องทั้งในทางพุทธศาสนา กฏหมาย และเป็นเรื่องปกติของสยาม

สำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หรือ ร.5 เองก็เคยมีนางในมากถึงราว 153 คน และส่วนใหญ่เป็นลูกสาวที่มาจากตระกูลสำคัญทางสังคมและการเมือง บอกได้ว่าวิถีผัวเดียวหลายเมียช่วยรับประกันความมั่นคงให้กับความสืบเนื่องของสถาบันกษัตริย์ และรัฐสมบูรณาสิทธิราชย์ด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.6 แม้ในทางส่วนพระองค์จะเคยมีพระราชนิยมผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็ทรงปกป้องผัวเดียวหลายเมียด้วยเหตุผลว่า พุทธศาสนาไม่ห้ามการมีหลายเมีย ต่างจากคริสต์ศาสนาที่ห้ามไว้ หากยอมรับผัวเดียวเมียเดียวก็เท่ากับยอมรับว่าภูมิธรรมของพุทธศาสนาต่ำกว่าคริสต์ศาสนา ผัวเดียวหลายเมียเลยถูกสงวนไว้ตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่ ร.6 ก็เขียนบทความสอนกึ่งประชดให้กับพวกชนชั้นนำ หรือข้าราชการชั้นสูงในตอนนั้นที่ยังคงยึดหลัก “ผัวเดียวหลายเมีย” อยู่ในทำนองว่า ให้บรรดาพวกผู้ดีทั้งหลายออกไปดูตามบ้านนอกชนบทบ้างว่า ที่นั่นครอบครัวส่วนใหญ่ก็เป็นคู่ผัวตัวเมีย หรือผัวเดียวเมียเดียวกันนั่นเอง และครอบครัวเหล่านั้นก็ดูอยู่ดีมีสุข ผู้หญิงผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครตั้งตัวเป็นนายใคร แถมยังประชดถึงขั้นบอกว่าแท้จริงแล้วคนบ้านนอกหรือชายไทยในชนบทนั่นแหละที่มีความ “ศิวิไลซ์” มากกว่าคนในกรุงด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ร.6 แม้จะทรงสนับสนุนกฏหมายในเรื่องผัวเดียวหลายเมีย แต่ก็เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ทำให้สังคมในตอนนั้นวุ่นวาย เพราะถ้าเปลี่ยนมาใช้หลักกฏหมายผัวเดียวเมียเดียวทันที จะทำให้บรรดาเมียน้อยนับร้อยในหลายครอบครัว กลายเป็นแม่ม่ายหรือถูกทอดทิ้งเพราะผิดกฏหมายการมีมากเมีย และยังจะมีบรรดาลูกเมียน้อยอีกนับร้อยๆที่ต้องกำพร้าเป็นปัญหาหนักหนาที่จะตามมาอีก

เพราะชาวตะวันตกบางคนอย่าง ซาวิเยร์ เดอ ลาฟอร์คกาด (Xavier de Laforcade) นักกฏหมายชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาทำงานในสยามในระยะนี้มองว่า จำเป็นที่กฏหมายครอบครัวจะต้องยืนพื้นผัวเดียวหลายเมียไปก่อน แต่ก็เสนอให้ร่างกฏหมายครอบครัวที่ปูทางไปสู่ผัวเดียวเมียเดียวในอนาคตไปด้วย เพราะ หลุยส์ ดูปลาทร์ (Louis Duplatre) นักกฏหมายชาวฝรั่งเศสอีกคนก็บอกว่า แม้จะเป็นผัวเดียวหลายเมีย แต่ระบบดังกล่าวก็ไม่ได้เลวร้ายมากนักอย่างที่ชาวตะวันตกมักคิดกัน เพราะผู้หญิงสยามในเวลานั้นอยู่ในสถานะที่ดีกว่าสตรีฝรั่งเศสหลายเรื่องเลยทีเดียว

แล้วนิยามผัวเดียวเมียเดียวที่เคยเป็นการต่อสู้ระหว่างสยามกับชาติตะวันตก ก็เปลี่ยนบริบทไปในช่วงการปฏิวัติและหลังการปฏิวัติเปลี่ยนระบบการปกครอง ให้กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น คือชนชั้นกลางที่ต้องการล้มล้างชนชั้นนำ ในเรื่อง “ผัวเดียวหลายเมีย” ให้กลายเป็นความล้าหลัง ความไม่เป็นสมัยใหม่ อีกนัยหนึ่งคือการแสดงตัวตนว่าชนชั้นตัวเองนั้น “เหนือกว่า” ผ่านการผลักดันกฏหมาย “ผัวเดียวเมียเดียว”

กฏหมายครอบครัวสมัยใหม่ที่ยึดหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” นั้นกว่าจะถูกผ่านออกมาก็ช่วงทศวรรษ 2480 เข้าไปแล้ว เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานถ้าจากตอนเริ่มต้นประเด็นนี้ในช่วงทศวรรษ 2410 รวมๆแล้วก็ร่วม 70 ปีได้

ส่วนหนึ่งของหลักการผัวเดียวเมียเดียวก็คือการยืนยันความเป็นสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักเสมอภาคในรัฐธรรมนูญที่ให้ชายหญิงมีสิทธิเลือกตั้งโดยเท่าเทียมกัน เท่ากับว่าจะทำให้สยามนั้นดูก้าวหน้ากว่าชาติตะวันตกด้วยซ้ำ เพราะหลายประเทศที่ถือหลักผัวเดียวเมียเดียวนั้นผู้หญิงยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลย จากฝ่ายที่ผลักดันให้ผัวเดียวเมียเดียวถูกบังคับใช้ในกฏหมาย

อีกส่วนหนึ่งของการประกาศใช้กฏหมายเรื่อง ผัวเดียวเมียเดียว ก็คือ เพื่อให้สยามในเวลานั้นได้มีเอกราชในทางศาล เพื่อให้ชาติอาณานิคมยอมรับความ “ศิวิไลซ์” แบบเดียวกับชาติตะวันตกที่ยึดหลักเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ว่าสยามกับตะวันตกนั้นเท่าเทียมกัน และจะได้เป็นการยกเลิก “สิทธินอกสภาพ” ของชาติตะวันตกทั้งหลายที่อ้างว่ากฏหมายสยามนั้นยังไม่ศิวิไลซ์เท่ากัน

แม้ในยุค จอมพล ป. หลังประกาศใช้กฏหมายครอบครัวว่าด้วย “ผัวเดียวเมียเดียวแล้ว” เคยมีคนส่งหนังสือเสนอว่าให้ผู้ชายที่มีเงินเดือนสูงกว่า 100-200 บาทในเวลานั้น สามารถมีเมียได้หลายคน (ไม่รู้ว่า 100-200 บาทในตอนนั้นมันจะเป็นเงินซักเท่าไหร่ในตอนนี้เหมือนกัน แต่คงจะเยอะพอควร) แต่ก็ถูกปฏิเสธไป โครงการผัวเดียวเมียเดียวแห่งชาติของ จอมพล ป. ในตอนนั้นก็ยังดำเนินต่อไปอย่างแข็งขัน เพื่อให้ประชาชนในชาติแต่งงานและมีลูกกันเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังของชาติในอนาคต

ท่าน ปรีดี พนมยงค์ เคยเสนออุดมการณ์ผัวเดียวเมียเดียวผ่านภาพยนต์ชื่อ The King of the White Elephant หรือ พระเจ้าช้างเผือก เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ที่สร้างประวัติศาสตร์ย้อนหลังว่ากษัตริย์สยามในอดีตนั้นก็ยึดหลักผัวเดียวเมียเดียวมานานแล้ว ในตอนที่ต้องเลือกนางสนมถึง 365 นาง แต่กษัตริย์ในเรื่องนั้นทรงไม่ปฏิบัติตาม เลือกที่จะมีมเหสีองค์เดียว เมื่อภาพยนต์เรื่องนี้ถูกนำไปฉายให้ฝรั่งชาติตะวันตกดูก็จะได้เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ๆว่าแท้จริงแล้วสยามนั้นยึดหลักผัวเดียวเมียเดียวมานานแล้ว

ในสมัยก่อนนั้นคนไทยหรือชาวสยาม การแต่งงานนั้นไม่ได้มีพิธี เป็นเพียงแค่มาอยู่กินด้วยกันและเป็นที่ยอมรับของครอบครัวและชาวบ้าน พิธีการแต่งงานเพิ่งมาถูกกำหนดขึ้นในช่วงสร้างชาติในยุค จอมพล ป. หรือหลังการปฏิวัติเปลี่ยนระบบการปกครอง โดยมีการเอาพระพุทธรูปมาใช้ในพิธี และให้ทำพิธีในวัด ส่วนหนึ่งคล้ายกับการประกอบพิธีแต่งงานของชาวคริสต์ ทั้งหมดก็เพื่อให้วัฒนธรรมสยามนั้นดูทัดเทียมเท่ากับชาติตะวันตกในเวลานั้น เค้ามีวิธีศาสนาของเค้า เราก็มีพิธีศาสนาของเรา

แล้วที่ชุดแต่งงานต้องเป็นสีขาวนั้นเพราะแต่เดิมคือชุดประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ แต่คนไทยเอามาใช้เพราะต้องการให้ชาติตะวันตกยอมรับว่าตัวเองเป็นชาติที่ศิวิไลซ์เหมือนกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศาสนาพุทธของไทยหรือคริสต์ของฝรั่งเลย

แต่เดิมการแต่งงานต้องได้รับการยอมรับจากครอบครัวก่อน แต่เมื่อสยามปฏิวัติพาตัวเองเข้าสู่สมัยใหม่ ในช่วง จอมพล ป. นั้นการจดทะเบียนถูกทำโดยเจ้าหน้าที่ราชการ กลายเป็นเรื่องของทางกฏหมายหรือรัฐที่จะเข้ามาดูแล เป็นการริดรอนสิทธิของพ่อแม่ครอบครัวออกจากการแต่งงานไป ให้กลายเป็นเรื่องของรัฐแทน ไม่ใช่เพื่อให้หนุ่มสาวได้มีเสรีภาพในการเลือกคู่เองอย่างที่คิดกัน แต่เพื่อให้ประชาชนหนุ่มสาวแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องง่ายขึ้นด้วยกฏหมายที่รองรับ และทั้งหมดคือเพื่อเริ่งสร้างครอบครัว เพื่อเพิ่มประชากรให้กับชาติตามนโยบายในตอนนั้นนั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงจาก “ผัวเดียวหลายเมีย” ที่ไม่ขัดต่อหลักพุทธศาสนาของสยามแต่โบราณ กลายมาเป็น “ผัวเดียวเมียเดียว” จากแรงกดดันของชาติตะวันตกผู้ล่าอาณานิคม กลายมาเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นนำในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อย่างไรก็ดีในทางกฏหมายไทยจะเป็นว่า มีการเปิดช่องยอมรับผัวเดียวหลายเมียแบบลับๆ ด้วยการให้ยอมรับลูกนอกสมรสได้ทางกฏหมาย เท่ากับว่าผัวเดียวหลายเมียจะยังคงไม่หมดไปจากสังคมไทยในเชิงลึก แค่ยังมีแบบลับๆเท่านั้นเอง

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 93 ของปี 2018

ผัวเดียวเมียเดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม
สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ เขียน
สำนักพิมพ์ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ
มติชนประวัติศาสตร์

20180716

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/