50 Years The Making of The Modern Thai Economy

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ครึ่งหลัง หลังจากบทความแรกผ่านไปถึงครึ่งแรกของเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย กับ 4 ยุคสมัยที่ปูรากฐาน ต่อยอด และแย่งชิง มาถึงครึ่งหลังของหนังสือเล่มนี้อีก 3 ยุคสำคัญที่จะพูดถึงปัจจุบันและทิศทางในอนาคตที่จะเป็นไป

ขอ Recap สั้นๆ ว่าทั้ง 7 ยุคของเศรษฐกิจไทยมีอะไรบ้างครับ

หนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 ช่วงใหญ่ๆ ตามช่วงเวลาสำคัญของเศรษฐกิจและการเงินไทย ดังนี้ครับ

  1. The Modern Dawn รุ่งอรุณเศรษฐกิจสมัยใหม่ (1945-1970)
  2. The Wind of Change มรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลง (1971-1980)
  3. The Golden Opportunity โอกาสอันโชติช่วง (1981-1990)
  4. The Fall From Grace มหาวิกฤตต้มยำกุ้ง (1991-2000)
  5. The Great Reset การกอบกู้และก้าวต่อ (2001-2010)
  6. The Turbulent Time ห้วงเวลาแห่งการทดสอบ (2011-2020)
  7. Over The Horizon มองไกลข้ามขอบฟ้า (2021-Beyond)

อ่านบทความสรุปครึ่งแรกก่อน (กดที่นี่) ถ้าอ่านแล้วเรามาต่อที่ครึ่งหลังกันเลยครับ

ยุคที่ 5 The Great Reset การกอบกู้และก้าวต่อ 2001-2010

นี่คือยุคที่หลายคนพอจะคุ้นเคย และน่าจะมีประสบการณ์ร่วมไม่มากก็น้อย นี่คือยุคที่การเมืองไทยเปลี่ยนไปตั้งแต่มีนายกที่ชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร ก้าวเข้ามา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน เกิดนโยบายประชานิยมขึ้น เกิดกองทุนหมู่บ้าน เกิดสินค้า OTOP เกิดบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค และก็ก่อให้เกิดการแตกแยกทางความเห็นทางการเมืองแบบตุดโต่งในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เกิดม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง เกิดการเผาบ้านเผาเมืองปิดสนามบิน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่การเมืองและเศรษฐกิจเข้มขึ้นจริงๆ และทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็ยังส่งผลถึงเศรษฐกิจและการเมืองในยุคถัดไป

ทักษิณ เป็นนายกที่มาจากนักธุรกิจเต็มตัวคนแรกก็ว่าได้ ทำให้การบริหารประเทศเป็นในรูปแบบ CEO อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้านหนึ่งได้รับการชื่นชม อีกด้านก็ได้รับการต่อต้านจากคนเดิมที่คุ้นชินกับระบบเดิมๆ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัด

และเขาเป็นนายกที่ชนะการเลือกตั้งสองสมัยติดแบบคะแนนเสียงทิ้งขาด เรียกได้ว่าฝ่ายค้นไม่มีอำนาจแย้งใดๆ เลยในสภา ส่งผลให้เป็นหนึ่งในการอุบัติของวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นต่อไป

ในยุคนี้เป็นยุคทองของนักธุรกิจ ส่งผลให้อำนาจเดิมอย่างทหารค่อยๆ ถูกลดเลือนความสำคัญไป รูปแบบของการส่งออกของประเทศไทยก็เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมรถยนต์กลายเป็นรายได้สำคัญของประเทศในช่วงเวลานั้น

ยุคนี้เป็นยุคที่ภาคการท่องเที่ยวรุ่งเรือง นโยบาย Amazin Thailand ผลิดอกออกผลอย่างมาก ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมา มาสัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม ในราคาที่ไม่แพงมากสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปหรือชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อ

ในยุคนี้เกิดการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แปรรูป ปตท และก็แปรรูปหลายๆ หน่วยงานให้กลายเป็นเอกชน เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สุดท้ายหน่วยงานอย่าง กฟผ ก็ถูกคัดค้านจนไม่สามารถปฏิรูปได้จนถึงทุกวันนี้

ส่วนคุณทักษิณ เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการขายหุ้นบริษัทให้กองทุนสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี จนกลายเป็นชวนเหตุของม็อบผ้าเหลืองกู้ชาติในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการปฏิวัติหลังจากไม่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปี นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน แต่พอเลือกตั้งใหม่ก็ยังคงเป็นพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น หรือเพื่อไทยในเวลานี้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่าง Subprime หรือ Hamburger Crisis หรือวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาที่ส่งผลต่อประเทศไทยในด้านการส่งออกที่ลดลงอย่างทันตา และก็เป็นจุดกำเนิดของ Cryprocurrency อย่าง Bitcoin ในเวลานั้นจากความไม่เชื่อใจในสกุลเงินของรัฐบาลอีกต่อไป

ในยุคนี้คือช่วงเวลาที่ประเทศจีนเริ่มก้าวเข้ามามีอำนาจในตลาดโลก จากเดิมเคยเป็นประเทศด้อยพัฒนา กลายเป็นว่าประเทศนี้สามารถสร้างการเติบโตของ GDP ได้สองหลักต่อเนื่องนานถึงสามสิบปี

นี่คือยุคทองของการค้าโลกที่ทุกประเทศล้วนเชื่อมโยงกันไม่มากก็น้อย นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งเปราะบางกว่าเดิมมาก เพราะถ้าประเทศอื่นทำอะไรขึ้นมา ย่อมส่งผลต่อประเทศอื่นไม่มากก็น้อยครับ

ยุคที่ 6 The Turbulent Time ห้วงเวลาแห่งการทดสอบ 2011-2020

นี่คือยุคที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความวุ่นวายมากมายในเมืองไทยและระดับโลก เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศ น้ำท่วมกรุงเทพในแบบที่ต้องหนีจากบ้านขึ้นชั้นสอง หรือชั้นสาม ยุคที่อังกฤษขอออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป ยุคที่ Donald Trump ได้กลายเป็นประธานาธิบดีแบบงงๆ ในสายตาคนจำนวนมาก และยังเป็นยุคที่เกิดการแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 เจ้าเชื้อร้ายที่ทำให้โลกทั้งใบต้องล็อกดาวน์หยุดอยู่กับที่ ในแบบที่ไม่มีตำราไหนเคยสอนให้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ไว้

ในยุคนี้ประเทศไทยเกิดรัฐประหารอีกครั้ง แต่ที่สำคัญคือครั้งนี้กินเวลายาวนานมากกว่าจะมีการคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้ง แต่อำนาจนั้นก็ยังถูกอำนาจของ สว 250 คนเข้ามาร่วมกำหนดนายกได้อย่างงงๆ จากขอเวลาอีกไม่นาน ดูเหมือนจะเป็นตลอดกาลและตลอดไป

ยุคนี้เกิดการประท้วงในรูปแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดการตั้งคำถามต่อหลายๆ เรื่องแบบที่คนยุคก่อนได้แต่อ้าปากค้าง เกิดความไม่มั่นใจในประเทศของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป จนก่อให้เกิดกลุ่มย้ายประเทศที่มีสมาชิกเกินล้านคนภายในเวลาไม่กี่วัน

ในยุคนี้นายกปู น้องสาวคุณทักษิณ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย สามารถชนะการเลือกตั้งและได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เกิดเป็นนโยบายจำนวนข้าวที่กลายเป็นข่าวใหญ่ถึงความโปร่งใส แถมยังโชคไม่ดีต้องเจอกับวิกฤตมหาตภัยน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ส่งผลให้หลายธุรกิจเสียหายมหาศาลจากน้ำท่วมครั้งนี้

ธุรกิจรถยนต์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงตามมาด้วยนโยบายลดภาษีรถยนต์คันแรก 1 แสนบาท ส่งผลให้เกิดรถป้ายแดงเต็มท้องถนนไปหมด

จากนั้นเกิดม็อบเป่านกหวีด กปปส ที่อ้างว่าทำเพื่อประชาธิปไตย มีการยกระดับการชมนุมเป็นการปิดกรุงเทพ ปิดสนามบิน ทำเอาวุ่นวายไปหมดทั่วบ้านทั่วเมือง

ซึ่งทำให้เกิดการทำรัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่าจะขอเข้ามาจัดระเบียบแป๊บเดียวเดี๋ยวไป แล้วจะรีบทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ที่โปร่งใสมากที่สุด

ไปๆ มาๆ กินเวลาร่วม 5 ปีกว่าจะเกิดการเลือกตั้งได้ และก็ยังได้เป็นนายก ต่อ ด้วย สว 250 เสียงที่แต่งตั้งมาเพื่อเลือกตัวเองอย่างเห็นได้ชัด

ในภาพเศรษฐกิจโลก Donald Trump ชนะการเลือกตั้งกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ออกนโยบายหลายอย่างแบบที่ผู้นำคนก่อนไม่เคยคิดและทำมาก่อน

ในช่วงเวลานี้คือยุคที่ประเทศไทยกำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง ดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถขยับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างตั้งใจ

แถมเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวสุดท้ายอย่างการท่องเที่ยวก็ถูกดับลงด้วยไวรัสโควิด19 จากเดิมแม้การเมืองจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อปากท้องคนไทยมากนัก

แต่พอรายได้หลักจากการท่องเที่ยวหายไปในพริบตา ส่งผลให้ปัญหาที่ซุกไว้ไต้พรมส่งกลิ่นออกมาหมด บวกกับปัญหาการจัดซื้อและจัดหาวัคซีนโควิด19 ก็เป็นไปอย่างล่าช้ามาก เกิดการทำงานแบบไม่ประสานงาน มีการซักทอดโยนความผิดให้หน่วยงานต่างๆ เรียกได้ว่าความน่าเชื่อถือของรัฐบาลหายไปอย่างมากในสายตาประชาชน

เมื่อประเทศขาดรายได้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินเอามาใช้จ่ายหนักมาก แถมในช่วงเวลานี้การลงทุนจากต่างประเทศก็หดหายไปเยอะมาก ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะหมดเสน่ห์ในสายตานักลงทุนต่างชาติไปเสียแล้ว

กลายเป็นบริษัทเจ้าสัวใหญ่ๆ ของไทยเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศแทน

แต่ที่น่าสนใจนี่คือยุคของ Digitalization หรือ Digital Disruption ยุคของ Big Data ยุคของเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งดูสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไทยในยุคนี้ทำได้ดี นั่นก็คือการเกิดขึ้นของ Prompt Pay ที่ส่งผลต่อการใช้เงินออนไลน์ของคนไทย

จากเดิมเคยโอนเสียค่าธรรมเนียมวุ่นวาย ก็สามารถโอนหากันได้สบายๆ ข้ามธนาคารแบบไม่มีค่าธรรมเนียม แต่หลังจากนั้นไม่นานธนาคารต่างๆ ก็ปรับตัวตามเกมนี้ทันที เปิดให้โอนฟรีแบบไม่มีข้อจำกัด

ในยุคนี้คนไทยหันมาใช้ E-Payment จำนวนมากผ่านแอปเป๋าตังและโครงการเราชนะ หรือคนละครึ่ง ที่รัฐออกให้ 50 คุณจ่าย 50 เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจขั้นรากหญ้าที่ดี ในขณะเดียวกันก็ยังเก็บ Data ได้ว่าใครขายดีเพื่อจะได้เอาไปเก็บภาษีเพิ่ม

ในภาพรวมระดับโลก ยุคนี้เป็นยุคของสงครามเทคโนโลยี ที่ยกระดับจากสงครามการค้ามาอีกขั้น หลายๆ บริษัทเทคโนโลยีดังๆ ของอเมริกา ก็ถูกตีตื้นตามมาจากบริษัทเทคโนโลยีจากจีน

อเมริกามี Amazon จีนมี Alibaba
อเมริกามี Apple จีนมี Mi และ Huawei
อเมริกามี Facebook จีนมี Tencent

เรียกได้ว่าอะไรที่อเมริกามีแล้วดี ทางพี่จีนล้วนมีและบางแง่มุมก็ดียิ่งกว่า

นี่คือสรุปภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในยุคที่ 6 The Turbulent Time ห้วงเวลาแห่งการทดสอบอันเข้มข้นตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา และทั้งหมดนี้ก็นำมาสู่ยุคถัดไปที่กำลังเกิดขึ้น ยุคที่จะพูดถึงทิศทางในอนาคตนับจากนี้ไป ว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร และจะก้าวไปอยู่ตรงจุดที่ดีได้หรือไม่ครับ

ยุคที่ 7 Over The Horizon มองไกลข้ามขอบฟ้า 2021-Beyond

ยุคถัดไปของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมาจากที่เราเคยรู้จัก และก็เปลี่ยนไปด้วยความเร็วที่ไวขึ้น แม้ภาพรวมรายได้คนไทยจะเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งเพิ่มสูงตาม

แม้ในภาพรวมสัดส่วนครอบครัวที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะลดลงเหลือแค่ไม่กี่เปอร์เซนต์ แต่การกระจายรายได้กลับไปกระจุกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม

มีการประเมินว่าคนรวยสุด 10% ของประเทศไทย ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 77% และคน 1% บนสุดของประเทศไทย ถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคน 20% ล่างของประเทศถึง 2,500 เท่า นี่แหละครับความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่แท้จริง

ประเทศไทยเคยมี 4 เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ ที่เคยเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนวันวาน ซึ่งวันนี้กำลังจะดับลงกลางทางไปเรื่อยๆ

เครื่องยนต์แรกคือโครงสร้างประชากร

วันก่อนเรามีประชากรเกิดใหม่เยอะ แต่พอนโยบายคุมกำเนิดมาทำให้อัตราการเกิดลดลง จนมีแนวโน้มจะติดลบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (คือจำนวนคนเกิดน้อยกว่าคนตาย) และในตอนนี้เราก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไปแล้ว ซึ่งบอกให้รู้ว่าจำนวนแรงงานในประเทศกำลังลดลงเรื่อยๆ

เครื่องยนต์ที่สอง ทรัพยากรธรรมชาติ

จากนโยบาย Amazing Thailand ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ความสวยงามเดิมที่มีมาเป็นจุดขาย ดึงให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเข้ามาใช้เงินก่อให้เกิดรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่กลายเป็นว่าเราเอาแต่ใช้และไม่เคยดูแลรักษาให้ดี ทำให้หลายแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปทุกที ซึ่งดูเหมือนในวันหน้าแหล่งท่องเที่ยวไทยจะไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชั้นดีให้กลับมาอีกครั้งได้

เครื่องยนต์ที่สาม การส่งออก

เดิมทีการส่งออกคือหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์โลกไม่ทัน แรงงานไทยไม่ได้ถูกพอที่จะดึงดูดบริษัทต่างชาติ เทคโนโลยีในประเทศก็ไม่มีอะไรไปแข่งขัน ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวไปทกุกวัน โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตรถยนต์ที่เคยเป็นหัวใจสำคัญกำลังจะสูญสิ้นความสำคัญไป เมื่อเทรนด์โลกคือรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนใดๆ ให้วุ่นวายยุ่งยากแบบวันวาน

คำถามคือ ถ้าธุรกิจรถยนต์น้ำมันตายไป เราจะก้าวเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีหัวใจหลักคือแบตเตอรี่ได้หรือเปล่า?

เครื่องยนต์ที่สี่ ภาครัฐ

เดิมทีภาครัฐเคยเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ภาครัฐกลายเป็นอุปสรรคที่คอยขัดขวางและขวางกั้นภาคธุรกิจให้ไม่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้สะดวก

ด้วยกฏระเบียบมากมาย กฏหมายที่ซับซ้อน ส่งผลให้หลายคนไปจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศแทน

ความท้าทายจากโลกใหม่

ความท้าทายของโลกในวันหน้าคือ เราจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากกว่าการผลิตในวันวาน บวกกับความท้าทายจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหนักขึ้นทุกวัน ความท้าทายของภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยับจากโลกตะวันตกไปสู่มหาอำนาจตะวันออกใหม่อย่างจีน และสุดท้ายคือความท้าทายจากความขัดแย้งภายในประเทศเอง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเดินหน้าเต็มที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

และหนังสือเล่มนี้ก็ยังให้แนวทางการปรับตัวของประเทศไทยที่หนังสือเล่มนี้ให้ไว้ ว่าประเทศไทยควรต้องปรับตัวอย่างไรถ้าอยากจะไปต่อในโลกใบใหม่ที่ผันผวนยิ่งกว่าเดิม

ปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต เพิ่มความรู้ความสามารถของประชาชนที่จะก้าวเข้ามาเป็นแรงงานใหม่ จากนั้นก็ปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก แล้วก็ต้องปรับตัวธุรกิจให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย และลดการทำร้ายธรรมชาติไปพร้อมกัน

สุดท้ายคือการปรับตัวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้การกระจายรายได้เป็นธรรมมากกว่านี้ กระจายอำนาจออกไปจากส่วนกลางยังท้องถิ่น

สรุปหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่ในวันนี้ มีรากฐานที่มาจากปัจจัยใดบ้าง

การรู้อดีตความผิดพลาด ทำให้เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคตได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ที่กำลังจะมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่เราไม่รู้และไม่เคยเจอมาก่อน

เพราะวันนี้อนาคตเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์หรือคาดเดาได้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้เราเห็นแล้วว่าไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 19 ของปี

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้แบบ PDF ฟรี > https://bit.ly/3LB9cX4

อ่านสรุปครึ่งแรก > https://www.summaread.net/economy/%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%ad-50-years-the-making-of-the-modern-thai-economy-kiatnakin-phatra/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/