สรุปหนังสือ How to Prevent The Next Pandemic สู่โลกปลอดเชื้อ Bill Gates คู่มือป้องกันการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป หนังสือที่บิล เกตส์ เขียนขึ้นระหว่างช่วงโควิด 19 ช่วงที่โลกเราเจอกับภายพิบัติโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกทั้งใบต้องหยุดหมุนนานเกือบปี ไปจนถึงหมุนแบบสะดุดหลายปีมาแล้ว หนังสือเล่มนี้เปรียบกับคู่มือเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดใหญ่ครั้งหน้า ที่ทำให้มนุษยชาติต้องหยุดทุกกิจกรรมแล้วล็อคดาวน์อยู่บ้านอีกครั้ง เพราะคิดว่าคงไม่มีโรคระบาดใดจะร้ายแรงกว่านี้ได้
บิล เกตส์ เองเลยใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ จะเรียกว่าเป็นคู่มือสำหรับการเกิดโรคระบาดใหญ่ในครั้งหน้าก็ว่าได้ โดยใช้ความสามารถในการรวบรวมดาต้ามากมายกับข่าวสารที่กระจัดกระจายจากทั่วโลก เพื่อทำให้เราได้เห็นภาพว่าสิ่งใดที่ทำแล้วเวิร์ค สิ่งไหนที่ทำแล้วไม่เวิร์ค เพื่อจะได้เป็นแนวทางการรับมือหลังจากนี้ ไม่ใช่สำหรับภาคประชาชน หรือแค่เอกชนเท่านั้น แต่น่าจะเหมาะมากๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่ข้าราชการ คนที่ต้องดำเนินการออกนโยบายต่างๆ จะได้ไม่สั่งการผิดพลาด ตั้งสินใจเฉพาะหน้าหวังผลระยะสั้นกันคนก่นด่าต่อว่า จนทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตประชาชน แล้วหันมาดำเนินนโยบายสั่งการเพื่อประโยชน์ระยะยาวที่แม้จะถูกต่อว่าไม่เห็นด้วยระยะสั้นจากสังคมก็ตาม
สิ่งแรกที่บิล เกตส์ สังเกตเห็นคือประเทศไหนที่ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลดี การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จะยิ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
เพราะถ้าประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสั่งในสิ่งที่ดีต่อพวกเขา ก็ย่อมได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามโดยไว แต่ถ้าประเทศไหนประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลต่ำ การปฏิบัติตามก็จะเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นจากการทำ Data Research ในช่วงเวลานั้นพบว่า แม้ประเทศไทยประชาชนจะไม่ค่อยเชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐเท่าไหร่ แต่พอมีดาราคนดังประกาศว่าติดเท่านั้นแหละ ความสนใจพุ่งทะยาน ผู้คนยินดีป้องกันและลดการออกจากบ้านอย่างทันที จนกระทั่งถึงจุดที่รัฐบาลประกาศสั่งล็อคดาวน์ประเทศห้ามออกจากบ้านในที่สุดครับ
บิล เกตส์ เล่าเสริมอีกบริบทที่คล้ายกันนั่นคือการป้องกันไฟป่า จากเดิมเคยเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนในพื้นที่นั้น ที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังคนละไม้คนละมือ แต่พอหน้าที่นั้นถูกโยกออกมามีหน่วยงานรับผิดชอบอย่างจริงจัง ผลคือการป้องกันไฟป่าลดลง เพราะมีกำลังคนจำกัด แม้จะทุ่มงบประมาณไปปีละกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังไม่ได้ผลดีเท่ากับตอนที่ให้ทุกคนในชุมชนที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือเท่าไหร่เลย
ดูเหมือนว่าการจะทำเรื่องใหญ่ๆ ควรใช้คนตัวเล็กๆ ร่วมมือกันจะดีกว่า แต่ให้ดีที่สุดควรมีสองทางร่วมด้วยช่วยกัน ให้ชุมชนช่วยกันดูแล ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็ช่วยสนับสนุนทรัพยากรให้กับชุมชนเหล่านั้นน่าจะดีที่สุดในเวลานี้
หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงการที่รัฐบาลต่างๆ หรือโลกเราควรมีหน่วยงานเฝ้าระวังมองหาสัญญาณเตือนภัยของโรคระบาดใหม่ๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกหน่วยงานควรทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา
อย่างหน่วยงาน CDC ที่คอยดูแลเรื่องโรคระบาดก็จะคอยรับข้อมูลอัปเดทจากทางโรงเรียนอนุบาลว่า ช่วงนี้มีเด็กเล็กหยุดเรียนพร้อมกันเยอะๆ ไหม ถ้าใช่แสดงว่าเป็นสัญญาณของโรคระบาดอะไรสักอย่าง
อย่างร้านขายยาทั่วประเทศเองก็ช่วยในการแชร์ข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐว่ามียาอะไรบ้างที่ขายดีเป็นพิเศษ ยาประเภทลดไข้เริ่มขายดีผิดปกติช่วงไหน นั่นก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอาจเริ่มเกิดการระบาดของโรคอะไรสักอย่าง เพียงแต่ยาลดไข้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ประชาชนทั่วไปใช้เมื่อรู้สึกไม่สบาย ตัวร้อน
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วอาการไม่สบายตัวร้อนนั้นไม่ได้มีแต่การเป็นไข้ แต่เกิดขึ้นได้จากมากมายหลายสาเหตปัจจัย ซึ่งก็ต้องเข้าไปสืบสวนสอบสวนกันอีกครั้งหนึ่ง
หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขก็ใช้วิธีการเช็คปริมาณเชื้อโรคในน้ำทิ้งได้ ดูว่ามีเชื้อโรคอะไรที่ประหลาดแปลกพิศดารโผล่ขึ้นมาอย่างผิดปกติไหม หรือมีเชื้อโรคตัวไหนมีจำนวนเยอะเป็นพิเศษในท่อน้ำทิ้งหรือเปล่า
หรือแม้แต่การใช้ Social Listening เพื่อคอยเฝ้าดูว่ามีการพูดถึงอาการไม่สบาย ตัวร้อน เป็นไข้ อาเจียน ท้องเสีย หรือคำที่เกี่ยวกับโรคภัยใข้เจ็บต่างๆ มากขึ้นอย่างผิดปกติในพื้นที่ใดบ้างหรือเปล่า
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสัญญาณเตือนภัยที่เราสามารถเอามาใช้ประกอบสร้างโมเดลเพื่อเฝ้าระวังโรคระบาดใหม่ครั้งถัดไปได้ การป้องกันอย่างไรก็ถูกกว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอครับ
ถัดมาบิล เกตส์ ก็บอกว่าการชันสูตรศพนั้นช่วยได้เยอะมาก เพียงแต่ปัญหาคือสำหรับผู้เสียชีวิตบางคนที่ติดหลักศาสนา และโดยเฉพาะผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กหละ จะชันสูตรศพแบบไหนที่จะไม่เป็นการทำร้ายจิตใจผู้เป็นพ่อแม่ที่ต้องเสียลูกยังเด็กไป
ดังนั้นควรมีการออกมาตรการชันสูตรศพแบบที่ไม่ก่อให้เกิดร่องรอยทางร่างกายมากกว่าเดิมอีก ต้องทำด้วยความระมัดระวังและเคารพผู้ที่เกี่ยวข้องกับศพดังกล่าว
เรื่องนี้ฟังดูเล็กน้อย แต่มันคือเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้ที่ต้องสูญเสียคนรักไปจริงๆ เรื่องนี้ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่ต้องใช้ความเข้าใจและใส่ใจ และเห็นอกเห็นใจต่อกันมากๆ ครับ
ประเด็นถัดมาคือนโยบายระมัดระวังขั้นสูงสุด เป็นการทำเกินกว่าเหตุ กระต่ายตื่นตูม หรือเหมาะสมแล้ว ?
เราจะเห็นว่าในช่วงแรกที่โควิดระบาด ทุกประเทศทั่วโลกล้วนใช้มาตรการระมัดระวังขั้นสุด นั่นก็คือการประกาศล็อคดาวน์ห้ามประชาชนออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ผลคือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นศูนย์ในระยะเวลาอันสั้น
อย่างบ้านเราเองก็จะเห็นว่าสามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ได้รวดเร็วและนานอย่างไม่น่าเชื่อ และหลายประเทศก็มีทิศทางแนวโน้มไปอย่างนั้น จะทำให้เกิดการตั้งคำถามจากประชาชนหลายภาคส่วนว่า นโยบายล็อคดาวน์ขั้นสูงสุดนั้นเป็นการป้องกันที่เกินเหตุไปหรือเปล่า
ต้องบอกว่าบริบทสังคมวันนั้นเศรษฐกิจหยุดชะงักแบบแทบจะเป็นศูนย์ในทันที จึงเริ่มเกิดการกดดันให้เริ่มทยอยเปิดเมือง ให้เริ่มทยอยเปิดให้บริการร้านค้าต่างๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจพอจะขยับเขยื้อนได้บ้าง ไม่ใช่จะเอาแต่กดจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ที่ศูนย์ตลอดเวลา
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานหลังจากการผ่อนคลายมาตรการอย่างมาก ผลคือก่อให้เกิดการระบาดหนังสือ Wave 2 ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นบทเรียนจากโควิด 19 ครั้งนี้คืออย่ารีบผ่อนคลายการป้องกันขั้นสูงสุดกับโรคที่เรายังไม่รู้จักมันดีพอ
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือจาก Data พบว่าก่อนล็อคดาวน์กลุ่มคนรวยออกจากบ้านเยอะที่สุด ส่วนกลุ่มที่ออกจากบ้านน้อยที่สุดคือกลุ่มคนจน หรือคนที่ฐานะไม่ดี แต่พอล็อคดาวน์สถานการณ์นั้นกลับกัน กลายเป็นกลุ่มคนรวยแทบไม่ออกจากบ้านเลย แต่กับกลุ่มคนจนฐานะไม่ดีออกจากบ้านเยอะที่สุด
ทำไมดาต้าถึงบอกแบบนั้น เมื่อทำความเข้าใจในบริบทจึงพบว่า เพราะกลุ่มคนรวยสามารถกักตุนของกิน และมีทุกสิ่งที่ต้องการภายในบ้านตัวเองพร้อม ส่วนกลุ่มคนจนฐานะไม่ดีจำเป็นต้องออกจากบ้านไปหาเงิน และงานที่พวกเขาทำในช่วงเวลานั้นก็มักเป็นการขับรถส่งอาหาร ที่คนรวยเป็นคนสั่งอยู่บ้านนั่นเอง
วัคซีนพัฒนาเร็วมากในช่วงโควิด
ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะทำให้รู้ว่าแต่เดิมทีกว่าจะพัฒนาวัคซีนแต่ละตัวได้สำเร็จจนออกมาฉีดให้กับผู้คนได้ ล้วนใช้เวลาตั้งแต่หลายสิบปี ไปจนถึงหลายปีเป็นอย่างน้อย
- 62 ปี สำหรับวัคซีนโรคไอกรน
- 47 ปี สำหรับวัคซีนโรคโปลิโอ
- 10 ปี สำหรับวัคซีนโรคหัด
แต่กับโรคโควิด 19 นั้นกลับใช้เวลาแค่ 1 ปี ถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับอดีตการพัฒนาวัคซีนสักตัว และนั่นบอกให้รู้ว่าอีกหน่อยการผลิตวัคซีนจะลดระยะเวลาเหลือแค่หลักเดือน ไปจนถึงหลักสัปดาห์ นั่นหมายความว่าเราอาจจะต้องล็อคดาวน์ให้รวดเร็วกว่าเดิม และเข้มงวดกว่าเดิม เพื่อลดการสูญเสียที่ป้องกันได้
อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ นั่นคือความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการเข้าถึงวัคซีนที่เร็วกว่ามาก แน่นอนด้วยความที่เป็นประเทศผู้ผลิตเอง ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ต้องรอต่อไป คอยต่อไป อย่างประเทศไทยเรากว่าจะได้ mRNA มาก็ใช้เวลานานมาก (แต่อันนี้น่าจะติดการเมือง)
บอกให้รู้ว่าถ้ามีการแพร่ระบาดรอบหน้า การกระจายวัคซีนควรรวดเร็วและเป็นธรรมมากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นจะมีผู้คนจำนวนมากล้มตายทั้งที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
ส่วนการขนส่งวัคซีนในช่วงที่ผ่านมาเองก็เจอปัญหาท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะระยะทางการขนส่ง ระยะเวลาจัดเก็บ หรือที่หนักที่สุดคืออุณหภูมิที่ต้องใช้ในการจัดเก็บ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อวัคซีน mRNA อย่างมาก นั่นหมายความว่าต่อให้เราพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดใหม่ได้ไว แต่ถ้าวัคซีนที่ผลิตได้กลายเป็นชนิดที่ต้องใช้ความสามารถในการขนส่งสูง อาจทำให้การเข้าถึงวัคซีนเป็นเรื่องยาก
ประเด็นสุดท้ายที่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าโรคระบายอย่างโควิดจะก่อให้เกิดสิ่งนี้ นั่นก็คือ
Covid Disruption
อย่างที่เรารู้กันว่าการทำ Digital Transformation นั้นถูกพูดถึงกันมานาน แถมบริษัททั่วโลกต่างก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาหลายปี แต่ก็ยังไม่เคยทำได้สำเร็จแบบจริงจังสักที
แต่พอโควิดมาทุกคนต้องล็อคดาวน์อยู่บ้าน ทำให้การทำ Digital Transformation สามารถเริ่มได้ทันทีภายในระยะเวลาไม่กี่วัน และเกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ดังนี้
- การทำงานแบบ Work from Home กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกบริษัททำได้
- การประชุมออนไลน์สามารถทำให้เกิดผลได้ และทั่วโลกก็รู้จักแอป Zoom ในช่วงเวลาดังกล่าว
- การซื้อของออนไลน์เกิดขึ้นได้กับทุกสิ่ง ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าแฟชั่น แต่ไปถึงก๊อกน้ำ ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จนส่งผลให้ Ecommerce โตแบบก้าวกระโดด
- การสั่งอาหารผ่านออนไลน์หรือแอป Food Delivery เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว
- การจ่ายเงินทางออนไลน์ หรือ Digital Payment หรือที่เรียกว่า Cashless เกิดขึ้นทันทีเพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงจับเงิน
- เกิดการลงทะเบียนในแอปต่างๆ มากมายเพื่อรับเงินเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐ เกิด Super App แรกของประเทศไทยจริงๆ ขึ้นมาอย่าง “เป๋าตัง”
และนี่ก็เป็นแค่ส่วนไหนของ Covid Disruption ที่ Digital Transformation พยายามทำมานานแต่ไม่เกิดสักทีครับ
สรุปหนังสือ How to Prevent The Next Pandemic สู่โลกปลอดเชื้อ คู่มือป้องกันการระบาดใหญ่ครั้งถัดไป
แม้ในวันนี้เราจะไม่ได้กังวลอะไรกับโรคโควิดสายพันธุ์ไหนอีกแล้ว เรายกเลิกการใส่หน้ากากในทุกประเทศทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มนี้จะหมดความจำเป็นในวันที่หมดโรคระบาด เพราะผมเคยได้ยินว่าโลกเรามักมีโรคระบาดใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นประจำ ส่วนโรคระบาดที่ดูจะร้ายแรงก็มักเกิดขึ้นทุกสิบปี เพียงแต่ที่ผ่านมามักควบคุมได้รวดเร็วก่อนที่มันจะแพร่กระจายไปทั่วโลกแบบ Covid 19
นั่นหมายความว่าเราควรอ่านหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่วันที่โรคระบาดใหม่ยังไม่อุบัติ เพื่อที่วันนึงถ้ามันเกิดทะลึ่งอุบัติ เราจะได้ป้องกันและรับมือได้ทัน จะได้ไม่ต้องมานั่งบอกกับตัวเองในอนาคตวันนั้นว่า “รู้งี้ทำแบบนั้นดีกว่า” ครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 9 ของปี 2024
สรุปหนังสือ How to Prevent The Next Pandemic
สู่โลกปลอดเชื้อ คู่มือป้องกันการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป
Bill Gates เขียน
นำชัย ชีววิวรรธน์ แปล
สำนักพิมพ์ มติชน
อ่านสรุปหนังสือแนวสุขภาพในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://www.summaread.net/category/health/
สั่งซื้อออนไลน์
https://shope.ee/9zb8supyIQ
https://shope.ee/7KaNi1i3Gj
https://shope.ee/1fw0xd7Tyt