ชื่อหนังสืออาจฟังดูย้อนแย้ง แต่เนื้อหาในเล่มนั้นเข้าใจง่ายกว่านั้นเยอะ
เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยบทความเกี่ยวกับ เทคโนโลยี ที่ฟังดูเหมือนล้ำยุคหลุดมาจากหนัง Sci-fi แต่ในความเป็นจริงมันเกิดขึ้นแล้ววันนี้ ในโลกของเรา แค่มันยังมาไม่ถึงเราโดยตรง ไม่ได้หมายความว่ามันยังไม่เกิดขึ้นจริง
ถ้าคนที่มาอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม ที่พอคุ้นกับหนังเรื่อง Minority Report หนังตำรวจล้ำยุคที่สามารถรู้ได้ว่าใครกำลังจะก่อคดีหรืออาชญากรรม แล้วสามารถจับกุมได้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง
ดูล้ำเหลือเชื่อเหมือนจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ เมื่อหลายสิบปีก่อนจนถึงตอนนี้ แต่ในวันนี้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้วด้วย กรมตำรวจในบางรัฐในอเมริกามีโปรแกรมที่สามารถคาดเดาได้ว่าพื้นที่ไหนน่าจะเกิดอาชญากรรมขึ้น แล้วก็ส่งตำรวจเข้าไปดูแลพื้นที่นั้นทันที จนสามารถทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดต่ำลงอย่างมาก
เห็นมั้ยครับว่าอนาคตที่ว่านั้นไม่ได้ไกลจากวันนี้เลย หลายๆเรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องในอนาคตนั้นปรากฏขึ้นมากมาย แค่มันยังไม่ได้อยู่ไกล้ตัวหรือให้เรารู้เท่านั้นเอง
งั้นผมขอหยิบสองสามเรื่องในเล่มที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเอามาเล่าแบบสรุปสู่กันฟัง เพื่อว่าคุณอยากจะไปหาซื้อมาอ่านเต็มๆดูเพื่อรู้จักอนาคตในปัจจุบันให้มากขึ้น

Majority Illusion ภาพลวงตาของคนหมู่มาก
การจะสร้างกระแส หรือจุดประเด็นอะไรซักอย่างขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราคิด
มีการตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการเป็นวิทยาศาสตร์ออกมาในเดือนมิถุนายน 2015 ว่า ทีมนักวิจัยจาก USC Information Science Institute ในแคลิฟอร์เนีย ใช้สูตรคณิตศาสตร์และทฤษฎีกราฟวิเคราะห์เรื่องนี้ พวกเขาค้นพบว่าการจะหลอกลวงให้คนๆหนึ่งคิดว่าความเห็นใดเป็นความเห็นของคนหมู่มากนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย และไม่จำเป็นต้องใช้คนมากถึง 50% ของคนทั้งหมดด้วย แค่ใช้คนกลุ่มเริ่มต้นที่เชื่อในเรื่องที่เราต้องการอย่างจริงจังแค่ 20% เท่านั้นเอง เพียงเท่านี้เราก็สามารถทำให้คนส่วนมากเชื่อได้แล้วว่านี่คือความเห็นของคนส่วนใหญ่
หลักการนี้สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการจะทำแคมเปญการตลาด หรือต้องการจะสร้างกระแสอะไรซักอย่างได้เห็นมั้ยครับ คุณไม่ต้องทำให้คนทุกคนเห็น แค่ทำให้กลุ่มเริ่มต้นที่มีพลังเชื่อแล้วมันก็จะกลายเป็นไฟลามทุ่งไปเอง
Affectiva โปรแกรมอัจฉริยะที่รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรอยู่
ปกติแล้วลำพังกับคนสนิทไกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก พ่อแม่ ลูก เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่กินข้าวกันทุกวัน เรายังไม่สามารถเดาใจได้ถูกถึงครึ่งด้วยซ้ำ (โดยเฉพาะคู่รัก ไม่งั้นคงไม่มีปัญหาเกี่ยงงอนกันมากมายให้เห็นกันรอบตัวขนาดนี้หรอก) แต่เจ้า Affectiva นี่คือโปรแกรมอัจฉริยะนคอมพิวเตอร์ที่สามารถอ่านค่าตัวแปรต่างๆบนใบหน้า จนสามารถรู้ได้เลยว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่แบบว่าแม่นมากๆ
บริษัท Affectiva นี้ถือกำเนิดจาก MIT Media Lab ที่มีเป้าหมายสำคัญคือพยายามฝึกให้คอมพิวเตอร์อ่าน “อารมณ์” ของคนได้อย่างถูกต้องและถี่ถ้วน
ลองคิดดูซิว่าถ้านักการตลาดหรือนักโฆษณาใช้เทคโนโลยีนี้ผ่านกล้องต่างๆที่อยู่รอบตัว และรับรู้ว่าตอนนั้นเรากำลัง “รู้สึก” หรืออยู่ใน “อารมณ์” ไหน เค้าก็จะสามารถ “ขาย” ในสิ่งที่คิดว่าเราต้องการ หรือไม่ต้องการได้ง่ายดายขนาดไหน
Google Noto ฟอนต์เดียวรองรับทุกภาษาบนโลก
ปัญหาฟอนต์ไม่รองรับภาษาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแค่กวนใจเราในบางครั้ง เช่น เวลาเราเจอภาษาญี่ปุ่นที่เราไม่มีฟอนต์นั้นในเครื่องเรา หรือ เวลาที่เราใช้ฟอนต์พิเศษในภาษาปกติของเราแล้วอีกเครื่องนึงไม่มีฟอนต์นั้น ทำให้เราต้องเปลี่ยนหรือโหลดมาเพิ่ม
แต่รู้มั้ยว่ายังมีอีกหลายภาษาบนโลกที่ไม่มีฟอนต์บนคอมพิวเตอร์หรือมือถือรองรับ เช่น ภาษาอูรดู Urdu ในปากีสถาน ทั้งที่ชุดตัวอักษรก็สวยงามใช้บรรยายบทกวีเป็นหลัก แต่กลับไม่มีฟอนต์ในคอมพิวเตอร์หรือบนโลกรองรับเลย
นี่เป็นแค่หนึ่งภาษาจากหลายพันภาษาบนโลกที่ไม่มีฟอนต์ให้ใช้บนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ใดๆ
Google เลยมีโปรเจคที่จะสร้างฟอนต์เดียวที่รองรับทุกภาษาบนโลกที่ชื่อว่า Google Noto ที่ย่อมาจาก Google no more tofu (เพราะเวลาฟอนต์ที่เรามีในเครื่องไม่รองรับภาษานั้นมันจะกลายเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมซึ่งคล้ายก้อนเต้าหู้ในความเข้าใจของคนทั่วไป) และตอนนี้ฟอนต์นั้นก็กำลังเดินหน้าพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วก็มีภาษาไทยอยู่ในฟอนต์นั้นเรียบร้อยแล้วด้วย
นี่คือการพยายามสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่น่าชื่นชม
ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า อนาคต หรือ เทคโนโลยี นั้นก็เป็นแค่ “เครื่องมือ” ที่สามารถใช้ได้ทั้งในทางสร้างสรรค์ และใช้ทำลายห้ำหั่นกันเอง
และอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวลก็คือ Algorithm หรือชุดคำสั่งที่ใช้อยู่เบื้องหลังระบบโปรแกรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะ google, facebook หรือ อะไรก็แล้วแต่ ที่เราต้องพึ่งพามันมากกว่าที่คิดนั้นหาได้มีความเป็นกลางไม่ เพราะคนเขียนคำสั่งเหล่านั้นขึ้นมาก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีอคติส่วนตัวอยู่ดี
รู้มั้ยครับว่าใน siri นั้นไม่สามารถเข้าใจเวลาที่คุณพูดภาษาอังกฤษสำเนียงที่เพี้ยนจากสำเนียงของชาวผิวขาวมากๆได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในอคติที่บังเอิญเกิดขึ้นจากผู้สร้างโดยไม่ตั้งใจ
จากเรื่องนี้ Mozilla ผู้สร้าง Firefox ให้เราเล่นเนตนั้นเลยทำโปรเจคพิเศษขึ้นมาที่ให้คนทุกเชื้อชาติจากทั่วโลกเข้าไปพูดภาษาอังกฤษในสำเนียงของตัวเอง เพื่อสอนให้ ai ตัวนี้สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษในสำเนียงที่หลากหลายได้ในอนาคต
อนาคตไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่คุณคิด เพราะในวันนี้หลายเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องในอนาคตนั้น ก็กลับอยู่ไกล้ตัวคุณมากกว่าที่

อ่านแล้วเล่า อ่านเมื่อปี 2018
ลืมตาในอนาคต WAKE ME UP WHEN NOW ENDS
อนาคตคือเมื่อวาน อดีตการคือพรุ่งนี้
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon
เล่มที่ 23 ของปี 2018
20180223