สรุปหนังสือ กรุงเทพฯ มาจากไหน? สุจิตต์ วงษ์เทศ Bangkok: A Historical Background

กรุงเทพฯ มาจากไหน? ตอนที่ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ต่อมอยากรู้และอยากอ่านผมโตจนแทบระเบิดแล้ว เพราะคำถามนี้ทำให้ผมถามกับตัวเองว่า “เออ นั่นดิ แล้วกรุงเทพฯ มาจากไหนวะ?” หรือจริงๆ แล้วต้องถามใหม่เป็นว่า “กรุงเทพฯ กลายมาเป็นกรุงเทพฯ ได้อย่างไร?” และจากต่อมความอยากรู้ที่โตมากก็ทำให้ผมคว้าโดยไม่ลังเล และยิ่งได้เห็นว่าคนเขียคือคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อีกหนึ่งนักเขียนเรื่องแนวประวัติศาสตร์ชาวบ้านมากๆ ก็ยิ่งทำให้ผมควักเงินซื้อเร็วกว่าหนังสือเล่มอื่นอีกก็ว่าได้ครับ

ดังนั้นถ้าให้สรุปหนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหนก็บอกได้เลยว่า กรุงเทพฯ ที่เราอยู่ทุกวันนี้นั้นมาจากทะเล

คุณอาจกำลังงงว่า “มาจากทะเล? หมายความว่าอย่างไร” ก็หมายความว่าแต่เดิมทีพื้นที่กรุงเทพคือผืนน้ำท้องทะเล ไม่ได้เป็นผืนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ได้แบบทุกวันนี้ครับ

เพราะเมื่อ 12,000 ปีก่อนแผ่นดินบริเวณนี้ทั้งหมดยังเป็นทะเลสูงขึ้นไปจนถึงจังหวัดลพบุรีหรือสูงขึ้นไปกว่านั้นอีกด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าจะบอกว่ากรุงเทพกำลังจมน้ำนั้นไม่จริง ที่จริงคือกรุงเทพกำลังจะกลายเป็นทะเลอีกครั้งเหมือนเมื่อ 12,000 ปีก่อนถึงจะถูกครับ

กระทั่งเมื่อ 2,000 ปีก่อนตอนสมัยศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามายังภูมิภาคสุวรรณภูมินี้ ก็ต้องบอกว่ากรุงเทพฯ ทุกวันนี้ยงคงเป็นพื้นที่โคลนตม ไม่ใช่ดินแข็งๆ ที่สะดวกต่อการอาศัยใช้ชีวิตได้แบบทุกวันนี้ ถ้าดูจากสิ่งก่อสร้างในสมัยย้อนหลังไปมากกว่า 2,000 ก่อน เราจะเห็นว่าจะเป็นเวิ้งโดยรอบที่เว้นพื้นที่ภาคกลางของไทยทั้งหมดเอาไว้ครับ

ดังนั้นถ้าถามว่า “กรุงเทพฯ มาจากไหน?” ก็ต้องบอกว่ามาจากทะเลเมื่อไม่นานมานี้ และในอนาคตก็อาจจะกำลังคืนสู่ท้องทะเลก็ได้

และถ้าถามว่าคนกรุงเทพฯ มาจากไหน ก็มีมากมายหลายที่มา ตั้งแต่ที่เดิมทีอยู่บริเวณโดยรอบ เดิมทียกกันมาจากอยุธยา หรือกวาดต้อนมาจากลาวเพื่เอามาเป็นแรงงานบ้าง และก็มีที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากใหม่ไม่น้อย เช่น คนจีน หรือคนชาติอื่นๆ ที่ล่องเรือเดินทางเข้ามาค้าขายกลับไทยจนติดใจไม่กลับประเทศครับ

หนังสือกรุงเทพฯ มาจากไหนเล่มนี้มีเกล็ดความรู้ดีๆ ที่คนอยู่กรุงเทพมาทั้งชีวิตอย่างผมไม่เคยรู้มากมาย ตั้งแต่คลองต่างๆ ที่เราเพิ่งจะขุดขยายกันเมื่อไม่นานมานี้ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำเจ้าพระยาสายนี้ เพราะต้องการทำให้การเดินเรือเดินทางสะดวกรวดเร็วกว่าเดิมมาก จากเดิมบางโค้งน้ำอาจต้องกินเวลาในการเดินทางเป็นวัน แต่พอขยายคูคลองเล็กๆ ให้กลายเป็นทางแม่น้ำใหม่ก็ลดเวลาเหลือแค่หลักนาทีเท่านั้น

แต่การขุดคลองหรือตัดทางแม่น้ำให้สั้นลงก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่คาดว่าเดิมทีน่าจะมีคูคลองเล็กๆ สิ่งที่ทำคือขยายคูคลองนั้นให้กว้างขึ้นจนสามารถเดินเรือได้สะดวกขึ้น แล้วพอผ่านไปไม่นานจากแรงแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศก็จะขยายคูคลองให้ใหญ่ขึ้นเท่ากันทั้งสายด้วยตัวเอง

แต่ที่น่าสนใจคือตรงจุดโค้งน้ำสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจมีคนสงสัยว่าทำไมถึงไม่ตัดแม่น้ำตรงจุดนี้ให้สั้นลงด้วยล่ะ ในเมื่อก็ทำมาทุกจุดตั้งแต่อยุธยามาจนถึงกรุงเทพฯ แล้ว นั่นก็เพราะคนโบราณคิดไว้แล้วว่าโค้งน้ำสุดท้ายเอาไว้กั้นไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนเข้ามายังแม่น้ำได้ง่ายๆ เพราะถ้าลำน้ำตรงหมดถึงเวลาน้ำขึ้นน้ำทะเลก็จะหนุนขึ้นมาจนชาวบ้านริมน้ำไม่สามารถใช้น้ำเพื่อบริโภคได้ครับ

ฉลาดคิดจริงๆ นับถือคนกรุงเทพฯ แต่โบราณเลยครับ

จากนั้นแรกเริ่มเดิมทีกรุงเทพถูกเรียกว่า “บางกอก” แน่นอนว่าหลายคนน่าจะคุ้นดีกับชื่อนี้ แต่สิ่งที่บางคนอาจยังไม่รู้นั่นก็คือที่ถูกเรียกว่า “บางกอก” ก็เพราะแต่เดิมกรุงเทพมาต้นมะกอกเยอะ และคำว่า “บาง” ที่นำหน้าก็มาจากพื้นที่ๆ เป็นปากคลองสายเล็กๆ ดังนั้นชื่อบางกอกเลยมาจากแต่ก่อนพื้นที่กรุงเทพเดิมเป็นปากคลองสายเล็กๆ ที่มีต้นมะกอกอยู่เยอะ ก็เลยถูกเรียกว่า “บางกอก” ครับ

ส่วนเดิมทีก็ไม่ได้ชื่อกรุงเทพ แต่ชื่อธนบุรีศรีมหาสมุทร เพราะอย่าลืมว่าก่อนจะมีกรุงเทพ เมืองหลักที่เป็นเมืองหลวงของพื้นที่นี้ก็คือกรุงธนบุรีนั่นเอง ดังนั้นกรุงเทพจึงเปรียบได้กับอีกพื้นที่หนึ่งของกรุงธนบุรี แล้วพอพระเจ้าตากไม่อยู่กลายเป็นเจ้าพระยาจักรีขึ้นมาครองราชแถนก็เลยปรับฝั่งเมืองหลวงใหม่ให้มาอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ และก็ถูกขนามนามว่า “กรุงเทพฯ” นั่นเองครับ

อีกเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจคือ “มักกะสัน”

มักกะสัน แต่เดิมเพี้ยนมาจากชื่อหมู่เกาะมากัสสาร์ หรือ Macassar ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย แต่คนที่ถูกเรียกว่าแขกมักกะสัน มีทั้งที่มาจากเกาะมากัสสาร์ และเกาะเซลีเบส Celebes ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ดังนั้นจากมากัสสาร์ก็เลยเรียกกันเพี้ยนไปตามกาลเวลาจนกลายเป็นมักกะสันในทุกวันนี้ครับ

ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯ มาจากไหนคือ แล้วแม่น้ำเจ้าพระยามาจากไหน?

แม่น้ำเจ้าพระยาแต่เดิมทีไม่ได้ชื่อนี้ แต่ชื่อแค่ “แม่น้ำ”

เพราะแต่เดิมฝรั่งมาไทยแล้วถามคนไทยแถวนี้ว่าแม่น้ำนี่ชื่ออะไร คนไทยก็ตอบไปว่านี่คือ “แม่น้ำ”

อ่านดูเหมือนกวนตีนแต่เปล่า เพราะนี่คือตอบแบบซื่อๆ ด้วยความจริงใจ นั่นก็เพราะการเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่อาจจะกลายเป็นเข้าใจไปว่าฝรั่งนั้นถามว่า “นี่คืออะไร” ก็เลยบอกไปว่าเป็นแม่น้ำ เพราะถ้าดูจากแผนที่ในสมัยโบราณของไทยที่ฝรั่งทำ จะเห็นว่าพวกเขาใส่ชื่อกำกับแม่น้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ว่า “Maenam” หรืออ่านว่า “แม่น้ำ” ตรงตัวนี่แหละครับ

แล้วที่ได้ชื่อเจ้าพระยามาก็เพราะแต่เดิมทีบริเวณปากน้ำทางเข้านั้นคือเขาของบางเจ้าพระยา พอนานวันเข้าคนถามว่าจะไปกรุงเทพต้องไปตรงไหน คนก็บอกว่าต้องเข้าไปทางบางเจ้าพระยา ซึ่งก็คือคูคลองทางเข้านั่นเอง และนานวันเข้าก็เลยเข้าใจกันไปว่าแม่น้ำนี้คือแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องนี้บอกให้รู้ว่าหน้าปากคลองเป็นบ้านใครหรือเขตใคร เขตนั้นก็จะมีโอกาสกลายเป็นชื่อของคลองทั้งสายหรือแม่น้ำทั้งหมดนั่นเองครับ

แม่น้ำบางปะกงก็เหมือนกัน เพราะทางเข้าอยู่ตรงเขตบางประกง นานวันเข้าก็เลยเรียกแม่น้ำทั้งสายว่าแม่น้ำบางปะกงนั่นเอง

อีกเกร็ดประวัติศาสตร์ของกรุงเทพที่น่าสนใจในเล่มที่ผมติดใจ เพราะมันบอกถึงความเด็ดขาดและโหดเหี้ยมไม่น้อย นั่นก็คือเรื่อง “ศพพม่าที่วัดทอง คลองบางกอกน้อย”

เรื่องก็คือในตอนนั้นชุมชนวัดทองในคลองบางกอกน้อยเป็นชุมชนของเชลยพม่าที่คนไทยจับตัวมาอยู่รวมกัน แต่เดิมทีเชยลศึกพวกนี้มีไว้ใช้แรงงานหรือให้ออกศึกรบแทน แต่เมื่อครั้งสยามถูกพม่ายกทัพมารบและด้วยกำลังทหารไม่พอก็เลยมาถามเหล่าเชยลศึกพม่าเหล่านี้ว่า ถ้าจะขอให้ไปช่วยรบกับพม่าด้วยกันเองจะขัดข้องอย่างไรมั้ย

ครั้นเชลยศึกพม่ารู้แบบนั้นก็เลยบอกว่ามันคงแปลกอยู่นะ ถ้าจะให้ไปจับดาบสู้รบกับคนชาติเดียวกัน สู้ให้ไปรบกับคนชาติอื่นยังจะดีกว่า

พอฝ่ายไทยรู้แบบนี้เข้าก็เลยคิดว่าถ้าพวกเชลยพม่าไม่ยอมไปออกรบด้วยกัน ครั้นจะเก็บเอาไว้ในเมืองก็จะไม่มีกำลังทหารมาควบคุมดูแล แลปล่อยทิ้งไว้อาจจะกลายก่อเหตุวุ่นวายตอนเหล่าทหารไม่อยู่ เลยมีคำสั่งให้ประหารเสียให้หมดและก็เป็นกองศพพม่าที่วัดทอง

เป็นเรื่องที่ฟังดูหดหู่ แต่ก็ถ้าคิดในอีกแง่มุมหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพราะอะไร

ส่วนใครที่ชอบกินผัดไทประตูผีไม่ว่าจะร้านทิพย์สมัย หรือร้านลุงภา ผมอยากให้รู้ที่มาที่ไปของประตูผีซักหน่อย

ประตูผีนี้มีที่มาซึ่งหลายคนอาจจะพอรู้มาว่าแต่เดิมกำแพงเมืองจะมีประตูเล็กๆ สำหรับขนศพออกมาจากเมือง ก็เลยเป็นที่มาของคำว่าประตูผี เพราะประตู้นี้ผีผ่านได้ ส่วนประตูเมืองอื่นๆ ผ่านไม่ได้

ที่ประตูเมืองอื่นผีหรือศพผ่านไม่ได้ก็เพราะแต่ละประตูเมืองเขาจะลงอาคมเอาไว้ และก็ถือว่าห้ามศพผ่านออกประตูเมืองไปจะทำให้อาคมเสื่อม ดังนั้นทุกกำแพงเมืองก็ต้องมีประตูเล็กๆ เอาไว้ขนศพหรือให้ผีผ่านออกจากเมืองเพื่อไปทำพีธีหลังความตายต่อไป

และประตูผีก็ไม่ได้มารีจิสเตอร์เอาที่เมืองสยาม เพราะไทยเราก็ลอกเขมรมาแต่โบราณ เพราะจากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่าประตูผีเหล่านี้มีอยู่ทุกเมืองสำคัญครับ

ส่วนคำว่าเปรตวัดสุทัศน์ที่เรามักคุ้นหูกันก็ไม่ได้มาจากว่าแถววัดสุทัศน์มีผีเปรตเยอะ แต่เพราะแต่เดิมเริ่มตั้งกรุงเทพฯ แถวหน้าวัดสุทัศน์นั้นจะมีตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ และแถวนี้ก็อุดมไปด้วยวณิพกยากจนจำนวนมากที่มาชุมนุมขอทานกันเต็มไปหมด จนทำให้ผู้เขียนเรียกขานกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเปรียบเสมือนเปรตหน้าวัดสุทัศน์นั่นเองครับ

ส่วนวัดโพธิ์เองแรกเริ่มเดิมทีก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นวัดที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย แต่เดิมก็เป็นวัดธรรมดานี่แหละครับ เพียงแต่รัชกาลที่ 3 ได้ทำการ Re-Positioning แบรนด์วัดโพธิ์ใหม่ด้วยความที่ตั้งใจอยากให้เป็นแหล่งรวมความรู้สื่อกลางระหว่างรัฐกับราษฎร ด้วยการเอาความรู้ทั้งหลายทั้งปวงในประเทศมาบรรจุรวมไว้ที่วัดแห่งนี้ในเวลานั้น และนั่นก็เลยทำให้เราเห็นข้อความและภาพวาดต่างๆ มากมายเต็มวัดโพธิ์ถึงทุกวันนี้

ในขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจทางความรู้ให้กับชาวบ้านที่อยากจะหาทางทำมาหากินเพิ่ม ได้เข้ามาหาความรู้ที่วัดโพธิ์เอาออกไปต่อยอดทำงานสร้างรายได้ในแบบของตัวเองจนประเทศชาติเจริญเอาๆ ในช่วงเวลานั้น

เห็นมั้ยครับว่าการเปิดความรู้ให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายจะช่วยทำให้ประเทศชาติเจริญได้ขนาดไหน รัชกาลที่ 3 ท่านทรงมองการไกลจริงๆ ครับ

ส่วนภูเขาทองสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพฯ เองก็มีอดีตที่น่าสนใจ แรกเริ่มเดิมทีตอนสร้างครั้งแรกเคยวางรากฐานผิดพลาดจนพัง แล้วก็ถูกทิ้งร้างไว้นานหลายสิบปี จนชาวบ้านผู้คนแถวนั้นต่างเรียกกันว่า “ภูเขาทอง” จากนั้นถึงค่อยมาเริ่มสร้างกันใหม่แล้วทางหลวงก็ตั้งใจว่าจะให้ชื่อ “สุวรรณบรรพต”

แต่ชาวบ้านระแวกนั้นก็ไม่มีใครเรียกชื่อยากๆ ที่ทางหลวงตั้งใจตั้ง และใครๆ ก็เรียกกันว่าภูเขาทองตามๆ กันมาจนถึงวันนี้

และประวัติศาสตร์กรุงเทพเรื่องสุดท้ายที่น่าสนใจคือเรื่อง “สนามหลวง”

เราชอบคิดว่าสนามหลวงคือที่สำหรับการเล่นว่าวเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วพื้นที่สนามหลวงถูกใช้ทำอะไรมากมาย ตั้งแต่เป็นหนองบึงให้ชาวลาวที่ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานที่กรุงเทพใช้เป็นพื้นที่หาสัตว์มาทำกิน หรือแม้แต่เคยเป็นสนามแข่งม้า หรือสนามกอล์ฟมาแล้วเช่นกัน

สนามหลวงของกรุงเทพฯ เรานี่เปรียบได้กับลานอเนกประสงค์จริงๆ ครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือสรุปเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมได้รู้จักกรุงเทพฯ เดิมที่เคยอยู่มาแต่เกิดในมุมใหม่ที่ยิ่งรู้ยิ่งน่าสนใจกับประวัติศาสตร์ใกล้ตัว

ถ้าคุณอยากรู้จักกรุงเทพฯ ในมุมใหม่เหมือนผม แนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ เพราะเต็มไปด้วยรูปภาพเก่าแก่รวมถึงรูปวาด ดูแล้วคุณจะรู้ว่ากรุงเทพฯ และประเทศไทยเราพัฒนาไปมากกว่าจะจินตนาการได้จริงๆ ครับ

สรุปหนังสือ กรุงเทพฯ มาจากไหน? สุจิตต์ วงษ์เทศ Bangkok: A Historical Background

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 3 ของปี 2020

สรุปหนังสือ กรุงเทพฯ มาจากไหน?
Bangkok: A Historical Background
สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน
สำนักพิมพ์ Dream Catcher

อ่านสรุปหนังสือเล่มอื่นที่เป็นแนวนี้ของนักเขียนคนนี้ต่อ > https://www.summaread.net/?s=%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B9%8C+%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8

สนใจซื้อไว้อ่านบ้าง > http://bit.ly/2Rj8ZNg

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/