บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในทางบริบทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอินเดียในสมัยพุทธกาล

“สตาร์ทอัพทางจิตวิญญาณ” คือความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาตอนเริ่มอ่าน และอ่านจบก็ยังคิดว่าน่าจะเป็นคำสรุปที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ในการทำความเข้าใจพุทธศาสนาในอีกมุมนึงที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ที่บอกว่าเป็น “สตาร์อัพททางจิตวิญญาณ” เพราะ ถ้าเปรียบเทียบกับในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยบริษัท องค์กร หรือผู้ก่อตั้ง Startup น้อยใหญ่มากมาย เพราะต้องการจะปฏิวัติในแง่ธุรกิจเป็นหลัก เพื่อสร้างทางเลือกหรือฉีกหนีจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กุมอำนาจหลักๆของโลกไว้ หรืออีกเหตุผลหลักก็คือ “ความไม่พอใจ” ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรซักอย่างจนส่งสามารถเติบโตต่อได้

เช่น Apple ที่ครั้งตั้งต้นคือบริษัท Startup ที่ต้องการจะสร้างทางเลือกใหม่ให้กับคนทั่วไปเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้

หรือ Uber บริษัท Startup ที่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกในวันนี้ ที่เริ่มต้นมาจากความต้องการปฏิวัติวงการแท็กซี่ที่น่าเบื่อทั่วโลก ไม่ว่าจะเรื่องเยอะ เรียกไม่ไป โก่งค่าโดยสาร หรือมรรยาทแย่ๆ

พุทธศาสนาเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อนก็มีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกันกับสภาพของสตาร์ทอัพในวันนี้ ต้องการหาทางเลือกใหม่ๆให้กับผู้คนในแง่จิตวิญญาณในยุคนั้น ยุคที่ถูกครอบงำโดย “ศาสนาพราหมณ์” ศาสนาที่มีที่มาจาก “ชาวอารยัน” ที่อพยพมาจากแถบตะวันออกกลาง จนเข้ามามีอำนาจเหนือชมพูทวีปเดิม(แถบอินเดียและพื้นที่ข้างเคียงในปัจจุบัน)

เมื่อมีอำนาจเหนือชาวพื้นเมืองเดิม ชาวอารยันไม่ได้มามือเปล่า แต่ยังนำพาความเชื่อต่างๆตามมาด้วย ซึ่งบรรดาความเชื่อเหล่านั้นก็คือเรื่องราวของ “เทวะ” หรือ “เทพ” มาให้ชนพื้นเมืองต้องเคารพบูชากันจนถึงวันนี้

ถ้าศึกษาดูในเชิงลึกจะพบว่าบรรดา “เทพ” หรือศาสนาพราหมณ์นั้น มีลำดับความคล้ายกันกับเทพชองบรรดาชาวกรีกโบราณไม่น้อย (อย่าดูที่ชื่อให้ดูที่ลำดับความสัมพันธ์ของทวยเทพ) ซึ่งคำว่า “เทวะ” หรือ “เทวา” นั้น ก็มีความหมายถึง “สุรา” ทั้งนี้เพราะเทพของชาวอารยันนั้นชอบดื่มสุรา เหมือนที่ชาวอารยันเองชอบดื่มสุรามาแต่ไหนแต่ไร

ศาสนาพราหมณ์นั้นมาพร้อมกับการแบ่งแยกวรรณะที่เราคุ้นกันดีว่ามี 4 วรรณะ เรียกจากสูงไปต่ำคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูตร

กษัตริย์ ไม่ต้องอธิบายกันมากก็เป็นที่เข้าใจกันดีหมายถึงชนชั้นสูงผู้ปกครองทุกชนชั้น

พราหมณ์ คือผู้ที่ติดต่อกับเทพให้ชนชั้นอื่น เหมือนเป็นปากของเทพ ถ้าจะคุยกับเทพก็ต้องผ่านชนชั้นนี้

แพทย์ คือกลุ่มพ่อค้า เจ้าของกิจการต่างๆ

และศูตร คือชนชั้นกรรมกร ผู้ใช้แรงงานให้กับ 3 ชนชั้นที่กล่าวมา

ทีนี้ยังมีอีกหนึ่งชนชั้นที่เป็นชนชั้นพิเศษ นั่นก็คือ จัณฑาล เป็นชนชั้นพิเศษที่เกิดจากการมีลูกข้ามชนชั้นวรรณะ เป็นชนชั้นที่เป็นที่รังเกียจของทุกชนชั้น ประหนึ่งว่าเป็นตัวอัปมงคลของทุกคนนั่นเอง หน้าที่หลักๆของจัณฑาลก็คือต้องทำงานที่สกปรกตมต่ำ ที่ไม่มีใครอยากทำทั้งหมด

ระบบวรรณะทั้งหมดนี้ ถูกสร้างมาเพื่อปกป้องสายเลือดของเหล่าอารยัน ไม่ให้ไปผสมรวมกับผู้คนที่เป็นชาวทราวิฑ หรือชาวบ้านตัวดำๆเจ้าของพื้นที่เดิมนั่นแหละครับ และจากระบบวรรณะนี้ ก็ยังกลายเป็นเรื่องราวของ “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” ที่เป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างพระราม ฝ่ายเทวดาที่มีผิวขาวเหมือนชาวอารยัน กับฝ่ายยักษ์ ที่มีผิวสีเข้มดำหน้าตาดุร้ายเหมือนกับชาวชนพื้นเมืองในพื้นที่นี้

แล้วพุทธศาสนาเข้ามาช่วยผู้คนได้อย่างไร ก็เพราะในสมัยนั้นการจะทำพิธีกรรม ยันพิธีต่างๆนั้น จะต้องผ่านพราหมณ์ทั้งหมด ไม่สามารถทำเองได้ แม้แต่การทำยันพิธีที่บ้านตามหลักศาสนาก็ต้องผ่านพราหมณ์มาทำให้ แถมยังมีความยุ่งยากวุ่นวาย กินเวลาเดือนละ 4 วันที่ต้องอยู่แต่บ้านไม่สามารถออกไปไหนได้ในพิธีรักษาไฟ

แต่สภาพสังคมเศรษฐกิจของชมพูทวีปในตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงเติบโตอย่างมากจากการค้าขาย ทำให้บรรดาพ่อค้าต้องออกรอนแรมนอกบ้านไกลเป็นเวลานานๆ เพราะจะค้าขายทีก็ต้องขนข้าวของใส่อูฐใส่ม้า ยังไม่ได้มีรถยนต์เหมือนทุกวันนี้

ตรงการทำยันพิธีนี้เองที่กลายเป็นอุปสรรคของบรรดาพ่อค้าหรือวรรณะแพทย์จำนวนมาก ที่ไม่สามารถเดินทางไกลได้ และต้องเสียเวลาอยู่ติดบ้านห้ามออกจากห้องไปไหนเต็มๆเดือนละ 4 วัน เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาพิธีกรรมเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เหลือแค่ให้ถือศีล 8 เดือนละ 4 วัน จะถือที่ไหนก็ได้ไม่มีผลต่างกัน ผลก็คือทำให้กลุ่มชนชั้นพ่อค้าผู้มีกำลังในทางสังคมมากมายหันมานับถือพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น

ไม่ใช่แค่พุทธศาสนา แต่ในสมัยนั้นต่างก็มีลัทธิความเชื่อต่างๆเกินขึ้นมาแข่งขันมากมาย ที่เห็นว่ายังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ก็คือศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ที่เคยปะทะคารมหรือเรียกให้ทันสมัยหน่อยก็คือดีเบตกับพุทธโคดม(พระพุทธเจ้า)หลายต่อหลายครั้ง แพ้บ้าง ชนะบ้าง สลับกันไป หาใช่ชนะทุกอย่างไปอย่างที่เคยเชื่อกัน

และยังมีอีกหลายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายในสมัยนั้นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น

เจ้าชายสิทธัตถะ ที่เราเคยเชื่อว่าออกผนวชเพราะทรงเบื่อทางโลกย์จากหนังสือแบบเรียนพุทธศาสนานั้นอาจไม่ใช่คำตอบเดียว แต่อาจเป็นไปได้ว่าทรงโดนเนรเทศจากเมืองของตัวเองไปด้วยเหตุผลทางการเมือง ด้วยการโหวตไม่ทำสงครามกับเมืองข้างเคียงเพียงคนเดียว และกฏของการเนรเทศในตอนนั้นคือการต้องโกนหัว และถูกขับไล่ออกไปจากเมืองแม้ตัวเองจะเป็นเจ้าชาย

หรือการนับปีพุทธศักราชที่ถือกันว่าบวกเพิ่ม 543 ปี จากคริสตศักราชนั้นอาจไม่ถูกต้อง เพราะมีอีกหลายหลักฐานที่สนับสนุนว่าน่าจะเป็น 483 ปีแทนมากกว่า แต่หลักฐานที่ว่านี้ก็มีน้ำหนักมากพอจะต้องเปลี่ยน แต่ที่ไม่เปลี่ยนเพราะใช้มาตรฐานนี้กันมายาวนาน จนกลัวว่าถ้าจะเปลี่ยนจะต้องกระทบกับหลายๆเรื่องมากกว่าแค่ศาสนาและความเชื่อก็เป็นได้

“หะรัปปา” เป็นชื่อของชาวอารยธรรมหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำสิทธุ ก่อนจะล่มสลายไปจนถูกเรียกใหม่กลายเป็นชมพูทวีป อารยธรรมนี้มีหลักฐานให้เชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น“ล้อ” ขึ้นมา ทำให้อารยธรรมนี้เจริญก้าวหน้ามากในช่วงนั้น และจากล้อนี่ก็ถูกถ่ายทอดมายังชมพูทวีป จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์บนธงชาติอินเดียวด้วยภาพกงล้อธรรมจักรจนถึงทุกวันนี้

เขาพระสุเมร หรือเขาพระสุเมรุ ตามตำนานนั้นเชื่อว่าน่าจะคือเทือกเขาหิมาลัย ส่วนป่าหิมพานต์ ก็คือป่ารอบๆเทือกเขาหิมาลัยที่ว่า จะเห็นว่ามีความคล้ายกันตั้งแต่คำ คือ หิมาลายัน หิมพานต์ และ หิมาลัย

และสัตว์ในตำนานของป่าหิมพานต์นั้น ก็มาจากซากฟอสซิลโบราณที่ปรากฏบนเทือกเขา เป็นซากฟอสซิลของสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดที่ผู้คนในยุคนั้นไม่คุ้นตา เพราะเดิมทีเทือกเขาหิมาลัยเคยเป็นแอ่งทะเลลึกมาก่อนเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน เมื่อซากฟอสซิลบวกกับจิตนาการก็เลยเกิดเป็นสัตว์ในตำนานป่าหิมพานต์นั่นเอง

“ต้นโพธิ์” นั่นเดิมทีไม่ใช่ชื่อสายพันธ์ หรือชื่อต้นไม้แต่อย่างไร แต่เป็นชื่อเรียกต้นไม้ที่ๆมีผู้ใดตรัสรู้ที่บริเวณต้นไม้นั้นขึ้นมา ซึ่งต้นโพธิ์ในวันนี้เดิมเรียกว่าต้น “อัสสัตถะ” พอพุทธโคดมตรัสรู้ขึ้นมาเลยถูกเรียกว่า “ต้นโพธิ์” เหมือนการเติมยศให้ต้นไม้อย่างไรอย่างนั้น

จาก “สิทธุ” สู่ “ฮินดู” เดิมทีคำว่าผู้คนแถบชมพูทวีปนี้ถูกเรียกว่า ชาวสิทธุ เพราะคำว่าสิทธุนั้นหมายถึงแม่น้ำ ลุ่มน้ำ แต่นานวันเข้าก็ถูกเรียกเพี้ยนไปว่าเป็น “ชาวฮินดู” จนถึงทุกวันนี้

ชาวอารยัน นั้นมาจากคำว่า “อารย” แปลว่า “ไถ” หมายความว่าชาวอารยัน(แขกขาว)น่าจะเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการหว่านไถเพาะปลูก เมื่อเพาะปลูกได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปเก็บอาหารป่าที่มีความแน่นอนต่ำ เมื่อเพาะปลูกได้ก็สามารถควบคุมปริมาณอาหารเองได้ และสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้มากกว่า และมีเวลาไปสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆได้มากขึ้น ดังนั้นอาชีพ “กสิกร” จึงเป็นอาชีพที่มีเกรียติสูงสำหรับชนชาวอารยัน

ตะกูลของพุทธโคดม หรือเจ้าชายสิทธัตถะ นั้นก็เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว อย่างพ่อของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ชื่อว่า “สุทโธทนะ” ก็แปลว่า “ข้าวสุก” รวมถึงพี่น้องคนอื่นๆในวงศ์ตะกูลล้วนมีความหมายเกี่ยวกับ “ข้าว” ทุกคน

อสูร หรือ อสุระ นั้นไม่ใช่ปีศาจร้าย แต่เป็นเทพที่ไม่ดื่มสุรา ดูจากชื่อคือ อะ(ไม่) สุระ(สุรา) หมายความว่าอสูรนั้นไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างที่เราเชื่อกัน แต่เพราะ “เทวะ” หรือ “เทพ” ของชาวอารยันที่ชอบดื่มสุรานั้นต้องเข้ามาแทนที่อสูรที่เป็นเทพความเชื่อเดิมของคนพื้นเมือง

เทวดา แปลว่าผู้ที่เล่นสนุกไปวันๆ เพราะอิ่มทิพย์ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อสิ่งใด

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของทั้งหมด 445 หน้าในหนังสือเล่มนี้ ยังมีเรื่องน่ารู้อีกเยอะเกี่ยวกับพุทธศาสนา และ พุทธศาสดา ที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยรู้ และถ้าได้รู้ก็จะเข้าใจในสิ่งที่เรากราบไหว้กันจริงๆมากขึ้นว่า ส่วนใหญ่พิธีกรรมต่างๆทั้งการสวด การไหว้นั้น มาจากพราหมณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมในชมพูทวีป ทั้งพุทธและพราหมณ์ต่างก็เอาของอีกฝ่ายไปปรับใช้และครอบงำให้ตัวเองเหนือกว่ากันทั้งสิ้น ผ่านเรื่องเล่า ผ่านคัมภีร์ ตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย

อยากให้ลองเปิดใจอ่านไม่ว่าจะนับถือหรือเชื่อในฝ่ายไหนอย่างที่บอก มันยังมีอะไรสนุกๆที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะรู้ว่า…ยิ่งเราคิดว่าเรารู้มากขึ้น เราก็ยิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วเรากลับไม่รู้อะไรเลย

อ่านเมื่อปี 2018

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/