ไทยแท้ไม่มีอยู่จริง

นี่คือความรู้สึกหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ทำให้รู้ว่าไอ้ความเป็น “ไทยแท้ๆ” ที่เราหวงกันนักหนา ไม่ว่าจะ อาหารไทย มวยไทย ลายเส้นไทย การไหว้แบบไทย สงกรานต์ไทย หรือแม้แต่ภาษาไทยแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ของที่กำเนิดมาจาก “ไทย” เลยซักอย่าง แต่กลับเป็นของส่วนร่วม ตามชื่อหนังสือที่บอกว่า “วัฒนธรรมร่วม” นั่นเอง

ไทย หรือ คนไทย นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนที่เอาเข้าจริงแล้วก็แยกแทบไม่ออก ถ้าถอดเสื้อผ้า ให้ดูแต่หน้าไม่ต้องพูดซักคำ ก็ยากที่จะแยกออกว่าหน้าแบบนี้คือไทย หน้าแบบนี้คือลาว หน้าแบบนี้คือพม่า เขมร หรือแม้แต่ทางใต้มาเลเซีย ฟิลิบปินส์ อินโดนีเซียก็ตาม

สมัยก่อนเราอยู่กันอย่างหลวมๆ กระจัดกระจายกันไป ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน จนเราเพิ่งมากำหนดความเป็น “ไทย” ในตอนหลังไม่นานมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อนเอง ดังนั้นอะไรก็ตามที่เรามัก “เคลม” กันว่า อันนี้ไทย อันนี้ไม่ไทย ก็ล้วนแต่เคยเป็นของส่วนรวมทางวัฒนธรรมของชาวอาเซียนร่วมกันทั้งหมดมาก่อน และส่วนใหญ่เราก็ได้รับถ่ายทอดมาจากการค้ากับอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง

ในยุคที่อินเดียคือชาติที่เจริญ ส่วนชาวอาเซียนคือชาติที่ล้าหลังกว่า เราเอารามายณะของอินเดียมาปรับใหม่เป็นรามเกรียติ์

เราเอาตัวอักษรปัลลวะที่หยิบยืมมาจากอินเดียอีกที แปลงเป็นภาษาไทยอีกขั้น

เราเอาการไหว้ที่ได้มาจากพราหมณ์และพุทธจากอินเดีย มากลายเป็นไหว้แบบไทยๆแล้วโฆษณาไปในระดับโลก

และวัฒนธรรมที่น่าสนใจในเล่มของชาวอาเซียนที่มีไทยเป็นส่วนหนึ่งก็เช่น ผู้หญิงเป็นใหญ่

สมัยก่อนในภูมิภาคนี้ผู้หญิงคือผู้นำ ทั้งผู้นำครอบครัว และผู้นำชุมชน ทรัพย์สมบติมรดกตกทอด ไม่ว่าจะบ้านหรือที่ดินทำกิน ล้วนแต่ถูกถ่ายทอดให้ผู้หญิงมาตลอด ผู้ชายอย่างผมไม่เคยได้อะไรกับเค้าเลยในยุคสมัยนั้น

เห็นมั้ยครับว่าผู้ชายสมัยนี้โชคดีขนาดไหน

แม้กระทั่งอาชีพที่ดูมีเกรียติในสมัยนั้น ช่างศิลป์ หรือ หมอต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นงานของผู้หญิงที่ผู้ชายไม่มีสิทธิ์ทำ บรรดาหม้อไหโบราณบ้านเชียงที่ย้อนหลังได้เป็นพันๆปี ก็ล้วนแต่มาจากฝีมือของผู้หญิง ลวดลายบนหม้อที่สวยงามทั้งหลายก็มาจากลายเส้นของผู้หญิง

เดาว่าผู้ชายคงได้แต่ขนดิน เตรียมของให้ผู้หญิงทำงาน

ทำให้นึกถึงภาพยนต์ฝรั่งเศษเรื่อง I am not easy man ที่ดูใน Netflix เมื่อวันก่อน ที่โลกกลับด้านสลับหน้าที่ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ทำให้เห็นภาพว่าผู้ชายนั้นเอาเปรียบผู้หญิงขนาดไหนในหลายๆเรื่อง

แนะนำให้ผู้ชายดูแล้วคุณจะเกรงใจผู้หญิงคนข้างๆรอบตัวมากขึ้นครับ

กลับมาที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ อย่างเรื่องเวลาแต่งงาน คำว่าเจ้าบ่าว เจ้าสาว หลายคนอาจจะพอรู้ว่าสมัยก่อนตอนจะแต่งงาน ผู้ชายต้องอาสาไปเป็นบ่าวรับใช้ในบ้านเจ้าสาวเพื่อให้พ่อแม่ครอบครัวเจ้าสาวพอใจ

แต่ในความเป็นจริงแล้วการไปเป็น บ่าว ที่บ้านเจ้าสาวนั้นต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ 5-10 ปีก็มี แล้วถ้าพ่อแม่ครอบครัวเจ้าสาวไม่พอใจ ก็สามารถเฉดหัวเจ้าบ่าวออกจากบ้านได้เลย

บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วการเฉดหัวออกไปไม่ถือว่าผิดผี ผิดประเพณีที่เคยเชื่อหรอ ที่ว่าห้ามอยู่ด้วยกันก่อนแต่ง แล้วอยู่ด้วยกันนานๆไม่ท้องไม่ใส้มีลูกกันหรอ

คำตอบคือมีครับ แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่ให้อยู่กินกันก่อนแต่งจนมีลูกได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าถ้าพ่อแม่ครอบครัวเจ้าสาวยังไม่ยอมรับ ก็มีสิทธิ์โดนเด้งได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ยอมรับแล้ว ก็จะยอมให้ปลูกเรือนหลังใหม่อยู่ใกล้ๆกันกับครอบครัวเจ้าสาว

ดังนั้นการแต่งเขยเข้าบ้านจึงเป็นเรื่องปกติของภูมิภาคนี้

พอพูดถึง เรือน ก็ทำให้นึกถึง เรือนเสาสูง

เรามักจะคุ้นกับภาพที่บ้านเรือนสมัยก่อน หรือในต่างจังหวัดนั้นมักยกใต้ถุนสูง ที่มักจะได้ยินก็คือยกสูงเพื่อหนีน้ำท่วมใช่มั้ยครับ แต่ความเป็นจริงแล้วการยกบ้านอยู่บนเสาสูงนั้นไม่ใช่เพื่อหนีน้ำท่วม แต่ยกเพื่อให้มีพื้นที่ใต้ถุนบ้านไว้ทำกิจกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะสาน จะหุง หรือเอาไว้หนีสัตว์ร้าย หนีน้ำท่วมเป็นแค่นานๆที เพราะบ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตน้ำท่วม แต่ตั้งอยู่ในเขตที่ดอนที่สูงเป็นปกติ

เข้าใจใหม่นะครับ เรือนเสาสูงเค้าทำไว้เพื่อให้มีที่ทำงานต่างๆ ไม่ใช่เพื่อหนีน้ำท่วมอย่างที่เคยเข้าใจกัน

ผู้ชายกับการบวชนาค

เรามักคุ้นกันว่าก่อนจะเป็นพระต้องมีการบวชนาค แต่ในความเป็นจริงแล้วโดยพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิม หรือที่อื่นในโลก ไม่ว่าจะอินเดียหรือลังกา ไม่มีการบวชนาคเหมือนบ้านเราแต่อย่างไร

แล้วการบวชนาคเกิดขึ้นได้ยังไงล่ะ?

นาค แต่เดิมหมายความว่า เปลือย หรือ ล้าหลัง ในสมัยนั้นหลังจากติดต่อกับชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายกับเราแล้ว อย่างที่บอกไปว่าชาวอินเดียคือชาติที่เจริญ ส่วนเรามันแค่ชาวป่า ตอนนั้นผู้คนแถบนี้ส่วนใหญ่ล้วนไม่ได้นุ่งผ้า อยู่กันแบบชีเปลือยนุ่งลมห่มฟ้า ทำให้ชาวอินเดียที่มาเห็นว่าเราเป็นพวกไม่เจริญเลยเรียกในภาษาเค้าว่า “นาค”

พอเอาการค้าเข้ามาก็พาศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาด้วย แล้วเวลาจะบวชให้พวกคนป่าอย่างพวกเราเค้าก็เลยเรียกว่าเป็นการ บวชนาคให้กลายเป็นพระ ให้กลายเป็นผู้มีอารยะเช่นชาวอินเดียนั่นเอง

หมดเรื่องคนก็เข้าเรื่องสัตว์ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์แต่เดิมของชาวอุษาคเนย์นั้นมีอยู่ 3 ชนิด มี หมา กบ และ จระเข้

เริ่มที่หมา

สมัยโบราณนั้นหมาถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพของคนแถบนี้ ไม่ได้มีการกินหมากันพร่ำเพรื่ออย่างที่เคยเชื่อกัน ในความเป็นจริงแล้วมีพิธีกรรมกินหมากันปีละครั้ง แต่กินด้วยความเคารพบูชา และต้องการพลังศักดิ์สิทธิ์จากหมาให้สถิตอยู่ในกายคนกิน

แปลกดีมั้ยล่ะครับ ถ้าไม่อ่านก็ไม่รู้เหมือนกัน

จระเข้ จากสัตว์สู่เครื่องดนตรีชวนกึ๋ย

เครื่องดนตรีไทยที่เราเรียกว่า จะเข้ นั้น เดิมทีเรียก จระเข้ และสมัยก่อนก็ใช้จระทั้งตัวที่ตายแล้ว มาขึงเชือกหัวกับหาง เพื่อทำเป็นเครื่องดนตรีบรรเลงบูชาเทวดา

นานวันเข้าก็เพี้ยนเสียงเป็น จะเข้ แล้วจากจระเข้เต็มตัวเหลือแค่ทำจากไม้และคงรูปไว้ให้คล้ายเท่านั้น

กบ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ต้องบอกว่า กบ ในสมัยอดีตนั้นถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ เพราะเมื่อไหร่ที่กบร้อง ก็แสดงว่าน้ำดีฝนกำลังมา ทำให้กบเป็นสัตว์ที่คนแถบนี้บูชามาก มากซะจนว่าท่าเต้นร่ายรำ หรือท่ามวย ก็ล้วนแต่มาจากท่าของกบตามธรรมชาติ

คือการ ย่อ และ ยก ไม่ว่าจะรำไทยที่มีย่อยก หรือมวยไทยที่มีย่อและยก ทั้งหมดมาจากท่าเต้นบูชากบในสมัยโบราณของแถบนี้ครับ

เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ให้ความรู้ในสิ่งที่คิดว่าเคยรู้แล้วอีกมาก หลายเรื่องใกล้ตัวมากแต่กลับไม่เคยรู้ ก็ได้หนังสือนี้แหละที่เป็นประตูความรู้ให้ผม

ทุกอย่างใกล้ตัวที่เราไม่เคยมองข้าม จริงๆแล้วกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่เราไม่เคยรู้ และเรื่องแบบนี้แหละ ก็เป็นเรื่องที่ผมชอบอ่านอยู่เรื่อยๆ เพราะมันใกล้ตัวขนาดนี้แล้วจะทนไม่รู้อยู่ได้ยังไงล่ะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 60 ของปี 2018

วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ในอาเซียน
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน
สำนักพิมพ์ นาตาแฮก

20180514

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/