สรุปแบบย่อเมื่ออ่านจบ หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะหนา(ซึ่งก็ควรจะหนาเพราะมีทั้งหมด 608 หน้า) แต่เนื้อหาข้างในกลับสนุกมากจนไม่อยากให้จบเลย(นี่พูดจริงๆไม่ได้เวอร์) เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติที่เป็นเราทุกวันนี้ ภายใต้สายพันธุ์ที่ชื่อว่า Sapiens หรือเรียกเต็มๆว่า Homo Sapiens ที่หมายความว่ามนุษย์ผู้เจริญแล้ว(เป็นการตั้งชื่อที่อวยตัวเองสุดๆเลยนะเจ้ามนุษย์)

แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์นั้นไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียวแบบโดดๆ แต่ก่อนหน้านี้มนุษย์เองก็มีมากมายหลายสายพันธุ์ ถ้าให้เปรียบก็คงเหมือนกับแมวมากมายที่มีหลายสายพันธุ์ เพียงแต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมมนุษย์สายพันธุ์อื่นถึงสูญพันธุ์ไปหมดขนาดสายพันธุ์อย่างนีแอนเดอร์ทาล (Homo Neanderthalensis) ที่ดูจากโครงสร้างที่เหลืออยู่แล้วก็แข็งแรงกว่าเซเปียนส์อย่างเราด้วยซ้ำ แต่ทำไมกันเราผู้อ่อนแอกว่าถึงอยู่รอดและครองโลกอยู่ในวันนี้ได้

หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ตั้งแต่อดีตกาลอันไกลโพ้นของมนุษย์สายพันธุ์แรกเริ่ม ตั้งแต่เริ่มแยกสายพันธุ์จากลิงไร้หางออกมา แล้วก็ปฏิวัติการเกษตร จนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ และให้ภาพถึงอนาคตของอภิมนุษย์ หรือมนุษย์เซเปียนอย่างเรานั้นอาจขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อล้างเผ่าพันธุ์เราเองก็ได้

หนังสือเซเปียนส์เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็นสี่ส่วน ตามการปฏิวัติครั้งสำคัญของมนุษยชาติ เริ่มตั้งแต่การปฏิวัติการรับรู้ ที่แยกเราออกจากฝูงสัตว์หรือมนุษย์สายพันธุ์อื่นโดยเด็ดขาด จากนั้นเราก็ปฏิวัติเกษตรกรรม ทำให้เราเลิกเร่ร่อนเป็นพรานป่าเพื่อหยุดทำไร่ไถนาอยู่กับที่มีบ้านสร้างเมืองกัน แล้วเราก็เข้าสู่การรวมกันเป็นหนึ่งของมนุษยชาติ คือการเชื่ออะไรบางอย่างร่วมกันแบบที่มีแต่ในเซเปียน ไม่ว่าจะเงินตรา ศาสนา หรือจักรวรรดิ และสุดท้ายคือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราฉลาดล้ำเกินธรรมชาติ จนอาจเป็นเหตุให้เราทำลายเผ่าพันธุ์เรากันเองก็ได้ใครจะรู้

ว่าจะสรุปสั้นๆก่อนแต่ไหนกลายเป็นยาวไปได้ก็ไม่รู้ครับ

ขอเริ่มสรุปแบบยาวเลยนะครับว่าทำไมจากสัตว์ที่ไม่สลักสำคัญถึงเริ่มกลายมาเป็นสายพันธุ์ที่นำโลกได้

เรื่องมันเริ่มจากว่ามนุษย์เราทั้งหมดนั้นพอสมองใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆก็กลับเล็กลง สมองของเรานั้นแม้จะมีสัดส่วนน้ำหนักสมองต่อน้ำหนักตัวไม่แพ้กับลิงญาติห่างๆ แต่กลับใช้พลังงานต่างกันชัดเจน

สมองมนุษย์เราใช้พลังงาน 20-25% แต่สมองลิงที่มีสัดส่วนไม่ต่างกับเรามากนักกลับใช้พลังงานแค่ 6-8% เองครับ

นี่เลยเป็นเหตุผลที่ร่างกายเราไม่แข็งแรงเท่ากับสัตว์อื่น เพราะเราเอาพลังไปใช้กับสมองเลยทำให้กล้ามเนื้อเล็กลงเพราะพลังงานได้ใช้นั้นลดลงไป

จากนั้นพอเราเริ่มเดินสองขาหลังตรง ก็ทำให้มนุษย์เรานั้นมีปัญหาเรื่องการท้องและคลอดลูก รู้มั้ยครับว่าแท้จริงแล้วเราทุกคนล้วนถูกคลอดก่อนกำหนดโดยธรรมชาติ

เพราะถ้าสังเกตุโดยธรรมชาตินั้นสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่พอเกิดมาปุ๊บก็จะพร้อมใช้ชีวิตปั๊บ ลูกม้าเริ่มวิ่งได้ ลูกแมวเริ่มหากินเองได้ในไม่กี่สัปดาห์ มีแต่ลูกคนที่แหละครับที่ต้องใช้ชีวิตเกาะอยู่กับแม่เป็นปีถึงจะเริ่มเดินเองได้ หากินเองเป็น

นั่นก็เพราะร่างกายเราเปลี่ยนแปลงครับ โดยเฉพาะผู้หญิง

จากการเดินสองขาหลังตรงทำให้กระดูกเชิงกรานของผู้หญิงนั้นเล็กและแคบลง เลยส่งผลให้ไม่สามารถอุ้มท้องได้นานจนพร้อมเอาหากินเองได้หลังคลอดเหมือนสัตว์อื่น เพราะถ้าต้องอุ้มท้องนานขนาดนั้นจะทำให้คลอดไม่ได้ ก็เลยทำให้ต้องคลอดตั้งแต่ตอนที่ยังไม่พร้อมจะอยู่รอดเองได้ ต้องคลอดตอนที่กระโหลกศีรษะยังไม่เชื่อมเป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้ส่วนหัวที่ใหญ่และแข็งสุดสามารถยืดหยุ่นเพื่อคลอดออกมาได้

ใครที่เคยมีลูกหรือศึกษาเรื่องนี้จะรู้ว่ากระโหลดศีระเด็กทารกนั้นแยกเป็น 4 ส่วน และส่วนตรงกระหม่อมก็ยังไม่มีอะไรมาป้องกัน ก็จะเป็นหนังหุ้มสมอง ทำให้ต้องระวังส่วนกลางกระหม่อมของทารกมาก กว่าที่กระโหลกศีรษะทั้งหมดจะเชื่อมกันดีและปิดรูกลางกระหม่อมนั้นต้องใช้เวลาอีก 6 ถึง 18 เดือน

ดังนั้นเราทุกคนล้วนคลอดก่อนกำหนดครับ

ส่วนเครื่องมือในยุคหินของมนุษย์นั้นก็ช่างน่าอดสู พอได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเครื่องมือยุคหินที่เอาไว้ทุบไม่ได้มีไว้ล่า แต่มีไว้เพื่อทุบกระดูกของเศษซากที่สัตว์อื่นไม่กินแล้ว เอาหินทุบให้แตกเพื่อกินไขกระดูกต่อจากที่พวกหมาในไฮยีนากินเหลือครับ

รู้แบบนี้แล้วแอบน่าสมเพชยังไงก็ไม่รู้นะครับ

จากนั้นมนุษย์เราก็พัฒนาขึ้นจนมีการสื่อสาร มีคำพูด แต่เราเคยเชื่อว่ามีแค่มนุษย์เท่านั้นที่สื่อสารได้ด้วยคำพูด หรือคำศัพท์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์อื่นก็มีเหมือนกันครับ อย่างลิงเองก็มีคำศัพท์ที่เอาไว้บอกลิงในฝูงตัวอื่นว่า “สิงโตมา” เพื่อให้ทุกตัวระวัง แต่สิ่งที่ต่างจริงๆแล้วไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่คือ “ภาษาที่ยืดหยุ่นต่างหากครับ”

ด้วยสมองที่พัฒนาทำให้เกิดวิวัฒนาการเป็นภาษาที่ยืดหยุ่น

ภาษาที่ยืดหยุ่นทำให้เราได้เปรียบสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์บนโลก ลิง หรือ สัตว์อื่น อาจบอกได้เป็นอย่างๆหรือคำๆ เช่น สิงโตมา หรือ ฝนตก แต่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถใช้ภาษาที่ยืดหยุ่นเพื่อสื่อสารกับคนอื่นว่า เมื่อวานไปเจอสิงโตที่ริมแม่น้ำแต่โชคดีที่ฝนตกมันเลยเดินหลบไป

นี่แหละครับการเริ่มปฏิวัติการรับรู้แรกของมนุษย์ เราสามารถสื่อสารอย่างลงรายละเอียดได้แบบที่ไม่มีสัตว์ชนิดไหนทำได้

และจากการสื่อสารนั้นก็ทำให้เราสามารถร่วมมือกันได้จนเอาชนะสัตว์ที่แข็งแรงกว่าได้ มนุษย์คนเดียวอาจจะอ่อนแอเมื่อเทียบกับช้างแมมมอธ แต่ถ้ามนุษย์หลายสิบคนร่วมมือกันก็สามารถเอาชนะแมมมอธได้

และการปฏิวัติการรับรู้ด้วยการสื่อสารนี่เองที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการทางความคิดจนส่งผลถึงการกระทำ

ปกติแล้วสิ่งมีชีวิตอื่นๆจะปรับพฤติกรรมได้ก็ด้วย DNA ที่กำหนดไว้โดยธรรมชาติ และกว่าที่ธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลง DNA แต่ละจุด เปลี่ยนแต่ละพฤติกรรมก็ใช้เวลานานเป็นแสนๆหรือล้านๆปีขึ้นไป เช่น การที่ยีราฟจะคอยาวก็เกิดจากการปรับพฤติกรรมให้ชะเง้อกินต้นไม้ที่อยู่สูง จน DNA เริ่มปรับให้คอยาวตามสภาพแวดล้อม

แต่มนุษย์เองนั้นใช้การวิวัฒนาการทางความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เราคงไม่ต้องรอให้คอหรือแขนยาวถึงจะได้กินผลไม้ที่อยู่บนต้นสูงๆ แต่เราเลือกที่จะโค่นต้นไม้นั้นลงมาให้เตี้ยเพื่อที่เราจะกินมันได้เลย และเราก็สามารถถ่ายทอดวิวัฒนาการนี้ในรูปแบบความรู้ แทนที่ DNA ผ่านการสื่อสารเพียบไม่กี่วินาทีแทนวิวัฒนาการทางธรรมชาติอย่าง DNA ที่ไม่รุ้ต้องใช้เวลากี่ล้านปี

ฉะนั้นข้อสรุปแรกก็คือ ความต่างแรกระหว่างเรากับสิ่งมีชีวิตอื่นคือการเปลี่ยนความคิดเพื่อปรับพฤติกรรมได้เร็วกว่า DNA ตามธรรมชาติแบบสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่ต้องใช้เวลานานมากๆๆๆ

แต่คำถามต่อไปคือ แล้วทำไมเซเปียนส์ถึงเอาชนะมนุษย์สายพันธุ์อื่นได้ล่ะ

มีหลักฐานพบว่ามนุษย์สายพันธุ์ที่แข็งแรงและสูงใหญ่กว่าอย่างนีแอนเดอร์ทาล ที่เคยอยู่อาศัยแถบยุโรปนั้นไม่เคยติดต่อค้าขายกับเผ่าอื่นหรือกลุ่มอื่น มีแต่เซเปียนส์ที่ค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน แลกการค้าขายแลกเปลี่ยนกันนั้นบอกให้รู้ว่าเซเปียนส์นั้นมีจินตนาการร่วมกันกับคนหมู่มาก เลยทำให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจอย่างการค้าขาย และทำให้เราสามารถรวมกลุ่มกันได้ใหญ่มากขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างร่วมกัน

นีแอนเดอร์ทาลที่แข็งแรงกว่ากลุ่มหนึ่งอาจมี 50 คน แต่เค้าเหล่านั้นก็แยกกันอยู่กลุ่มใครกลุ่มมันไม่ได้ติดต่อค้าขายหรือร่วมมืออะไรกัน ผิดกับเซเปียนส์ที่ติดต่อค้าขายกันจนสามารถรวมตัวกันเป็นร้อยเป็นพันเพื่อเอาชนะนีแอนเดอร์ทาลได้ไม่ยาก

นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “อัตวิสัยร่วม” หรือการเชื่อในอะไรบางอย่างร่วมกัน หรือจินตนาการถึงอะไรบางอย่างร่วมกันของเซเปียส์ ทำให้เราเอาชนะมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นที่แข็งแกร่งกว่ามาได้ เช่น เราสามารถจิตนาการถึงเงิน หรือพระเจ้า หรือชาติพันธุ์นอกกลุ่มเราที่ใหญ่กว่า

ผมว่าเข้าคอนเซปของโฆษณาลีโอยังไงไม่รู้นะครับ รวมกันมันส์กว่า

แล้วรู้มั้ยครับว่าที่เราดูฉลาดกว่าบรรพบุรุษสมัยยังเป็นพรานป่าล่าสัตว์เร่ร่อน แท้จริงแล้วสมองเราเล็กลงกว่าคนรุ่นเค้านะครับ

ก็เพราะว่าสมัยก่อนตอนยังอยู่ในป่าเร่ร่อนล่าสัตว์ เราต้องมีความรู้รอบตัวให้เยอะที่สุด และมากที่สุด เพื่อจะได้มีชีวิตรอดได้นานๆ เราต้องรู้ว่าอะไรกินได้ไม่ได้ หรือถ้าเจ็บป่วยจะต้องรักษายังไง เราจะต้องสร้างเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นมายังไง เราจะต้องล่าสัตว์แบบไหนด้วยวิธีอะไร หรือเราจะหาแหล่งน้ำได้ที่ไหน

แต่สมัยนี้เรารู้แค่บางอย่างก็สามารถมีชีวิตรอดได้ โดยที่เหลือเราก็อาศัยความรู้คนอื่นเอา เรารู้แค่ในส่วนงานที่เราต้องรู้ แค่อาชีพที่เราต้องทำ ที่เหลือเราก็เอาเงินไปแลกเค้ามา

ความสะดวกสบายขึ้นทั้งหมดนี้ทำให้ขนาดสมองเราเล็กลงกว่าบรรพบุรุษเราเยอะเลยนะครับ ตั้งแต่เราเริ่มปฏิวัติเกษตรกรรม เราอยู่กับที่ไม่ต้องเรร่อน ผลที่ตามมานอกจากสมองเล็กลงก็คือความอ่อนแอทางร่างกาย

เราต้องเจอกับโรคใหม่ๆอย่างไขข้ออักเสบ กระดูกกดทับเส้นประสาท เพราะร่างกายเราถูกวิวัฒนาการมาให้วิ่งไล่ล่าละมั่ง หรือปืนต้นไม้เก็บผลแอปเปิล ไม่ใช่อยู่กับที่แล้วแบกหามน้ำเอาไปทำไร่ไถนา หรือเป็นกรรมกรหน้าคอมอย่างทุกวันนี้ครับ

แล้วการปฏิวัติเกษตรกรรมทำให้เรามีภาวะขาดสารอาหาร จากเดิมเก็บของป่ามีของให้กินมากมาย หรืออาจเข้าทำนองว่ามีอะไรให้กินก็ต้องรีบกินไป ส่งผลให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่พอปฏิวัติเกษตรกรรมทำให้เรามีพืชผลกินแค่ไม่กี่อย่าง ก็เลยขาดสารอาหารวิตามิน เราก็เลยเจ็บป่วยง่ายและอ่อนแอกว่าสมัยยังเป็นพรานป่าล่าสัตว์เยอะ

และการกินดีอยู่ดีจากการปฏิวัติเกษตรกรรมกลับทำให้เซเปียนส์อย่างเราทุกข์มากขึ้น เพราะอะไรน่ะหรอครับ ก็เพราะจากเดิมเราใช้ชีวิตไปวันๆ เจออะไรก็กินอันนั้น ไม่ต้องกังวลอนาคตอะไรมาก คิดอย่างมากก็แค่พรุ่งนี้จะกินอะไร มะรืนจะกินอะไร แต่พอเราเริ่มปฏิวัติเกษตรกรรม เริ่มลงหลักปักฐานทำไร่ทำนา เราก็ต้องมากังวลว่าพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ดีในปีนี้ พอถึงปีหน้าน้ำท่าจะดีให้เก็บเกี่ยวมีกินได้มั้ยนะ

เป็นยังไงล่ะครับ อยู่ดีไม่ว่าดีมีความสุขไปวันๆ หรือไม่ก็ทุกข์แค่สั้นๆ หาเรื่องทุกข์กันข้ามปีเลยทีเดียวเจ้าเซเปียนส์

แล้วเราก็เริ่มเอาชนะขีดจำกัดของสมองด้วย “การเขียน”

การเขียนปฏิวัติสมองเราไปตลอดการครับ เพราะเราสามารถบันทึกความจำเอาไว้ที่อื่นได้ เมื่อ 3500 – 3000 ปีก่อนคริสตกาล อัจฉริยะชาวซูเมเรียนคนหนึ่งประดิษฐ์การเขียนขึ้นมา และการเขียนนี่เองที่ปลอดปล่อยข้อจำกัดทางสมองของเซเปียนส์เรา

แต่ก็ด้วยระบบการเขียนนี่แหละที่กลับมาทำร้ายเรา เพราะธรรมชาติเรานั้นมีความคิดหรือความจำแบบเชื่อมโยง แต่การเขียนนั้นทำให้เราต้องฝึกการคิดให้เป็นหมวดหมู่ จนเกิดระบบราชการที่จัดการกันแบบแยกส่วนขึ้นเพื่อจัดการกับข้อมูลจำนวนมากครับ หรือจะบอกว่าเราทำให้เราคิดแบบไม่เป็นธรรมชาติก็ได้ครับ

หลังจากที่โลกเราเหลือแต่เซเปียนส์แล้ว เราก็ยังไม่วายเอาเปรียบเซเปียนส์ด้วยกันเองอีก เพราะรู้มั้ยครับที่คนดำแอฟริกันต้องเป็นทาสมากมายนั้น เพราะเค้าแข็งแรงกว่าและสามารถต้นทานโรคอย่างไข้มาลาเรีย หรือไข้เหลืองได้ โดยชาวยุโรปไม่มี ทำให้ทาสแอฟริกันนั้นนิยมกว่าแรงงานชาวยุโรปด้วยกันตอนไปบุกเบิกทวีปอเมริกา

ทำให้คนผิวดำแอฟริกันถูกเหยียดว่าเหมาะกับงานต่ำต้อยตั้งแต่นั้นมา จนยาวนานมาถึงเมื่อปี 1958 ที่ชายผิวดำคนหนึ่งชื่อ เคลนนอนคิง นักเรียนผิวดำที่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีต้องถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้า เพราะผู้พิพากษาตัดสินว่ามีแต่คนดำที่เป็นบ้าเท่านั้นแหละถึงกล้าสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำคนขาวนี้

ฟังดูโคตรบ้าเลยใช่มั้ยครับ

มาต่อกันที่เรื่องเงิน

เงินที่เป็นหนึ่งในอัตถวิสัยร่วม หรือมีแค่เซเปียนส์เท่านั้นที่สามารถจิตนาการถึงเงินร่วมกัน รู้มั้ยครับว่ามนุษย์เรานี่แหละ แม้เราจะเกลียดชาติเค้าประเทศเค้าแทบตาย แต่เรากลับไม่เคยเกลียดเงินเค้าเลย

เหมือนผู้ก่อการร้ายตาลีบันที่เกลียดอเมริกามาก แต่ก็ไม่เคยเห็นเคยเผาเงินดอลลาร์เลยซักครั้ง กลับรักเงินดอลลาร์ไม่แพ้คนอเมริกันเลย

นี่แหละครับพลังอันน่าทึ่งของเงินตราที่มีอยู่ในเซเปียนส์อย่างเราเท่านั้น

เพราะเซเปียนส์อย่างเราเชื่อว่าเงินนั้นมีค่า มันก็เลยมีค่า เพราะถ้าเอาจริงๆเราเลิกเชื่อวันนี้พร้อมกันมันก็จะกลายเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งที่เคี้ยวกินก็ยังไม่ได้เลยใช่มั้ยครับ

เงินเลยกลายเป็นนวัตกรรมทางความคิดของเซเปียนส์ที่เปลี่ยนโลกได้มาก

สมัยก่อนเราใช้เปลือกหอยคาวรี (Cowey Shell)แทนเงินเมื่อ 4,000 ปีก่อนอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในตัวอักษรจีนโบราณคำที่เกี่ยวกับ “ซื้อขาย” หรือ “รางวัล” ก็ยังมีรูปหอยคาวรีอยู่เลย

จนแม้แต่เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี่เอง ที่ประเทศอูกันดายังสามารถใช้เปลือกหอยคาวรีจ่ายภาษีได้ด้วยซ้ำ

แต่เงินส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็มีวิวัฒนาการไปมากจนเหลือแค่ตัวเลขดิจิทัล

มีเงินที่ใช้บนโลกนี้รวม 60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แตรู้มั้ยครับว่ามีเงินเหรียญและธนบัตรจริงๆรวมกันทั้งโลกไม่ถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐด้วยซ้ำ

เงินแรกสุดในประวัติศาสตร์คือข้าวบาร์เลย์ของชาวซูเมเรียเมื่อ 3,000 ปีก่อน ก็เข้าใจได้เพราะข้าวบาร์เลย์นั้นมีค่าคุณในตัวมันเอง เพราะเราสามารถกินมันได้เมื่อหิว ก็เลยเอาไปแลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นได้

แต่จากนั้นเงินก็วิวัฒนาการไปสู่แร่เงินที่ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ในช่วงกลางสหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล “เงินเชเคล” หรือ Silver Shekel คือก้อนแร่ธาติเงินที่ถูกกำกับด้วยน้ำหนัก 8.33 กรัมต่อ 1 เชเคล ดังนั้นจะจ่ายกี่เชเคลก็ชั่งน้ำหนักก้อนเงินกันไป

จนมาสู่เหรียญเงินแรกของโลก เมื่อ 640 ปีก่อนคริสตกาล เหรียญลิเดีย ที่รูปทรงกลมและมีหน้าตาเป็นมาตรฐานจากพิมพ์เดียวกัน จนกลายเป็นต้นแบบให้เหรียญเงินทั่วโลกทุกวันนี้

แถมในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โสเภณีสามารถเอาเงินได้ที่ได้จากการขายบริการไปซื้อใบล้างบาปในโบสถ์คาทอลิกได้

เรื่องศาสนาก็เป็นอัตถวิสัยหรือจินตนาการร่วมเฉพาะของเซเปียนส์ และประวัติความน่าแปลกของศาสนาคือ ศาสนาเดียวกันกลับไล่ฆ่ากันได้อย่างไม่รู้สึกผิด

อย่างในช่วงปี 1572 เกิดการฆ่ากันระหว่างศาสนาคริสระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ จนส่งผลให้มีคนตายมากมายหลายหมื่นแสนคน และที่น่าประหลาดใจก็คือพระสันตปาปาแห่งโรมในตอนนั้นยินดีปรีดามาก จนถึงขั้นเรียกให้คนออกมาสวดมนต์เฉลิมฉลองกัน และให้วาดภาพเหตุการณ์ฆ่าหมู่นั้นตกแต่งห้องหนึ่งในวาติกันที่ตอนนี้ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมครับ

หรือสงครามโลกครั้งที่สองที่ฮิตเลอร์ทำเพื่อขจัดสายพันธุ์ที่คิดว่าด้อยกว่าอย่างยิว แต่สมัยนี้ไม่มีใครสนใจสายพันธุ์ที่ด้อยกว่า ทุกคนสนใจแค่ว่าจะทำอย่างไรให้สายพันธุ์ตัวเองเหนือกว่าคนอื่นด้วยความรู้ทางชีววิทยาที่เพิ่มขึ้น

แล้วก็เข้าสู่ช่วงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์

ที่ชาวยุโรปหรือชาติตะวันตกสามารถขึ้นมาผงาดแทนชาติที่ยิ่งใหญ่มายาวในในตะวันออกอย่างจีนและอินเดีย ก็เพราะชาวยุโรปเหล่านี้ยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง

หรือจะเรียกว่าทฤษฎีแผนที่ว่าง แต่เดิมชาวตะวันออกอย่างจีนและอินเดียที่ยิ่งใหญ่หลงคิดว่าตัวเองรู้จักโลกทั้งใบดีแล้ว เลยไม่เคยคิดที่จะออกไปสำรวจโลกใหม่ๆเพิ่ม ส่งผลให้ชาวยุโรปเริ่งพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อเติมเต็มที่ว่างที่ตัวเองไม่รู้ จนสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อนมหาอำนาจเดิมอย่างจีน และอินเดียที่เคยยิ่งใหญ่ได้

และการระดมทุนของมวลชนก็ทำให้ยุโรปบางชาติแซงหน้าชาติที่พึ่งพาแต่ทุนของกษัตริย์

สเปนและโปรตุเกส แต่เดิมเป็นมหาอำนาจของยุโรปอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะทุนของกษัตริย์ที่ให้ผู้กล้าออกไปสำรวจ แต่พอทุนกษัตริย์ที่สะดุดก็ทำให้การสำรวจหยุดชะงัก ผิดกับชาวดัชต์ที่สามารถใช้การระดมทุนจนสร้างบริษัทมหาอำนาจแรกของโลกขึ้นมาได้ ซึ่งก็คือ Dutch East India Company

เป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่จากมวลชนตัวเล็กๆมากมาย นี่คือการเริ่มปฏิวัติเงินทุนครั้งแรกของโลก

และการลงทุนนี่เองที่เป็นผลให้เกิดสงครามระหว่างประเทศ

ที่ประเทศอังกฤษในช่วงหนึ่งทางกองทัพกบฏกรีกเคยขอให้ทางตลาดหุ้นออกพันธบัตรให้ตัวเองยืมเงินไปทำสงคราม โดยสัญญาว่าถ้าชนะจะให้ผลตอบแทนอย่างงาม ก็เลยส่งผลให้คนอังกฤษมากมายซื้อธนบัตรหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูงนี้เพื่อหวังกำไร

แต่พอผ่านไปซักผลกองทัพกบฏเริ่มจะท่าไม่ดีใกล้จะพ่ายแพ้ ทางประชาชนและนายธนาคารก็เลยออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลส่งกองทัพเข้าไปแทรกแซงการรบในกรีกครั้งนั้น เพื่อให้เงินลงทุนของตัวเองไม่สูญเปล่า

น่ากลัวจริงๆนะครับเงิน

แต่ไม่ต้องกลัวครับว่าจะเกิดการรบกันอีก เพราะทุกวันนี้น่าจะไม่มีสงครามครั้งใหม่ที่เต็มรูปแบบเกิดขึ้นแล้ว เอาเป็นว่าคนตายในสงครามน้อยกว่าที่อุบัติเหตุบนท้องถนนรวมกันเสียอีก

เพราะเซเปียนส์วันนี้รู้ว่ารบไปก็ไม่ได้อะไร

แต่ก่อนเรารบกันเพราะเราอยากได้ทรัพยากรของดินแดนนั้น อาจเพื่อขุมทองหรือน้ำมันก็แล้วแต่ แต่วันนี้ทรัพยากรส่วนใหญ่อยู่ในสมองของคน หรือ Human Resouece

ดังนั้นถ้าจีนจะมารบกับอเมริกาเพราะอยากได้ Sillicon Valley ก็จะไม่ส่งกองทัพเข้ามารบแย่งชิงอย่างแน่นอน เพราะถ้าผู้คนที่นั่นรู้ก็จะนั่งเครื่องบินหนีไปที่อื่นทันที

ดังนั้นการสู้รบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในวันนี้คือการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนเก่งๆอยากเข้ามาอยู่เองต่างหาก ทรัพยากรมนุษย์นี่แหละครับที่มีค่าที่สุดยิ่งกว่าทอง

เราต้องขอบคุณการปฏิวัติอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เราเกิดสังคมเมือง ทำให้เราหลุดพ้นจากการทำไร่นาเพื่อปากท้อง

เพราะจากเดิมคนส่วนใหญ่กว่า 90% ทำอาชีพการเกษตร แต่พอมีการปฏิวัติเกษตรกรรมเข้ามาก็ทำให้พืชผลต่อเกษตรกรสูงขึ้นมาก จนทุกวันนี้อาชีพเกษตรกรในอเมริกาเหลือแค่ 2% แต่ยังสามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนทั่งประเทศได้ และยังสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย

และช่วงสุดท้ายในเล่มที่น่าสนใจ เมื่อผู้ถามตั้งประเด็นว่าความสุขของเซเปียนส์คืออะไร แล้วคนสมัยก่อนมีความสุขกว่าคนสมัยนี้จริงหรอ

เราพบว่าเงินที่มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นตาม กับคนที่มีเงินอยู่หมื่นแต่ได้เพิ่มเป็นหนึ่งแสน ย่อมมีความสุขมากกว่าคนที่มีเงินหนึ่งแสนแล้วได้เพิ่มเป็นสองแสนจริงมั้ยครับ

แสนเท่ากันแต่กลับสุขไม่เท่ากันนะเซเปียนส์

และเราก็จะสุขแค่แปบนึง จากนั้นเราก็จะเริ่มเฉยๆกับมัน เพราะเราปรับตัวเก่ง ข้อดีกลายเป็นข้อเสียในการขัดความสุขซะงั้นครับ

เซเปียนส์อย่างเราสามารถปรับตัวให้เคยชินกับทุกข์หรือสุขได้หมด ให้กลายเป็นปกติหรือรู้สึกเฉยๆ คือต่อให้เราถูกหวยสิบล้านวันนี้ ปีหน้าเราก็จะเฉยๆแล้ว หรือต่อให้เราเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงวันนี้ สองปีข้างหน้าเราก็จะเฉยชากับมันแล้ว

เค้าเปรียบเทียบง่ายๆว่าอารมณ์ของคนเราก็เหมือนแอร์ ที่ตั้งอุณหภูมิไว้คงที่ พอเปิดประตูอาจจะมีร้อนวูบเข้ามา หรือเย็นวูบเข้ามา แต่ซักพักมันก็จะปรับอุณหภูมิให้กลับมาเท่าเดิม

และหนังสือเล่มนี้พบว่าแท้จริงแล้วตัวแปรที่มีผลต่อความสุขที่สุดก็คือครอบครัวและชุมคน มีผลยิ่งกว่าเงินทองหรือสุขภาพ ตราบใดที่มันไม่แกว่งมากเกินไปและบ่อยเกินไป

ความสุขนั้นขึ้นกับความคาดหวัง ถ้าเราหวังว่าเราจะได้แล้วเราได้เราก็สุข แต่ถ้าเราหวังว่าจะได้แล้วไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าที่คิดเราก็ทุกข์

สมการความสุขมันง่ายอย่างนี้เลยครับ

หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงหลักพุทธะไว้อย่างน่าสนใจ เค้าบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแรกและศาสนาเดียวที่แนะนำวิธีให้เราไม่ทุกข์และสุข บอกว่าความคาดหวังของเราก็เหมือนคนที่มองหาคลื่นที่สวย พอเราไม่เจอเราก็ไม่สุขและเอาแต่มองหาคลื่นลูกถัดไป ส่วนถ้าเราเจอคลื่นลูกที่สวยตรงใจเราก็จะสุข แต่เราก็จะทุกข์เพราะมันกำลังจะหายไป เราไม่อยากให้มันหายไปอยากหยุดมันเอาไว้แต่เป็นไปไม่ได้

หลักพุทธะสอนให้เราอย่าเป็นคนไล่ล่าคลื่น แต่ให้เป็นคนมองดูคลื่นที่ชายหาด มันมาแล้วก็ไป อารมณ์ความสุขและทุกข์เราก็เป็นเช่นนั้นแล

และทิ้งท้ายเล่มนี้ผู้เขียนบอกว่า เรากำลังเล่นเป็นพระผู้สร้างหรือพระเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

จากเดิมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนั้นต้องใช้เวลาเป็นแสนๆล้านๆปีจากธรรมชาติ แต่วันนี้ด้วยความรู้ด้านพันธุวิศวกรรมนั้นสามารถตัดต่อ DNA ให้กระต่ายสามารถเลือกแสงแบบแมงกะพรุนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้พระเจ้าหรือธรรมชาติเข้ามาทำหน้าที่นี้ และกระต่ายตัวนั้นก็เกิดขึ้นแล้วและชื่อ Alba

และก็มีแนวโน้มว่าด้วยสิ่งนี้แหละที่เซเปียนจะทำกับตัวเอง จนทำให้เซเปียนส์ไม่ใช่เซเปียนส์อีกต่อไป และก็คงเป็นจุดอวสานของมนุษย์สายพันธุ์เซเปียนส์สู่สิ่งที่เรียกว่า “อภิมนุษย์”

จบแล้วครับ กับการสรุปหนังสือเซเปียนส์เล่มนี้ หนังสือที่หนากว่า 608 หน้า และต้องใช้เวลาอ่านถึง 12 วัน

หวังว่าคุณจะอ่านจนถึงบรรทัดนี้ และลุกขึ้นไปซื้อมาอ่านด้วยกัน แล้วถ้าเจออะไรที่น่าสนใจในเล่ม ก็เอามาเล่าให้ผมฟังบ้างนะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 2 ของปี 2019
เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
Sapiens; A Brief History of Humankind

Yuval Noah Harari เขียน
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ แปล
สำนักพิมพ์ GYPZY

อ่านเมื่อ 2018 01 06

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/