เมื่ออ่านจบความรู้สึกแรกที่รู้สึกสรุปออกมาหนึ่งประโยคให้กับหนังสือเล่มนี้คือ “เศรษฐศาสตร์จริงๆมันไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่เคยคิดกันซักเท่าไหร่นี่หว่า?”

ที่คิดแบบนี้เพราะครั้งนึงผมเคยเข้าไปเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์มาหนึ่งปี(แล้วซิ่วไปที่อื่น) แล้วรู้สึกว่า…ยากชิบหาย มหภาค จุลภาค เส้นโค้งโน่นนี่นั่น หลายเรื่องไม่เคยเม้คเซ้นส์หรือเข้าใจได้เลยสำหรับผม

จนพอเวลาล่วงเลยมาสิบกว่าปี(อย่าสงสัยเลยว่าผมอายุเท่าไหร่) ก็เริ่มสนใจอ่านหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์มากขึ้น แต่เป็นเศรษฐศาสตร์แบบชาวบ้านๆ เริ่มแรๆเท่าที่จำได้ผมอ่านงานของ อาจารย์วรากร สามโกเศศ ในหนังสือชุด edutainment essay ของสำนักพิมพ์ openbooks พออ่านจบเล่มแรกเท่านั้นแหละ ผมกลายเป็นแฟนคลับคนนึงของอาจารย์วรากรเลย จนผมต้องไปตามหามาอ่านครบชุด edutainment essay จนครบ แล้วไม่วายไปตามเก็บหนังสือชุด “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ของอาจารย์อีก จนผมเริ่มสนใจในเรื่องของเศรษฐศาสตร์แบบชาวบ้านๆ หรือที่อยู่ในชีวิตจริงไกล้ตัวมากขึ้น

ในฐานะที่ผมทำงานที่เกี่ยวกับโฆษณาและการตลาด ผมพบว่าเศรษฐศาสตร์และการตลาดจริงๆแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หลายอย่างสามารถประยุกต์ใช้ได้ ใครที่เคยคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องยากนั้นผมก็ยังคิดว่าจริง เพราะคนที่ถ่ายทอดนั้นอาจจะต้องใจทำให้ดูยากเพื่อให้ตัวเองดูเก่ง หรือไม่เค้าคนนั้นก็หาได้เข้าใจอะไรไม่ ส่วนคนที่สาารถถ่ายทอดให้ดูง่ายได้นั้นน่านับถือมากกว่าสำหรับผม เพราะเค้าต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้จนสามารถจะย่อยมันออกมาให้กลายเป็นเรื่องที่ใครๆก็เข้าใจได้

และ Ha-Joon Chang ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ที่เป็นทางการนั้นกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากอีกต่อไป เค้าสามารถอธิบายเรื่องตราสารอนุพันธ์ให้แม้แต่คนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องหุ้นแบบผมเข้าใจได้ด้วยการยกตัวอย่างง่ายๆ

หรือการที่เค้าสามารถอธิบายที่มาที่ไปของ subprime ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ให้เข้าใจที่มาที่ไปทั้งหมดได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อก็อีกเหมือนกัน รวมถึงยังเล่นเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งในบ้านเราเมื่อปี 1997 ที่ไทยและมาเลเซียร่วมกันจุดชนวนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลกเมื่อตอนยังเด็กให้ผมต้องร้องอ๋อได้ ทำให้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักกลายเป็นอะไรที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไปสำหรับผม

ผมเคยคิดว่าเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายและน่าทึ่งแล้ว แต่พอได้อ่านเล่มนี้กลับได้เห็นมุมมองที่น่าทึ่งไม่แพ้กันของเศรษฐศาสตร์ทั่วไป อีกทั้งผู้เขียนยังอธิบายว่าสำนักหรือแนวคิดหลักๆของเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกตอนนี้มีอยู่ประมาณ 9 สำนัก ซึ่งประกอบไปด้วย สำนักออสเตรีย สำนักพฤติกรรมนิยม สำนักคลาสสิก ขนบแบบพัฒนานิยม สำนักสถาบันนิยม สำนักเคนส์ สำนักมาร์กซิสต์ สำนักนีโอคลาสสิก และสำนักชุมเพเทอร์

แต่ละสำนักก็มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน ผู้เขียนเล่าให้เข้าใจว่าไม่มีสำนักไหนที่ดีที่สุด และแย่ที่สุด เพียงแต่ต้องเลือกหยิบมาใช้ให้ถูกสถานการณ์ซะมากกว่า

อย่างสำนักพฤติกรรมนิยม(เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม)ที่กำลังเป็นกระแสสำหรับนักการตลาดและโฆษณาบ้านเราในปัจจุบันนั้น ข้อดีคงไม่ต้องอธิบายกันมากเพราะน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นการสังเกตุพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย แต่ข้อเสียของแนวคิดนี้คือไม่เหมาะกับการใช้ในระดับมหภาค เพราะมุ่งโฟกัสที่ความเป็นปัจเจกมากเกินไป

และสำนักนีโอคลาสสิกที่เป็นแนวทางสำหรับเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 1980-2010 ก็เน้นตลาดมากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤติการเงินปี 2008 ที่ผ่านมา เพราะขาดการกำกับดูแลจากแนวคิดแบบสำนักสถาบันนิยม หรือสำนักชมเพเทอร์

ทั้งหมดที่จะบอกก็คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออีกเล่มนึงที่ผมไม่คาดคิด สารภาพที่ซื้อเล่มนี้มาเพราะคิดว่าจะมีเนื้อหาแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ผมกำลังสนใจ แต่กลับเป็นว่าทำให้เข้าใจภาพกว้างภาพรวมของเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด แต่ก็ต้องบอกว่ารู้สึกดีที่หยิบผิด เพราะไม่งั้นผมก็คงจะยังอยู่ในโลกแคบๆในความคิดของตัวเองเหมือนเคย

สุดท้ายถ้าใครเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ เล่มนี้ผมแนะนำให้ต้องอ่าน เพราะมันจะช่วยทำให้คุณได้เข้าใจอะไรอีกเยอะ ส่วนคนทั่วไปอย่างผมก็น่าอ่าน เพราะมันทำให้เราได้เข้าใจโลกในด้านเศรษฐศาสตร์ย้อนไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เราเข้าใจได้ว่าโลกเราทุกวันนี้ในบางพื้นที่หรือสถานการณ์ที่ว่าแย่ที่สุดนั้น ก็ยังนับว่าดีกว่ามากมายเมื่อเทียบกับเมื่อยุคล่าอาณานิคม หรือเมื่อ 50ปี ก่อนอย่างคุณนึกไม่ถึงด้วยซ้ำ

สมัยก่อน GDP เติบโตปีละ 0.8-1.1% ก็ถือว่ามหาศาลแล้ว ทุกวันนี้กลับถือว่าแย่และล้าหลัง

สุดท้ายมนุษย์เรานั้นกลับไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี เพียงแค่เราหยุดมองในสิ่งรอบตัวที่มีอย่างจริงจัง เราก็จะพบว่าเรามีมากกว่าที่เราต้องการตั้งเยอะ เหมือนที่ผมหยุดมอง…ชั้นหนังสือที่มีหนังสืออีกตั้งกว่า 200ให้เลือกอ่าน แค่นี้ก็สุขจะแย่แล้วครับ

Economics: The User’s Guide
เศรษฐศาสตร์ฉบับทางเลือก

Ha-Joon Chang เขียน
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร แปล

สำนักพิมพ์ Openworlds
อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/