ตอนแรกที่เลือกอ่านเล่มนี้เพราะเห็นชื่อหนังสือคล้ายกับเล่มที่อ่านจบก่อนหน้ามา Stuff Matter ที่พูดถึงความน่าทึ่งของวัสดุต่างๆ 10 ชนิดที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ทั่วโลกนั้นสะดวกสบายขึ้นมหาศาล แต่ในเล่มนี้กลับกลายเป็นคนละขั้วของเล่มนั้นก็ว่าได้ คนละขั้วที่ว่ามันยังไงกันล่ะ ต้องเริ่มที่ภาพยนต์สารคดีเรื่องนึงที่ชื่อเดียวกับหนังสือเล่มนี้ครับ
The Story of Stuff เป็นสารคดีเรื่องสั้นที่มีให้ดูเต็มๆในยูทูป พร้อมมีซัพไทยให้เลือกด้วยนะ ว่าด้วยเรื่องราวของข้าวของทั้งหลายของเราที่เราซื้อหามาว่ามีที่มาที่ไปยังไง
ขุด ทำ ใช้ ทิ้ง
ขุด..คือวงการของการผลิตข้าวของต่างๆรอบตัวเรามากมาย
การขุด คือการสกัดเอาทรัพยากรของโลกเรามา ไม่ว่าจะเป็นการขุดเหมืองถลุงแร่ หรือระเบิดภูเขาเพื่อเอาถ่านหิน (ระเบิดภูเขาจริงๆครับ ไม่ใช่หนังอาฉลอง) ตัดต้นไม้เพื่อเอาไปทำกระดาษ และยังมีอีกสารพัดวิธีที่มนุษย์จะคิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการกินและใช้ของเราทั้งหมด
ทำ..คือการแปรเปลี่ยนวัตถุดิบที่ขุดสกัดขึ้นมากลายเป็นสินค้าที่เราต้องการ
เช่น กระดาษ กว่าจะมาเป็นกระดาษนั้นเราต้องเอาต้นไม้ที่ตัดมาเรียบร้อยแล้วๆก็ทุบๆๆๆมันให้กลายเป็นเยื่อบางๆ แล้วเอาไปล้างด้วยสารเคมี แล้วก็เติมสารเคมีมากมายที่เป็นอันตรายต่อเราเวลาเราดมกลิ่นมัน
ของทั้งหลายที่เราซื้อมานั้นกลับเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายต่อเรามากกว่าที่คิด ไม่แน่ใจว่าเงิน 100 บาทที่เราจ่ายไปนั้นจริงๆแล้วเราใช้มันเพื่อช่วยทำให้เราเจ็บป่วยง่ายขึ้น และตายเร็วขึ้นไปกี่สิบบาทกันแล้ว
ใช้..ไม่ต้องบอกก็รู้พอเราจ่ายเงินให้กับข้าวของต่างๆที่เราอยากได้มันมา
โดยเฉพาะรถยนต์ตามตัวเลขที่ประเมินกันไว้ก็คือ 10% ครับ 10% ของมูลค่ารถที่มันจะหายไปทันทีที่คุณขับมันออกจากศูนย์ ข้าวของสมัยนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทนทานเหมือนสมัยก่อนรุ่นพ่อแม่เรา
ข้าวของสมัยนี้ไม่ได้ถูกผลิตมาให้ซ่อมได้ง่ายเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป ของสมัยนี้ล้าสมัยเร็วกว่าอายุการใช้งานจริงๆของมันด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร? เพื่อให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าต้องซื้อของใหม่เพราะของที่มีมันเก่าไม่ทันสมัยไปซะแล้ว
บริษัทผู้ผลิตทำให้เรารู้สึกว่าการซ่อมมันไม่คุ้มค่า ซื้อใหม่บางทีก็ถูกกว่าซ่อมซะแล้ว จากประสบการณ์ตรงผมคือเครื่องดูดฝุ่นครับ
เครื่องดูดฝุ่นของผมไม่ได้เสียเพียงแค่สายท่อดูดฝุ่นมันขาดเสื่อมสภาพ แต่พอถามราคาแค่สายเครื่องดูดฝุ่นกลับมาราคาถึงครึ่งนึงของเครื่องดูดฝุ่นเครื่องใหม่ เท่านี้ผมก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงเลือกซื้อใหม่มากกว่าซ่อม
ทิ้ง..ไม่ต้องบรรยายเยอะ พอคุณทิ้งมันก็เป็นขยะ
แต่เราส่วนใหญ่มักมองโลกในแง่ดีว่า “รีไซเคิลไง” ใช่ครับเราสามารถรีไซเคิลขยะได้ แต่คุณรู้มั้ยว่าในการรีไซเคิลนั้นก็ต้องใช้พลังงานในการแยกวัตถุดิบออกมาใหม่ไม่น้อยกว่าการผลิตใหม่ด้วยซ้ำ อาจจะดีกว่าในแง่ที่ไม่ต้องไปสกัดวัตถุดิบขึ้นมาใหม่ และปัญหาของการรีไซเคิลคือผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาให้ง่ายต่อการรีไซเคิล หรือแทบจะรีไซเคิลไม่ได้เลย
71 เท่า คือตัวเลขของขยะที่อยู่เบื้องหลังของทุกอย่างที่เราใช้เงินจ่ายซื้อมา
ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงทิ้งมันลงถังขยะ ดังนั้นถ้าครั้งหน้าที่คุณคิดจะซื้ออะไรเพิ่มขึ้นมาเช่น เก้าอี้ตัวนึง ให้มองภาพว่ากว่าจะมาเป็นเก้าอี้ตัวนี้มีขยะปริมาณเท่าเก้าอี้แบบเดียวกันอีก 71 กองข้างอยู่ข้างหลังแต่มันล่องหนอยู่คุณเลยมองไม่เห็นมัน เผื่อว่าคุณจะคิดมากขึ้นก่อนจะซื้อว่ามันจำเป็นมั้ย
136 ลิตร คือน้ำที่ใช้ทั้งหมดกว่าจะมาเป็นกาแฟสด 1 แก้วของคุณ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การดูแลรักษา การขนส่ง จนมาเป็นกาแฟสดให้คุณดื่มเพื่อตื่นทุกเช้า
323 ล้านคน คือจำนวนคนทั้งประเทศอเมริกา ห้าง Wallmart ในสหรัฐมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 600 ล้านตารางฟุต สามารถให้คนทั้งประเทศอเมริกาไปอยู่ในห้าง Wallmart ได้ทุกคน ห้างเดียวจุคนได้ทั้งประเทศ
6,000 ตัน คือปริมาณของปรอทโลหะหนักที่เป็นสารพิษต่อร่างกาย ที่ถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติผ่านโรงงานถ่านหิน โรงงานโซดาไฟ โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระดาษ และกระบวนการเผาขยะโดยเทศบาลต่างๆ ไม่ต้องถามว่ามันจะไปไหน ส่วนใหญ่ก็จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดิน หรือระบายออกทะเล แล้วก็ไปอยู่ในสัตว์น้ำต่างๆที่เรากินกันทุกวัน
ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่าในปี 2003 ผู้คนทั่วโลกใช้จ่ายเป็นค่าเครื่องสำอางค์ 18,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่บริการสาธารณะสุขด้านการอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับสตรีทุกคนบนโลกจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์ และการขจัดความหิวโหยและโรคขาดสารอาหารจะมีค่าใช้จ่าย 19,000 ล้านดอลลาร์
แต่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมกันกลับใช้เงินถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ไปกับอาหารเลี้ยงสัตว์ อีกค่าใข้จ่ายสำหรับการล่องเรือสำรญคิดเป็น 14,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้ทุกคนบนโลกมีค่าใช้จ่ายเพียง 10,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
การที่ประเทศไหนรวยกว่า หรือมีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่า ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปกดขี่หรือแย่งชิงทรัพยากรจากประเทศที่ด้อยกว่าได้ หลายประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้วกลับเอาเปรียบจากประเทศด้อยพัฒนากว่าส่วนใหญ่
ไม่ว่าจะด้วยการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การทำอุสาหกรรมอันตรายในประเทศเหล่านั้น(เพราะประเทศตัวเองทำไม่ได้เพราะผิดกฏหมาย) การสกัดเอาทรัยากรของประเทศเหล่านั้นไปในราคาแสนถูก และการเอาขยะสารพิษที่ยากต่อการกำจัดมาทิ้งในประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้นแล้วอ้างว่าเป็นการนำเข้าขยะมาเผาเพื่อสร้างรายได้ หรืออ้างว่าเป็นการนำการรีไซเคิลเข้ามาเพื่อพัฒนาประเทศเหล่านั้น
ดูตัวอย่างง่ายๆก็ได้ครับ บ้านเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดนเอาเปรียบเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานแบบ outsource จากประเทศแม่ผู้เจริญแล้วที่ได้แรงงานราคาถูกแต่ไร้สวัสดิการที่ดีพอ ไม่ว่าจะทำให้แบรนด์เสื้อผ้า เครื่องกีฬาดังๆแค่ไหน
เราคงจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนกลุ่มคนแรงงานร้องให้ประท้วงกับโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้ารองเท้ากีฬาให้แบรนด์ดัง เพราะโรงงานผลิตนั้นไม่ใช่โรงงานของตัวแบรนด์เอง แต่เป็นการจ้างแบบ outsource ที่สามารถยกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้และไร้สวัสดิการดีๆที่คนงานควรจะได้
หรือข่าวที่ได้ยินมาหมาดๆเมื่อไม่นานมานี้ คือมีเรือต่างชาติขนขนะมาทิ้งที่ทะเลไทยวันละ 15 ตันทุกวัน ที่แถวเกาะสีชัง ชลบุรีนี่เอง ลองคิดดูซิครับว่าทำไมเราถึงยอมให้ประเทศผู้เจริญเหล่านั้นมาทำเรื่องต่ำทรามแบบนี้กับเราได้
พออ่านเล่มนี้จบเลยทำให้ผมมีมุมมองต่อข้าวของต่างๆและการจะซื้อหรือทิ้งของต่อจากนี้เปลี่ยนไป ต่อไปนี้ผมคงจะถามตัวเองว่าผมได้ใช้มันคุ้มค่าแล้วหรือยัง ไม่ใช่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่คุ้มค่ากับทรัพยากรขั้นตอนการผลิตกว่าจะมาถึงมือผมในตอนนี้
คุ้มค่ากับขยะของมันที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังที่ผมมองไม่เห็นกองใหญ่โต คุ้มค่ากับธรรมชาติที่เสียสละให้ในราคาถูก หรือก่อนจะซื้อใหม่ผมจะถามว่ามันจำเป็นจริงๆมั้ยที่ผมต้องมีสิ่งนี้
และก่อนจะทิ้งอะไรซักอย่างผมคงถามตัวเองอีกครั้งว่าเราต้องทิ้งมันจริงๆแล้วหรือยัง หรือเราสามารถส่งต่อให้คนอื่นที่ต้องการมากกว่าเราได้ หรือเราสามารถใช้มันได้เกิดมูลค่ามากกว่านี้อีกได้มั้ย
เพราะโลกเรามีใบเดียว และทุกวันนี้เรากำลังใช้โลกเรามากกว่าที่โลกจะให้เราทัน
เราใช้โลกปีละ 1.4 ใบ ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆเรากำลังใช้เงินเกินตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ อาจสังสัยว่าแล้วทำไมเราถึงยังใช้เงินเกินตัวได้อยู่เรื่อยๆล่ะ ก็ต้องตอบง่ายๆว่าก็เหมือนกับโลกนี้สะสมเงินไว้ให้เราก่อนที่เราจะเริ่มเดินสองขาหรือมีภาษาสื่อสารกันได้มานานมาก เรากำลังใช้เงินสะสมของพ่อแม่เราไปเรื่อยๆ มากกว่าเงินเดือนที่เราหามา
แน่นอนวันนึงเงินสะสมของพ่อแม่เราจะหมดไป แล้ววันนั้นอะไรๆก็คงสายเกินไปที่จะเริ่มคิดแก้ไขหรือทำอะไรแล้วล่ะครับ
อ่านแล้วเล่า สรุปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2018
สรุปหนังสือ The Story of Stuff เรื่องเล่าของข้าวของ
Annie Leonard เขียน
พลอยแสง เอกญาติ แปล
สำนักพิมพ์ มติชน
อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/ecosystem/