สรุปหนังสือ การเงินจนคน The Poor and Their Money สฤณี อาชวานันทกุล แปล สำนักพิมพ์ SALT Publishing สนับสนุนการแปลโดยบริษัทเงินติดล้อ

หนังสือการเงินคนจนที่แปลมาจาก The Poor and Their Money เล่มนี้ได้รับการสนับสนุนให้แปลเป็นภาษาไทยโดยบริษัทเงินติดล้อ ที่ต้องการให้คนที่ได้รับรู้และเข้าใจวิถีชีวิตคนจนอย่างลึกซึ้งกว่าความเชื่อมเดิมๆ ที่ว่า คนจนนั้นจนเพราะเก็บเงินไม่เป็น หรือเพราะบริหารเงินไม่เป็นถึงจน เพราะในความเป็นจริงแล้วคนจนนั้นบริหารเงินเก่งไม่แพ้คนชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง ซึ่งสาเหตุหลักสำคัญก็เพราะคนจนมีเงินอยู่น้อยนิด ดังนั้นยิ่งมีน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องใช้สมองว่าจะทำอย่างไรกับเงินนั้นให้เกิดค่าสูงสุด

ถ้าพวกเขาออมเงินเก่ง บริหารเงินเป็น แล้วเหตุใดพวกเขาถึงยังคงจนอยู่ล่ะ?

ที่คนจนยังจนอยู่ส่วนหนึ่งก็เพราะสภาพแวดล้อมที่คนจนอยู่ไม่เอื้อต่อการออมเลย ลองคิดดูซิว่าถ้าคุณต้องอยู่บ้านกระต๊อบเพิงสังกะสีที่อาจจะถูกมองลอดเข้ามาจากภายนอกเมื่อไหร่ก็ได้ คุณคิดว่าจะเอาเงินเก็บไว้ตรงไหนในบ้านถึงจะปลอดภัยได้พอจริงมั้ยครับ

ด้วยความที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยของคนจนไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิดเหมือนบ้านชนชั้นกลางคนทั่วไป กำแพงไม่ได้หนาพอจะทนทานต่อการบุกรื้อค้นเข้ามาได้ ทำให้การจะเอาเงินเก็บไว้ในลิ้นชักในบ้านพร้อมล็อคกุญแจก็จะยิ่งเป็นการเสี่ยงต่อคนนอกที่อาจจะเข้ามา เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าในนี้น่าจะมีของสำคัญมากๆ อยู่ก็เป็นได้

หรือดีไม่ดีเอาเงินสอดไว้ใต้หมอนมุ้งก็อาจจะถูกคนในบ้านนี่แหละครับเข้ามาหยิบจับแล้วค้นเจอ จากนั้นก็เผลอไม่ได้ที่จะเอาเงินไปใช้กับเรื่องอื่นที่อาจจะจำเป็นชั่วขณะในตอนนั้น จนพลาดโอกาสที่จะเปลี่ยนเงินออมให้กลายเป็นเงินก้อนที่จะทำให้คนจนคนนั้นหลุดออกจากกับดักความจนได้ครับ

แล้วนั่นก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจนจำนวนไม่น้อยมักเลือกออมเงินผ่านทอง เพราะพวกเขารู้สึกว่าการเปลี่ยนเงินให้อยู่ในรูปทองนั้นปลอดภัยกว่า พกติดตัวไปได้ตลอดเวลา ครั้นจะต้องการเปลี่ยนทองให้กลายเป็นเงินก็สามารถทำได้ง่ายกว่าทรัพย์สินประเภทอื่นมากมาย

แล้วการออมของคนจนก็ไม่เหมือนกับคนชนชั้นอื่นโดยเฉพาะคนรวย คนชนชั้นอื่นอาจออมเพราะต้องการออมไปเรื่อยๆ สะสมเอาไว้ใช้หลังเกษียณ หรือออมไว้ก่อนโดยยังไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนว่าจะออมไปเพื่ออะไร

แต่กับคนจนนั้นต่างกันลิบลับ เพราะทุกครั้งที่ออมพวกเขาล้วนออมอย่างมีเป้าหมาย ไม่ว่าจะต้องการซื้อเครื่องไฟฟ้า ออมไว้เป็นเงินสินสอดลูก ออมไว้เพื่อจ่ายค่าผ่าตัดค่าหมอ หรือออมไว้เพื่อต่อเติมบ้าน ดังนั้นการออมของคนจนคือการเปลี่ยนเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่ด้อยค่า ให้กลายเป็นเงินก้อนที่มีค่าพอจะทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นจริงได้

พวกเขามักไม่ค่อยออมเพราะคิดถึงเป้าหมายในระยะยาวเกินไปที่จับต้องไม่ได้ เพราะทุกการออมของพวกเขาล้วนมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการพิชิตอยู่นั่นเอง

แล้วปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การออมประสบความสำเร็จก็คือ “วินัย” หรือออมอย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่ออมบ้างไม่ออมบ้าง หรือถูกความจำเป็นเฉพาะหน้าบางอย่างมาแย่งเงินที่ควรจะออมไปเป็นประจำ

จึงทำให้เกิดบริการช่วยออมของคนจนที่แปลกกว่าคนชนชั้นอื่นในสังคม คนชนชั้นอื่นเวลาออมเงินเราได้ดอกเบี้ย แต่กับคนจนแล้วพวกเขาต้องเสียค่าบริการออมเงินเป็นจำนวนแพงไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ดีๆ อีกด้วยซ้ำ

เพราะพวกเขารู้ว่าถ้าไม่มีใครมาบังคับให้พวกเขาออมก็ยากที่พวกเขาจะเปลี่ยนเงินออมให้เป็นเงินก้อนได้ ก็เลยเกิดบริการเดินเก็บเงินออมตามบ้านลูกค้าทุกๆ วัน ดังนั้นสิ่งที่คนจนต้องเสียไปก็คือค่าบริการเดินทวงเงินออมของตัวตัว เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าปล่อยเงินไว้กับตัวหรืออยู่ในบ้าน ก็จะต้องมีเรื่องให้ได้เสียเงินออกไปอยู่ตลอดเวลาครับ

ดังนั้นถ้าใครสามารถสร้าง Business model ให้คนมีวินัยในการออมได้ รับรองว่าคุณจะสามารถทำกำไรจากตรงนี้ได้ไม่มากก็น้อย ไม่จำเป็นต้องคนจนหรอกครับ คนชนชั้นกลางทั่วไปอย่างผมก็ยังอยากได้การมีวินัยแบบนี้เลย

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงวัยเด็กสมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม ผมอยากได้รถบังคับคันนึงมากแต่ด้วยราคาหลายร้อยจึงไม่สามารถหาเงินมาซื้อได้ในทันที ครั้นจะเก็บเงินให้ครบด้วยตัวเองก็ยากที่จะเป็นไปได้ ไหนจะกิเลสของตัวเอง ไหนจะคนที่บ้าน ยิ่งพ่อแม่ผมสมัยเด็กๆ ที่จะชอบริบเอาเงินออมก้อนนั้นไปด้วยเหตุผลที่ว่า “เก็บเงินไว้กับแม่ดีกว่า” แต่แล้วเงินเก็บดังกล่าวก็ไม่เคยกลับมาหาผมเลยสักที

หรือการวมตัวกันออมเงินเพื่อเอาไปทำประกันอัคคีภัยของคนในชุมชนก็น่าสนใจ

เพราะปัญหาคือคนจนคนเดียวไม่สามารถหาเงินมาทำประกันอัคคีภัยได้ ทั้งที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยของพวกเขาก็ล้วนแต่ติดไฟได้ง่ายดายทั้งนั้น

พวกเขาจึงใช้วิธีลงขันรวมกลุ่มกันเพื่อมาทำประกันอัคคีภัยให้คนในชุมชน ซึ่งถ้าเมื่อไหร่เกิดอัคคีภัยขึ้นพวกเขาก็จะไปเคลมประกันมา แล้วเอาเงินที่ได้มากระจายแจกจ่ายคืนให้กับทุกคนที่ร่วมลงขันออมไปด้วยกัน เห็นมั้ยครับว่าคนจนนี่ช่างเก่งในเรื่องบริหารจัดการเงินอันน้อยนิดให้เกิดประโยชน์สูงสุดเสียเหลือเกิน

หรือการออมผ่านวงแชร์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการออมที่น่าสนใจ

วงแชร์ วิธีออมของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงเงินก้อนแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก

หลายคนน่าจะคุ้นกับคำว่าวงแชร์ไม่น้อย ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าวงแชร์เกิดขึ้นอย่างน้อยเมื่อ 600 ปีที่แล้วในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลักใหญ่ใจความของวงแชร์คือการเอาเงินเล็กมารวมกันเป็นก้อน แล้วกระจายกันไปในกลุ่มเพื่อให้แต่ละคนสามารถใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนั้นได้ง่ายขึ้น

ทำให้วงแชร์จึงมีจุดตั้งวงขึ้นมาจากปัญหาการร้อนเงินของคนในชุมชน ที่ทุกคนก็ช่วยกันเอาเงินมาระดุมทุนนั้นไปแล้วก็แจกจ่ายกันไปให้ครบทุกคนอย่างเท่าเทียม

จะเรียกว่าเป็นกองทุนรวมเฉพาะกิจในระยะสั้นก็ไม่ผิดนักครับ

สรุปหนังสือการเงินคนจนเล่มนี้ทำให้คนที่ไม่จนได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วคนจนเก่งในการบริหารจัดการเงินแค่ไหน พวกเขาติดก็แค่ข้อจำกัดบางอย่างในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการเงินดีๆ ที่ทำให้ต้องมีต้นทุนในการออมที่สูงไม่แพ้การกู้ และต้นทุนของการกู้ก็สูงยิ่งกว่าจะจินตนาการไหว

ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ถูกนำมาแปลไทย และหวังว่าจะทำให้คนรวยบางคนที่อ่านเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจกับคนจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน จนสามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้มากขึ้น และขอให้ไม่มีใครต้องทนทุกข์กับความจนอีกต่อไปครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 45 ของปี 2020

สรุปหนังสือ การเงินจนคน The Poor and Their Money สฤณี อาชวานันทกุล แปล สำนักพิมพ์ SALT Publishing สนับสนุนการแปลโดยบริษัทเงินติดล้อ

สรุปหนังสือ การเงินจนคน
The Poor and Their Money
ทลายมายาคติฝังลึกเกี่ยวกับการจัดการเงินของคนจน สู่การออกแบบบริการทางการเงินที่ดีกว่าเดิม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Stuart Rutherford และ Sukhwinder Arora เขียน
สฤณี อาชวานันทกุล แปล
สำนักพิมพ์ SALT Publishing
สนับสนุนการแปลโดยบริษัทเงินติดล้อ

20201115

อ่านสรุปหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนที่มาคู่กันในเซ็ตนี้ > คลิ๊ก

สนใจสั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/2IYEGve

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/