เมื่อพูดถึงพระพุทธรูป รูปจำลองเคารพถึงพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาหลักที่คนส่วนใหญ่ในชาตินับถือ แต่จะมีซักกี่คนที่รู้เหมือนผู้เขียนว่าเบื้องหลังของพระพุทธรูปนั้นมีการเมืองแฝงอยู่แบบที่นึกไม่ถึง

หนึ่ง เพื่อความเคารพ

แน่นอนว่าพระพุทธรูปอยู่ที่ไหน คนไทยส่วนใหญ่ก็จะให้ความเคารพกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะพุทธหรือไม่ใช่พุทธ แต่ถ้าเป็นคนไทยหรือไม่ใช่ไทยแต่อยู่ในไทยมานาน ก็พอจะรู้ว่าคนไทยนั้นให้ความเคารพพระพุทธรูปอย่างถึงที่สุด

แต่อีกนัยหนึ่งคือเพื่อให้ “คนเคารพ” ผู้ที่อัญเชิญพระพุทธรูปนั้นมาอยู่ในครอบครอง

ในสมัยก่อนย้อนกลับไปถึงสมัยพระเจ้าตากสิน และเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(รัชกาลที่ ๑) ก็มีการไปตีเอาเมืองขึ้น แล้วก็ยึดเอาพระพุทธรูปของเมืองเหล่านั้นมาอยู่ในครอบครองที่เมืองหลวงของตัวเอง (ในสมัยนั้นคือกรุงธนบุรี แล้วค่อยมาเป็นกรุงเทพมหานคร) เป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าโดยนัยว่าสิ่งสำคัญที่เป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของเมืองนั้นตกเป็นของเมืองนี้

ทั้งพระแก้วมรกตที่ได้มาจากเมืองลาว และยังมีพระบาง ที่ได้มาจากเมืองหลวงพระบาง แต่ในตอนหลังมีการนำพระบางกลับคืนไปยังเมืองเดิม เพราะเชื่อว่าถ้าพระแก้วมรกตและพระบางอยู่ด้วยกันจะทำให้แห้งแล้ง ข้าวของแพง ผู้คนอดอยาก

ดังนั้นในช่วงยุคระหว่างพระเจ้าตากสินมหาราช และรัชกาลที่ ๑ นั้น พระพุทธรูปคือการแสดงถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์เองที่บวกรวมเข้ากับความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาของผู้คนไปคู่กัน หรือพูดง่ายๆก็คือมีทั้งพลังทางโลก และพลังทางธรรมนั่นเอง

จึงเกิดการรวมพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มากกว่าพันองค์มาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดอื่นๆในช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นการประกาศให้รู้ว่านี่คือพลังอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรมให้เป็นที่รู้กันโดยทั่ว ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมบางวัดถึงมีพระพุทธรูปเยอะนัก และทำไมบางวัดถึงมีพระพุทธรูปแค่องค์เดียว

และในตอนนั้นพระพุทธรูปนั้นมีเฉพาะในรั้วในวังและตามวัดเท่านั้น ไม่ได้มีทั่วไปตามบ้านเรือนผู้คนเหมือนอย่างในบ้านเราทุกวันนี้

สอง พระพุทธรูปผสมความเป็นจีน

ในช่วงยุครัชกาลที่ ๒ ตอนปลายเป็นต้นมา ไทยเรามีความสนิทสนมกับจีนผ่านทางการค้า และการอพยพของชาวจีนที่เข้ามามากมาย ทำให้วัฒธนธรรมจีนไหลเข้ามาตามผู้คน จากเดิมที่เคยมีพระพุทธรูปตั้งโดดๆให้บูชาเดี่ยวๆ ก็ผสมกับการตั้งโต๊ะบูชาบรรพบุรุษแบบจีน จนกลายเป็นการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปมาจนถึงทุกวันนี้

และเมื่อชาวจีนที่เป็นพวกพ่อค้า คฤหบดี หรือเศรษฐีทั้งหลายที่มีฐานะ และมีความสนิทสนมกับเจ้าขุนมูลนายชนชั้นสูงทั้งหลาย ก็เริ่มซึมซับวัฒนธรรมไทยของชนชั้นสูงมาในการบูชาพระพุทธรูป จนทำให้เกิดความต้องการบูชาพระพุทธรูปเองที่บ้านบ้าง เพราะอย่างที่บอกว่าแต่เดิมนั้นพิธีการบูชาพระพุทธรูปนั้นถูกจำกัดอยู่แต่ในรั้วในวังของชนชั้นสูงหรือขุนนางขึ้นไปเท่านั้น

ไทยรับการจัดโต๊ะหมู่บูชาแบบจีน ส่วนจีนก็รับพิธีการบูชาพระพุทธรูปแบบไทย ทำให้เกิดการนิยมแพร่หลายกันไปมากขึ้น เริ่มมีพระพุทธรูปอยู่ตามบ้าน แม้จะยังไม่แมสเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มขยับจากเฉพาะกลุ่มออกมาสู่วงกว้างมากขึ้นในตอนนั้น

สาม ความรู้จากพระพุทธรูป

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นไป ชนชั้นสูงชาวไทยเริ่มตื่นตัวกับฝั่งตะวันตกอย่างยุโรป และอเมริกามากขึ้น เพราะเพื่อนบ้านอย่างพม่าที่เคยสู้รบปรมมือมาหลายชั่วโคตรนั้นพ่ายแพ้อังกฤษในเวลาไม่กี่วัน เลยทำให้ชนชั้นสูงชาวไทยทั้งหลายต้องรีบปรับตัวตามตะวันตกเพราะไม่อยากเป็นอย่างพม่า

จากความเชื่อในตำนานนิทานปรัมปราเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะสร้างโดยเทวดา หรือหล่นลงมาจากสวรรค์ ก็ถูกตีความใหม่โดยรัชกาลที่ ๔ ในแง่มุมของความรู้ ความเข้าใจ และประวัติศาสตร์แทน มองพระพุทธรูปเป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่าแทน เช่น จากเดิมที่เคยบอกว่าสร้างโดยเทวดาเพราะงดงามมาก ก็ถูกอธิบายความใหม่ว่าที่งดงามได้เพราะสร้างโดยช่างมีฝีมือทางตอนเหนือ

และมีการเปิดให้การเข้าถึงพระพุทธรูปนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วในวังเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่เปิดสาธารณะให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถเข้าชมความงามของพระพุทธรูปได้ด้วย อย่างที่วัดเบญจมบพิตรที่เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงรวบรวมพระพุทธรูปแบบต่างๆที่ไม่ซ้ำกันถึง 52 แบบ และอธิบายในเชิงความรู้ความเข้าใจมากกว่าเรื่องอภินิหารเหมือนแต่ก่อน

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าพระพุทธรูปเองก็มีวิวัฒนาการตามช่วงเวลา ตามความต้องการของสังคมแวดล้อม ตั้งแต่เป็นตัวแทนแสดงถึงอำนาจบุญญาบารีของกษัตริย์ผู้ปกครอง มาเป็นการผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน จนกลายมาเป็นโบราณวัตถุทางประวัตศาสตร์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมอยากลองไปวัดเบญจมบพิตรดูซักครั้ง ไปดูความสวยงามจากพระพุทธรูปทั้ง ๕๒ แบบที่ไม่ซ้ำกันที่รวบรวมมาจากทั่วไทยและต่างประเทศ แถมยังทำให้อยากรู้จักที่มาที่ไปของพระพุทธรูปมากขึ้นในครั้งหน้าหลังจากกราบไหว้ด้วย เพราะเราอาจไม่รู้ว่าพระพุทธรูปที่เราคิดว่าเรารู้จักดีหรือกราบไหว้เป็นประจำนั้น แท้จริงแล้วเราอาจไม่รู้อะไรเลยก็ได้ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 37 ของปี 2018

การเมืองเรื่องพระพุทธรูป
มองอำนาจการเมือง ผ่านการอัญเชิญพระพุทธรูปในช่วงสมัยรัชการที่ 1-5
วิราวรรณ นฤปิติ เขียน
สำนักพิมพ์ ศิลปวัฒนธรรม มติชน

20180403 

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/