ถ้าถามว่าหนังสือประเภทไหนที่ผมชอบที่สุด ผมตอบได้เลยว่าผมชอบหนังสือประเภทกลั่นมาจากประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ตรงของชีวิตผู้เขียน เพราะหนังสือแนวนี้จะเนื้อเน้นๆไม่มีน้ำ ไม่มากทฤษฎีหรือหลักการให้ปวดกะโหลก ไม่มีศัพท์แสงวิชาการที่ฟังดูต้องใช้จินตนาการเยอะ อ่านเข้าใจง่ายแต่กลับได้อะไรๆเยอะมาก เรียกได้ว่ามีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเลยก็ว่าได้

หนังสือประเภทนี้จะเต็มไปด้วยคำธรรมดาที่โคตรจะคม จนทำให้คำคมทั่วไปกลายเป็นโคตรธรรมดา ถ้าเป็นภาษาการตลาดหรือคนโฆษณานี่บอกได้เลยว่า เต็มไปด้วย key message หรือ super insight สะกิดใจทุกคำ

และหนังสือเล่มนี้ก็เป็นทั้งหมดที่ผมว่า เป็นหนังสือที่กลั่นมาจากประสบการณ์ชีวิตของนักการเงินเศรษฐศาสตร์(หรืออะไรก็ตามทำนองนั้นที่ผมก็นิยามให้ไม่ถูกเหมือนกัน)ที่ชื่อว่า บรรยง พงษ์พานิช

คุณบรรยง พงษ์พานิช คนนี้มีประวัติที่ไม่ธรรมดาเพราะเริ่มทำงานในตำแหน่งเสมียนเคาะกระดานหุ้น เงินเดือน 2,450 บาท เมื่อ 36 ปีที่แล้ว(หนังสือเล่มนี้พิมพ์ตอนปี 2557 ถ้านับถึงปัจจุบันนี้ก็เกิน 40 ปีมาหน่อยๆแล้วครับ) จนกลายเป็นประธานกรรมการ #หลักทรัพย์ภัทร หรือเครือๆธนาคารเกรียตินาคินนี่แหละครับ

สารภาพตรงๆตอนได้หนังสือเล่มนี้มานั้นได้มาด้วยความไม่ตั้งใจ เพราะเป็นหนังสือที่เรียก “แถม” ให้จากบูทสำนักพิมพ์ Open เมื่อปี 2560 ได้มั้ง (เห็นมั้ยครับขนาดปียังจำไม่ได้ แสดงว่าไม่ได้ตั้งใจเลือกมาจริงๆ) ผ่านมานานเป็นปีๆจนได้ลองเปิดอ่านเมื่อวันก่อนก็พบว่า ดร.วรากร สามโกเศศ หนึ่งในนักเขียนที่ผมติดตามผลงานมาตลอดเป็นผู้เขียนคำนิยมให้ เท่านั้นแหละอ่านยาวจนจบเล่มเลยครับ

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยมุมมองข้อคิดดีๆเต็มไปหมด แต่ครั้นจะให้เล่าทั้งหมดก็คงจะไม่ได้ เอาเป็นว่าขอเลือกมาซักสองสามหัวข้อที่ส่วนตัวผมคิดว่าโดนมากๆจนรู้สึกคันปากคันมือก็แล้วกันครับ

เรื่องที่หนึ่ง #โอกาสก็เหมือนกับอากาศ

คุณบรรยง เปรียบเทียบได้แยบคายมากว่า ที่ “โอกาส” ก็เหมือนกับ “อากาศ” ก็เพราะโอกาสมันมีมากมายและล่องลอยอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะแสวงหามันพบหรือไม่ เราจะสร้างมันเป็นหรือเปล่า และเราจะทำมันให้เป็นประโยชน์จริงได้หรือเปล่า

ใครก็ตามที่คิดว่าโอกาสเป็นเรื่องของบุญวาสนา และหวังแต่จะให้ “ส้มหล่น” ก็คงต้องรอนานหน่อย เพราะชีวิตนี้คงได้แต่บ่นว่าตนนั้นแสนอาภัพ โชคร้าย และไม่เคยได้รับโอกาสที่ดีเท่าคนอื่นเขา

คุณบรรยงยังบอกอีกว่า ทุกครั้งที่มีวิกฤตเข้ามาเค้าไม่เคยเกี่ยงงอน ซ้ำยังบอกว่าเรียงหน้ากันเข้ามาเลยคุณวิกฤตทั้งหลาย ตราบใดที่พวกเรายังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีสติที่มั่นคง และรวมตัวกันเหนียวแน่น เราก็พร้อมที่จะผจญและเรียนรู้ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากวิกฤตนั้นตามโอกาส แม้บางครั้งเราจะเพลี่ยงพล้ำซวดเซ หรือแม้แต่กระทั่งพลาดท่าล้มลง แต่เราก็จะจับมือกันและพยุงกันลุกขึ้นมา แล้วฟัดกับวิกฤตนั้นต่อไป

เป็นยังไงครับ อ่านแค่นี้ก็รู้สึกว่าคนๆนี้เป็นคนพุ่งเข้าหาปัญหาเพื่อควานหาโอกาส ผิดกับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยอยากเจอปัญหา โดยเฉพาะปัญหาในระดับวิกฤตนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย

ส่วนตัวผมเองก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ผมเชื่อว่าในทุกปัญหานั้นมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ผมเลือกงานใหม่ผมมักจะเลือกจากที่ๆมีปัญหารออยู่

ไม่ใช่ว่าผมบ้า แต่ผมคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าการลงมาเล่นกับปัญหาที่คนอื่นไม่อยากยุ่ง หรือเอาตัวเข้ามาอยู่ในจุดที่กำลังมีปัญหา ถ้าแพ้ก็เสมอตัว แต่ถ้าชนะนี่กลายเป็นผลงานดีๆประดับโปรไฟล์ได้เลยครับ

เหมือนกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้โด่งดังอย่าง วินสตัน เชอร์ชิล เคยบอกว่า “คนแพ้มองเห็นแต่ปัญหา ส่วนคนชนะมองเห็นแต่โอกาส”

เรื่องเดียวกันแต่ต่างกันที่มุมของคนมองครับ

เพราะเมื่อเจอปัญหาจริงๆ เรามักมีทางเลือกแค่ 3 ทาง “ทน แก้ หรือหนี”

คนที่แย่ที่สุดคือ “ทนร่ำไป” ลองนึกถึงเพื่อนที่บ่นเรื่องงาน หรือเรื่องเดิมๆทุกวัน จนเราแทบจะจำคำพูดของมันได้ทุกคำแล้วว่าคำต่อไปมันจะพูดว่าอะไร

รองลองมาคือคนที่เจอปัญหาแล้ว “หนีทุกที” เพราะในชีวิตนี้คงต้องหนีไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง แถมยังเสีย “โอกาส” ที่จะได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา หรือเสียโอกาสที่อย่างน้อยก็เรียนรู้ที่จะไม่พลาดเรื่องเดิมซ้ำด้วย

สุดท้ายที่แย่น้อยที่สุดคือ “แก้อย่างเดียว” ดันทุรังอยู่อย่างนั้น

คุณบรรยงบอกว่า ปัญญาชนจะต้องประยุกต์ใช้ทั้ง 3 กลยุทธ์เมื่อเจอปัญหา คือต้องเริ่มต้นที่แก้ก่อน ระหว่างแก้ก็ต้องอดทน เพราะถ้าดีดนิ้วแล้วจบเราไม่เรียกมันว่าปัญหา สุดท้ายก็ต้องมีขีดจบว่า ถ้าดันทุรังต่อไปก็ไม่มีประโยชน์กับใครเลย ก็จำเป็นต้องหนีเหมือนกัน (เรียกว่าประเมินกำลังแล้วรบไม่ชนะ เก็บแรงไว้รบในศึกหน้าดีกว่าครับ)

ส่วนถ้าจะแก้ปัญหาให้ดีก็ต้องใช้วิธีคิดแบบถอยหลังก่อนคิดเดินหน้า

อ่านตรงนี้แล้วอาจจะงงว่า “คิดแบบถอยหลังคืออะไร”

การคิดแบบถอยหลังคือ จะทำอะไรให้สืบสาวถึงต้นตอของเรื่องนั้นๆก่อน ศึกษาประวัติ ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง แล้วเราจะพบว่ามีเรื่องราวน้อยเรื่องเหลือเกินที่ไม่ได้มีคนคิดคนเขียนไว้ก่อนแล้ว ภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่สั่งสมต่อๆกันมานั้นมีอะไรมากพอจะให้คำตอบ หรืออย่างน้อยก็ให้ความคิดแก่เราเสมอ

เหมือนกับวิธีคิดหนึ่งที่ผมชอบมากและเอามาใช้เป็นแนวทางในการทำงานเสมอ ก็คือการให้ความสำคัญกับคำถามมากกว่าคำตอบ เพราะคำถามที่ดีจะตอบตัวมันเองไปแล้วครึ่งหนึ่ง

เหมือนกับการถามว่า “ทำไม” ซ้ำลงไปเพื่อหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงให้เจอ ถามให้ลึกลงไปเรื่อยๆจนต้นตอของปัญหาทั้งหมด

ฝึกที่จะถามว่า “ทำไม” ซ้ำไปเรื่อยๆอย่างน้อย 5 ครั้ง แล้วคุณจะพบว่าแท้จริงแล้วปัญหานั้นมันอาจจะเป็นคนละเรื่องกับในครั้งแรก และทางแก้มันอาจจะง่ายกว่าที่คิดมากด้วยซ้ำ

นี่คือเรื่องที่หนึ่งที่ผมชอบมาก คือโอกาสเป็นเหมือนกับอากาศ และในวิกฤตก็มีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ และก่อนจะแก้วิกฤตหรือปัญหาอะไรนั้นถามตัวเองว่าเราเข้าใจมันดีพอหรือยัง หรือเรารู้หรือยังว่าจริงๆแล้วปัญหาของปัญหานั้นคืออะไร

นี่แค่เรื่องเดียวก็ยาวขนาดนี้แล้ว ยิ่งเขียนยิ่งติดลมยังไงก็ไม่รู้ครับ

ส่วนเรื่องที่สองที่ผมชอบคือ #เคล็ดลับคือความไม่ลับ

คุณบรรยงเล่าว่า “มักมีคนถามเสมอว่าอะไรคือ #เคล็ดลับ ในความสำเร็จของ “ภัทร” ผมจะตอบเหมือนกันทุกครั้งว่า ผมไม่คิดว่าเราประสบความสำเร็จโดดเด่นอะไร แต่ที่มาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะ “ความไม่มีเคล็ดลับ” นั่นเอง เราทำธุรกิจอย่างโปร่งใส เล่าให้ทุกคนฟังได้ และบังเอิญว่าธุรกิจของเราก็ไม่มีอะไรต้องปิดบัง นวัตกรรมต่างๆก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อน เพราะพอผ่านช่วงคิดค้นแล้ว ก็สามารถเปิดเผยได้หมดสิ้น แถมมักไม่สามารถจดสิทธิบัตรนวัตกรรมในตลาดการเงินได้เสียอีก”

คุณบรรยงยังเล่าต่อว่า “ผมมีคติประจำใจว่าถ้าเห็นใครทำอะไรแล้วดี พรุ่งนี้เราก็จะเลียนแบบเลย แล้วเราจะพยายามทำให้ดีกว่าเขา โดยดัดแปลงให้เหมาะกับเรา ไม่เห็นจำเป็นว่าจะต้องเป็นคนแรกหรือเป็นคนคิดค้นเลย การเป็นคนที่เอามาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดมันเท่กว่าตั้งเยอะ”

ตรงนี้ทำให้ผมคิดถึง Steve Jobs และ Bill Gates ที่คนนึงขโมยเม้าส์และ Graphic Interface หรือ icon ที่คลิ๊กได้มาจาก Xerox (ลองนึกภาพยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์ยังต้องใช้คำสั่งแบบพิมพ์เป็นรหัสดูซิครับ มันไม่สนุกและใช้งานง่ายเหมือนทุกวันนี้หรอก) จนทำให้คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งที่ Sexy มากขึ้นจนใครๆก็ใช้ได้ นี่คือ Steve Jobs

ส่วน Bill Gates น่ะหรอ ก็ขโมยไอคอนและการคลิ๊กมาจาก Steve Jobs อีกที แล้วแจกจ่ายให้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องสามารถใช้ได้ เพราะ Steve Jobs เอาระบบนั้นผูกติดไว้กับเครื่อง Macintros หรือ Apple ของตัวเองอย่างเดียว เพราะแม้ Steve Jobs จะทำให้ใครๆก็ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ที่คนที่จะได้ใช้ เป็น Bill Gates ที่ลอกมาให้ทุกคนได้ใช้ง่ายๆแค่มีคอมที่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของ Apple เท่านั้น

นี่แหละครับเคล็ดลับที่ไม่มีเคล็ดลับ แค่ทำให้ดีกว่าและทำให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือการลงมือทำและทำอย่างไม่หยุดเท่านั้นเอง เคล็ดลับง่ายๆแต่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้จริงมั้ยครับ

และหนังสือเล่มนี้ยังมีดีอีกเยอะที่เล่าไม่หมด ทั้งเกร็ดความรู้ทางด้านเศรษฐกิจมากมาย เพราะคุณบรรยงอยู่ในแวดวงนี้มายาวนั้น ก็เลยมีอะไรมาเล่าให้แอบเก็บเกี่ยวได้เยอะมาก แล้วผมกล้าพูดได้เลยว่าถ้าเจอหนังสือเล่มนี้ที่ไหน ให้รีบคว้าติดมือกลับบ้านไปเลย..อ้อ จ่ายเงินก่อนนะครับ เพราะหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งเดียวและไม่พิมพ์เพิ่ม แถมตัวสำนักพิมพ์ Openworlds ก็ปิดไปแล้ว

ดังนั้นถ้าใครจะมาขอยืมหนังสือเล่มนี้ ผมบอกไว้ ณ ที่นี้เลยครับว่าไม่มีวัน 555

หนังสือบางเล่มเราก็ต้องลองเปิดอ่านดูถึงจะรู้ว่ามีดีซ่อนอยู่ครับ

อ่านแล้วเล่า บรรยง พงษ์พานิช คิด

บรรยง พงษ์พานิช เขียน
สำนักพิมพ์ Openworlds

เล่มที่ 131 ของปี 2018
อ่านเมื่อ 20181209

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/