สรุปหนังสือ หางกระดิกหมา เล่ม 2 ว่าด้วยเรื่องของกลโกงคอร์รัปชันที่เอามาเปิดเผยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยคุณบรรยง พงษ์พานิช ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจและสังคมมายาวนานกว่า 40 ปี (ผมเคยอ่านหนังสือของแกมาเล่มนึงแล้วบอกตามตรงว่าผมชอบสไตล์การเล่าเรื่องของคุณบรรยงมาก) ส่วนคุณธนกร ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอร์รัปชัน ปัจจุบันเป็นผู้แทนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันทุจริต ส่วนชื่อหางกระดิกหมา ก็เป็นนามปากกาของทั้งคู่

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจกลโกงคอร์รัปชันอย่างที่ไม่เคยรู้ และอะไรที่เคยคิดว่ารู้ก็ได้รู้ลึกรู้จริงขึ้นมาก ว่าการโกงกันนั้นเขาทำกันอย่างไร การคอร์รัปชันไหนมีแบบไหนบ้าง และหนังสือเล่มนี้ก็ยังเต็มไปด้วยเคสการโกงที่ไม่ได้มีแค่ในเมืองไทย แต่มีเคสการโกงจากทั่วโลกรวบรวมมาให้เราได้เรียนรู้กัน

ผู้เขียนแนะนำว่าการปราบปรามคอร์รัปชันที่ดีที่สุดไม่ใช่การรอผู้กล้าผู้ทรงธรรม หรือพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาปราบกลุ่มโกงกิน แต่เป็นการสร้างระบบที่ป้องกันการโกงกินที่ดีตั้งแต่แรก เพราะถ้าระบบดีแล้ว ต่อให้คนไม่ดีเข้ามาก็โกงยาก หรืออาจจะถึงขั้นโกงไม่ได้เลย

ส่วนถ้าคนดีเข้ามา นานวันเข้าก็มักจะเข้าอีหรอบเดิมคือหลงเพลินกับอำนาจ แล้วจากนั้นก็ค่อยๆเก็บเล็กเก็บน้อยจนรู้ตัวอีกทีก็ยักย้ายทรัพย์สินออกไปนอกประเทศหมดแล้ว

เพราะบางทีแม้แต่คนที่ตั้งใจทำดีไม่โกงก็ท้อได้ เพราะถ้าคนรอบข้างโกงหมดแล้วคุณไม่โกงอยู่คนเดียวคุณจะอยู่อย่างไร เพราะต่อให้ไม่อยากโกงชาติติดสินบนแบบใครเค้า แต่ก็ต้องจำใจทำเพื่อให้อยู่ในเมืองโกงกินกับเค้าได้

เหมือนเรื่องนึงที่ผู้เขียนเล่าว่า มีชายคนหนึ่งซื้อที่ตึกอยู่บนถนนเส้นสำคัญในกรุงเทพ ครั้งถึงคราวต้องจ่ายภาษีโรงเรือนก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดต่อชายคนนี้พร้อมกับถามว่า “ปกติภาษีโรงเรือน 8 ล้าน แต่ถ้าคุณจ่ายผม 1 ล้าน ผมจะประเมินให้คุณแค่ 2 ล้าน”

ชายคนนี้คิดอยู่นานแล้วก็ตอบกลับไปว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมขอจ่ายเต็ม ไม่อยากติดสินบนโกงชาติ” แต่ปรากฏว่าถึงเวลาต้องจ่ายจริงเจ้าหน้าที่คนนั้นกลับประเมินภาษีโรงเรียนตึกเค้าแค่ 2 ล้าน ชายเจ้าของตึกคนใหม่ก็แปลกใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงใจดีประเมินให้เค้าถูกทั้งที่ไม่ได้จ่ายสินบน จนได้รู้ว่าถ้าเจ้าหน้าที่ประเมินตึกนี้ให้จ่ายตามจริงคนเดียว ตึกอื่นๆที่ยอมจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ประเมินในราคาถูกก็จะโดนตรวจสอบ จนพาลให้ชิบหายกันหมด

แต่ที่น่าเศร้าใจคือชายเจ้าของตึกผู้ซื่อสัตย์คนนี้กลับถูกเจ้าของตึกข้างเคียงบนถนนเส้นเดียวกันประนามต่อว่าๆเอาเปรียบเค้า คนอื่นจ่ายกันหมดทำไมถึงไม่ยอมจ่ายอยู่คนเดียว เห็นแก่ตัวจริงๆ

ครับ นี่คือมุมมองการเห็นแค่ตัวของคนบางกลุ่ม ที่มองว่าคนที่ไม่ยอมโกงภาษีโรงเรือนเหมือนกับเค้าเป็นคนเห็นแก่ตัว ทั้งๆที่เค้าลืมย้อนดูตัวเองว่าพวกเค้านั่นแหละที่เห็นแก่ตัวโกงคนทั้งชาติขนาดไหน

ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนี้ชายคนนั้นยอมเล่นตามเกมกับเจ้าของตึกคนอื่นๆแล้วหรือยัง

ที่ประเทศอินเดียที่ขึ้นชื่อการโกงกินคอร์รัปชันติดอันดับท็อปของโลกนั้นมีผู้เสนอแนวทางว่า ให้ใช้วิธีคนให้ไม่ผิด ผิดแค่คนรับ เพราะเค้าบอกว่าที่การติดสินบนใต้โต๊ะคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเก็บเงียบเพราะกลัวผิด

คนให้ก็ผิด คนรับก็ผิด แล้วแบบนี้ใครจะกล้าแจ้ง แต่เมื่อถ้าเปลี่ยนกติกาใหม่ว่าคนให้ไม่ผิดแต่คนรับผิด เมื่อคนให้ทำธุระตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เอาเรื่องนี้ไปแจ้งความจับข้าราชการคนรับเพื่อเอาเงินคืน ลองคิดดูซิว่าแบบนี้จะยังกล้ารับกันอยู่อีกหรอ

เพราะการคอร์รัปชันส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเพราะต้องการกำจัดความเชื่องช้า ต้องการความสะดวกสบาย ความเร็ว หรืออย่างน้อยก็เพื่อต้องการให้ข้าราชการทำงานที่ตัวเองควรจะต้องทำครับ

วิธีหนึ่งที่สามารถลดการโกงกินติดสินบนใต้โต๊ะคอร์รัปชันได้ดีที่สุดคือ การทำให้ขั้นตอนต่างๆที่เอกชนต้องติดต่อกับราชการต้องสั้นลง เร็วขึ้น หรือยุ่งกับรัฐให้น้อยที่สุด เพราะเมื่อทุกอย่างง่ายและเร็วหรือไร้ขั้นตอนหยุมหยิม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องจ่าย

ประเทศจอร์เจียเองเคยขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชันติดอันดับโลกเพราะเต็มไปด้วยกฏระเบียบหยุมหยิม แต่พอปี 2005 รัฐบาลจอร์เจียก็ปฏฺิรูปขั้นตอนการทำงานของรัฐทั้งหมด การทำงานที่เคยยุ่งยากซ้ำซ้อนก็ถูกยุบควบรวมให้สั้นกระชับ ผลคือจากลำดับที่ 112 ในเรื่องความง่ายในการประกอบธุรกิจเมื่อปี 2005 ขยับขึ้นมาเป็นที่ 5 ของโลกในปี 2012

ไม่อยากจะคิดว่าถ้ากฏระเบียบการทำงานของราชการถูกปฏิรูปใหม่ให้สั้นและง่าย บวกกับมีขั้นตอนกติกาที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้น้อยที่สุด ไทยเราคงเดินหน้าได้เร็วโดยไม่ต้องคอยใครมาช่วยปฏิวัติปราบโกงบ่อยๆเหมือนเก่าครับ

ฮ่องกงเองก่อนจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความโปร่งใสไร้ทุจริตอันดับต้นๆของโลกทุกวันนี้ รู้มั้ยว่าเมื่อก่อนเค้าติดอันดับเรื่องการโกงกินคอร์รัปชันอันดับโลกมาครับ

สิ่งที่ประเทศฮ่องกงทำไม่ใช่แค่การรณรงค์แค่หนึ่งสอง หรือห้าปี แต่เค้าทำต่อเนื่องมา 40 ปี และไม่ใช่แค่การพูดรณรงค์ให้คนไม่โกง แต่เค้ามีหน่วยงานที่ชื่อว่า ICAC ที่เป็นหน่วยงานอิสระปราบโกงได้เต็มที่โดยไม่ต้องขึ้นกับใคร

แถมยังเอาเรื่องโกงที่จับจนจบได้ออกมาทำเป็นโฆษณาตีแผ่ให้คนทั้งรู้และกลัวไม่กล้าโกงครับ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนกล้าโกงก็คือเรื่องค่าปรับที่ตายตัว

อย่างบ้านเราใช้ค่าปรับตายตัวเช่น ถ้าบริษัทไหนทำผิดเรื่องนี้จะถูกปรับกี่แสนหรือกี่ล้านก็ระบุชัดเจนไป ทำให้บริษัทใหญ่ๆที่มีกำไรเป็นร้อยเป็นพันล้านไม่ค่อยสนใจเรื่องค่าปรับ แถมยังมองเป็นค่าธรรมเนียมที่ทำผิดด้วยซ้ำ

ดังนั้นอีกหนึ่งทางแก้คือการเปลี่ยนค่าปรับจากการกำหนดตายตัวให้กลายเป็นค่าปรับตามสัดส่วนรายได้ของบริษัท เช่น จากเดิมถ้าทิ้งสารเคมีพิษลงแหล่งน้ำอาจจะถูกปรับ 5-10 ล้าน แต่ถ้าบริษัทมีกำไรพันล้านการจ่ายค่าปรับแค่ 5-10 ล้านก็เป็นแค่เรื่องขี้ปะติ๋ว แต่ถ้าเปลี่ยนค่าปรับให้กลายเป็นสัดส่วนรายได้เป็น 5-10% จากยอดขายทั้งหมด เท่านี้ก็ต้องคิดบ่อยคิดหนักกว่าเดิมเยอะเลยครับ

หรือเรื่องการโกงภาษีก็เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำกันไม่น้อย เพราะในแง่นึงคนก็มองว่าไม่ได้โกงแค่หาทางจ่ายให้น้อยที่สุดต่างหาก หรืออาจจะแกล้งเผลอเรอกรอกผิดไปนิด หรือน้อยไปหน่อยเท่านั้นเอง

เรื่องการโกงภาษีนี้เองกรมสรรพากรที่ประเทศฟิลิปปินส์มีวิธีการจัดการที่น่าสนใจจนอยากให้กรมสรรพากรไทยได้ทำตาม เค้าสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้ถึง 15% โดยไม่ได้ไปตามจับคนส่วนใหญ่ที่หาเรื่องหนีภาษี เพราะคนส่วนใหญ่นั้นเป็นมีจำนวนมากและก็ตามทีก็ได้แค่นิดๆหน่อยๆ แถมยังไม่น่าสนใจอีกด้วย

แต่กรมสรรพากรที่ฟิลิปปินส์นั้นใช้วิธีไล่ตามรีดเก็บภาษีจากบรรดาคนดัง คนที่คนส่วนใหญ่ในสังคมรู้จัก คนที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ คนที่บรรดาสื่อไม่ยอมปล่อยข่าวให้ผ่านไป เชื่อมั้ยว่าขนาดแมนนี่ ปาเกียว นักมวยชื่อดังขวัญใจชาวฟิลิปปินส์ยังถูกสรรพากรไล่บี้จับปรับจนเป็นข่าวเลย

แล้วจากข่าวคนดังที่ถูกกรมสรรพากรตามจับเรื่องเลี่ยงภาษีเพียงแค่ 240 คนนั้น ทุกคนล้วนเป็นคนดังจนทำให้คนทั้งประเทศตระหนักและใส่ใจกับเรื่องนี้ ผลคือสามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ถึง 15% เลยครับ

หรือทางกรมสรรพากรอังกฤษก็มีวิธีที่แตกต่างสมกับเป็นชาติผู้ดี จดหมายเตือนที่เค้าส่งให้ประชาชนที่จ่ายภาษีช้านั้นไม่ได้ใช้คำคู่ ไม่ได้ใช้คำด่า แต่ใช้คำพูดแสนสุภาพที่บอกให้ผู้รับจดหมายรู้ว่า “คนส่วนใหญ่รอบตัวคุณกว่า 9 ใน 10 นั้นจ่ายภาษีตรงเวลาและถูกต้อง น่าเสียดายที่คุณเป็นคนส่วนน้อยที่ยังไม่ได้ทำเช่นนั้น”

จดหมายที่สุภาพและเรียบง่ายนี้ทำให้หลังจากจดหมายส่งออกไปได้ 3 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ถึง 15 ล้านเหรียญเลยครับ

สุดท้ายแล้วการโกงหรือคอร์รัปชันที่น่ากลัวที่สุดคือการโกงในระดับนโยบาย คือการให้รัฐออกกฏหมายหรือออกนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจที่ตัวเองมี ต่างจากเดิมที่เมื่อก่อนรัฐอาจจะมีนโยบายอะไรบางอย่างที่ตั้งใจดีกับประชาชน แต่ขั้นตอนระหว่างนั้นอาจมีการโกงกันบ้าง

แต่การโกงในระดับนโยบายคือการสั่งให้รัฐส่งบอลมาเข้าเท้าตัวเองอย่างง่ายดาย โดยที่ไม่ต้องพยายามอะไรตามทิศทางรัฐ ถ้าตัวเองมีบริษัทสนามฟุตซอล ก็อาจจะให้รัฐออกนโยบายเชิญชวนเยาวชนชาวบ้านให้เล่นกีฬาฟุตซอลกันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร หรือควรได้รับอะไรกันแน่

และนี่ก็คือหนังสือที่ว่าด้วยกลโกงต่างๆ ว่าด้วยเรื่องของการคอร์รัปชันทั้งในระดับบุคคลจนถึงระดับชาติ แต่ก็ไม่ได้มีแต่เรื่องราวการโกงกินให้ท้อใจ แต่ยังมีเรื่องการป้องกันการโกงมากมายให้เรียนรู้ครับ

ขอแค่เราไม่เข้าร่วม และใจเราไม่ท้อ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา การติดสินบนคอร์รัปชันอย่างน้อยก็จะลดไปได้อีกหนึ่งครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 27 ของปี 2019

สรุปหนังสือ หางกระดิกหมา 2
คู่มือเปิดโปงกลโกงคอร์รัปชันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
บรรยง พงษ์พานิช และ ธนกร จ๋วงพานิช เขียน
สำนักพิมพ์ Openworlds

20190428

อ่านสรุปหนังสือ หางกระดิกหมา เล่ม 1 > https://www.summaread.net/politics/%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2-corruption-1/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/