Geroge Orwell เคยกล่าวไว้ว่า
Who controls the past controls the future.
Who controls the present controls the past.

ทำไมอดีตถึงสำคัญกับอนาคตขนาดนั้น?
เพราะธรรมชาติของมนุษย์และสังคมนั้นล้วนไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีต โดยพื้นฐานเราต้องการอย่างไร พันปีผ่านไปเราก็ยังต้องการแบบนั้น อาจจะเปลี่ยนไปบ้างแค่รูปแบบหรือวิธีการ แต่โดยแก่นสำคัญยังเหมือนเดิม

มนุษย์ยังคงต้องการปัจจัย 4 แต่ก็ว่ากันว่ามีปัจจัยที่ 5 อย่างโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้ามองกลับไปที่แก่นความเป็นมนุษย์และสังคมแล้ว โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต หรือจะโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นมานั้น ก็ล้วนมาจากธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการ “รวม” เข้ากับ “กลุ่ม” ของตนเอง เพื่อให้รู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ ที่ได้อยู่ไกล้ๆกัน

แม้จะไม่ได้ใกล้ด้วยระยะทาง แต่ใกล้ด้วยความรู้สึกในความคิดก็ยังดี

ดังนั้นถ้าเรายิ่งรู้และเข้าใจอดีตมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใจปัจจุบัน และคาดการณ์อนาคตได้ดีเท่านั้น ตั้งแต่การปฏิวัติหรือนวัตกรรมที่เกิดจากความ “ไม่พอใจ” ของคนกลุ่มนึงอยู่เสมอ ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ต้องการปลดเปลื้องมนุษย์ออกจากการใช้แรงงานที่มีจำกัด (สมัยก่อนเราทำงานกันวันละ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย และได้หยุดแค่วันอาทิตย์เท่านั้น เมื่อเทียบกับสมัยนี้ทำงาน 10 ชั่วโมงและได้หยุดเสาร์อาทิตย์ก็โอดโอยกันจะแย่)

นวัตกรรมก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วนวัตกรรมไม่ได้มาจากชนชั้นสูง แต่มาจากชั้นชั้นกลางหรือชนชั้นล่างที่ไม่พอใจกับสภาพการณ์ในตอนนั้น ต้องการทำให้สภาพชีวิตตัวเองดีขึ้น เลยประดิษฐ์เครื่องมือทุ่นแรง หรือเทคโนโลยีต่างๆขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเครื่องจักรไอน้ำที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้น

ผู้เขียนยังเปรียบพระเจ้าตากสินมหาราชว่าเป็นเสมือนสตาร์ทอัพในยุคกรุงศรี ที่ตั้งกองทัพขึ้นมาเพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่า เพราะต้องมีทั้งการดิ้นรนด้วยการฝ่าวงล้อมจากกองทัพพม่าในตอนนั้น หรือการยอมทุบหม้อข้าวหม้อแกงเพื่อตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีสอนในตำราใดๆในสมัยนั้น และจนรวบรวมก๊กเหล่าต่างๆขึ้นมากลายเป็นกองทัพไปกู้กรุงศรี จนก่อกำเนิดเมืองธนบุรีที่เป็นราชธานีใหม่ ก่อนจะกลายมาเป็นกรุงเทพในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้คือการคิดนอกกรอบการทำศึกแบบเดิม การมองหาชัยภูมิใหม่ การใช้วิธีการใหม่ในการกระตุ้นขวัญกำลังใจ นี่มันคือแนวคิดของสตาร์ทอัพชัดๆ

ในเล่มเต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตสำคัญในช่วงกรุงศรีแตกและพระเจ้าตาก ในช่วงเส้นเวลาเดียวกันนั้นฝั่งอังกฤษ ยุโรป และอเมริกา ก็พากันพัฒนาตัวเองไปไกล ไม่ได้สู้รบกันด้วยดาบเหล็ก แต่กลายเป็นเรือกลปืนไฟ ให้เห็นเส้นเวลาเดียวกันที่อยู่คนละทวีป แต่กลับมีเรื่องราวที่ต่างกันเหลือเกิน

ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้แนะนำให้ใครอ่าน ผมอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน เพราะเป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจง่าย แถมยังเต็มไปด้วยข้อคิดคำคมมากมายที่ผู้เขียนมีให้ ผมเชื่อว่าคุณจะเข้าใจปัจจุบันมากขึ้นในแง่ของสังคม ว่าเรื่องเหล่านี้ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แค่เปลี่ยนตัวละคร เปลี่ยนเครื่องมือ แต่เนื้อเรื่องแก่นหลังทั้งหมดยังคงเหมือนเดิม คือมีทั้งกลุ่มคนที่ต้องการยึดติดกับอดีต และกลุ่มคนที่ไขว่คว้าหาอนาดต และกลุ่มที่ถูกดึงจูงไปโดยไม่รู้อะไรเลย

บางครั้งอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาดเดาถ้าเราเข้าใจรูปแบบในอดีตมากพอครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 36 ของปี 2018

PAST ปัญญาอดีต
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขียน
สำนักพิมพ์ Openbooks

20180402

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/