โลกสร้างอาหาร อาหารสร้างโลก, An Edible History of Humanity – Tom Standage

ถ้าคุณเป็นคนชอบอ่านประวัติศาสตร์สนุกๆ คุณน่าจะชอบหนังสือเล่มนี้อีกเล่ม เพราะเล่มนี้คือคนเดียวกับที่เขียน “ประวัติศาสตร์โลกในหกแก้ว” A History of the World in 6 Glasses

พูดถึงอาหารใครจะคิดว่ามันจะเบื้องหลังมากมายจนถึงขั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ได้อีกเล่ม จากที่เคยอ่านมาแล้ว 11 เล่มที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาหาร นี่เลยกลายเป็นเล่มที่ 12 ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านอาหารของผม

นีโอลิธิก คือชื่อของยุคสมัยหนึ่งที่ย้อนกลับไปได้ราว 10,000 ปีก่อน

เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานไม่เร่ร่อนพเนจรอีกต่อไป เรื่องของเรื่องก็คือก่อนหน้านี้มนุษย์เร่ร่อนพเนจรไปเรื่อย เพราะต้องล่าสัตว์หาของป่าเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงชีพ ทำให้มนุษย์กลุ่มนั้นไม่สามารถลงหลักปักฐานอยู่ที่ไหนได้นาน เพราะอยู่ไปซักพักก็จะเริ่มหากินยากเพราะสัตว์ป่าผลหมากรากไม้ถูกกินไปเรื่อยๆจนหมดไป ทำให้มนุษย์เรานั้นต้องเร่ร่อนขยับที่อยู่เพื่อเข้าถึงแหล่งอาหารแหล่งใหม่ต่อๆไป

มนุษย์ที่พเนจรนั้นทำให้แต่ละกลุ่มหรือชุมชนมีขนาดเล็ก กลุ่มนึงมีแค่ 20-40 คนโดยประมาณ เพราะไม่งั้นก็จะยากที่จะหาอาหารได้พอเลี้ยงกลุ่มตัวเองให้อิ่มได้ถ้วนหน้า

มนุษย์ที่เร่ร่อนล่าสัตว์หาของป่านั้นไม่พบว่ามีทรัพย์สมบัติเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่เป็นยุคที่มีข้าวของน้อยถึงน้อยมาก เพราะด้วยความที่ต้องเร่ร่อนตามหาแหล่งอาหารไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องเร็วและคล่องตัวในการเคลื่อนที่ ถ้ามัวแต่มีข้าวของมากก็คงจะหอบเดินตามชาวบ้านไม่ทันจนโดยเสือเขี้ยวดาบกินแน่ๆ

แถมในเรื่องของ “สมบัติ” หรือทรัพย์สินส่วนตัวนั้นไม่พบว่ามนุษย์ที่เร่ร่อนนั้นมีทรัพย์สินส่วนตัว แต่กลับใช้หลักทรัพย์สินส่วนรวมมากกว่า เพราะด้วยความที่ต้องคล่องตัวทำให้แต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของมากมาย มีดเล่มนึงก็กลายเป็นของที่สามารถสลับกันใช้ได้ทั้งกลุ่ม ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมีมีดเป็นของตัวเอง

จะว่าไปหลักการคิดแบบนี้ก็เริ่มคล้ายๆกับในปัจจุบันนี้เหมือนกันในเรื่องของ Sharing Economy อย่าง Airbnb หรือ Uber ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของแต่ก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรนั้นได้ สงสัยมนุษย์เราจะเริ่มกลับมาเป็นชนเผ่าเร่ร่อนอีกครั้ง

แต่สังคมมนุษย์เริ่มเปลี่ยนต้องแต่เราเริ่มรู้จักปลูกพืชเมื่อหมื่นปีก่อน

เป็นจุดเริ่มต้นของยุคนีโอลิธิก พอเริ่มปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยๆเพื่อหาอาหาร เพราะสามารถสร้างอาหารขึ้นมาเองได้ ทำให้มนุษย์นั้นเริ่มมีการ “สะสม” ข้าวของที่เป็นของตัวเองได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้เวียนกันเหมือนก่อนทุกอย่างอีกต่อไป

เมื่อสะสมข้าวของทรัพย์สมบัติได้ ผู้คนก็เริ่มเป็นครอบครัว เริ่มมีลูกหลานกันได้มากขึ้น ไม่ต้องกระเตงหิ้วลูกกันไปเรื่อยๆ เพราะการกระเตงหิ้วเด็กเล็กไปเรื่อยๆทำให้ช่วงระยะเวลาในการมีลูกคนถัดไปช้าลง ไม่เหมือนกับการอยู่ติดที่ทำให้มีลูกได้เร็วขึ้น ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชากรเริ่มขยายมากขึ้นตามกัน

แต่ในข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย พอมนุษย์เริ่มหยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะการเพาะปลูกนั้น ทำให้ร่างกายมนุษย์เราด้อยพัฒนาลง ส่วนสูงหายไป ฟันเริ่มไม่แข็งแรงเท่าเมื่อก่อน เพราะเราไม่ต้องใช้ร่างกายเท่าสมัยที่ต้องเดินเท้าเข้าป่าล่าสัตว์ ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆเหมือนก่อน

พอเริ่มลงหลักปักฐานแล้ว จากนั้นระบบสังคมและการเมืองก็ตามมา แล้วอาหารมาเกี่ยวกับสังคมและการเมืองได้ยังไงล่ะ

ความจริงแล้วเรื่องมันง่ายๆอย่างนี้เลย คือ พอเราเริ่มเพาะปลูกเป็นผลิตอาหารได้ ก็ทำให้บางปีมีอาหารมาก บางปีได้อาหารน้อย มันก็เลยมีคนกลางขึ้นมาเหมือนหัวหน้าหมู่บ้านที่ต้องเป็นคนช่วยกระจายและจัดสรรอาหารให้ทุกคนได้ทั่วถึง

เช่น ถ้าบ้านนึงปลูกข้าวได้มากเกินกิน ก็จะเอาไปฝากหัวหน้าหมู่บ้านไว้เพื่อที่วันนึงถ้าเค้าไม่มีข้าวกินขึ้นมาเพราะผลผลิตจากการเพาะปลูกไม่ดี ก็สามารถไปเอาข้าวที่ฝากไว้คืนได้ มันกลายเป็นระบบสังคมที่เกิดขึ้นมาเองพร้อมกับผลผลิตอาหารที่มากขึ้น เพราะทุกคนไม่มีใครอยากอดตายอยู่คนเดียว การกระจายความเสี่ยงย่อมปลอดภัยกว่า

แล้วยังไงต่อล่ะ เมื่อมีอาหารกองกลางมากขึ้นก็เริ่มต้องมีสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตพอจะเก็บมันไว้ มันต้องเป็นที่กว้างๆ ใหญ่ๆหน่อย มีหลังคาสูงๆหน่อย คุ้นๆมั้ยว่ามันคืออะไร..

ใช่แล้ว มันคือวิหารที่ปรากฏอยู่ในทุกศาสนา เริ่มต้นเดิมทีมันคือยุ้งฉางเก็บอาหารส่วนเกินที่เป็นกองกลางของแต่ละชุมชนไว้มาก่อนครับ หลังจากนั้นจึงพัฒนาการเป็นสถานที่ทางศาสนากันไปในภายหลัง

พอมนุษย์เริ่มผลิตอาหารเองได้โดยไม่ต้องออกเร่ร่อน เริ่มสร้างชุมชนหาคนกลางที่คอยดูแลผลผลิตส่วนเกินที่ให้คนผลิตได้มากเอามาฝาก แล้วคนกลางของหมู่บ้านคนนี้ก็จะเอาส่วนเกินนั้นไปส่งต่อให้คนที่ผลิตได้น้อย ทำแบบนี้สลับกันไปเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้ จากนั้นพอผลิตอาหารมากขึ้นก็เริ่มรู้ว่า “น้ำ” คือทรัพยากรที่สำคัญในการเพาะปลูก

ในตอนนั้น (ยังไม่รู้จักปุ๋ย) ก็เริ่มมีการร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง “ระบบชลประทาน” ขึ้นมา ไอ้ระบบชลประทานนี่แหละครับ ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในสังคมเราอีกครั้ง

การเมือง การปกครอง เกิดขึ้นมาได้ก็ระบบชลประทาน

เพราะระบบชลประทานนี่แหละทำให้ต้องมีคนๆนึงที่เป็นคนคอยดูแลควบคุมน้ำ และอย่างที่บอกไปว่า “น้ำ” คือหัวใจของการผลิตอาหารเพาะปลูกในตอนนั้น พอคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะส่งน้ำให้กับที่ของใครบ้าง ก็เลยกลายเป็นผู้นำหรือชนชั้นปกครองในเวลาต่อมา

ครั้นเจ้าของที่คนไหนไม่พอใจจะไปพังชลประทานก็ไม่ได้ เพราะชลประทานนั้นดันกลายเป็นสมบัติส่วนร่วมที่ทุกคนสร้างร่วมกัน คนๆเดียวไม่พอใจก็ไม่สู้อีก 9 คนที่ยังพอใจได้

แต่ชนชั้นปกครองที่เกิดขึ้นก็ต้องวางตัวให้เป็น เล่นเกมส์ให้ได้ เพราะถ้าทำให้ทุกคนไม่พอใจพร้อมกันก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่เหลือคนให้ปกครองและตัวเองก็จะไม่มีข้าวกินพาลอดตายเอา

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เริ่มต้นขึ้นที่การเริ่มผลิตอาหาร ลงหลักปักฐาน เลิกเร่ร่อน การเป็นชุมชน จนเกิดชนชั้นปกครองขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

ทุกวันนี้ปัญหาปากท้องก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกไม่ต่างจากเมื่อก่อน เพราะในขณะที่หลายร้อยล้านคนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา กลับป่วยเป็นโรคอ้วนหรือได้รับสารอาหารล้นเกินอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันยังมีอีกคนนับพันล้านคนบนโลกที่อดอยากหิวโหย ไม่สามารถจะได้กินของที่มีประโยชน์ หรือแม้แต่แค่ให้อิ่มท้องทุกวันก็ยังยากมาก

อาหารบนจานหน้าที่คุณทาน ลองตั้งคำถามดูซิว่าของที่คุณกินอยู่ทุกวัน หรือที่คุณกำลังจะใส่ปากเคี้ยวกลืนมันเข้าไปนั้น คุณรู้จักเรื่องราวของมันดีแค่ไหน

แล้วคุณจะรู้ว่าประวัติศาสตร์กับเรื่องราวมากมายในจานเดิมๆคุณนั้น มีเรื่องให้เล่าได้ไม่เบื่อเลย

อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/