นี่คือหนังสือชีวประวัติของคนที่น่าจะดังที่สุดในโลกคนหนึ่งตลอดกาลก็ว่าได้ เซอร์ ไอแซก นิวตัน ชายผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วง ชายผู้ปฏิวัติคณิตศาสตร์ ชายผู้ทำให้ปราชญ์จากกรีกโบราณหรือนักคิดก่อนหน้าหลายคนต้องเผาผลงานทิ้งเพราะการค้นพบของเค้า

ไอแซก นิวตัน ชายที่คนทั่วโลกน่าจะรู้ประวัติอย่างย่อของเค้าเป็นอย่างดีว่าเค้าค้นพบแรงโน้มถ่วงเพราะแอปเปิลหล่นลงมา หรืออาจจะหล่นใส่หัวตอนที่นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิล แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วแอปเปิลอาจไม่ได้หล่นใส่เค้า หรือแม้แต่เค้าอาจจะไม่ได้นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิลก็ได้

เพราะแอปเปิลคือสัญลักษณ์ของความรู้ และอาจเป็นการหยิบเอามาเป็นตัวแทนของความรู้ใหม่ในแบบฉบับของนิวตัน

นิวตันเคยเขียนจดหมายเปรียบเปรยเรื่องการค้นพบแรงโน้มถ่วงทำนองว่า ก็เหมือนกับผลแอปเปิลนั้นบนต้นไม้นั่นแหละ เหตุใดผลมันจึงไม่ลอยชี้ออกไป ทำไมผลนั้นถึงชี้ลงมาด้านล่วง ทำไมมันถึงไม่เหมือนกับการที่เราเอาเชือกรัดก้อนหินแล้วหมุนมันจนมันชี้ออกไปรอบนอก นั่นก็เพราะต้องมีแรงบางอย่างที่กระทำต่อมันเหมือนที่เชือกทำ เหมือนที่โลกทำกับดวงจันทร์ เหมือนที่ดวงอาทิตย์ทำกับโลก และเหมือนที่โลกทำกับแอปเปิล

และที่นิวตันเลือกแอปเปิล หนังสือเล่มนี้ก็บอกว่าบางทีเพราะนิวตันนั้นเคร่งในศาสนาไม่น้อย และแอปเปิลก็เป็นผลไม้สำคัญในพระคัมภีร์เดิมอยู่แล้ว ช่างประจวบเหมาะลงตัวไม่น้อยเลยใช่มั้ยครับ

ขณะเดียวกันเซอร์ ไอแซก นิวตัน ก็ไม่ได้เป็นแค่นักคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ระดับอัจฉริยะเท่านั้น แต่เค้ายังบ้าในการเอาตัวเองเข้าทดลองอย่างเจ็บปวดซ้ำไปซ้ำมาด้วย

เค้าเคยเอาแท่งเหล็กจิ้มเข้าไปในเบ้าตาเพื่ออยากจะเห็นวงสีแปลกๆด้วยตาของตัวเอง ลองเอานิ้วจิ้มๆขยี้ตาดูก็ได้ครับ เราจะเห็นภาพเป็นวงๆสีม่วงๆส้มๆใช่มั้ยครับ นั่นแหละครับที่สิ่งที่นิวตันทำ แถมยังทำจนตาเกือบบอดหลายครั้งด้วย

และเช่นกันเค้าอยากเห็นสิ่งนี้มากว่าแสงนั้นแท้จริงแล้วคืออะไร ถึงขนาดยอมฝืนลืมตาดูพระอาทิตย์เพื่อจะได้เอามามองดูวัตถุทั่วไปว่าจะมีสีเปลี่ยนไปยังไง จนนิวตันพบว่าเมื่อจ้องดวงอาทิตย์นานพอแล้วกลับมามองที่วัตถุรอบตัว วัตถุสีอ่อนจะออกไปทางโทนสีแดงส้ม ส่วนวัตถุสีเข้มจะออกไปทางโทนสีม่วงน้ำเงิน

เป็นการทดลองที่บ้าบิ่นมากเลยใช่มั้ยครับ มิน่าเค้าถึงว่าบางทีอัจฉริยะกับคนบ้าก็มีเพียงเส้นบางๆเท่านั้นที่คั่นอยู่

และจากเรื่องแสงนี้เองก็ทำให้นิวตันเป็นคนแรกที่ค้นพบว่า แท้จริงแล้วแสงนั้นมีสีอยู่ในตัว ไม่ได้ถูกเติมสีทีหลังอย่างที่เคยเชื่อกันมาแต่โบราณกาลครับ

ต้องบอกว่าในสมัยก่อนคนเชื่อกันว่าแท่งปริซึมนั้นทำหน้าที่เติมสีให้แสง เพราะเวลาให้แสงส่องผ่านปริซึมเราจะเห็นแสงกลายเป็นสีรุ้งๆ เหมือนเวลาเราเห็นรุ้งกินน้ำใช่มั้ยครับ นั่นแหละครับที่สิ่งที่คนเชื่อกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี แต่พอนิวตันค้นพบว่าที่เชื่อกันมาตลอดนั้นผิด เพราะในแสงนั้นมีสีอยู่ในตัวมันเองแต่แรกอยู่แล้ว และปริซึมก็แค่ทำหน้าที่แยกสีต่างๆที่รวมอยู่ในลำแสงให้แสดงออกมาต่างกัน งานนี้ทำเอานิวตันโดนโจมตีอย่างหนักเพราะไปสั่นคลอนความเชื่อของผู้คนมากมายครับ

กว่านิวตันจะถูกยอมรับในเรื่องนี้ได้ก็ต้องใช้เวลายาวนานและต่อสู้อย่างหนักหน่วงเหลือเกิน

เพื่อนนักพนันคนหนึ่งเคยขอให้นิวตันช่วยคำนวนโอกาสที่จะเอาชนะในเกมทอยลูกเต๋า จนได้คำตอบว่าควรจะเล่นทอยลูกเต๋าแบบไหนที่จะทำให้เกิดโอกาศชนะสูงสุด

แหม..ข้อดีของการเป็นอัจฉริยะด้านการคิดคำนวนนี่มันดีจริงๆนะครับ ไม่รู้ว่าถ้านิวตันยังอยู่ในวันนี้ตามบ่อนคาสิโนจะยอมให้นิวตันเข้าไปเล่นพนันได้มั้ยนะ

เห็นนิวตันเป็นนักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แบบนี้ แต่ความจริงแล้วเค้าก็เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุที่เก่งกาจจนสามารถเขียนตำราหนาเป็นร้อยๆหน้า ที่มีสูตรการผสมสารประกอบหลายพันอย่างมากมาย และทั้งหมดก็เพราะนิวตันหวังว่าจะสามารถเสกทองจากธาตุทั่วไปได้น่ะครับ

ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะในสมัยนั้นใครๆต่างก็ชอบเล่นแร่แปรธาตุเพื่อสร้างทองขึ้นมาจากก้อนหิน และทั้งหมดก็กลายมาเป็นพื้นฐานของวิชาเคมีเราทุกวันนี้ยังไงล่ะครับ

และตอนท้ายของเล่มที่น่าสนใจคือหลังจากนิวตันเสียชีวิตไป เอกสารกระดาษจดบันทึกทั้งหลายของเค้าไม่มีใครเห็นค่า กระจัดกระจายไปทางนั้นทีทางโน้นที จนได้ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระดับโลกที่ไปไล่ล่าประมูลคว้าคืนมาได้ จนสามารถรวบรวมเอกสารของนิวตันทั้งหมดได้ถึง 1 ใน 3 ช่างเป็นผลงานของนักคณิตศาสตร์ของโลกที่อยู่ในมือนักเศรษฐศาสตร์ของโลกอย่างเหมาะสมลงตัวจริงๆครับ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยสูตรคณิตศาสตร์ยากๆ แต่ก็อาจจะมีบ้างประปรายให้พอตื่นเต้น แต่หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยชีวประวัติอันไม่สวยหรูใดๆเลยของเซอร์ ไอแซก นิวตัน ผู้ที่โด่งดังในยุคเรา

ชีวประวัติของนิวตันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ต้องต่อสู้และฟันฝ่าตลอดชีวิตอย่างมากมาย เรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยได้มีช่วงชีวิตที่สุขสบายอย่างแท้จริงเลยก็ได้ครับ ยกเว้นตอนท้ายๆที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำของราชสมาคมเท่านั้น

Sir Isaac Newton ชายคนนี้ที่เราคิดว่ารู้จักเค้าดีแท้จริงแล้วยังมีอะไรอีกเยอะที่รอให้เราค้นพบ แล้วท้ายที่สุดผมได้รู้ว่าการที่ชีวิตจะประสบความสำเร็จ หรือก้าวขึ้นสู่จุดที่ยิ่งใหญ่สูงสุดได้ ไม่มีคำว่าง่ายดายและสบายเจือซักนิดเลยครับ

ต้องขอบคุณหนังสือคเณิร์ตศาสตร์ ที่ช่วยปลุกไฟคณิตศาสตร์ในตัวผมขึ้นมา ทำให้ผมได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านซักที หลังจากที่ดองเอาไว้น่าจะร่วมปีได้

ผมว่าการอ่านหนังสือก็เหมือนการเดินทางนะครับ พออ่านแล้วนึงจบเราก็จะมองหาเล่มใหม่ที่เป็นเล่มต่ออย่างไม่รู้ตัว ทำให้เราเหมือนได้เดินสำรวจไปยังดินแดนต่างๆที่หนังสือแต่ละเล่มพาเราลึกเข้าไปเรื่อยๆ และได้พบเรื่องที่น่าตื่นเต้นเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่ผมกำลังเจอนี่ยังไงล่ะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 21 ของปี 2019

ISAAC NEWTON
ไอแซก นิวตัน : นักวิทยาศาสตร์คนแรกและพ่อมดคนสุดท้าย
James Gleick เขียน
สฤณี อาชวานันทกุล แปล
สำนักพิมพ์ SALT

20190404

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/