สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร หนังสือที่ตั้งใจทำมาเป็นอย่างดีทั้งรูปเล่มและเนื้อหา เพื่อที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ 50 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญมีให้ความเห็นถึงทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในวันหน้า

ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่ดีมากครับ ขอขอบคุณทีมงานธนาคารเกียรตินาคินภัทร ด้วยที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ถึงบ้าน เพาะไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าอยากได้จะหาซื้อได้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือมีเวอร์ชั่น PDF ให้โหลดอ่านฟรีครับ > https://bit.ly/3LB9cX4

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

หนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 ช่วงใหญ่ๆ ตามช่วงเวลาสำคัญของเศรษฐกิจและการเงินไทย ดังนี้ครับ

  1. The Modern Dawn รุ่งอรุณเศรษฐกิจสมัยใหม่ (1945-1970)
  2. The Wind of Change มรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลง (1971-1980)
  3. The Golden Opportunity โอกาสอันโชติช่วง (1981-1990)
  4. The Fall From Grace มหาวิกฤตต้มยำกุ้ง (1991-2000)
  5. The Great Reset การกอบกู้และก้าวต่อ (2001-2010)
  6. The Turbulent Time ห้วงเวลาแห่งการทดสอบ (2011-2020)
  7. Over The Horizon มองไกลข้ามขอบฟ้า (2021-Beyond)

ถ้าพร้อมแล้วเดี๋ยวผมจะสรุปย่อๆ แต่ละบทให้อ่านเรียกน้ำจิ้มกันครับ

ยุคที่ 1 The Modern Dawn รุ่งอรุณเศรษฐกิจสมัยใหม่ 1945-1970

เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าทุกช่วงของเศรษฐกิจไทยในหนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นจากการสิ้นสุดสงครามโลก ประเทศไทยในฐานะผู้แพ้สงคราม แต่ก็ต่อต้านญี่ปุ่นไปพร้อมกัน ก่อให้เกิดรายจ่ายเป็นจำนวนไม่น้อย

ในตอนนั้นมีการแย่งชิงอำนาจของ 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มรอยัลลิสต์ นำโดยเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงและพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเสรีไทย นำโดย ปรีดี พนมยงค์ และ กลุ่มทหารเรือ ที่แตกหักอย่างเปิดเผยกับกลุ่มกองทัพบก

แต่ในที่สุดทหารก็เป็นผู้ชนะในการกุมอำนาจโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่อำนาจนั้นก็ถูกแบ่งแบ่งปันกระจายออกไปในนามกลุ่มสามทหารเสือ ประกอบด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และ จอมพล สฤษธิ์ ธนะรัชต์

เราเริ่มผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา เพื่อใช้คานอำนาจของคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านรอบข้างไทย อเมริกาจึงอัดฉีดเงินมากมายเข้ามาพัฒนาประเทศไทยให้มีถนนหนทางมากมาย แต่เบื้องหลังแล้วการสร้างถนนก็เพื่อทำให้ง่ายต่อการลำเลียงพลเข้ารบกับคอมมิวนิสต์ครับ

แต่เมื่อถนนพาดผ่านพื้นที่ใด พื้นที่นั้นก็มีความเจริญเข้าถึงโดยง่ายขึ้น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีถนนพาดผ่านมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีตาม เรียกได้ว่าการจะลดอำนาจคอมมิวนิสต์คือการทำให้ความเจริญทางเศรษฐกิจเข้าถึงนั่นเองในวันนั้น

ในช่วงเวลานี้เองประเทศไทยก็มีทหารอเมริกันเข้ามาทั้งท่องเที่ยว และอยู่อาศัยมากมาย ในแง่หนึ่งก็เพราะอเมริกาสร้างฐานทัพไว้ที่บ้านเราเพื่อเอาไว้รบในสงครามเวียดนาม แต่การที่มีทหารอเมริกันเข้ามาอยู่ก็หมายความว่าจะต้องมีร้านค้า ร้านรวงเพื่อเอาไว้ให้บริการทหารอเมริกันเหล่านั้น และนั่นก็ก่อให้เกิดอาชีพโสเภนีมากมายซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม

เกิดเป็นอุตสาหกรรมเพศพานิชย์ เกิดคำว่า “ผู้หญิงหากิน” ซึ่งในกรุงเทพก็มีมากถึง 3 แสนคนในเวลานั้น ถึงขนาดพลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยากให้มีผู้หญิงหากินมากกว่านี้ เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูครับ

ในยุคนี้ยังก่อให้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ใจความสำคัญคือ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นหลัก ยังไม่มีแนวคิดเรื่องสัมปทานหรือปล่อยให้เอกชนเข้ามาทำอย่างทุกวันนี้

จากนั้นก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ตามมา เน้นกระจายความเจริญจากในเมืองออกไปยังทั่วประเทศ เน้นการพัฒนาชนบทให้เจริญขึ้นเพื่อลดความกันดารลงโดยไว

ในยุคนี้มีตลาดซื้อขายหุ้นเกิดขึ้นครั้งแรกแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แถมในยุคนี้ยังก่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจจากคนจีนที่อพยพเข้ามาสู่ไทยแล้วกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเจ้าสัวในวันนี้ อย่างห้างเซ็นทรัลเองก็เกิดจากร้านค้าปลีกในวันนั้นครับ

เพราะเดิมทีคนไทยค้าขายไม่เป็น เป็นแต่เก็บส่วย เก็บส่วนแบ่งต่างๆ เรียกได้ว่าชนชั้นสูงหรือเจ้าขุนมูลนายในสังคมส่วนใหญ่เป็นแต่นั่งกินนอนกินบนสิ่งที่ตัวเองได้ จึงต้องอาศัยชาวต่างชาติอย่างคนจีนมาช่วยค้าขายสร้างธุรกิจนั้นเอง

บวกกับในช่วงเวลานั้นประเทศจีนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมสู่รูปแบบ คอมมิวนิสต์ ในยุคเหมาเจ๋อตง ส่งผลให้คนจีนจำนวนมากที่จากเดิมแค่อยากเข้ามาทำมาหากินในไทย ไม่อยากกลับบ้านที่จีนไปอีกแล้ว เพราะเกรงว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่มี ที่หามาด้วยความยากลำบาก จะถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยึดไปหมดนั่นเองครับ

แต่ในยุคนั้นการที่คนจีนจะค้าขายก็ทำไม่ได้โดยสะดวก เพราะต้องค้าขายหรือทำธุรกิจภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ต้องให้ชนชั้นนำของไทยเข้าไปมีเอี่ยวด้วย ไม่อย่างนั้นจะทำมาหากินไม่ได้โดยสะดวก อาจถูกก่อกวนหรือกลั่นแกล้งต่างๆ นาๆ

เอาง่ายๆ คือจ่ายค่าคุ้มครองให้ทำธุรกิจนี่แหละครับ

ยิ่งอ่านดูยิ่งรู้สึกว่าชนชั้นนำเราเก่งในการรีดไถมาแต่ไหนแต่ไรจริงๆ

ในยุคนั้นธนาคารพานิชย์ต่างๆ ต้องเชิญบรรดาเหล่าทหารนายพลผู้มีอำนาจทางการเมือง เข้ามานั่งเก้าอี้บอร์ดบริหาร แม้เหล่านายพลทั้งหลายจะไม่ได้มีความรู้ในการทำธุรกิจหรือบริการงานแต่อย่างไร แต่ก็นั่นแหละครับ ถ้าอยากจะทำธุรกิจในไทยได้ ก็ต้องเอาทหารเข้ามามีเอี่ยวส่วนแบ่งด้วย

ว่าไปก็ไม่ต่างจากทุกวันนี้เลย ลองไปสำรวจรายชื่อบอร์ดบริษัทใหญ่ๆ ดูซิครับ คุณจะเห็นว่าต้องมีทหารยศนายพลอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย

ในส่วนท้ายของแต่ละบทก็จะมีสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในช่วงเวลานั้น น่าสนใจตรงที่อ่านเจอว่า ในยุคสมัยนั้นที่จอมพล สฤษดิ์ ทำรัฐประหารนั้น หลายประเทศบนโลกอย่างลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ก็เกิดรัฐประหารมากมาย แต่ทุกวันนี้ไม่มีประเทศไหนทำรัฐประหารอีกต่อไป แทบจะเหลือแค่ประเทศไทยประเทศเดียว ที่ยังคงทำรัฐประหารแย่งชิงการปกครองอยู่

Thailand Only จริงๆ ครับ

ยุคที่ 2 The Wind of Change มรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลง 1971-1980

ยุคข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ ระบบแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับทองคำถูกยกเลิก โดยอเมริกาบอกว่าให้อาศัยความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอเมริกาแทน แถมยังเป็นยุคที่คอมมิวนิตส์มีบทบาทสร้างความหวาดกลัวในสังคมไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการประท้วงไม่พอใจรัฐบาลขนานใหญ่ เกิดเป็นวันแห่งความทรงจำ 6 ตุลาคม 1976

สุดท้ายคือก่อให้เกิดความวุ่นวายจนนำมาสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง จากทหารสู่นายทุน เป็นยุคที่นักธุรกิจเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจไทยในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในยุคนี้อเมริกาเองก็เกิดความวุ่นวายในประเทศจากการประท้วงของประชาชนจำนวนไม่น้อย ให้ถอนทหารออกจากสงครามเวียดนามสักที ส่งผลให้อเมริกาเริ่มลดบทบาทในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด เงินลงทุนจำนวนมากที่เคยมีให้ก็หดหายไป เศรษฐกิจไทยจึงเริ่มซบเซา และนั่นก็ทำให้ไทยเราเริ่มเดินเข้าหามิตรใกล้ประเทศอย่างจีนมากขึ้น

ในยุคนี้เกิดการปฏิวัติจากกำลังทหารจากจอมพล ถนอม กิตติขจร ด้วยอ้างว่าเกิดภัยคุกคามประเทศและราชบัลลังก์ เกิดความวุ่นวายภายในประเทศ เกิดการนัดหยุดงานประท้วงของทั้งแรงงานและนักศึกษา ถ้าจะแก้ไขตามวิถีรัฐธรรมนูญจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเฉียบขาดและฉับพลัน

รัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ก็ประมาณนี้มั้งครับ

จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อระบอบเผด็จการที่สืบทอดอำนาจของคนไม่กี่กลุ่ม

บวกกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มาจากผลกระทบของน้ำมันขึ้นราคา จึงเป็นที่มาของเพลง “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ” เพราะสมัยนั้นยังคงใช้น้ำมันตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านนอกคอกนา ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าทั่วถึงทุกบ้านอย่างทุกวันนี้

ในยุคนี้ยังเป็นยุคที่ตลาทุนเฟื่องฟู และก็ก่อให้เกิดฟองสบู่แรกของตลาดทุนไทยขึ้นมา

วิกฤตราชาเงินผ่อน คือฟองสบู่แรกของตลาดทุนไทยในช่วงปี 1978-1979 จากวิกฤตครั้งนั้นก็ก่อให้เกิดหน่วยงานและกฏระเบียบที่จะเข้ามาควบคุมดูแลตลาดทุนให้ไม่พลาดซ้ำเดิมแบบง่ายๆ

ยุคที่ 3 The Golden Opportunity โอกาสอันโชติช่วง 1981-1990

ยุคนี้เป็นยุคที่ดีของเศรษฐกิจไทยเพราะเราเริ่มขุดเจอแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันในอ่าวไทย จนก่อให้เกิดบริษัท ปตท จนถึงทุกวันนี้ บวกกับบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นเองต้องย้ายฐานการผลิตภายในประเทศ และก็ย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยเราจนทำให้เราสามารถผลิตอะไรได้มากมาย และก็ส่งออกไปขายยังทั่วโลก

สำคัญคือได้ผู้นำอย่างพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มาทำให้เกิดยุคทองของเทคโนแครต ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยดี สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ดีให้คนรุ่นหลัง และก็ได้พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มาเป็นนายกต่อ ที่มุ่งมั่นในนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ส่งผลให้ทั้งภูมิภาคเกิดยุคทองทางเศรษฐกิจที่หาได้ยากของประเทศไทยยุคหนึ่งครับ

ยุคนี้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือที่เรียกกันติดปากว่า Eastern Seaboard นั่นเองครับ

ยุคนี้ก่อให้เกิดกระแสไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ ออกมาเป็น Soft Power ผ่านผลงานเพลงที่หลายคนคุ้นหู นั่นก็คือ “Made in Thailand” ของวงคาราบาว เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในวันที่ไทยกำลังเสียดุลการค้าไปเรื่อยๆ

ในยุคนี้ยังเกิดข่าวดังอย่างแชร์แม่ชม้อย ที่หลอกว่าทำบริษัทค้าน้ำมันแล้วจะได้รับผลตอบแทนอย่างดี กลายเป็นว่ามีคนร่วมลงทุนด้วยกว่า 16,000 คน มียอดเงินสูงกว่า 4,000 ล้านบาทในเวลานั้น ซึ่งถือว่ามหาศาลเลยทีเดียว

และยุคนี้เองที่ประเทศไทยถูกคาดหวังว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าแห่งเอเซีย เริ่มจาก ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และใต้หวัน เพราะเรามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ที่ดีมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าในยุคถัดมาประเทศเราจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีชื่อว่า ต้มยำกุ้ง

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งในบทนี้คือ โครงการทางด่วนโฮปเวลล์ เกิดขึ้นจากน้าชาติ หรือพลเอก ชาติชาย มาประชุมสำคัญสายเพราะรถติดอยู่ตรงทางรถไฟแถวยมราช เลยถามว่าเราจะยกรถไฟขึ้นได้ไหม และนั่นก็เป็นที่มาของโครงการโฮปเวล ที่เพิ่งสำเร็จกลายเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าสายดีแดงวันนี้ครับ

ยุคที่ 4 The Fall From Grace มหาวิกฤตต้มยำกุ้ง 1991-2000

ยุคของจุดสิ้นสุดสงครามเยอะ เพราะโซเวียตแตกกระจายไปเป็นประเทศน้อยใหญ่ คงเหลือไว้แค่รัสเซียทุกวันนี้ ยุคนี้เปิดฉากด้วยรัฐประหาร(อีกแล้ว) และจากการเร่งเติบโตทางเศรษฐกิจก็ก่อให้เกิดวิกฤตฟองสบู่อสังหาครั้งใหญ่ที่ยังคงเหลือซากเป็นตึกร้างในกรุงเทพวันนี้อยู่บ้าง

ตลาดหุ้นร้อนแรงเป็นประวัติการณ์ พุ่งทะยานเกิน 1,700 จุด ในขณะเดียวกันก็ดิ่งลงต่ำสุดเหลือ 207 จุด ในตอนปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทซึ่งกลายเป็นมหาวิกฤตต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

จากเสือตัวที่ห้าของเอเซีย กลายประเทศที่แพร่เชื้อร้ายออกไปเหมือนแบคทีเรียหรือไวรัสแทน ในยุคนี้เป็นครั้งแรกที่ GDP ติดลบ ตอนปี 1998 GDP -7.6%

ยุคนี้เป็นยุคที่ฝ่ายเสรีนิยมได้รับชัยชนะ กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย และประเทศไทยก็ยังเกิดรัฐประหารที่อ้างว่าเพราะรัฐบาลชุดน้าชาติ คอรัปชั่นกันเยอะมาก พลเอก สุจินดา คราประยูร เลยเข้าปราบปราม ตามมาด้วยการประท้วงครั้งใหญ่ที่กลายเป็นสงครามกลางเมืองอีกรอบ และคราวนี้ทหารก็ถืออาวุธเข้าปราบปรามกลุ่มประชาชนที่เห็นต่างอย่างไม่ปราณี

เพราะตอนปฏิวัติบอกว่าจะไม่เข้ามาเป็นนายก แต่ไปๆ มาๆ ทนไม่ไหว ให้เหตุผลว่าเพื่อประเทศชาติจึงจำเป็นต้องเสียสัตย์ ส่งผลให้ผู้คนไม่พอใจมากมายและก็กลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่อย่างที่ว่ามาแหละครับ

ทำให้พลเอก สุจินดา ต้านทานกระแสไม่ไหว ต้องเอาคุณอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกแต่งตั้งแทน

มหาวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นในยุคนี้ ยุคที่ประเทศไทยมีความเปราะบางทางการเงินสูง สรุปง่ายๆ คือดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่านอกประเทศมาก หลายบริษัทจึงกู้เงินดอลลาร์จากต่างประเทศเข้ามาฝากกินดอกเบี้ยส่วนต่าง ท้ายที่สุดคือฟองสบู่แตกโบ๊ะ ลอยค่าเงินบาทที่กำหนดตายตัวมานาน ก่อให้เกิดตลาดนัดคนเคยรวยขึ้นมา มีเศรษฐีล้มละลายมากมายเพราะข้ามคืนหนี้ดอลลาร์ที่กู้มาก็พึ่งทะยานเกือบเท่าตัว

มาพร้อมกับวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่กลายสภาพเป็นตึกร้างมากมายทั่วกรุง จนเมื่อไม่นานมานี้เศรษฐกิจเริ่มดีเริ่มมีการเอาไปปัดฝุ่นใหม่พัฒนาต่อ โครงการในเมืองทองเอย หรือตึกร้างอื่นๆ ย่านสาทรเอย แต่ที่ยังจัดการไม่ได้เอยก็ยังมีให้เห็นเป็นเครื่องเตือนใจถึงมหาวิกฤตต้มยำกุ้งเสมอครับ

ในยุคนี้เราต้องกู้เงินจาก IMF เข้ามาประคองเศรษฐกิจไม่ให้ล้มหนักกว่านี้ แต่ก็ตามมาด้วยกฏระเบียบมากมายที่ IMF กำหนดไว้ ถนนสาทรที่เคยรถติดตลอดทั้งวัน กลายเป็นถนนร้างแบบที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในวันนั้น

หลายเจ้าสัวใหญ่ในไทยมีการขายธุรกิจออกไปเพื่อประคองธุรกิจหลักไว้

CP ขาย Tesco Lotus ในวันนั้น ก่อนจะซื้อกลับเข้ามาใหม่ ส่วนเซ็นทรัลก็ขาย Big C ออกไป เพราะพยายามรักษาไว้ซึ่งธุรกิจสำคัญที่สร้างมาวันแรก

ในยุคนี้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาเป็นครั้งแรกครับ

ไว้ตอนหน้าเราจะมาสรุปเนื้อหาหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy กัน จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไป และจากสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นก็ยังคงส่งผลถึงเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 19 ของปี

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

สรุปรีวิวหนังสือ 50 Years The Making of The Modern Thai Economy ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
50 ปีแห่งประสบการณ์ สร้างรากฐานสู่อนาคต

ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้แบบ PDF ฟรี > https://bit.ly/3LB9cX4

อ่านสรุปครึ่งหลัง > https://www.summaread.net/politics/%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%ad-50-years-the-making-of-the-modern-thai-economy-part-2/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/