Dutch หรือ ดัชต์ แวปแรกคนส่วนใหญ่คงนึกถึงประเทศฮอลแลนด์ เนเธอร์แลนด์ นี่แหละบางทีก็แอบงงๆว่าทำไมประเทศเดียวถึงมีสองชื่อได้นะ และก็คงหนีไม่พ้นที่จะนึกไปถึงกังหันลมแบบนมดัชต์มิลในบ้านเรา ตลาดประมูลดอกไม้สดที่โด่งดังระดับโลก หรือแม้แต่ทุ่งดอกทิวลิปที่โด่งดังก็ตาม

แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องส่วนน้อยที่คนส่วนใหญ่รู้จักเกี่ยวกับประเทศนี้หรือผู้คนชาวดัชต์ และหนังสือ Dutchland นี่เองที่จะมาเปิดโลกของชาวดัชต์ให้เราได้รู้จักเค้ามากขึ้น

การประมูล

คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักการประมูลดี มันคือการที่ให้คนที่สนใจค่อยๆเพิ่มค่าเพิ่มราคาขึ้นไปเรื่อยๆ จากน้อยสุดไปสู่มากสุด จนไม่มีใครให้มากกว่านี้ แล้วสินค้าที่ถูกประมูลนั้นก็จะกลายเป็นผู้ที่ให้ราคาคนสุดท้ายไป นี่คือการประมูลแบบอังกฤษ(English Auction)ในแบบที่เราชาวโลกคุ้นเคย แต่ยังมีการประมูลอีกแบบที่น้อยคนจะรู้จักและเป็นการประมูลแบบกลับหัวกลับหางกันแบบที่เราทุกคนคุ้นเคย นั่นคือการประมูลจากราคามากไปหาน้อย

เหมือนเริ่มจาก 100 ไปสู่ 0 และระหว่างที่ผู้ควบคุมการประมูลขานราคาแบบลดลงไปเรื่อยๆ คนแรกที่ประมูลก็จะได้เป็นเจ้าของไปเลย ไม่ต้องแข่งกับใครเหมือนแบบแรก(แต่จริงๆก็แข่งนะ แค่ไม่มีการเกทับไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง) และนี่คือการประมูลแบบดัชต์(Dutch Auction) ที่มาที่ไปของมันก็มาจากการประมูลดอกไม้ที่มีอายุสั้นมาก จึงต้องใช้การประมูลแบบใครเร็วใครได้ ไม่ใช่การประมูลแบบอ้อยอิ่งยืดเยื้อเหมือนของอังกฤษ

Tulip mania เศรษฐกิจฟองสบู่ครั้งแรกของโลก

ดอกทิวลิปที่เราคุ้นเคยกันดีในฐานะสัญลักษณ์ของชาวดัชต์ ครั้งนึงเมื่อ 400 กว่าปีก่อน คือต้นเหตุของภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก

ในสมัยนั้นในช่วงเวลาที่พีคที่สุดดอกทิวลิปหนึ่งดอก(ที่จริงต้องบอกว่าหนึ่งหัว เพราะที่เราเห็นเหมือนดอกสวยๆนั้นแท้จริงคือส่วนหัวของต้นทิวลิปครับ)มีราคาเท่ากับหรือมากกว่าบ้านดีๆหนึ่งหลัง ดอกไม้ที่ร่วงรวยได้ในไม่กี่วันแพงกว่าบ้านได้ก็เพราะความต้องการหัวทิวลิปสวยๆอย่างบ้าคลั่งของชาวดัชต์นั่นเอง และแล้วเมื่อความนิยมอยากได้หมดไปมูลค่ามหาศาลก็หายวับไปตาม สุดท้ายฟองสบู่ทิวลิปแตกทำเอาผู้คนมากมายล้มละลายกันทั่วดัชต์แลนด์ ดังนั้นคำว่า Tulip mania จึงเป็นคำที่ใช้เรียกภาวะที่เข้าไกล้หรือคล้ายฟองสบู่นี่เอง

Starbucks สาขา The Bank

เป็นคอนเซปสโตร์สาขาแรกที่ออกแบบโดยมีแนวคิดมาจากตลาดค้าหุ้นในสมัยก่อน เพื่อย้อนรำลึกอดีตที่ชาวดัชต์ผู้ที่ไม่นิยมกาแฟแต่กลับเป็นชนชาติที่พาเมล็ดกาแฟให้เป็นที่นิยมไปทั่วยุโรป เพราะอะไรก็ตามที่ทำเงิน ชาวดัชต์ก็จะไม่ยอมปล่อยโอกาสนั้นไป

Mocca กาแฟชื่อนี้มาจากไหน

หลังจากชาวดัชต์นำเข้าและส่งออกเมล็ดกาแฟให้กับคนทั่วยุโรปจนติดงอมแงมแล้ว ก็เกิดความคิดที่ว่าอยากจะปลูกเอาไว้ขายเองซะเลยจะได้มีกำไรเพิ่มขึ้น แต่ในสมัยนั้นกาแฟเองก็เป็นสินค้าควบคุมจากทางอาหรับที่ห้ามนำเมล็ดที่ยังไม่ผ่านการคั่วออกนอกประเทศ หรือยิ่งต้นกาแฟยิ่งห้ามด้วยโทษขั้นสูงสุด

แต่ก็ชาวดัชต์นี่แหละที่ลักลอบออกมาจนเอามาปลูกในประเทศตัวเองได้เมื่อปี 1616 และต้นกาแฟนั้นก็เป็นต้นกาแฟชั้นดีจากเมือง Mocca ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประเทศเยเมน ความจริงแล้วกาแฟ mocca หมายถึงกาแฟชั้นดี ไม่ใช่กาแฟผสมช็อคโกแลตอย่างทุกวันนี้ครับ

Dutch มีรายได้รายได้มากกว่า England ถึง 4 เท่า

ที่ว่าชาวดัชต์ชอบค้าขายและมีความเป็นพ่อค้ามากที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก เพราะในยุคสมัยจักรวรรดินิยมนั้น อังกฤษที่เรามักจะคุ้นกันว่าเป็นชาติที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินเพราะมีอาณานิคมกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับเป็นชาวดัชต์และบริษัท Dutch East India ที่ค้าขายสร้างรายได้มากกว่าจักรวรรดิอังกฤษถึง 4 เท่า

และเป็นชาวดัชต์นี่เองที่ก่อให้เกิดบริษัทร่วมลงทุนครั้งแรกของโลกขึ้นมาในสถานที่ๆเรียกว่า Exchange จนกลายเป็นคำเรียกการค้าหุ้นจนถึงทุกวันนี้

อนุพันธ์ทางการเงิน มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว

ชาวดัชต์เป็นผู้สร้างอนุพันธ์ทางการเงินขึ้นมาตั้งร่วม 400 ปีก่อนมาแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ที่นักการธนาคารหรือนักการเงินเพิ่งสร้างขึ้นมาหรอกครับ เห็นมั้ยว่าชาวดัชต์มีความเป็นพ่อค้าหากำไรตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

เบลเยียม เคยเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์

เคยรวมเป็นประเทศเดียว จากนั้นก็แยกเป็นเหนือกับใต้ จนกลายมาเป็นเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมในปัจจุบันนี้

ปัตตาวี หรือ ปัตตาเวีย คือชื่อที่ชาวดัชต์ใช้นิยามตัวเองในสมัยก่อน

เพราะปัตตาวี หรือปัตตาเวีย คือเรื่องเล่าในสมัยโรมันเกี่ยวกับกลุ่มชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาสู้ต่อต้านอณาจักรใหญ่อย่างโรมัน ชาวดัชต์มองว่าตัวเองก็เป็นคนธรรมดาที่อาจหาญขึ้นมาสู้กับสเปนที่อ้างคริสจักรคาทอลิกเพื่ออิสรภาพจนได้รับชัยชนะมา ก่อให้เกิดนิกายใหม่อย่างโปรเตสแตนต์ขึ้นมา ที่ยึดถือพระคัมภีร์เป็นหลัก ไม่ได้ยึดถือในคริสจักรที่คอยขูดรีดภาษีประชาชนในสมัยก่อน

ดัชต์ขอแลก New York กับหมู่เกาะชวา กับอังกฤษ

ในอดีต New York เป็นอาณานิคมของชาวดัชต์ แต่ชาวดัชต์ยอมขอแลกพื้นที่นี้กับหมู่เกาะชวาที่ไร้ความเจริญแทน เพราะชาวดัชต์ต้องการพื้นที่เพื่อเพาะปลูกเลี้ยงคนในชาติและจะเป็นแหล่งรายได้จากการขายพืชผลที่ได้ด้วย ทั้งหมดนี้เพราะชาวดัชต์เองมีพื้นในประเทศตัวเองน้อยมาก เพราะกว่า 1 ใน 3 ของประเทศอยู่ใต้น้ำ

บ้านตุ๊กตาที่ราคาเท่ากับบ้านหรูหราริมคลองทั้งหลัง

ในยุคทองของชาวดัชต์นั้น ผู้ชายมักจะมีตู้ของแปลก ก็คือตู้หรือกล่องขนาดเขื่องสูงเท่าตัวคนที่ข้างในจะเก็บของแปลกๆหายากจากทั่วทุกมุมโลกที่เรือชาวดัชต์ออกไปเสาะหามาได้ เอาไว้เปิดอวดโชว์แขกที่มาบ้านกันในสมัยนั้น ส่วนผู้หญิงไม่ได้ออกไปท่องโลกที่ไหนก็คงไม่สามารถเก็บสะสมของแปลกหายากเหมือนผู้ชายได้ แต่ที่ผู้หญิงมีก็คือบ้านตุ๊กตา

บ้านตุ๊กตาที่ว่าไม่ได้มีกันเล่นๆ แต่เอาจริงเอาจังมากขนาดที่ว่าบ้านตุ๊กตานั้นมีทุกอย่างที่เหมือนบ้านจริงๆ เพียงแต่ถูกย่อส่วนให้อยู่ในไซส์ของตุ๊กตา แต่บ้านตุ๊กตาทั้งหลังก็สามารถสูงเท่ากับผู้ใหญ่คนนึงได้เลย โดยบ้านตุ๊กตาที่เหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ที่น่าทึ่งที่สุดเป็นของหญิงม่ายในสมัยนั้นที่ชื่อ เพโทรเนลลา ออร์ตมัน ซึ่งใช้เวลาในการทำบ้านตุ๊กตาหลังนี้กว่า 20 ปี จนมาราคาเท่าบ้านหรูๆริมคลองหนึ่งหลังในสมัยนั้นอย่างที่เล่าไป

ทำไมภาพวาดแวนโก๊ะถึงมีสีฉูดฉาด

ในช่วงท้ายๆของชีวิต แวนโก๊ะ มีอาการตาบอดสีมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เค้าต้องเพิ่มสีสันในภาพที่วาดลงไปโดยเฉพาะกลุ่มภาพดอกไม้ ที่สุดท้ายแล้วออกมาเป็นภาพที่สีสันฉูดฉาดมาก

มาตรฐานการคุมกำเนิดสองชั้น

ชาวดัชต์เป็นชาติที่มีอัตราการท้องในหมู่วัยรุ่นและการทำแท้ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็เพราะมาตรฐานสองชั้นที่เรียกว่า Double Dutch ด้วยการให้เด็กสาวพกยาคุมกำเนิด ส่วนเด็กชายก็พกถุงยางอนามัย

วิธีเก็บความลับแบบชาวดัชต์แลนด์
คือการวางมันไว้ในที่ๆธรรมดาที่สุด หรือไม่ก็ปล่อยให้ความลับนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้กัน

จะขายของได้ก็ต้องเล่าเรื่องเก่ง จะมีของมาขายได้ก็ต้องเป็นผู้ที่เล็งเห็นโอกาส และเปิดโอกาสให้กับการลองผิดลองถูก วิธีคิดแบบชาวดัชต์

โรงแรมที่มีเพียงห้องเดียว
ที่ดัชต์แลนด์มีโรงแรมที่ทั้งโรงแรมมีห้องพักเพียงแค่ห้องเดียว ถ้าอยากรู้ลองเสริชดูหรือจองผ่าน AirBnb ได้ ค้นชื่อว่า The One and Only Bedroom at Droog หรือ Hotel Droog

ประเทศต้นกำเนิด Philips

ผู้ผลิตหลอดไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างแบรนด์ Philips ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศนี้ ที่เมืองไอนด์โฮเฟน เมื่อครั้งที่หลอดไฟไม่ได้เป็นของใช้ที่ทุกบ้านจะมีกันได้อย่างทุกวันนี้ และที่สำคัญก็ยังเป็นเจ้าของทีม PSV Eindhoven ที่คอบอลคุ้นกันดีด้วย เพราะคำว่า PSV ย่อมาจาก Philisp Spots Vereniging

และเมือง Eindhoven ไอนด์โฮเฟนนี้เองเป็นเมืองที่มีอัตราการจดสิทธิบัตรต่อประชากรสูงที่สุดในโลก ผลงานจาก Philips ที่ทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองนวัตกรรมแม้ในวันที่แบรนด์ Philips จะบริษัทไปที่เมืองอื่นแล้ว

ประเทศที่มีนักอ่านมากที่สุดในโลก
ในศตวรรษที่ 17 ดัชต์แลนด์มียอดพิมพ์หนังสือสูงที่สุดในโลก โดยหนังสือกว่าครึ่งของทั้งโลกถูกพิมพ์ในประเทศนี้ และหนังสือในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นแนว How-To คือหนังสือที่ให้ความรู้พื้นฐานที่ทำให้คนอ่านสามารถเอาไปต่อยอดความคิดเกิดเป็นผลผลิตใหม่ๆได้

เพราะชาวดัชต์มีวิสัยทัศน์ตั้งแต่โบราณแล้ว

มีเรื่องเล่าน่าสนใจเกี่ยวกับการตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของดัชต์แลนด์ที่เมืองไลเคินว่า ด้วยความที่เมืองนี้เป็นเรี่ยวแรงในการต่อสู้กับสเปนอย่างแข็งขัน วิลเลิมแห่งออเรนจ์(กษัตริย์หรือผู้นำในตอนนั้น)จึงให้ชาวเมืองไลเคินเลือกเอารางวัล 1 ใน 2 อย่าง ระหว่างการยกเว้นภาษีกับมหาวิทยาลัย ชาวเมืองเลือกการศึกษา และวิสัยทัศน์ของพวกเขาก็ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นฐานที่มั่นใจการผลิตผู้นำทางปัญญาให้กับดัชต์แลนด์มาจนถึงปัจจุบัน

และนี่ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองอ่าน แล้วจะได้รู้จักว่าดัชต์แลนด์นั้นมีอะไรสนุกๆให้น่ารู้อีกเยอะครับ

โดยสำนักพิมพ์ Little Thoughts
อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/