สรุปหนังสือ Global Change 7 อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ สำนักพิมพ์ Bookscape ว่าด้วยเทรนด์โลก New Nomal ท่ามกลาง Covid-19 Disruption

สรุปหนังสือ Global Change 7 หนังสือที่จะพาคุณไปอัพเดทสถานการณ์รอบโลกด้วยภาษาอ่านง่าย ในแบบที่ชาวบ้านคนเดินตลาดก็เข้าใจได้

ต้องบอกก่อนครับว่าอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือน idol ด้านการเขียน การเล่าเรื่องของผมตั้งแต่วันแรก ผมยังจำได้เลยว่าจากคนที่เกลียดการอ่านหนังสือมาก หรืออ่านเล่มไหนก็ไม่เคยสนุก ไม่เคยอ่านจบเล่ม กลับอ่านหนังสือของ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ คนนี้จบเล่มอย่างรวดเร็วแล้วก็อดไม่ได้ที่ต้องไปหาหนังสือเล่มอื่นๆ ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ มาอ่านเพิ่มจนมั่นใจว่าน่าจะเก็บมาหมดครบทุกเล่มแล้วครับ

ตั้งแต่หนังสือชุดโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แล้วก็ชุดก่อนหน้าของอาจารย์ที่ออกกับสำนักพิมพ์ Openbooks มา 10 เล่ม แล้วผมก็ตามมาจนถึงหนังสือชุดนี้ Global Change บอกได้เลยว่าทุกครั้งที่ไปงานหนังสือผมเฝ้ารอว่าหนังสือของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ จะมีตีพิมพ์วางแผงพร้อมขายไหม

ถ้างานครั้งไหนไม่มีขายรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง

หนังสือ Global Change เล่มที่ 7 นี้ถ้าดูจากหน้าปกก็เดาได้ไม่ยากว่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของโลกจะไปในทิศทางไหน แน่นอนว่าโควิด19 เป็นอะไรที่เข้าถึงทุกผู้คน ทุกชนชั้น ทุกหย่อมหญ้า และก็ทุกประเทศในโลกที่ไม่เลือกว่าจะยากดีหรือมีจน ขนาดผู้นำประเทศที่เก่งกล้าไม่สวม Mask ก็ยังเจอพิษเจ้าไวรัสโควิด 19 เข้าไปแล้ว

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงพูดถึงผลกระทบระดับโลกที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่เล็กมากๆ อย่างเชื้อไวรัสโควิด19 จนมีคำพูดเปรียบเปรยขำๆ ที่เขาบอกว่าบริษัทและองค์กรต่างๆ ในโลกล้วนก้าวเข้าสู่ดิจิทัลได้เต็มตัวก็เพราะเจ้าไวรัสโควิด19 หรือที่เรียกกันว่า Covid Disruption ครับ

ตั้งแต่ Work from Home ที่เอาแต่พูดถึงและฝันกันมานาน ก่อนหน้าโควิดจะระบาดหลายบริษัทก็เอาแต่พูดว่าจะทำๆ มาเป็นปีแต่ก็กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างไร

แต่พอเจ้าโควิด19 เข้ามาระบาดปุ๊บทำให้องค์กรต่างๆ ที่ไม่อยากจะต้องปิดตัวหรืออดตายในทันใด เพราะเมื่อรัฐบาลแทบจะทั่วโลกล้วนประกาศภาวะล็อคดาวน์ถ้วนหน้า ทำให้การออกจากบ้านในบางประเทศเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ในประเทศฝรั่งเศสถ้าคุณจะไปซื้อของกินของใช้ยังมีกำหนดเวลาให้ไปว่าไปได้แค่วันไหนและช่วงเวลาใดด้วยซ้ำ

และไม่ใช่แค่การทำงานเท่านั้นที่ต้องหันมาประชุมกันทางออนไลน์เป็นเรื่องเป็นราว แต่แม้แต่กับการแพทย์เองก็ตามที่เคยคิดว่าหมอสามารถวินิจฉัยคนไข้ผ่านทางเครื่องมือต่างๆ ได้ไม่ยากแต่ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติแบบจริงๆ

แต่พอโควิด19 มาแล้วทุกคนต้องล็อคดาวน์อยู่บ้านเท่านั้นแหละ Tele Medicine กลายเป็นที่พูดถึงมากมาย หลายคนเริ่มลองใช้วิธีนี้แล้วก็รู้สึกว่าสะดวกสบายดีกว่าที่คิด บางโรงพยาบาลอย่างสมิติเวชสาชาพระราม 9 เองที่ผมไปงานแถลงข่าวมาพวกเขาก็มีอุปกรณ์ตรวจเหมือนแพทย์อายุรกรรมพื้นฐานให้คนที่พอจะมีเงินเอาไปติดไว้ที่บ้าน ซึ่งทำให้แพทย์อีกฝั่งของหน้าจอสามารถรับรู้อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนในบ้านเราได้ง่ายๆ

การเรียนการสอนก็เป็นอะไรที่ปวดหัวและปวดตับมากในช่วงล็อคดาวน์เมื่อเดือนมีนาคม เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ผมในฐานะอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งก็พบว่าวิธีการสอนที่เคยเป็นมาไม่เหมาะกับการสอนออนไลน์แต่อย่างไร

อันดับแรกนักเรียนอีกฟากของจอไม่ค่อยยอมเปิดกล้องเพื่อจะมีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์สักเท่าไหร่ ทำให้จากเดิมที่อาจารย์เคยดุในห้องเรียนว่าอย่าพูดคุยกันนะ กลายเป็นอาจารย์ที่ต้องขอร้องให้นักศึกษาช่วยพูดคุยตอบโต้กลับมาให้รู้หน่อยว่ายังฟังอาจารย์คนสอนอยู่นะ ไม่ได้ปล่อยให้อาจารย์พูดคุยกับหน้าจอดำๆ เพียงคนเดียว

ส่วนวิธีสอนแบบเดิมก็ไม่สามารถนำมาใช้กับวิธีการเรียนออนไลน์ได้ เมื่อการเรียนออนไลน์ทำให้ความสนใจหลุดจากการโฟกัสอาจารย์ไปไวมาก อาจารย์อย่างผมจึงต้องหาทางปรับการเรียนให้มีกิจกรรมย่อยๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนยังอยู่กับเราตลอดชั่วโมงในการเรียนครับ

ก็เรียกได้ว่าเป็นการลองผิดลองถูก ลองเรียนรู้กันไป ไอ้ที่เวิร์คก็มี ส่วนไอ้ที่ไม่เวิร์คก็มีมาก ก็อย่างว่าแหละครับการลองอะไรใหม่เป็นครั้งแรกโดยเฉพาะไม่มีต้นแบบให้เรียนรู้ก็ต้องลองทำกันไปดูในแบบของตัวเองครับ

เทรนด์ถัดมาที่น่าจะดีใจเพราะโควิด19 คือเราคนไทยมีอัตราการเจ็บป่วยทั่วไปน้อยลง

เพราะตั้งแต่โควิด19 ระบาดแล้วด้วยความที่มันเป็นโรคอุบัติใหม่ ก็ทำให้เราทุกคนล้วนใส่ใจในความสะอาดและดูแลสุขภาพกันสุดๆ จากไม่เคยใส่แมสเพราะ PM 2.5 มาวันนี้ต้องใส่กันถ้วนหน้าเพราะกลัวว่าจะติดโควิด19 จากคนรอบข้างที่ไม่รู้ว่าติดมาแล้วแต่ไม่แสดงอาการเพราะอยู่ในช่วงฟักเชื้ออยู่หรือเปล่า

ไปจนถึงพฤติกรรมการล้างมือและพกแอลกอฮอล์จนกลายเป็นนิสัยใหม่ New Normal ทุกวันนี้เจอขวดเจลแอลกอฮอล์ที่ไหนไม่ได้ เป็นอันต้องเดินเข้าไปขอล้างมือกำจัดเชื้อนิดนึง ซึ่งพฤติกรรมแบบ New Normal ทั้งหมดนี้เลยส่งผลให้สุขภาพโดยรวมของคนไทยดีขึ้นอย่างทันตา

อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ลดลงไปอย่างมาก เรียกได้ว่าในวิกฤตสาหัสมันก็ยังมีเรื่องดีๆ ให้เราทุกคนได้เจอไปพร้อมกันครับ

ซึ่งเรื่องการล็อคดาวน์ หรือกักตัวในรูปแบบต่างๆ ที่เรากำลังเจอพร้อมกันถ้วนหน้าทั่วโลกในวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

เดิมทีการ Quarantine ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยการค้าขายทางเรือแพร่หลายในยุคที่เวนิสยังคงเป็นเมืองท่าสำคัญของโลก

แต่ก็เมื่อมีคนมากหน้าหลากตาผ่านเข้ามามากมาย ไปจนถึงมีสัตว์และสิ่งมีชีวิตแปลกๆ ต้องหมุนเวียนผ่านสถานที่นี้เยอะๆ ก็ส่งผลให้ทางเวนิสเองก็เคยเจอกับปัญหาโรคระบาดแปลกๆ มาก่อนเหมือนกัน

พวกเขาเลยออกกฏว่าเรือต่างๆ ที่จะเข้ามาค้าขายกับเวนิสนั้นต้องลองเท้งเต้งอยู่ก่อนเป็นเวลา 40 วันถึงจะเข้าเทียบท่าได้ นั่นเลยเป็นที่มาของคำว่า Quarantine หรือมาจากคำว่า 4 ซึ่งตัวเลข 40 วันนั้นก็ไม่ได้มีหลักการคิดอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์มากมายหรอกครับ เพียงแต่ผู้คนในวันนั้นคิดว่าระยะเวลา 40 วันก็น่าจะเพียงพอที่สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้จะไม่นำโรคร้ายเข้ามาเทียบท่าด้วย

นี่คือที่มาของการกักตัว 40 วันตั้งแต่เมื่อ 600 ปีก่อน ซึ่งพอนานวันเข้าความรู้มนุษยชาติเราก็มากตามจนทำให้วันที่ต้องกักตัวนั้นลดลงจาก 40 วันจนเหลือไม่กี่วันในวันนี้

กลับมาที่ปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์อีกนิดเพราะ EdTech ต่างๆ ก็มาแรงมากทั่วโลกในช่วงล็อคดาวน์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อไวรัส​ Covid-19

ซึ่งปัญหาการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนบ้านเราไม่ต้องพูดถึง เต็มไปด้วยเสียงบ่นและก่นด่ามากมายจากทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองเอย หลายมหาลัยค่าเทอมแพงๆ หรือโรงเรียนนานาชาติที่ปีนึงจ่ายหกหลักนั้นถูกพูดคล้ายๆ กันว่า ค่าเทอมระดับอังกฤษ แต่คุณภาพการเรียนระดับ กศน.

ทางอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ก็อธิบายว่าการเรียนออนไลน์ที่จะได้ผลดีต้องประกอบด้วย 6 ข้อสำคัญดังนี้

  1. อุปกรณ์รับส่งที่มีคุณภาพ (มือถือดีๆ หรือคอมพิวเตอร์ที่มีกล้อง)
  2. สัญญาณรับส่งที่มีคุณภาพดีไม่ขาดตอน (ไม่ใช่ทุกบ้านจะมีเน็ตบ้านโดยเฉพาะในต่างจังหวัด และไม่ต้องพูดถึงเน็ตมือถือที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีแพ็คเกจที่แรงพอจะเรียนออนไลน์ได้แบบราบรื่น เชื่อเถอะ ผมเจอมากับตัวในฐานะอาจารย์ผู้สอน แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยในตอนนั้น)
  3. เนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแบบออนไลน์ ถ้าดูจากข่าวก็จะเห็นเรื่องราวแปลกๆ มากมาย เพราะอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจว่าการเรียนออนไลน์นั้นมีบริบทที่ต่างกับในห้องเรียนโดยลิบลับ อาจารย์จะเอาแต่พูดบรรยายเหมือนก่อนไม่ได้ เพราะเด็กสามารถเปิดหน้าจออื่นไปได้ระหว่างที่อาจจะเปิดกล้องให้อาจารย์เห็นแล้วทำท่าเหมือนว่าตั้งใจเรียนตลอดการบรรยาย
  4. ครูที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเรียนออนไลน์ และสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อย่างดี ผมเองคนนึงที่สมัครใช้ Zoom แบบเสียเงินในช่วงนั้น แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ฟีเจอร์แบ่งกลุ่มผู้เรียนได้ระหว่างการบรรยายเลย
  5. ผู้เรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียน ข้อนี้ยากเลย ไม่ใช่ทุกคนจะสนุกกับการเรียน และไม่ใช่ทุกคนจะสนุกกับการเรียนทุกวิชา
  6. ผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ของลูกด้วย ข้อนี้ยิ่งสาหัส เมื่อประชากรส่วนใหญ่ของไทยต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบมากมาย จะมีสักกี่บ้านที่พ่อหรือแม่ทำงานหาเงินเข้าบ้านคนเดียว ต่อให้ใช่แม่ก็ต้องมีภาระอื่นต้องทำระหว่างวัน

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจทำไมการศึกษาไทยในช่วงออนไลน์ถึงมีเสียงสรรเสริญมากมายเหลือเกิน

เอาง่ายๆ เรื่องอุปกรณ์การเรียนนี่เรื่องใหญ่นะครับ ตอนผมสอนออนไลน์เด็กบางคนมีแค่มือถือเครื่องเดียวจริงๆ แถมยังเครื่องไม่ได้แรง เน็ตก็ไม่เร็วแถมยังจำกัดอีก คนเรียนไม่ได้ออกกฏ ส่วนคนออกกฏก็ไม่เคยมาทำความเข้าใจคนเรียนออนไลน์ เรียกได้ว่าทุลักทุเลกันแบบสุดๆ ครับ

เทรนด์ Black Gold หรือการค้าผมใน Global Change เล่มนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยครับ

ผมเพิ่งรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการตัดผมคนอื่นเอาไปขาย โดยเฉพาะผมของบรรดาผู้หญิงนี่แหละครับ ซึ่งประเทศที่ส่งออกส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นจีน ซึ่งก็ได้มาจากค่ายกักกันบ้าง จากชนกลุ่มน้อยในประเทศบ้าง ซึ่งเส้นผมเหล่านี้เมื่อนำไปขายในประเทศยุโรปหรืออเมริกาก็ล้วนมีราคาที่แพงไม่น้อยเลย

แล้วผมผู้หญิงเอเซียก็เป็นอะไรที่ฝรั่งตาน้ำข้าวเขาอยากได้ เพราะด้วยความที่เป็นผมดำเส้นตรงแถมยังเส้นใหญ่ หนังสือเล่มนี้บอกว่าราคาเพิ่มขึ้นสูงกว่า 12 เท่าในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นเส้นผมที่ถูกตัดนำไปขายโดยไม่ตั้งใจของเจ้าของเส้นผมจึงกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญในวันนี้ และมันก็เลยถูกนิยามว่าเป็น Black Gold นั่นเองครับ

นวัตกรรมทางการเกษตรของอินเดียก็น่าสนใจ

คนรุ่นใหมส่วนใหญ่มักจะพยายามคิดเทคโนโลยีหรือสร้างบริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นจับกลุ่มคนเมือง หรือเรียกว่าคนที่มีความคล้ายตัวเองมากกว่าคนยากจนส่วนใหญ่ในประเทศ

ที่ประเทศอินเดียนั้นมีบริษัทสตาร์ทอัพหนึ่งที่ชื่อว่า Stellapps ประดิษฐ์เครื่องมือที่มีชื่อว่า mooOn ออกมา ทำหน้าที่คล้ายสมาร์ตวอตช์ที่เราเอามาใส่ข้อมือวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดอุณหภูมิ การเคลื่อนไหว และอื่นๆ มากมาย แต่เจ้า mooOn นี้ถูกนำมาใส่กับข้อเท้าของวัวที่อินเดียเพื่อให้เจ้าของรู้ว่าจะเพิ่มผลผลิตจากวัวให้เท่ากับประเทศเจริญแล้วได้อย่างไร

ไปจนถึงตรวจหาว่าเมื่อไหร่ที่มันพร้อมจะผสมพันธุ์เพื่อจะได้ขยายพันธุ์ได้ถูกต้องจนเพิ่มลูกวัวใหม่ๆ ออกมา เพื่อที่เกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้มีรายได้ที่ดีกว่าความยากจนในปัจจุบัน

หรือแม้แต่การตามติดอาการเจ็บป่วยผิดปกติของแม่วัวก็ตาม แทนที่จะรอให้ป่วยหนักมากจนออกอาการแล้วค่อยตามมา เจ้าเครื่องมือ mooOn นี้ก็จะเตือนให้รู้แต่เนิ่นๆ ว่าแม่วัวตัวไหนกำลังผิดปกติแล้วรีบให้หมอมาดูแลรักษาก่อนที่จะสาหัสจนเสียค่าใช้จ่ายมากมาย

อีกเทรนด์ในเล่มที่น่าสนใจก็คือการใช้เทคโนโลยี Genome Engineer เอาพืชผลในอดีตที่เคยสูญพันธุ์หายไปแล้วให้กลับมาเติบโตในโลกใบใหม่ได้อีกครั้ง

ที่ประเทศอิตาลีพวกเขาพยายามเอาไวน์ที่ดาวินชีชอบกินกลับมาผลิตใหม่ แต่ในตอนแรกไม่สามารถทำได้เพราะองุ่นสายพันธุ์เมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้นได้สูญพันธุ์ไปนานแล้ว

จนเทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้าทำให้สามารถเอาเศษซากของต้นองุ่นเดิมที่แม้จะตายไปหมดแล้วกลับมาสร้างใหม่ได้ จนทำให้นักดื่มไวน์สามารถดื่มไวน์แบบเดียวกับที่ดาวินชีเคยดื่มเมื่อหลายร้อยปีก่อนได้ ทั้งหมดนี้ก็ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ล้ำหน้าไปไกลมาก

ทางอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ จึงมีไอเดียว่าบ้านเราก็น่าจะทำเอาพืชพันธุ์ในอดีตที่ถูกเล่ากล่าวผ่านโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์กลับคืนมาอีกครั้ง

อย่างน้ำตาเมาจากต้นตาลที่มี DNA เดียวกับต้นตาลสมัยที่สุนทรภู่เคยดื่มที่เพชรบุรีที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมา ถ้าทำได้คงจะกลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วและก็คงเกิดคำสั่งซื้อออนไลน์มากมายเพราะอยากินน้ำเมาจากต้นตาลเดียวกับที่สุนทรภู่เคยดื่มแล้วเกิดอารมณ์ศิลปินขึ้นมาก็เป็นได้ครับ

จาก YOLO สู่ YOLD เมื่อคนสูงวัยเริ่มครองโลก เพราะบ้านเราก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเรียบร้อยแล้ว

YOLO ย่อมาจากคำว่า ​You only live once หรือจะมัวกลัวอะไร เกิดมาครั้งเดียวต้องรีบใช้ชีวิตให้คุ้ม

นี่คือสิ่งที่คนหนุ่มสาวถูกพร่ำบอกส่งต่อกันผ่านแบรนด์ต่างๆ ด้วยแคมเปญการตลาดต่างๆ มากมาย มีเงินก็รีบใช้อย่ามัวเก็บออมไว้ ถ้าไม่รีบซื้อรีบใช้วันนี้เดี๋ยววันหน้าตายไปแล้วจะมานั่งเสียดายนะ (แต่ส่วนใหญ่มักไม่ตายไว มักจะอยู่นานแล้วก็ลำบากเพราะตอนหนุ่มสาวไม่เก็บเงินนี่แหละครับ)

ทีนี้คำว่า YOLD เกิดขึ้นเพราะสังคมทั่วโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากมาย อายุเรายืนขึ้นพร้อมกันทั่วโลกกันถ้วนหน้า ส่วนเด็กเกิดใหม่ก็น้อยลงอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาไปแล้วและไทยเราก็เป็นแม้จะยังไม่ค่อยพัฒนาไปไหนก็ตาม

คนอายุ 60-70 วันนี้ยังเดินเหินไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว จากที่เคยคิดว่าแก่แล้วจะต้องอยู่ติดบ้านแต่ความจริงนั้นเปล่าเลย คนกลุ่มนี้กลัวเป็นกลุ่มที่ออกเดินทางท่องเที่ยวมาก เพราะนอกจากจะมีเวลาแล้วยังมีเงินที่เก็บสะสมไว้ไม่น้อยทีเดียว

YOLD ย่อมาจากคำว่า Young Old หรือคนแก่อายุแต่สภาพร่างกายและจิตใจไม่ได้แพ้คนหนุ่มสาว

บอกเลยว่าคนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการตลาดมากๆ ถ้าคุณสามารถเข้าไปทำให้พวกเขาประทับใจได้ อยากได้เท่าไหร่ไม่ใช่ปัญหาครับ

ในกลุ่มผู้ติดตามการตลาดวันละตอนเองก็มีไปติดตามเพจนึงที่ชื่อว่า 60+ Business เป็นเพจที่ให้ความรู้เรื่องธุรกิจที่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงสัยที่อายุ 60+ ขึ้นไป เรียกได้ว่าเริ่มมีคนมองเห็นโอกาสตรงนี้แล้วไม่น้อยเลยจริงๆ ทีเดียวครับ

หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงเรื่องความมั่นใจจนเกินไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยๆ จากผู้คนรอบตัว โดยเฉพาะกับคนที่เป็นผู้นำ ซึ่งก็ต้องไม่แปลกใจว่าเหตุใดพวกเขาจึงมั่นใจเกินไป เพราะถ้าเขาไม่มั่นใจว่าถูกแล้วใครที่ไหนจะกล้าตาม

แต่เช่นเดียวกันการมั่นใจเกินไปใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี เพราะบางทีมันอาจะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ง่ายๆ ถ้าเรามั่นใจโดยไม่รอบคอบหรือเปิดใจฟังคนรอบตัวบ้าง

หนังสือ​ Global Change 7 เล่มนี้จึงให้แนวทางคำถาม 4 ข้อที่อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำลองเปิดใจถามตัวเองดูว่า เราเป็นคนที่มั่นใจเกินไปจนไม่ค่อยเปิดหูฟังคนอื่นสักเท่าไหร่หรือเปล่า

  1. เราใช้เวลาในการฟังคนอื่นมากพอหรือยัง แล้วการฟังแต่ไม่เข้าหูก็ถือว่าไม่ได้เป็นการรับฟังอย่างจริงใจนะครับ คนที่มั่นใจเกินไปมักจะคิดเสมอว่าตัวเองมีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่แล้วเท่านั้น ทำให้พวกเขาไม่ได้สนใจจะฟังความเห็นจากคนรอบข้างจริงๆ เสียเท่าไหร่เลย
  2. เราเป็นคนที่ริเริ่มไอเดียส่วนใหญ่ใช่หรือไม่ ข้อนี้คือการคิดเสมอว่าคนอื่นคิดไม่ได้แบบตัวเอง หรือต่อให้คิดมาก็ไม่ใช่ไอเดียที่ดีทั้งนั้น การเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ก็ทำให้เราเป็นผู้นำที่เอาแต่พูด แต่ไม่เคยเงี่ยหูตั้งใจฟังว่าอาจจะมีไอเดียดีๆ จากคนรอบตัวที่เราปล่อยพลาดไปก็เป็นได้ครับ
  3. รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในห้องประชุมบ่อยๆ หรือไม่ ถ้าใช่ก็นั่นแหละครับ เพราะคุณไม่เคยฟังคนอื่น และคุณไม่เคยคิดว่าคนอื่นเก่งเหมือนตัวเอง คุณเลยหลงคิดไปเองว่าตัวเองเก่งและฉลาดที่สุด ไม่ใช่ทุกคนจะเก่งกว่าคนอื่นได้ทุกด้านเสมอไป เราต้องพยายามมองหาข้อดีในแต่ละคนรอบตัวให้เจอว่าพวกเขามีความสามารถอะไรที่เหนือกว่าเราแล้วจะเอามาต่อยอดให้เราได้บ้าง
  4. คิดเสมอว่าตัวเองเป็นคนที่เก่งมากในระดับที่หาคนมาแทนไม่ได้ ถ้าใช่แบบนั้นองค์กรคุณก็จะไม่มีวันก้าวหน้าไปไกลกว่าตัวคุณเอง ถ้าวันใดคุณไม่สามารถทำงานหาเงินหรือเกิดอยากขี้เกียจขึ้นมา เมื่อนั้นคุณก็จะลำบากครับ

เรื่องสุดท้ายที่อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เลือกมาปิดท้ายเล่มได้อย่างดีคือ หลีกเลี่ยงปัญหาดีกว่าแก้ไขปัญหา

อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ เคยกล่าวไว้ว่า

A clever person solves a problem. A wise person avoids it.

แปลไทยได้ว่า คนฉลาดนั้นแก้ปัญหาได้ แต่คนที่ฉลาดอย่างมีปัญญานั้นหลีกเลี่ยงปัญหา

ผมสนใจเรื่องนี้เพราะบอกให้รู้ว่าสังคมเราส่วนใหญ่ให้ค่าและความสำคัญกับคำว่า ฮีโร่ หรือผู้ที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์บางอย่าง แต่การจะเกิดฮีโร่ได้นั้นหมายถึงปัญหาที่มีอยู่ก่อนหน้า เหมือนที่เขาบอกว่าถ้าวิกฤตไม่มาโอกาสก็จะไม่เกิด

แต่คนที่ฉลาดอย่างมีปัญญาจริงๆ จะรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาให้เกิดแต่แรก ทำให้สถานการณ์ดูเรียบเฉยไม่ตื่นเต้นเร้าใจ ผู้คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่เห็นความสำคัญอะไรของคนที่ฉลาดอย่างมีปัญญา

ดังนั้นผมอยากจะสรุปหนังสือเล่มนี้ด้วยการปิดท้ายว่า ถ้าชีวิตคุณราบรื่นจนน่าเบื่อจนบอกตัวเองเสมอว่าโชคดีแล้ว เพราะนั่นหมายความว่าไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นให้คุณทุกร้อนใจ คุณไม่จำเป็นต้องพิชิตเขาทุกยอดที่ผ่านเข้ามา แค่เลือกเส้นทางที่เหมาะกับจังหวะชีวิตของตัวเองครับ

และนี่ก็เป็นการสรุปหนังสือ Global Change เล่มที่ 7 หนึ่งในชุดหนังสือดีๆ ที่ผมอยากให้ทุกคนได้อ่านกัน อ่านเพื่อเปิดความรู้ใหม่ให้ทันเทรนด์กระแสโลก อ่านให้เกิดปัญญาใหม่ๆ ที่จะทำให้คุณราบรื่นไร้ปัญหาจนชีวิตน่าเบื่อครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 2 ของปี 2021

สรุปหนังสือ Global Change 7 อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ สำนักพิมพ์ Bookscape ว่าด้วยเทรนด์โลก New Nomal ท่ามกลาง Covid-19 Disruption

สรุปหนังสือ Global Change เล่มที่ 7
ข้อเขียนอ่านสนุกว่าด้วยเรื่องราวและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่
วรากรณ์ สามโกเศศ เขียน
สำนักพิมพ์ Bookscape

20210110

ซื้อหนังสือเล่มนี้ออนไลน์ > http://bit.ly/38VWIsx

อ่านสรุปหนังสือของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/?s=%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C+%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A8

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/