สรุปหนังสือ โลกสามศูนย์ A World of Three Zeros ธุรกิจสู่โลกที่ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์ Muhammad Yunus เขียน ไพรัตน์ พงศ์พานิช แปล สำนักพิมพ์ มติชน

สรุปหนังสือ โลกสามศูนย์ A World of Three Zeros ที่เขียนโดย Muhammad Yunus เล่มนี้เป็นหนังสืออีกเล่มสำหรับคนที่เคยอ่าน สร้างโลกไร้จน ไม่ควรพลาด เพราะหนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปเข้าใจถึงสถานการณ์ล่าสุดของธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise จากแนวคิดของ Yunus เมื่อหลายปีก่อนว่าในวันนี้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว และเป้าหมายต่อไปของธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร เกี่ยวอะไรกับโลกสามศูนย์ แล้วศูนย์แต่ละตัวหมายถึงอะไร คำตอบนั้นเรียบง่ายแต่ในขณะเดียวกันก็ลึกซึ้งมากครับ

First Zero ศูนย์ที่หนึ่ง ความยากจนเป็นศูนย์

ความยากจนเป็นศูนย์หมายความว่าแท้จริงแล้วโลกเราไม่จำเป็นต้องมีใครตกอยู่ในตำแหน่งคนจนในทุกสังคมบนโลกเลย เพราะในความเป็นจริงแล้วโลกเรามีเงินทองและทรัพยากรมากมายมหาศาล เพียงแต่ปัญหาหลักที่ทำให้โลกเรายังคงมีคนจนอยู่ก็คือการกระจายทรัพยากรที่ไม่ดีพอ หรือเอาเข้าจริงต้องบอกว่าแย่ขึ้นทุกวันด้วยซ้ำครับ

เพราะจากรายงานเมื่อปี 2010 พบว่าคนที่ร่ำรวยที่สุดบนโลก 388 คนนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือทรัพยากรเท่ากับคนครึ่งล่างของโลกทั้งใบที่อาจจะจนและอยู่ในฐานะปานกลางปนกันมากถึง 3,300 ล้านคน และตัวเลขนี้ยิ่งย่ำแย่มากขึ้นอีกเพราะในปี 2017 ก็พบว่าจากเหลือแค่ 8 คนเท่านั้นที่มีทรัพย์สินเงินทองรวมกันเท่ากับคนอีกครึ่งล่างของโลกทั้งใบ ซึ่งคราวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,600 ล้านคนเลยทีเดียว

เห็นภาพมั้ยครับว่าพีระมิดแห่งความมั่งคั่งของครึ่งนึงของโลกทั้งใบอยู่ในมือของคนแค่ 8 คนเท่านั้น!

พวกเขาจะรวยกันไปถึงไหน ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเอาทรัพย์สินทั้งหมดของบรรดาเจ้าสัวบ้านเราทั้ง 10 คนมากองรวมกันจะเทียบเท่ากับคนไทยกี่สิบล้านคน

บางคนบอกว่าก็พวกเขาที่ร่ำรวยมหาศาลเหล่านี้ต่างก็ตั้งองค์กรการกุศลเพื่อบริจาคมากมาย หรือแต่ละคนก็บริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาลหลายพันล้านเหรียญในแต่ละปียังไม่เพียงพออีกหรือ

ไอ้เรื่องบริจาคมันก็ดีอยู่ครับ แต่ถ้ามองให้ดีให้ลึกซึ้งลงไปจะพบว่าปัญหาคือโครงสร้างการจัดเก็บและกระจายภาษีที่ไม่เท่าเทียม ไม่สามารถทำให้รัฐบาลทั้งหลายสามารถกระจายความมั่งคงที่มีลงไปสู่ทุกคนบนโลกได้ หรือแม้แต่เอาให้ทรัพยากรมันกระจายลงไปยังคนที่ต้องการมันจริงๆ ได้ ไม่ใช่โลกทุนนิยมอย่างทุกวันนี้ที่ระบบถูกออกแบบมาโดยคนมีอำนาจ เพื่อคนมีอำนาจ และยังให้เพื่อรักษาอำนาจนั้นให้มากยิ่งขึ้น แถมยังกีดกันคนนอกที่ยังไม่มีอำนาจไม่ให้เข้ามาอยู่ในวงอำนาจนั้นได้ง่ายๆ

ตัวอย่างง่ายๆ ก็ดูจากธุรกิจธนาคารก็ได้ครับ

ธนาคารแต่ไหนแต่ไรมาเป็นธุรกิจที่สร้างมาเพื่อให้เกิดการกระจายความมั่งคง กระจายทรัพยากรอย่างเงินลงไปยังคนที่ต้องการ แต่กลายเป็นว่าด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยากมากๆ ของธนาคารในวันนี้ทำให้กลุ่มคนยากจนที่ต้องการเงินจริงๆ ไปลงทุนต่อยอดอะไรก็ตามเข้าถึงเงินเหล่านั้นแทบไม่ได้เลย

แต่กลายเป็นว่าธนาคารกลับปล่อยกู้ให้ง่ายมากกับธุรกิจที่ดูดีมีเงินทองมากมาย กลายเป็นว่าธนาคารในวันนี้มีไว้เพื่อช่วยให้คนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ดีอยู่แล้วสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้นไปอีก

ชาวบ้านถึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบแล้วก็เจอดอกเบี้ยมหาโหดที่คอยกดให้พวกเขายังต้องจนลงทุกวัน ส่วนดอกเบี้ยดีๆ ต่ำๆ ก็กลายเป็นบรรดาท่านๆ คนรวยผู้มีอันจะกินทั้งหลายสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องลำบากใดๆ เลย

และนั่นก็เลยทำให้ Muhammad Yunus สร้างธนาคารที่เรียกว่า​ Grameen Bank หรือธนาคารการมีนขึ้นมา ธนาคารแห่งนี้มีจุดยืนชัดเจนว่าพวกเขาทำมาเพื่อคนจน คนที่ต้องการเงินจริงๆ ไม่ใช่คนที่ร่ำรวยอยู่แล้วที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างง่ายดาย

และสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาไม่ได้ต้องการกู้ยืมเงินอะไรมากมาย เงินที่พวกเขาต้องการกู้ไปใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจจริงๆ นั้นน้อยมาก ส่วน Business model ของธนาคารกรามีนนี้ก็ฉีกจากทุกธนาคารที่เคยทำมา ธนาคารอื่นต้องมีเอกสารรับรองความน่าเชื่อถือมากมาย แต่กับคนจนเหล่านี้พวกเขาจะมีอะไรมารับรอง สิ่งเดียวที่รับรองกันได้คือความเชื่อใจระหว่างกัน

และเจ้าความเชื่อใจนี้เองที่ทำให้ธนาคารกรามีนหรือธนาคารเพื่อคนจนแห่งนี้มีอัตราการชำระหนี้ที่สูงมาก มากถึงเกือบ 99% ซึ่งพอเทียบกับธนาคารทั่วไปที่ไม่ได้เข้าใกล้เลขนี้เลย ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องเริ่มหันมามองวิธีการทำธุรกิจแบบกรามีนว่าพวกเขาสามารถทำให้คนจนที่ไม่น่าเชื่อถือเหล่านี้คืนเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยได้ด้วยวิธีใด

และธนาคารกรามีนนี้เองที่กลายเป็นที่สนใจหลังจากก่อตั้งได้ไม่นาน วันนี้ธนาคารกรามีนขยายธุรกิจไปยังหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวยมากๆ อย่างอเมริกาก็ตาม

ซึ่งในประเทศอเมริกาที่ว่าร่ำรวยแต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีคนยากจนอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ว่ามาตรฐานของคำว่ายากจนในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน คนจนที่อเมริกาอาจจะมีบ้าน มีรถขับ แต่อาจไม่มีเงินเติมน้ำมัน หรือไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าแก๊สสำหรับทำความร้อนในบ้านช่วงหน้าหนาว แต่กับที่บังคลาเทศนั้นอาจเป็นคนละเรื่อง อาจเป็นคนที่นอนในบ้านที่ทำจากดิน แต่ทั้งสองคนก็คือคนจนหรือคนส่วนล่างของสังคมในประเทศนั้นเหมือนกัน

ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ พากันประกาศว่าปีนี้เศรษฐกิจของประเทศเราดี GDP โตขึ้นตั้งหลายเปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วตัวเลข GDP อาจไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เพราะตัวเลข GDP นั้นรวมไปถึงธุรกิจที่ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ว่าจะธุรกิจเหล้าเบียร์บุหรี่ หรือธุรกิจผลิตอาวุธสงคราม

แล้วที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือเวลาที่เกิดวิกฤตทางการเงินต่างๆ รัฐบาลมักจะเข้ามาโอบอุ้มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวยมากมาย ด้วยเหตุผลที่ว่า “ใหญ่เกินกว่าจะล้ม” แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มักเลือกที่จะเพิกเฉยต่อคนจนและปานกลางที่มีจำนวนมากกว่าในประเทศของตัวเองด้วยเหตุผลที่ว่า “เล็กเกินกว่าที่จะใส่ใจ” นั่นก็เลยเป็นเหตุผลที่เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินทีไรคนยากจนมากมายนี่แหละที่ต้องเป็นเหมือนแพะรับบาปให้จนยิ่งขึ้นโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลายเป็นว่าบรรดาผุ้บริหารหรือนายธนาคารกลับรวยเอาๆ หรือไม่ก็กลายเป็นรัฐมนตรีคนทำงานในฝั่งรัฐบาลมากมาย

ดังนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดความยากจนก็คือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ผิดพลาด พลาดที่ถูกสอนให้เชื่อกันว่าทุนนิยมที่ดีคือการทำเพื่อให้คนไม่กี่คนที่อยู่ยอดบนพีระมิดมั่งคั่งและร่ำรวยมากที่สุด ปัญหานี้จะแก้ไขได้เมื่อทุนนิยมถูกออกแบบค่านิยมใหม่ ที่ยังคงเป็นทุนนิยมเหมือนเดิม แต่เป็นทุนนิยมเพื่อกระจายความมั่งคงลงสู่สังคมให้มากขึ้น นั่นหมายความว่าธุรกิจยังสามารถแสวงหาผลกำไรได้เหมือนเดิม แต่ไม่ใช่เพื่อให้คนไม่กี่คนมั่งคั่งกว่าคนหลายล้านคนเหมือนเดิม แต่เพื่อให้ผลกำไรสามารถกระจายลงไปยังธุรกิจแล้วคืนต่อให้สังคมมากขึ้น หรือนี่คือสิ่งที่เรียกว่าธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ครับ

และที่สำคัญคือรัฐบาลต่างๆ ต้องมีการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีและกระจายทรัพยากรใหม่ ต้องทำให้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียนกระจายตัวไปทั่วสังคมจริงๆ ไม่ใช่ยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนไม่กี่คนที่อยู่บนยอดบนของพีระมิดเท่านั้น เพราะถ้าไม่เริ่มแก้จากที่ระบบให้มันสามารถทำงานได้ถูกต้อง ปัญหาความยากจนก็จะไม่มีวันหมดไป แล้วบรรดานักการเมืองเวลาจะหาเสียงก็ยังคงประกาศเหมือนกันว่าจะกำจัดความยากจน แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบที่ทำให้เกิดความยากจนจริงๆ เสียที

และจากศูนย์ที่ 1 ความยากจนก็เข้าสู่ศูนย์ที่ 2 การว่างงานเป็นศูนย์

Second Zero ศูนย์ที่สอง ภาวะว่างงานเป็นศูนย์

ปัญหาที่สองอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงลิ่วเป็นประวัติการ ทั้งๆ ที่คนมากมายได้เรียนหนังสือมากกว่าคนทุกรุ่นที่ผ่านมา แต่กลายเป็นว่าเมื่อจบสูงออกมากลับหางานที่เหมาะสมกับความรู้ไม่ได้ ทำให้หลายคนที่เรียนจบมาดีต้องไปเป็นพนักงานชั่วคราวไม่น้อยในต่างประเทศ ซึ่งปัญหานี้รากเหง้ามาจากทัศนคติที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก ตั้งแต่พ่อแม่ ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน และจนวันสุดท้ายที่เราเรียนจบ นั่นก็ถือเราถูกปลูกฝังให้เรียนจบแล้วต้องหางานทำไม่ได้ถูกปลูกฝังให้เรียนจบออกมาสร้างงาน

ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยทัศนคติผิดๆ พวกเขาพยายามมองหางานที่บริษัทต่างๆเปิดรับ โดยเฉพาะมองหางานจากองค์กรใหญ่ชื่อดังมากมาย แต่ลืมไปว่าในความเป็นจริงแล้วพวกเขาสามารถสร้างงานให้ตัวเองได้ หรือแม้แต่กระทั่งสร้างงานให้คนอื่นทำด้วยก็ยังได้

ดังนั้นถ้าการกระจายทรัพยากรเป็นไปด้วยดีกว่านี้ คนเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือทรัพยากรต่างๆ ที่ทำให้การสร้างธุรกิจหรือสร้างงานขึ้นมาเป็นเรื่องง่ายได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือหลายประเทศมักออกกฏระเบียบเพื่อให้การสร้างธุรกิจเป็นเรื่องยาก

เต็มไปด้วยกฏระเบียบข้อบังคับมากมาย เอาง่ายๆ บ้านเราบรรดาเบียร์ทำเองก็ถูกห้ามด้วยกฏหมายที่กีดกันให้เฉพาะรายใหญ่เท่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วยได้ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยากมากในประเทศต่างๆ บนโลกครับ

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงประเทศเกาหลีใต้ เคยอ่านเจอจากไหนจำไม่ได้แล้ว เขาบอกว่าที่ประเทศเกาหลีใต้ตอนเกิดวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งตอนนั้น ผู้นำประเทศเค้าเลือกที่จะยกเลิกกฏระเบียบในการสร้างธุรกิจออกไปมากมาย และนั่นก็กระตุ้นให้ผู้คนออกมาทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น จนทำให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบวิกฤตต้มยำกุ้งพร้อมเราแต่วันนี้พวกเขากลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาไปไกลเรามากแล้ว

โดยเฉพาะถ้าประเทศไหนที่ออกกฏระเบียบประเภทที่ต้องใช้ดุลจพินิจของเจ้าพนักงานมาช่วยในการตัดสินใจ นั่นยิ่งเป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างมากครับ หลายประเทศที่พัฒนาแล้วพวกเขาจะกำหนดกฏระเบียบและขั้นตอนไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำอะไรภายในกี่วัน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทักท้วงก็ให้ถือว่าอนุญาตโดอัตโนมัติ และเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ต้องมาใช้วิจารณญาณส่วนตัวใดๆ ในการตัดสินใจ เพราะกรอบกำหนดขั้นตอนเขียนไว้ชัดเจนแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็มีแค่หน้าที่บังคับใช้กฏหมายเท่านั้นครับ

แล้วอัตราการว่างงานจะเป็นศูนย์ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมเชื่อว่าทุกคนมีค่าพอที่จะทำงาน หนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกมองว่าไม่มีค่าคือกลุ่มคนที่เคยทำผิดติดคุก พอพวกเขาออกมาก็มักไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน สุดท้ายพวกเขาส่วนหนึ่งก็ต้องทำผิดกฏหมายอีกรอบเพื่อที่จะได้กลับเข้าไปใช้ชีวิตในคุกที่ตัวเองคุ้นเคย

ที่ประเทศญี่ปุ่นมีบริษัทรีไซเคิลขยะแห่งหนึ่งที่เน้นว่าจ้างคนที่ออกจากคุกมาก่อน เพราะรู้ว่าถ้าคนเหล่านี้ไม่สามารถหางานที่ดีทำได้ พวกเขาก็อาจจะกลับไปทำผิดกฏหมายแบบเดิมอีก กลายเป็นว่าบริษัทที่เต็มไปด้วยคนที่เคยติดคุกนี้กลับเติบโตอย่างมาก และก็ทำให้ภาพมองคนที่เคยติดคุกค่อยๆ เปลี่ยนไปในสายตาคนรอบข้างครับ

และอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตราการว่างงานก็คือผู้เกษียณอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วจากเดิมกฏหมายบังคับว่าถ้า 60 แล้วให้ถือว่าเกษียณ หมดประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องออกจากงานไปอยู่บ้านเลี้ยงหมาปลูกต้นไม้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนเหล่านี้ยังมีพลังอีกมากที่จะสร้างคุณค่ามากมายจากการทำงาน ดังนั้นหัวใจสำคัญคือคำว่าเกษียณต่างหากที่ควรจะต้องเกษียณไปได้แล้ว

โลกเราควรจะลืมเส้นแบ่งเรื่องอายุ แต่ควรต้องใช้ประโยชน์จากคนทุกคนให้มากกว่านี้ ให้พวกเขาเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพ บางคนการเกษียณอายุคือการหยุดจากงานประจำที่น่าเบื่อ แล้วหันมาเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่ตัวเองฝันอยากทำมาตั้งนาน ในต่างประเทศถึงกับมีคำศัพท์ใหม่ว่า Elderpreneur ลองไปเสิร์จหากันต่อนะครับสำหรับคนที่สนใจ

ดังนั้นสรุปได้ว่าในศูนย์ที่สอง ภาวะการว่างงานจะเป็นศูนย์ได้ก็ต่อเมื่อเราเริ่มปลูกฝังความคิดให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบออกมาได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้มีแค่ทางเลือกเดียวคือการหางานแบบคนรุ่นก่อน แต่พวกเขายังมีอีกทางเลือกคือการสร้างงานให้ตัวเองขึ้นมา หรือแม้แต่การสร้างงานให้คนอื่นได้ทำด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ต้องมาจากธนาคารที่ต้องเปลี่ยนวิธีการให้สินเชื่อ ต้องทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ แล้วนั่นก็หมายความว่ากฏระเบียบต่างๆ ในภาครัฐต้องเอื้อต่อการเริ่มต้นธุรกิจมากกว่านี้ ไม่ใช่เอาแต่ขัดขวางเพราะกลัวว่าจะมีใครมาแย่งอำนาจความร่ำรวยไป

Third Zero​ ศูนย์ที่สาม มลภาวะเป็นศูนย์

ท่ามกลางวิกฤตมากมายในโลกทั้งโลกร้อน ทั้ง PM 2.5 ทั้งฝุ่นควันต่างๆ ไหนจะวิกฤตโควิด19 ในวันนี้อีก โลกเราเต็มไปด้วยมลภาวะมากมาย ขยะพลาสติกล้นทะเลจนกลายเป็นเกาะใหญ่มากเท่ากับหนึ่งรัฐในสหรัฐด้วยซ้ำ และทั้งหมดนั้นก็คือผลพวงมาจากโลกาภิวัฒน์ หรือการเร่งเจริญการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีเก่า

Muhammad Yunus บอกว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเลือกเส้นทางการพัฒนาประเทศตามประเทศที่พัฒนาแล้วในวันนี้ ซึ่งประเทศเหล่านั้นกว่าจะพัฒนาได้ก็สร้างมลภาวะหรือมลพิษไว้มากมาย นั่นก็เพราะในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ช่วยในการพัฒนายังไม่ได้ก้าวหน้าและล้ำสมัยอย่างทุกวันนี้

ตัวอย่างการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอย่างถ่านหินหรือฟอสซิล แต่สามารถข้ามไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดีกว่าต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ทั้งการใช้พลังงานลม พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานคลื่นในทะเลก็ตาม หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ล้ำสมัยกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไปที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี

อย่างบางประเทศในแถบแอฟริกาที่ธุรกันดาลมากก็ไม่จำเป็นต้องสร้างถนนมากมาย แต่พวกเขาในวันนี้หลายประเทศใช้ UAV หรือเครื่องบินไร้คนขับ หรือใช้ Drone ในการส่งสิ่งของอย่างยาให้ระหว่างหมู่บ้านที่ห่างไกลกันได้อย่างสะดวกมากมายแล้ว

หรือถ้าดูตัวอย่างในบ้านเราโดยเฉพาะในกรุงเทพที่เต็มไปด้วยสายระโยงระยางมากมาย ซึ่งสายเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่สายไฟฟ้านะครับ แต่เป็นสายโทรศัพท์หรือสายอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก นั่นก็เพราะอินเทอร์เน็ตบ้านเราส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายที่เป็นเทคโนโลยีเก่า แต่ในวันที่ 5G เข้ามานั่นทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบการใช้สาย Fiber ตามบ้านจะกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปเลย

และนั่นก็ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ ที่รับเทคโนโลยีนี้เข้าไปสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้โดยไม่ต้องมีสายรกรุงรังกวนใจแบบประเทศก่อนหน้า

หรือในประเทศอินเดียเองก็มีสายรัดข้อมือดูแลสุขภาพผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ให้ปลอดภัยโดยไม่ต้องชาร์จแบทใดๆ เพิ่มตลอดระยะเวลา 10 เดือนเลย

Coel: The Smart Bangle

สายรัดข้อมือที่ช่วยดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์นี้มีชื่อว่า Coel เป็นบริษัทร่วมทุนของ Intel ที่ออกแบบมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้าใจผู้ใช้จริงๆ หลายคนบ้านไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง หลายคนไม่สะดวกในการต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้สายรัดอันนี้บรรจุข้อมูลทุกอย่างที่ผู้หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องรู้ตลอดระยะเวลา 9 เดือนโดยไม่ต้องชาร์จไฟเพิ่ม แถมที่สำคัญในสายรัดข้อมือนี้ยังมีเซนเซอร์ตรวจจับควันไฟในบ้านซึ่งมักจะเกิดจากการจุดฟืนไฟหุงหาอาหารจนทำให้หลายคนเสียชีวิตเพราะดมควันโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นนั้นสรุปศูนย์ที่สามได้ว่า การจะทำให้มลภาวะเป็นศูนย์ได้จริงนั้นคือการข้ามไปใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่า สะอาดกว่า และปลอดภัยกว่าสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาได้เลยครับ

สรุปส่งท้ายของหนังสือ โลกสามศูนย์ A World of Three Zeros

ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แล้วประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ต้องมาจากการเลือกตั้งที่มีคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งที่ทำให้เป็นพิธีไปเสียอย่างนั้น เพราะนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากกลุ่มคนที่กุมอำนาจมานานให้กระจายสู่กลุ่มคนใหม่ๆ แล้วกลุ่มคนใหม่ๆ นี้ก็ต้องเข้ามาเพื่อแก้ไขระบบเดิมที่ไม่ก่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรไปยังกลุ่มคนที่ต้องการจริงๆ เพื่อให้ทรัพยากรโดยเฉพาะเงินทุนในธนาคารมากมายสามารถแจกจ่ายไปถึงคนที่ต้องใช้มันจริงๆ

แล้วเราก็ต้องก็ต้องเริ่มปลูกฝังความคิดให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องรอให้ใครเสนองานให้เขาทำ แต่พวกเขาสามารถสร้างงานให้ตัวเองทำรวมถึงสร้างงานให้คนอื่นทำด้วยยังได้

แล้วการจะเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนามาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเดินตามประเทศต้นแบบเสมอไป แต่คุณสามารถข้ามไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วไม่เคยเข้าถึงได้ต่างหากครับ

แล้วหัวใจสำคัญคือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เอาแต่กักตุนทรัพยากรไปให้คนไม่กี่คนควรต้องหมดสมัยไปเสียที ควรต้องถูกระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise เข้ามาแทนที่ให้มากขึ้น เพราะธุรกิจเพื่อสังคมจะเข้ามาทำหน้าที่ทำกำไรเหมือนเดิม แต่กำไรที่ได้มาจะกระจายแจกจ่ายคืนไปสู่สังคมทั้งหมด เป็นการยกระดับทั้งสังคมจริงๆ ให้ไม่เหลือความยากจน ความว่างงาน และมลภาวะอีกต่อไป

ใครที่สนใจเรื่อง Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำได้จริงไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ โลกสามศูนย์ หรือ A World of Three Zeros โดย Muhammad Yunus ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 12 ของปี 2020

สรุปหนังสือ โลกสามศูนย์ A World of Three Zeros
ธุรกิจสู่โลกที่ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์
Muhammad Yunus เขียน
ไพรัตน์ พงศ์พานิช แปล
สำนักพิมพ์ มติชน

สรุปหนังสือ โลกสามศูนย์ A World of Three Zeros
ธุรกิจสู่โลกที่ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์
Muhammad Yunus เขียน
ไพรัตน์ พงศ์พานิช แปล
สำนักพิมพ์ มติชน

อ่านหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/?s=%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1

สนใจสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ > https://bit.ly/AWorldofThreeZerosYunus

20200402

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/